อาทิตย์ที่ผ่านมาอยากอ่านหนังสือเกี่ยวกับการออกแบบสไลด์ เลยไปคุ้ยหาในตู้หนังสือว่าจะอ่านอะไรดี ว่าแล้วก็หยิบ Presentation Zen Design ออกมาอ่านอีกรอบ
อือม...
เล่มนี้อ่านไปหลายครั้งแล้ว (หนังสือซื้อปี 2014) แต่พอได้มาอ่านอีก มันใช่เลยค่ะ...
หนังสือที่ดี มันต้องแบบนี้ อ่านเมื่อไหร่ก็ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ตลอด
พอมาเปิดดูในโพสต์เก่าๆ
เอ๊ะ... เราไม่เคยรีวิวไว้หรอเนี่ย
ว่าแล้ว... ก็ต้องเขียนถึงค่ะ
ใส่เรตติ้งให้เป็น Highly Recommended Book เลย ถ้าชอบเรื่องการออกแบบสไลด์ จำเป็นต้องมีเก็บเป็นของตัวเองค่ะ
คือ ถ้ามีตังเยอะๆ เนี่ยอิงอยากซื้อแจกเลยด้วยซ้ำ
มาดูกันว่าหนังสือเขียนถึงอะไรกันบ้าง
More...
รู้จักผู้เขียน
Garr Reynold เคยทำงานให้กับ Apple อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นและน่าจะหลงเสน่ห์ความเป็นญี่ปุ่นอย่างแน่นอน (คาดเดาจากสิ่งที่ Garr เขียน)
Garr เขียนหนังสือทั้งหมด 3 เล่ม คือ Presentation Zen (คลิกอ่านรีวิวได้ที่นี่) Presentation Zen Design และ Naked Presenter
Garr เป็นผู้บุกเบิกแนวทางการออกแบบสไลด์ที่ใช้รูปสื่อความหมายเป็นหลัก (หากเห็นใครใช้รูปเกือบทั้ง Slide Deck ในการนำเสนอ บอกได้เลยว่าต้องมาแนว Presentation Zen ชัวร์)
ถ้าคุณ search คำว่า Presentation ในหมวดหนังสือของ Amazon คุณต้องเห็นหนังสือเรื่อง Presentation Zen ติดหน้าแรกแน่นอน
หนังสือเขียนเกี่ยวกับอะไรบ้าง
หนังสือแบ่งเป็น 4 ส่วนด้วยกัน คือ 1) บทนำ 2) องค์ประกอบ (ของสไลด์) 3) หลักการ (ออกแบบสไลด์) และ 4) การเดินทาง (ของคนทำสไลด์)
มาดูรายละเอียดกันค่ะ
ส่วนที่ 1 บทนำ
ส่วนนี้มีบทเดียวค่ะ คือ Design Matters
บทที่ 1 Design Matters
Garr เกริ่นนำโดยการพาเราไปสู่คำถามพื้นฐานว่า การออกแบบ คืออะไร? จากนั้นก็นำเสนอ 14 วิธีที่ทำให้เราคิดเหมือนนักออกแบบ อือม... แปลกใหม่ดีค่ะ สำหรับเราที่มีอาชีพอื่นๆ (เช่น วิศวกร นักการตลาด นักวิจัย หรืออาจารย์) ที่ไม่ใช่นักออกแบบมืออาชีพ เราอาจไม่เคยคิดแบบนี้ (หรือคิดแค่บางข้อ) อันนี้เอาไปปรับใช้กับการทำงานได้เลยนะคะ ไม่ใช่แค่การออกแบบสไลด์
ส่วนที่ 2 องค์ประกอบ
ส่วนนี้ถือเป็นหัวใจของหนังสือเล่มนี้ ครอบคลุมสิ่งที่ต้องใช้ประกอบกันในสไลด์ ได้แก่ ตัวอักษร สี รูปภาพ วิดีโอ และข้อมูล (Chart กราฟ ตาราง)
บทที่ 2 Presenting with Type
