เวลานำเสนอข้อมูลที่เป็นตัวเลข มันจะมีความมึนเล็กๆ..
แค่ลำพังตัวเลข บางทีก็ทำเอาตาแทบถลนกันเลยทีเดียว
แต่พอต้องมาคิดอีกว่าจะนำเสนอในรูปแบบไหนดี ให้ถูกใจคนฟัง
...ก็ทำเอาเครียดหนักไปอีก...
บางคนอาจแย้งว่า ไม่เห็นจริงเลย...
เราก็ใส่ตัวเลขเข้าไปใน Excel แล้วก็เลือกว่าจะเอา แผนภูมิวงกลม (Pie Chart) หรือ กราฟแท่ง หรือ กราฟเส้น ชีวิตก็มีแค่นี้แหละ ส่วนตารางไม่ต้องใส่ มันไม่ Visual คนฟังไม่ชอบ
อือม....
คุณว่าจริงอย่างที่เขาว่าหรือเปล่า?
More...
ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับตาราง
ข้อเท็จจริง คือ ตารางและกราฟมีการใช้งานที่ต่างกัน
แต่เราไม่เคยถูกสอน (หรือหลับไปตอนครูสอน) ว่าเมื่อไรควรใช้ตารางและเมื่อไรควรใช้กราฟ
ที่จริงแล้วมันมีหลักการเลือกอยู่ค่ะ...
แต่ก่อนไปถึงตรงนั้น มาแก้ความเชื่อบางอย่างกันก่อน
#1 บางคนไม่ชอบตาราง เพราะหน้าตามันน่าเบื่อ
มันก็...จริงบางส่วน
ถ้าคุณใช้ตารางแบบ default ที่ Excel ให้มา ตารางคุณก็จะน่าเบื่อหน่อย เพราะมันเหมือนกับคนอีกครึ่งโลก...
อิงเคยเขียนเรื่อง Table Makeover ว่าตารางก็ดูว้าวได้ ลองเปิดไปอ่านได้ค่ะ (โพสต์: Table Makeover)
#2 การนำเสนอที่ดีต้องเป็นรูปแบบ Visualization เท่านั้น เช่น กราฟ รูป เป็นต้น
อันนี้ ก็...จริงบางส่วนเช่นกันค่ะ
Visualization เป็นรูปแบบที่เข้าใจง่าย แบบว่ามองแค่หางตาพอ
แต่ สื่อการนำเสนอ เช่น สไลด์ ต้องช่วยให้ผู้ฟังเข้าใจได้มากขึ้น keyword คือ ความเข้าใจ
ดังนั้น ถ้าเราเลือกกราฟ ทั้งที่ข้อมูลชุดนี้ควรแสดงในรูปแบบตารางจึงจะเข้าใจได้ดีกว่า อย่างนี้ถือว่าพลาดแล้วค่ะ
ตารางหรือกราฟ - เลือกอย่างไร?
