ออกจากโรงแรมเลี้ยวขวา เดินตรงไป

ถึงสี่แยก เลี้ยวขวา จากนั้นเดินตรงไป 

เจอสี่แยก ข้ามถนนเดินตรงไป 

เจอสามแยกให้เลี้ยวขวา

เดินตรงไปเรื่อยๆ จนเจอสี่แยกที่สองค่อยเลี้ยวซ้าย

เดินตรงไปประมาณ 50 เมตร 

ร้านกาแฟอยู่ซ้ายมือ 

ตอนคุณอ่านแต่ละบรรทัด ในหัวคุณเห็นตัวหนังสือ หรือเห็นภาพแผนที่?

More...

แล้วเทียบกับแผนที่ในรูป A คุณว่าคุณอ่านได้เร็วกว่า หรือมองแผนที่ได้เร็วกว่า? แล้วอย่างไหนเข้าใจมากกว่า?

ความจริงก็คือ สมองเราคุ้นเคยกับการประมวล “ภาพ” 

แต่ก็น่าแปลกนะคะ ที่ในชีวิตการทำงาน เราใช้แผนภาพหลายชนิดเลย แต่เราไม่เคยเรียนหลักการเขียนหรือการใช้แผนภาพเลย

แต่ไม่เป็นไรค่ะ 

โรงเรียนไม่มีสอน เราก็อ่านเองได้ 

โพสต์นี้อิงขอแนะนำหนังสือ "คิดเป็นภาพ เปลี่ยนเรื่องยากให้ง่ายใน 1 นาที" โดย ซากุราดะ จุน

หนังสือเล่มนี้พูดอยู่เรื่องเดียว คือ แผนภาพ แถมคำโปรยหน้าปกก็น่าซื้อหา เพราะ เคลมว่าคุณซากุราดะ เป็นนักสร้าง infographic มือหนึ่งของญี่ปุ่น (ที่ทำแผนภาพเป็นงานอดิเรก เก๋มากค่ะ)

หนังสือเขียนเกี่ยวกับอะไรบ้าง

อย่างที่เกริ่นมาค่ะ หนังสือเขียนอยู่เรื่องเดียว คือ แผนภาพ โดยมีทั้งหมด 7 แบบ แผนภาพทั้ง 7 แบบนั้นสร้างจากองค์ประกอบแค่ 5 อย่าง คือ สี่เหลี่ยม วงกลม สามเหลี่ยม ลูกศร และเส้น แค่นั้นจริงๆ 

จุดเด่นที่อิงชอบอีกเรื่องนึงของหนังสือเล่มนี้ คือ การออกแบบและจัดวางแบบฝึกหัดและคำอธิบายของแบบฝึกหัดที่ผ่านการคิดมาแล้วเป็นอย่างดี แถมมีคำอธิบายถึงการจัดวางว่าแต่ละส่วนหมายถึงอะไร เพื่อให้เราอ่านได้ง่ายขึ้นและเข้าใจมากขึ้น

คุณซากุราดะแกเจ๋งจริง เพราะแกอธิบายแผนภาพต่างๆ ในหนังสือ ได้เข้าใจง่ายสุดๆ โดยย่อยขั้นตอนการสร้างแผนภาพออกมาเป็น 3 ขั้นตอน (แผนภาพไหนก็สร้างได้ใน 3 ขั้นตอนเท่านั้น) มาดูแผนภาพและวิธีการสร้างที่แกพูดถึงในหนังสือกันค่ะ

แผนภาพแลกเปลี่ยน

แผนภาพแลกเปลี่ยนแสดงความสัมพันธ์ของคน/ของ/องค์ประกอบ 2 อย่างหรือมากกว่าขึ้นไป ตัวอย่างการใช้แผนภาพชนิดนี้ เช่น การทำธุรกิจของบริษัท และความสัมพันธ์ของผู้ใช้ Line กับบริษัท Line เป็นต้น 

