A.

อย่าเสียเวลาไปกับการทำสไลด์

เนื้อหาที่ดีต่างหากที่จะดึงดูดใจคนฟัง

หากคุณมีเนื้อหาที่ดี...

ต่อให้อ่านสคริปต์ไปตลอด 30 นาที 

โดยไม่มีสไลด์สักแผ่น 

แถมนั่งก้มหน้าตลอดเวลา

คุณก็เอาผู้ฟังอยู่...

...

B. 

ต่อให้มีเนื้อหาที่ดีแค่ไหน

หากสไลด์คุณน่าเบื่อ

จ้องนานๆ แล้วเหมือนยานอนหลับ

ผู้ฟังก็จะละความสนใจจากคุณอย่างรวดเร็ว

...

C.

ถึงเนื้อหาจะดี

สไลด์ก็สวยงาม

แต่ถ้าคุณนำเสนอได้แย่ 

พูดเสียงชวนง่วงนอน แถมพูดวนไปวนมา...

น่าเบื่อสุดๆ...

สุดท้ายแล้ว คนฟังก็จะเลิกฟังสิ่งที่คุณพูด

...

แล้วคุณหล่ะ เห็นด้วยกับข้อไหน?

More...

เนื้อหา (Message) หน้าตาของสไลด์ (Visual Story)  และการนำเสนอ (Delivery) เป็นหัวข้อที่ถกเถึยงกันมานาน 

บางกูรูสายเล่าเรื่องที่สุดโต่งมักยกตัวอย่าง A มาบลัฟ สายทำสไลด์เป็นประจำ

ส่วนสาย Delivery ที่มักเน้นให้ผู้นำเสนอต้องเอาใจใส่ในเรื่องการใช้เสียงและท่าทางประกอบก็จะยกตัวอย่าง C ว่ามันต้องอย่างเน้

และแน่นอนค่ะ สายมือทำสไลด์ก็ส่ายหน้าใส่สไลด์ที่เต็มไปด้วย bullet points กับตัวหนังสือรัวๆ พร้อมยกตัวอย่าง B มาประกอบทันที

ว่าแต่ คำถามข้างต้นที่ว่าคุณเห็นด้วยกับข้อไหน? คุณตอบอะไรคะ?

เก้าอี้ 3 ขา ของการนำเสนอ

Jim Endicott ผู้แต่งหนังสือ “The presentaion survival skills guide” ให้คำเปรียบเปรยที่น่าฟังว่า เนื้อหา หน้าตาของสไลด์ และการนำเสนอ ก็เหมือนเก้าอี้สามขาของการนำเสนอ ทั้ง 3 สิ่งนี้ควรจะเด่นพอๆ กัน จึงจะรักษาสมดุลของเก้าอี้ไว้ได้ หากขาใดขาหนึ่งหักไป เก้าอี้ก็ทรงตัวไม่อยู่ หรือหากสั้นกว่าอีก 2 ขา ก็จะนั่งได้แบบมีเสียวว่าหน้าจะคะมำ

อิงชอบการเปรียบเปรยนี้นะคะ 

เก้าอี้ 3 ขา ในอุดมคติ

สำหรับอิง เก้าอี้ 3 ขาในอุดมคติ จะเป็นอย่างนี้ค่ะ

ขาเนื้อหา (Message)

  • เนื้อหาตอบผู้ฟังได้ว่า เขาฟังแล้วจะได้อะไร (มี audience's benefit ที่ชัดเจน)
  • เนื้อหามี key message ที่ชัดเจน และมีสิ่งสนับสนุน key message นั้น
  • เนื้อหาจัดวางลำดับไว้อย่างมีตรรกะ
  • เนื้อหามีเส้นเรื่องที่น่าสนใจ (ลองดูเส้นเรื่อง 4 แบบ ที่คุณ Dan Roam แนะนำได้ในโพสต์นี้)

ขาหน้าตาของสไลด์ (Visual Story)

  • เลือกใช้สีและตัวอักษรที่เหมาะสมกับเนื้อหาการนำเสนอ
  • 1 สไลด์ 1 message
  • เนื้อหาถูกเรียบเรียงออกมาในรูป visual (ใช้ ไดอะแกรม รูปภาพ และกราฟประกอบอย่างเหมาะสม)
  • การจัดวางองค์ประกอบในสไลด์ชวนมองและลดงานของผู้ฟังในการตีความ

ขาการนำเสนอ (Delivery)

  • เปิดการนำเสนอได้อย่างน่าสนใจ ชวนติดตาม
  • มีการใช้เสียงและท่าทางประกอบ ได้อย่างเหมาะสม (ไม่มากไปจนกลายเป็นเล่นละคร และไม่น้อยไปจนกลายเป็นท่อนไม้)
  • ปิดการนำเสนอได้อย่างมีพลัง
  • มี call to action ว่าเมื่อจบแล้วอยากให้ผู้ฟังทำอะไร

แต่สุดท้ายแล้วเก้าอี้ 3 ขา ต้องติดล้อเลื่อนด้วยนะคะ จะได้เลื่อนส่งผู้ฟังจากจุดเริ่มต้นที่จุด A ไปยังจุด B ได้ตามที่เราต้องการ (A คือ อะไร B คือ อะไร อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่)

คำถามชวนคิด

ในการนำเสนอครั้งก่อนของคุณ เก้าอี้ 3 ขาของคุณหน้าตาเป็นอย่างไร?

แล้วในการนำเสนอครั้งหน้าของคุณ ต้องปรับปรุงอย่างไร เก้าอี้ 3 ขาของคุณจึงจะสมดุลขึ้น?

Ing

วิศวกรสิ่งแวดล้อมที่หันมาทำงานบริหารโครงการ แต่สนใจเรื่องการนำเสนอมาก
จนอยากจะแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้มาตลอดหลายปี (ไม่กล้าบอกปี เดี๋ยวรู้อายุ) ให้กับผู้อ่านที่น่ารักทุกคน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked

{"email":"Email address invalid","url":"Website address invalid","required":"Required field missing"}

โพสต์อื่นๆ ที่คุณอาจสนใจ

รีวิวหนังสือ (น่าอ่าน): Storytelling with you
รู้ลึก vs รู้แค่ผิวๆ
5 เรื่องสำคัญ ในการออกแบบโปสเตอร์นำเสนอ