บทนี้รวมทุกเรื่องที่เราควรรู้เกี่ยวกับตัวอักษร (Type หรือ Typeface หรือ Font ตามที่เรานิยมเรียกกัน) ไล่เรียงมาตั้งแต่รูปแบบตัวอักษรที่จะใช้ (เขามีแนะนำ 10 typefaces ที่ไว้ใจได้ด้วยค่ะ) ขนาดตัวอักษร (เน้นว่าแถวสุดท้ายก็ยังเห็น อันนี้ขอขยายความหน่อยค่ะ จะเห็นว่า Template Slde สมัยใหม่ที่ขายกัน ขนาดของตัวอักษรค่อนข้างเล็ก อาจเหมาะกับห้องประชุมนั่งกันไม่กี่คน แต่ไม่เหมาะกับการนำเสนอในห้องขนาดใหญ่) การสร้างความกลมกลืนให้กับตัวอักษรและสไลด์ของเรา เช่น ตำแหน่งที่จะจัดวาง เป็นต้น และปิดท้ายด้วยสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่มักพลาดกัน (โดยเฉพาะเมื่อใช้ภาษาอังกฤษในการนำเสนอ)
บทที่ 3 Communicating with Color
บทนี้พูดถึงสีทั้งในแง่ทฤษฎี (น้อยหน่อย) และภาคปฏิบัติ (มากหน่อย) เพื่อให้เราเลือกใช้สีให้ดูกลมกลืน (ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Harmony ความหมายจะกว้างกว่าแค่กลมกลืน) ซึ่ง Garr ทำสไลด์เปรียบเทียบให้เห็นเลยว่าการใช้สีในรูปแบบต่างๆ เช่น สีที่ต่างกัน เฉดสีที่ต่างกัน หรือแม้กระทั่งความอิ่มของสีที่ต่างกัน สไลด์รูปเดียวกันก็ให้ความรู้สึกที่แตกต่างกันได้ จากนั้นก็เป็นการเลือกสีที่จะใช้ในชุดสไลด์ (แทนที่จะพูดถึงการเลือกสีที่มีหลากวิธี Garr เน้นอยู่แค่ 4 แบบ ทำให้ง่ายต่อการเอาไปประยุกต์ใช้)
แล้วอย่าลืมว่าสีก็มีความหมายในตัวเอง สีให้อารมณ์ที่แตกต่างกัน ดังนั้นการเลือกใช้สีร้อนหรือสีเย็น การใช้ Slide background สีเข้มหรือสีอ่อน เรื่องเล็กๆ เหล่านี้สำคัญทั้งนั้นค่ะ (บทนี้ตัวอย่างเยอะดีค่ะ ชอบ แล้วยังช่วยปรับมุมองเรื่องสีของเราให้เข้าใกล้นักออกแบบด้วยจ้า)
บทที่ 4 Using Images to Tell Stories
รูปหนึ่งรูปสะท้อนอะไรได้มากมาย และแทนคำพูดได้เป็นร้อยเป็นพันคำ ที่จริงแล้วหัวใจสำคัญอย่างหนึ่งของ Presentation Zen คือ การใช้รูปสื่อความหมายโดยมีตัวอักษรประกอบเพียงไม่มาก
แต่ไม่ใช่ว่าเราจะหยิบรูปไหนมาก็ได้ มันต้องมีหลักการกันหน่อยค่ะ บทนี้เราจะเรียนรู้ถึงการเลือก resolution ที่เหมาะกับการทำสไลด์ ชนิดของไฟล์ที่ควรใช้ ขนาดของรูปในสไลด์ (ควรจะใหญ่เต็มสไลด์ หรือแค่ส่วนหนึ่ง) และสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงเมื่อต้องใช้รูปภาพ รวมถึงท้ายบทมีการแนะนำวิธีการสร้างรูปภาพของเราเอง (เทคนิคในการถ่ายรูป)
บทที่ 5 Making an Impact with Video
อิงไม่ค่อยเจอหนังสือการออกแบบสไลด์ที่พูดถึงวิดีโอมากนัก ถึงบทนี้จะไม่ยาวนัก แต่เปิดเรื่องได้อย่างน่าประทับใจ เพราะ คุณ Garr แกเล่นเอา Footage วิดีโอของพ่อแม่แกมาเป็นตัวอย่าง ส่วนที่น่าสนใจของบทนี้น่าจะเป็นข้อแนะนำในการใช้วิดีโอในการนำเสนอ เริ่มตั้งแต่เราจะ insert วิดีโออย่างไร การใช้วิดีโอเป็น background และขนาดของวิดีโอบนสไลด์
บทที่ 6 Simplifying the Data
