Storytelling with data by Cole Nussbaumer Knaflic

ตอนเด็กๆ เวลาเราจะสร้างกราฟแท่ง มันช่างดูยุ่งยาก ต้องนั่งพล็อตแกน X แกน Y กำหนดขนาดความกว้างและความสูงของกราฟแท่ง วาดกราฟ และระบายสี แต่ปัจจุบันแค่เราใส่ข้อมูลลงใน excel เลือกชุดข้อมูลที่ต้องการแล้วกด insert Chart เลือกประเภทของกราฟที่เราต้องการ กราฟแท่ง (หรือกราฟอื่นๆ) ก็มาอยู่ตรงหน้าเรียบร้อย อยากเปลี่ยนสีหรือปรับรูปแบบอื่นๆ ก็ง่ายแค่ขยับปลายนิ้ว…

แต่เพราะความง่ายในการสร้าง Chart เราจึงได้เห็น Chart ที่ไม่ได้สื่อความหมายอะไร อ่านยาก เข้าใจยาก จนถึงเลวร้ายสุดๆ คือ ให้การตีความที่ผิดพลาด เพราะ Chart นั้นไม่ผ่านการคิดและออกแบบที่ดี

หนังสือที่เราแนะนำวันนี้ เปรียบเสมือน oasis ในทะเลทรายข้อมูล ที่ช่วยให้เราปรับปรุงการนำเสนอข้อมูลในรูป chart แบบมีความหมายและจับใจคนอ่าน (ฟัง)

หนังสือเขียนเกี่ยวกับอะไร

ชื่อหนังสือบ่งบอกทุกอย่างที่มีในหนังสือเล่มนี้ Storytelling with data: a data visualization guide for business professionals ผู้เขียนเองมีประสบการณ์ในการวิเคราะห์ข้อมูลและการนำเสนอข้อมูลในบริษัทที่ได้ชื่อว่า มีข้อมูลมากที่สุดในโลกบริษัทหนึ่ง นั่นก็คือ Google ที่พิเศษกว่านั้น เธอเองยังเป็นผู้สอนเรื่องการนำเสนอข้อมูลและ data visualization ให้กับพนักงานของ Google ทั้งในอเมริกาและยุโรป

เนื้อหาในหนังสือครอบคลุมถึงบทเรียนใน 6 ประเด็นหลัก ได้แก่

  1. Understand the context
  2. Choose an appropriate visual display
  3. Eliminate clutter
  4. Focus attention where you want it
  5. Think like a designer
  6. Tell a story

Chartเดียวกัน ชุดข้อมูลเดียวกัน แต่บริบท (context) ต่างกัน ก็ให้ความหมายแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เมื่อเราออกแบบ chart การเข้าใจบริบทเป็นจุดแรกที่เราเริ่มต้น เมื่อเข้าใจบริบทของข้อมูล เราก็ต้องเข้าใจว่าจากชุดข้อมูลนั้นต้องการสื่อสารอะไรออกไป เราจึงจะเลือก Chart ที่เหมาะสมได้ เช่น การเปรียบเทียบแนวโน้มโดยใช้ Pie Chart 2 อัน (ตัวอย่าง: สัดส่วนข้อมูลการใช้พลังงานของโรงงานปี 2014 เทียบกับปี 2015) ทำได้แต่ผู้อ่านต้องใช้ความพยายามสูงมาก แต่ถ้าเราเลือกเป็น กราฟเส้นแสดงการเปรียบเทียบจะอ่านได้ง่ายขึ้นมาก

จุดเด่นของหนังสือ

  • เนื้อหาในหนังสือกลั่นจากประสบการณ์ของผู้เขียน ซึ่งผสมผสานระหว่างทฤษฎีและการนำไปใช้งานจริงได้อย่างกลมกลืน
  • ระดับของ chart ต่างๆ ที่ยกตัวอย่างในหนังสือ เป็นระดับที่คนทำงานใช้เป็นประจำ เช่น กราฟแท่ง ไม่ใช่การทำ data visualization แบบที่ต้องเรียนมาและใช้โปรแกรมกราฟิกเฉพาะจึงจะทำได้
  • จากกราฟแท่งธรรมดารูปหนึ่งที่เพ่งแล้วเพ่งอีกก็ไม่แน่ใจว่าต้องการสื่ออะไร กลายเป็นกราฟเส้นที่สามารถเข้าใจได้ทันทีจากการมองผ่านๆ – นี่เป็นหนึ่งในหลากหลายตัวอย่างที่ในหนังสือแสดงให้เห็นว่าการเลือกกราฟให้เหมาะกับสิ่งที่เราต้องการสื่อ พร้อมปรับองค์ประกอบของกราฟ เช่น หัวเรื่อง แกน และ label ให้สามารถเล่าเรื่องได้ด้วยตัวกราฟเองนั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยาก แต่สร้างความเปลี่ยนแปลงได้แบบพลิกฝ่ามือ
  • ตัวอย่างหลากหลายในหนังสือทำให้เราสามารถหยิบไปประยุกต์ใช้ได้ไม่ยาก
  • เป็นหนังสือที่จัดว่าอ่านง่ายมาก

ความคิดเห็นของฉัน

ประโยคที่เห็นด้วยอย่างมากกับผู้เขียน คือ ไม่มีใครตั้งใจจะสร้าง Chart ที่ดูห่วยแตก ทักษะในเรื่องนี้เรียนรู้กันได้ หน้าที่ของเรา (ผู้สร้าง chart) คือ การส่งผ่านข้อมูลที่มีประโยชน์ (information) ที่สกัดจากข้อมูลจำนวนมาก (data) โดยให้ chart นั้นทำหน้าที่เล่าเรื่องของตัวมันเอง

หนังสือเล่มนี้เป็นอีกเล่มที่แนะนำให้อ่าน เพราะเหมาะกับระดับการใช้งานของเราๆ ท่านๆ ที่ใช้ Excel ในการสร้าง Chart นอกจากนี้ยังเน้นทั้งการออกแบบ Chart ให้สื่อความหมาย และดูสวยงามสะอาดตาไปพร้อมกัน

ใครที่ชอบหนังสือแนวนี้และต้องทำงานกับ Chart เป็นประจำ แนะนำว่าควรมีไว้ในครอบครองค่ะ…

Ing

วิศวกรสิ่งแวดล้อมที่หันมาทำงานบริหารโครงการ แต่สนใจเรื่องการนำเสนอมาก
จนอยากจะแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้มาตลอดหลายปี (ไม่กล้าบอกปี เดี๋ยวรู้อายุ) ให้กับผู้อ่านที่น่ารักทุกคน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked

{"email":"Email address invalid","url":"Website address invalid","required":"Required field missing"}

โพสต์อื่นๆ ที่คุณอาจสนใจ

รีวิวหนังสือ (น่าอ่าน): Storytelling with you
รีวิวหนังสือ (น่าอ่าน): Everyday Business Storytelling
รีวิวคอร์สออกแบบสไลด์สไตล์คนงานยุ่ง