ช่วงหลังๆ อิงได้ไปฟัง น้องๆ Pitch อยู่บ่อยๆ 

ต้องบอกว่าแต่ละไอเดียน่าสนใจและน่าประทับใจมาก...

น้องๆ ทำสไลด์ออกมาดูดี สวยงาม ตามสไตล์ Start Up รุ่นใหม่

แต่สิ่งนึงที่ขาดหายไปในการ Pitch ส่วนใหญ่ที่เจอ คือ การใช้ประโยชน์จากการแสดงภาษากาย โดยเฉพาะการเดิน...

เอ๊ะ... การเดินสำคัญขนาดนั้นเลยหรอ?

อาจไม่สำคัญที่สุด แต่สำคัญแน่นอนค่ะ

มาดูค่ะ ว่าเราจะออกเดินอย่างไรจึงจะเพิ่มเสน่ห์ให้กับการ Pitch และการนำเสนอของเราได้?

More...

ปกติแล้วในการนำเสนอ และ การ Pitch ผู้นำเสนอมีท่าทางอย่างไรบ้าง โดยหลักๆ จำแนกได้ดังนี้ค่ะ

  1. นั่ง: เป็นท่ามาตรฐานที่พบเจอได้บ่อยที่สุดในการนำเสนองานทั่วไป แต่ไม่ค่อยได้เห็น Start Up รุ่นใหม่ๆ นั่งนำเสนอ การนั่งในการนำเสนอมักเกิดขึ้นเมื่อการนำเสนอมีเนื้อหาเยอะและในกรณีที่ผู้นำเสนอไม่ได้ใช้ Presenter (อุปกรณ์ที่ใช้ในการควบคุมสไลด์) และไม่อยากให้มีคนต้องคอยเลื่อนสไลด์ให้ ก็จะเลือกที่จะนั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ดีกว่า
  2. ยืนอยู่หลังโพเดียม: เป็นอีกท่ามาตรฐานที่พบบ่อย โดยเฉพาะเวลากล่าวรายงาน กล่าวเปิดงาน และกล่าว Keynote
  3. ยืนอยู่กับที่: ผู้นำเสนอบางคน และ ผู้ก่อตั้งของบริษัท Start Up ส่วนใหญ่เลือกที่จะยืนเพื่อนำเสนอสไลด์ โดยการยืนนั้นเป็นการยืนอย่างแท้จริง เพราะแค่ยืนและพูดอยู่อย่างนั้น อาจมีก้าวไปมานิดๆ หน่อยๆ 2-3 ก้าว เป็นการเปลี่ยนตำแหน่งการยืน
  4. ยืนและเดิน: ยืนนิ่งสลับเดินเป็นท่าทางการนำเสนอที่ช่วยให้การนำเสนอมีชีวิตชีวามากขึ้น แต่ key word อยู่ที่คำว่า 'เดิน' นั่นคือ เดินอย่างไรให้เกิดประโยชน์ ไว้ไปขยายความต่อกันในหัวข้อต่อไปค่ะ
  5. เดินไปเดินมาไม่หยุด: ในท่าทั้งหมดอันนี้น่าปวดหัวที่สุด (ที่จริง คือ เวียนหัวค่ะ) เพราะผู้นำเสนอมักจะเดินไปเดินมาอย่างไร้จุดหมาย เดินอย่างไม่รู้ตัว แถมเดินอยู่ตลอดเวลา แทบไม่มีจังหวะหยุดนิ่งเลย

ข้อควรปฏิบัติในการเดิน

การเดินระหว่างการนำเสนอ ต้องอาศัยการฝึกฝนค่ะ หากเราไม่วางแผนและฝึกตัวเองไว้ก่อน มีแนวโน้มสูงมากว่าเราจะเดินเรื่อยเปื่อยไปเรื่อยๆ (ทำให้คนดูเวียนหัว) หรือเดินไปเดินมาแบบย้ำคิดย้ำทำ (ก้าวไปข้างหน้า 3 ก้าว ถอยกลับมาอีก 3 ก้าว สลับกันอยู่อย่างนั้น) อิงมีข้อแนะนำในการเดิน ดังนี้ค่ะ