Garr น่าจะเป็นคนแรกๆ ที่เขียนถึงเรื่องการนำเสนอ ตาราง Chart และกราฟ ให้เป็นมิตรต่อผู้ฟัง โดยการตัดองค์ประกอบที่รกรุงรัง เช่น เส้นบอกค่าต่างๆ บนแกน X และ แกน Y และเส้นแบ่งด้านในตาราง เป็นต้น นอกจากนี้ยังนำเรื่องสีมาช่วยให้ประเด็นที่เราต้องการนำเสนอใน Chart และกราฟ ให้โดดเด่นขึ้น (ตัวอย่างที่รุ่นหลังๆ เอามาใช้บ่อย คือ ให้แท่งกราฟทั่วไปเป็นสีเดียวกัน ส่วนแท่งกราฟที่เราจะเน้นให้เป็นสีอื่นที่โดดเด่นออกมา)
ในบทนี้ยังมีส่วนที่แนะนำ Slidedocs ของคุณ Nancy Duarte ด้วย (อ่านโพสต์เกี่ยวกับ Slidedocs ได้ที่นี่)
ส่วนที่ 3 หลักการ
เมื่อเรารู้จักองค์ประกอบต่างๆ ของสไลด์แล้ว ก็ได้เวลาเรียนรู้การนำเอาสิ่งต่างๆ มาประกอบกันอย่างมีสไตล์ (ออกแนว minimalist นิดหน่อย) โดยส่วนนี้มี 3 บทด้วยกัน พูดถึงเรื่องของ ที่ว่าง (space) ซึ่งเป็นสิ่งที่มักถูกมองข้าม การสร้างสไลด์ให้มีจุดมุ่งหมาย และการรวมสิ่งที่จำเป็นสำหรับสไลด์อย่างกลมกลืน
บทที่ 7 Seeing and Using Space
เปิดบทด้วยความสำคัญของที่ว่าง (Space) สิ่งที่มีอยู่ดาษดื่นเรามักไม่เห็นค่าค่ะ ที่ว่างในสไลด์ก็เช่นเดียวกัน (แต่ที่จริงแล้วสไลด์เราจะดู High Class ขึ้นได้ ส่วนหนึ่งก็เพราะ การจัดวางให้เกิดที่ว่างอย่างเหมาะสมนี่หละค่ะ) การที่เราจะทำให้เกิดสมดุลในส่วนของที่ว่างนั้น ไม่จำเป็นต้องจัดวางแบบสมมาตร (Symmetry) เสมอไป การจัดวางแบบไม่สมมาตร (Asymmetry) ก็สามารถสร้างสมดุลได้เช่นเดียวกัน (แต่มันมีเคล็ดลับนิดหน่อย ต้องไปอ่านเอาเองจ้า)
เนื้อหาหลักอีกส่วนหนึ่งของบทนี้ คือ การขยายความ Gestalt Principle (Gestalt คือ อะไร อ่านได้ในโพสต์นี้เลยจ้า) โดยอธิบายการนำ Gestalt Principle ไปใช้ในการสร้างความแตกต่างระหว่าง foreground และ background (ฉากหน้าและฉากหลัง) การนำสายตา การใช้แค่บางส่วนของรูปในการดึงดูดความสนใจของผู้ฟัง และการสร้างความใกล้ไกลขององค์ประกอบในสไลด์ เป็นต้น
บทที่ 8 Creating Purpose and Focus
บทนี้พูดถึงการสร้างจุดสนใจให้กับสไลด์ โดยใช้ Contrast เช่น ในเรื่องของขนาด รูปทรง และการจัดวาง เป็นต้น โดยใช้ตัวอย่างทำให้เราเห็นการประยุกต์ใช้ได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น รวมถึงการใช้เทคนิคต่างๆ เพื่อสร้างจุดสนใจให้กับสไลด์ ตอนท้ายบทมีพูดถึงการใช้ transition ด้วย
บทที่ 9 Achieving Harmony