ขั้นตอนการสร้างแผนภาพแลกเปลี่ยนแสดงไว้ในรูป B

แผนภาพต้นไม้

แผนภาพต้นไม้เป็นการจัดโครงสร้างของสิ่งต่างๆ โดยเอามาจัดตามหมวดหมู่ที่มีลักษณะร่วมกัน ตัวอย่างแผนภาพชนิดนี้ที่เห็นบ่อยมาก คือ ผังองค์กร (organization chart) ที่จัดโครงสร้างขององค์กรตามกลุ่มงานหรือการบังคับบัญชา เป็นต้น

ขั้นตอนการสร้างแผนภาพต้นไม้แสดงไว้ในรูป C

แผนภาพเชิงลึก

แผนภาพเชิงลึกเกิดจากการตอบคำถามว่า “ทำไม” ต่อไปเรื่อยๆ จนไม่มีคำตอบหรือจนได้คำตอบเป็นที่พอใจแล้ว เป็นการช่วยเราค้นหาประเด็นที่สำคัญนั่นเอง ตัวอย่างแผนภาพที่ประยุกต์รูปแบบนี้ไปใช้ คือ แผนภูมิก้างปลา ถ้าเอาแผนภูมิก้างปลามากางออก ก็จะได้แผนภาพเชิงลึกนั่นเอง

ขั้นตอนการสร้างแผนภาพเชิงลึกแสดงไว้ในรูป D

แผนภาพเปรียบเทียบ

แผนภาพเปรียบเทียบเหมือนดังชื่อค่ะ เป็นการเปรียบเทียบสิ่งต่างๆ โดยเลือกปัจจัยที่ทำการเปรียบเทียบมา 2 ปัจจัย (2 แกน คือ แกน X และ แกน Y) จากนั้นดูว่าสิ่งต่างๆ นั้นอยู่ตำแหน่งใด เมื่อดูจากปัจจัยทั้ง 2 ที่เราเลือก ตัวอย่างแผนภาพแบบนี้ที่ดังมาก คือ BCG Model ที่นักเรียน MBA ทุกคนต้องเคยได้เรียน (เป็นการเปรียบเทียบธุรกิจ โดยดูจากอัตราการเติบโตในแกน Y และ ส่วนแบ่งตลาดในแกน X) 

ขั้นตอนการสร้างแผนภาพปรียบเทียบแสดงไว้ในรูป E

แผนภาพขั้นตอน

แผนภาพขั้นตอนเป็นการบอกว่าขั้นที่ 1 คือ อะไร ขั้นที่ 2 คือ อะไร ไล่ไปเรื่อยๆ ตัวอย่างการใช้แผนภาพชนิดนี้ คือ ขั้นตอนการผลิตของผลิตภัณฑ์ และขั้นตอนการขอคืนภาษี เป็นต้น 

ขั้นตอนการสร้างแผนภาพขั้นตอนแสดงไว้ในรูป F

แผนภาพวงกลม

แผนภาพวงกลมใช้บอกแนวคิด (concept) ของสิ่งที่เราต้องการอธิบาย โดยที่เห็นบ่อยๆ มักเป็นวงกลม 3 วงซ้อนกัน (แต่จริงๆ อาจมีวงกลมแค่ 2 วงหรือมากกว่านั้นก็ได้ วงกลมจะซ้อนกันหรือแยกจากกันก็ได้ ขึ้นกับสิ่งที่เราต้องการจะสื่อ) ตัวอย่างแผนภาพชนิดนี้ที่เห็นบ่อย คือ การอธิบายหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) ที่เป็นวงกลม 3 วง ประกอบด้วย ด้านเศรษฐศาสตร์ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซ้อนทับกัน โดยส่วนที่ถือว่าเป็น Sustainable Development คือ ส่วนที่ทั้ง 3 วงนั้นทับกัน