  1. เดินอย่างมีจุดมุ่งหมาย: "เราไม่ได้นำเสนอ แต่เรากำลัง Perform (แสดง) บนเวที" ข้อความนี้สะท้อนให้เห็นชัดว่าในแต่ละการนำเสนอ (และการ Pitch) ต้องผ่านการคิดมาแล้ว ว่าเราจะพูดอะไร ยกไม้ยกมือย่างไรและตอนไหน จะพูดด้วยน้ำเสียงอย่างไรในจังหวะไหน และจะก้าวเดินอย่างไรและหยุดเดินเมื่อไหร่ โดยในการเดินมีหลักสำคัญ คือ ต้องรู้ว่าเดินไปเพื่ออะไร? เช่น เดินไปเพื่อสื่อสารและเชื่อมโยงกับผู้ฟัง และใช้การเดินเพื่อประกอบเนื้อหาที่นำเสนอหรือเรื่องที่เล่า เป็นต้น (อย่าลืมว่าเมื่อเราเคลื่อนตัวเดินเราจะดึงดูดสายตาคนฟังไปด้วย เราจึงต้องเดินอย่างมีความหมาย)
  2. เดินให้มีจังหวะ: ตอนไหนควรเดินช้า ตอนไหนควรเดินเร็ว จังหวะในการเดินจะส่งเสริมเนื้อหาที่เรานำเสนอ และการสื่อสารกับผู้ฟัง ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็วิ่งเข้าหาคนฟัง อันนี้จะดูน่ากลัวมากกว่าน่าสนใจค่ะ (ลองหลับตาและนึกภาพดูค่ะ ว่าเดินเร็วและเดินช้า ทำให้เนื้อหาของเราในแต่ละช่วงแตกต่างกันอย่างไร)
  3. รู้ว่าเมื่อไหร่ควรหยุดเดิน: เมื่อเดินแล้ว ก็ควรต้องหยุดเดินบ้าง จุดสำคัญ คือ เมื่อไหร่ควรจะหยุดเดิน หลักๆ เลย คือ เมื่อเราจะพูดสิ่งสำคัญ การหยุดยืนแล้วพูดออกมาจะมีพลังมากกว่า การเดินไปพูดไป นอกจากนี้การหยุดเดินยังช่วยสร้างสภาวะให้กับผู้นำเสนอได้อีกด้วย หากได้รับการออกแบบมาอย่างดีว่าควรจะหยุดเดินเมื่อพูดเนื้อหาเรื่องอะไร
  4. เดินตามที่เราออกแบบไว้: ความหมายคือ เราต้องออกแบบการเดินไว้ล่วงหน้า คิดให้ถี่ถ้วน ว่าควรเดินไปทิศใด ในจังหวะไหน เดินไปไกลแค่ไหน (กี่ก้าว) และเมื่อไหร่ควรหยุดเดิน เพื่อให้การเดิน (หรือหยุดเดิน) ของเราเสริมการนำเสนอมากที่สุด และเมื่อออกแบบไว้แล้ว สิ่งสำคัญที่สุดต่อมา คือ เดินตามที่เราออกแบบไว้

คำถามชวนคิด

ในการนำเสนอในครั้งต่อไปของคุณ 'การเดิน' จะสร้างความแตกต่างจากการนำเสนอครั้งก่อนๆ ได้อย่างไร?

Ing

วิศวกรสิ่งแวดล้อมที่หันมาทำงานบริหารโครงการ แต่สนใจเรื่องการนำเสนอมาก
จนอยากจะแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้มาตลอดหลายปี (ไม่กล้าบอกปี เดี๋ยวรู้อายุ) ให้กับผู้อ่านที่น่ารักทุกคน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked

{"email":"Email address invalid","url":"Website address invalid","required":"Required field missing"}

โพสต์อื่นๆ ที่คุณอาจสนใจ

รีวิวหนังสือ (น่าอ่าน): Storytelling with you
รู้ลึก vs รู้แค่ผิวๆ
5 เรื่องสำคัญ ในการออกแบบโปสเตอร์นำเสนอ