ลองมาดูกันค่ะว่าเมื่อไรควรใช้ตาราง เมื่อไรควรใช้กราฟ
- 1ต้องการเห็นค่าตัวเลขของข้อมูลแต่ละตัวแบบชัดๆ เช่น ข้อมูลยอดขายและผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดที่ขายในแต่ละเดือน ของปี 2018 แบบนี้ควรใช้ตาราง (ตัวอย่างในรูป A) แต่หากเรามีข้อมูลไม่มาก (ย้ำว่าไม่มาก) อาจปรับมาใช้กราฟโดยให้แสดงผลตัวเลขกำกับได้เช่นกัน (ตัวอย่างในรูป B)
- 2ต้องการเปรียบเทียบค่าตัวเลขของข้อมูลแบบละเอียด เช่น ข้อมูลยอดขายเดือนเมษายน (71,900 บาท) เทียบกับข้อมูลยอดขายเดือนพฤษภาคม (71,640 บาท) แบ่งเป็น 2 กรณี ค่ะ กรณีแรก เราไม่รู้ว่าผู้ฟัง/ผู้อ่านจะเปรียบเทียบเดือนไหนกับเดือนไหน และชุดข้อมูลมีมาก แบบนี้ควรใช้ตาราง (เหมือนในรูป A) กรณีที่สอง หากเรารู้หรือเราเป็นคนกำหนดว่าจะเปรียบเทียบเดือนไหนกับเดือนไหน อาจปรับมาใช้กราฟโดยให้แสดงผลตัวเลขกำกับได้เช่นกัน (ตัวอย่างในรูป C)
- 3ต้องการเห็นรูปแบบ แนวโน้ม และการคาดการณ์ของข้อมูล เช่น ยอดขายในปี 2018 มีรูปแบบเป็นอย่างไร (ลดลง เพิ่มขึ้น ในช่วงเดือนไหนบ้าง) แบบนี้ควรใช้กราฟ (ตัวอย่างในรูป D) หากเราใช้ตาราง เราต้องตีความการลดลงและเพิ่มขึ้นจากตัวเลข เอามาทดไว้ในใจ พร้อมสร้างรูปแบบว่าลดลงหรือเพิ่มขึ้นในหัวเรา อันนี้ยากเกินไปหน่อย
- 4ต้องการเห็นข้อมูลที่มีหน่วยต่างกัน เช่น อยากเห็นข้อมูลทั้งในส่วนของยอดขายเป็นบาทและจำนวนชิ้นของผลิตภัณฑ์ในแต่ละประเภทไปพร้อมๆ กัน แบบนี้ควรใช้ตาราง (เหมือนในรูป A) อาจมีคนแย้งว่าเราใช้กราฟที่มีแกน Y 2 ข้างก็ได้ ข้างซ้ายสำหรับหน่วยเป็นบาท ข้างขวาสำหรับหน่วยเป็นชิ้น มันก็พอได้ค่ะ แต่ไม่ค่อยอยากแนะนำเพราะมันอ่านค่าลำบาก โดยเฉพาะเมื่อชุดข้อมูลมีเยอะ แต่ถ้าข้อมูลมีหน่วยมากกว่า 2 หน่วย แล้วต้องการแสดงพร้อมกันหมด ลืมกราฟไปดีกว่าค่ะ ไม่ใช่วิชาเทอร์โมไดนามิกส์ เราอย่าทรมานคนฟัง/คนอ่านเลยค่ะ
- 5ต้องการเห็นความสัมพันธ์ของชุดข้อมูล เช่น ยอดขายในปี 2018 มีความสอดคล้องกับต้นทุนของผลิตภัณฑ์ที่ขายได้ ยกเว้นเดือนมิถุนายนที่แตกต่างออกไป (เนื่องจากมีการขายลดราคาล๊อตใหญ่ให้กับบริษัทในจีน) (ตัวอย่างในรูป E)
- 6ต้องการเห็นการประมวลผลของชุดข้อมูล (เช่น ผลรวม และค่าเฉลี่ย) เช่น แสดงยอดขายในปี 2018 ในแต่ละเดือน พร้อมทั้งผลรวมยอดขายทั้งปี แบบนี้ควรใช้ตาราง (ตัวอย่างในรูป F) หรือหากใช้กราฟต้องมีการปะตัวเลขผลรวมเข้าไปเพิ่ม ซึ่งถ้าชุดข้อมูลมีไม่มาก (ตัวอย่างในรูป G) ก็พอทำให้เข้าใจได้ง่าย แต่ถ้ามีข้อมูลหลายชุดมาก ใช้ตารางดีกว่าค่ะ
หลายเรื่องที่เราไม่รู้เกี่ยวกับตาราง
อย่าลืมอ่าน "ออกแบบตารางให้เข้าใจง่ายด้วย Good Practices" ด้วย
มาเรียนรู้เกี่ยวกับกราฟในสไลด์
อย่าลืมอ่าน "5 สิ่งควรทำ สำหรับการนำเสนอกราฟในสไลด์"
คำถามชวนคิด
หากคุณต้องการแสดงมูลค่าปิดตลาดของหุ้น PTT ในแต่ละวันของปี 2018 คุณจะใช้กราฟหรือตาราง?
Infographic ช่วยจำ
ส่งท้ายกันด้วย infographic ช่วยจำค่ะ