ขั้นตอนการสร้างแผนภาพวงกลมแสดงไว้ในรูป G

แผนภาพพีระมิด

แผนภาพพีระมิดจะไล่ตั้งแต่ลำดับขั้นด้านล่างไปจนถึงด้านบน ตัวอย่างแผนภาพชนิดนี้ที่เห็นบ่อย คือ แผนภาพความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ (Maslow’s hierarchy of needs) ที่แสดงความต้องการพื้นฐานตั้งแต่ลำดับขั้นที่ 1 ความต้องการทางร่างกาย เช่น อาหาร เครื่องนุ่งห่ม (ตรงฐานของพีระมิด) ไปจนถึงลำดับขั้นที่ 5 ความต้องการความสมบูรณ์ของชีวิต 

ขั้นตอนการสร้างแผนภาพพีระมิดแสดงไว้ในรูป H

ความคิดเห็นของฉัน

เนื้อหาในหนังสือเป็นเรื่องที่เห็นกันบ่อยแต่กลับไม่ค่อยมีใครเขียนถึง ถึงแม้ว่าแผนภาพจะมีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่แผนภาพ 7 แบบที่คุณซากุราดะเอามาขยายความเป็นแผนภาพที่เราได้ใช้อยู่บ่อยๆ ในการทำงาน

ต้องชมผู้เขียนว่าเก่งมากที่ย่อยเนื้อหาแยกแยะออกมาได้อย่างเป็นขั้นเป็นตอน อ่านแล้วทำตามได้ทันที การวางเนื้อหาก็ทำได้ดี แถมใช้ตัวอย่างในการอธิบายและขยายความได้เป็นอย่างดี แบบฝึกหัดที่ให้ก็ช่วยลับสมองได้ดี ไม่ยากจนเกินไป 

อีกส่วนนึงที่ชอบ คือ เทคนิคการประยุกต์ใช้ที่แกเขียนไว้ในช่วงท้ายของหนังสือ (แกใช้ Gestalt Principle ด้วยนะคะ ลองอ่านดูดีๆ) 

จุดเด่นข้อนึงของหนังสือที่อิงว่าคุ้มค่ากับการอ่าน คือ เทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ที่ช่วยให้แผนภาพเราสื่อความได้ดีขึ้น อันนี้บางข้อไม่รู้จริงๆ แต่พอคิดตามที่แกบอก ก็เออ จริงแฮะ

อิงใช้เวลาประมาณชั่วโมงนิดๆ ในการอ่านและคิดตามจนจบ เพราะแกทำหนังสือให้อ่านได้ง่าย สมกับชื่อเรื่องที่ว่าเปลี่ยนเรื่องยากให้ง่ายใน 1 นาที 

ถ้าใครอยากเริ่มต้นกับ Visual thinking แนะนำว่าควรซื้อมาอ่านค่ะ การคิดให้ขาดเป็นจุดเริ่มต้นของทุกอย่างในการทำงาน ทั้งการพูด การนำเสนอ การเจรจาต่อรอง การวางแผนงาน และอื่นๆ การใช้แผนภาพจะช่วยจัดระเบียบความคิดของเราได้เป็นอย่างดี 

สรุปว่าการซื้อหนังสือเล่มนี้มาอ่านป็นการลงทุนทั้งเรื่องเงินและเวลาอย่างคุ้มค่าค่ะ

Ing

วิศวกรสิ่งแวดล้อมที่หันมาทำงานบริหารโครงการ แต่สนใจเรื่องการนำเสนอมาก
จนอยากจะแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้มาตลอดหลายปี (ไม่กล้าบอกปี เดี๋ยวรู้อายุ) ให้กับผู้อ่านที่น่ารักทุกคน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked

{"email":"Email address invalid","url":"Website address invalid","required":"Required field missing"}

โพสต์อื่นๆ ที่คุณอาจสนใจ

รีวิวหนังสือ (น่าอ่าน): Storytelling with you
รู้ลึก vs รู้แค่ผิวๆ
5 เรื่องสำคัญ ในการออกแบบโปสเตอร์นำเสนอ