บทสุดท้ายในส่วนของหลักการ เป็นการเก็บเล็กผสมน้อยเพื่อให้เกิด Harmony เริ่มจากการ Simplify การออกแบบสไลด์ของเรา ทั้งการเลือกใช้ตัวอักษร สี และ background เป็นต้น ให้เหลือเท่าที่จำเป็น (ตัดสิ่งที่รกรุงรังออก เช่น แบบตัวอักษร 2-3 แบบ ก็มากเกินพอแล้ว) จากนั้นในชุดสไลด์ของเราก็ควรเลือกองค์ประกอบที่สอดคล้องกัน เช่น รูปที่จะใช้ก็ควรไปในทางเดียวกัน (รูปแบบ โทนสี และอื่นๆ) เป็นต้น การจัดวางก็ควรเป็นระเบียบ โดยเราอาจใช้ Gridline ช่วยในการออกแบบก็ได้ (แล้วก็พูดถึง กฎ 3 ส่วนที่โด่งดังในการถ่ายภาพ ว่าเอามาใช้กับการออกแบบสไลด์ได้เหมือนกัน)
ส่วนที่ 4 การเดินทาง
หนังสือเป็นการบอกเล่าประสบการณ์ของผู้เขียน ชี้แนะแนวทางที่เขาใช้ หลักการที่เขาเชื่อ เมื่อเราอ่านหนังสือจบ เราอาจมีความรู้มากขึ้นและมุมมองใหม่ๆ แต่ขึ้นชื่อว่าทักษะแล้ว จะเก่งต้องฝึกค่ะ ส่วนนี้มี 2 บท เพื่อเตรียมเราสำหรับการเดินทางของตัวเราเองในการออกแบบสไลด์ คือ ตัวอย่างสไลด์ (ที่ผ่านมาก็ตัวอย่างเยอะมากแล้ว) และการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง
บทที่ 10 Slide Samples
ตัวอย่างสไลด์ช่วยสร้างแรงบันดาลใจและไอเดีย
บทที่ 11 Continuous Improvement
หากอยากเก่งขึ้น เราต้องมีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลาค่ะ ที่สำคัญ คือ สิ่งต่างๆ ที่จะช่วยให้เราพัฒนาการออกแบบสไลด์ (รวมถึงสายตาของนักออกแบบ) ที่จริงแล้วอยู่รอบตัวเรานี่แหละค่ะ ทั้ง Billboards บรรจุภัณฑ์สินค้า โบรชัวร์ต่างๆ และอื่นๆ อีกมากมายค่ะ
เพียงแค่เปิดตาให้กว้าง เปิดใจให้รับสิ่งใหม่ๆ และเปิดสมองให้ประมวลผลแล้วเอามาใช้ เราก็จะเรียนรู้ในทุกวันที่ผ่านไปค่ะ
ความคิดเห็นของฉัน
สำหรับคนชอบการออกแบบสไลด์ จำเป็นต้องมีหนังสือเล่มนี้ใน Collection สะสมค่ะ
หนังสือออกแบบได้ดีมาก ในส่วนของ Component (บทที่ 2 - 6) ครอบคลุมเรื่องพื้นฐานทุกเรื่องที่คุณต้องรู้ในการออกแบบสไลด์ ไม่ว่าสไลด์คุณจะนำเสนอเรื่องอะไรก็ตามก็จะหนีไม่พ้นองค์ประกอบเหล่านี้แน่นอน
สิ่งที่อิงชอบมากอีกอย่างหนึ่ง คือ ช่างเป็นหนังสือที่มีตัวอย่างสไลด์เยอะมาก เช่น การจัดวางในแบบเดียวกันแต่เทียบสีให้เห็นเลยว่าใช้สีอ่อนกับสีเข้มต่างกันอย่างไร หรือการจัดวางตัวอักษรในตำแหน่งต่างๆ ให้ความรู้สึกที่แตกต่างกันอย่างไร หรือขนาดของรูปที่แตกต่างกันไปส่งผลกระทบกับการรับรู้ของเราอย่างไร เป็นต้น แถมแกเขียนคำอธิบายกำกับไว้ซะเกือบทุกสไลด์ อ่านกันมันส์ไปเลยค่ะ
เชียร์ เชียร์ และเชียร์ ให้ซื้อค่ะ หนังสือเรื่องการออกแบบสไลด์ดีๆ แบบอ่านเล่มเดียวแล้วจบ (หรือเก่งไปเลย) มีน้อยมากๆ จ้า Presentation Zen Design เป็นหนึ่งในนั้นค่ะ
ที่สำคัญมีภาษาไทยให้จับจองเป็นเจ้าของด้วยค่ะ อาจหาซื้อได้ยากหน่อย (ฉบับภาษาไทย) ที่เคยเห็นก็ที่ร้าน Kinokuniya หรือลองถามไปที่สำนักพิมพ์ขวัญข้าวก็ได้ค่ะว่ายังมีสต๊อกอยู่มั๊ย