วันนี้คุณนำเสนอได้เยี่ยมมาก...

คุณรู้สึกได้เลย 

คุณเกริ่นกับผู้ฟังไว้ตอนต้นว่าช่วงนี้งานเยอะมาก เลยมีเวลาเตรียมตัวน้อย

แต่คุณพูดได้ดีกว่าที่คิดไว้ พูดเนื้อหาได้ครบทุกสไลด์

ถึงสไลด์จะรีบทำไปหน่อย เอาจากในรายงานมาแปะไว้ในสไลด์

แต่ผู้ฟังก็ดูสนใจนะ...

ยิ่งทำให้อยากพูดมากกว่าเดิม

อือม... สงสัยสไลด์ที่เตรียมมาจะยาวไปหน่อย

เออ... เลยพูดเกินเวลาไปนิดนึง

แต่ไม่มากนะ... แค่ 20 นาทีเอง 

จบตอนเที่ยงยี่สิบพอดี

…….

คุณว่าคุณทำได้เยี่ยมอย่างที่คุณคิดจริงหรือไม่?

More...

เมื่อหลายปีก่อน อิงไปฟังการบรรยายสรุปของโครงการนึง ซึ่งอิงรู้จักทีมผู้ทำเป็นอย่างดี และรู้ว่าเขาทุ่มเทกันเต็มที่ ถึงแม้โจทย์ที่ได้จะถือว่ายากทีเดียว อาจารย์ที่รับเป็นผู้เชี่ยวชาญในโครงการเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงในวงการ ที่สำคัญแกทำงานดีถึงดีมากค่ะ 

ตัดมาในงานนำเสนอ ว่าด้วยผลการศึกษาและคำแนะนำด้านนโยบาย หากปิดตาไม่มองสไลด์ สิ่งที่ได้ฟังถือว่าน่าสนใจมากและอิงเชื่อว่ามีประโยชน์มากหากหน่วยงานที่เข้ามาร่วมฟังสรุปนั้น คิดตาม และนำไปใช้

แต่... พอเปิดตามามองสไลด์ กลับเต็มไปด้วยรูปไดอะแกรมและตารางที่เหมือนกับในตัวรายงาน ทำให้ตัวหนังสือเล็กมาก พออิงหันไปดูรอบๆ ก็พบว่าผู้ฟังส่วนใหญ่ทำเหมือนอิง คือ พยายามอ่านว่าในตารางนั้นเขียนอะไรบ้าง แทนที่จะฟังและคิดตามสิ่งที่อาจารย์ท่านนั้นสรุปออกมา

หลายๆ ครั้งมาก... ที่อิงเห็นการนำเสนอที่ควรจะดี แต่กลับจบลงด้วยความว่างเปล่า คือ ไม่มีอะไรให้จำกลับไปเลย แถมบางครั้งได้ความหงุดหงิดเพราะหิวข้าวกลับมาด้วย 

พอมานั่งนึกดูก็พบว่าบางครั้งเราอาจพูดได้ดี แต่กลับเป็นการนำเสนอที่ไม่ดีซะงั้น เพราะด้วยเหตุผลประกอบกันหลายๆ อย่าง แต่ที่อิงคิดว่าสิ่งที่มีผลค่อนข้างมาก 3 อย่าง คือ ออกตัวแรง ใช้สไลด์ที่ดูไม่โปร และพูดเกินเวลาไปมาก 

มาขยายความกันค่ะ

#1 ออกตัวแรง

ถึงเราจะเหนื่อย เตรียมตัวน้อย ใช้สไลด์รีไซเคิล ไม่มั่นใจ กลัวว่าจะรู้ไม่เท่าผู้ฟัง เราก็ไม่ต้องบอกให้ใครรู้ค่ะ เพราะเป็นการสร้างความรู้สึกแง่ลบให้กับผู้ฟัง ว่าเขาเป็นคนไม่สำคัญพอที่คุณจะสละเวลาเตรียมตัวให้ดีกว่านี้ และเมื่อคุณเอ่ยปากออกตัวว่าคุณเตรียมตัวมาไม่ดี ผู้ฟังก็จะเริ่มจับผิดคุณแล้วค่ะ

ตัวอย่างของชุดคำพูดต้องห้าม คือ เตรียมตัวมาน้อย/ไม่พร้อม ขอโทษนะครับ/ค่ะที่ตื่นเต้น/ประหม่า น่าจะเป็นประโยชน์กับผู้ฟัง (จากคำพูด คุณเองยังไม่แน่ใจเลยว่าเขาฟังแล้วจะมีประโยชน์หรือเปล่า) มีประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อย เป็นต้น

#2 ใช้สไลด์ที่ดูไม่โปร

สไลด์ที่ดูไม่โปร จะทำลายสิ่งดีๆ และความน่าเชื่อถือที่คุณพากเพียรสร้างมา

มีเรื่องเล่าให้ฟังค่ะ ช่วงนี้อิงเป็นสมาชิกรายการของบริษัทที่ปรึกษามีชื่อแห่งหนึ่งที่ผู้บริหารของบริษัทไปอ่านแล้วมาเล่าให้ฟัง ทุกอย่างถือว่าดีเลยค่ะ ได้ความรู้ ได้มุมมองที่แปลกออกไปกว่าเราอ่านเอง แต่... สิ่งที่ทอนความน่าเชื่อถือและความเป็นมืออาชีพของรายการนี้เป็นอย่างมาก คือ สไลด์ดูไม่โปรเลยค่ะ อิงเชื่อว่าผู้ฟังหลายคนคิดเหมือนอิง คือ ไม่กล้าเอาไปแชร์กับเพื่อน มันเหมือนสไลด์ที่มือใหม่หัดนำเสนอทำมากกว่าเป็นสไลด์ที่ระดับผู้บริหารใช้พูด (รายการนี้เสียตังสำหรับค่าสมาชิก ดังนั้นควรทำได้ดีกว่านี้)

#3 พูดเกินเวลาไปมาก

การนำเสนอไม่เหมือนคอนเสิรต์ที่คนฟังจะชื่นชมเมื่อนักร้องคนโปรดแถมต่อตอนท้ายให้อีก 2 เพลง ดังนั้นต่อให้คุณนำเสนอได้ดีโอกาสมีน้อยมากที่ผู้ฟังจะไม่อยากให้คุณลงจากเวที

... แต่ว่าการพูดเกินเวลายังไม่ใช่สิ่งที่แย่ที่สุด เพราะสิ่งที่ผู้ฟังจะรู้สึกแย่สุดๆ ไปเลย คือ การพูดเกินเวลาในตอนเที่ยงและตอนเย็น (คนสุดท้ายก่อนงานเลิก) ความหิวและรถติดไม่เข้าใครออกใครค่ะ

ทั้ง 3 สิ่งนี้สามารถแก้ไขได้ไม่ยากเลย แต่ต้องเริ่มจากลองสังเกตตัวเองดูก่อนค่ะ ว่าเราทำอย่างนี้หรือเปล่า?

คำถามชวนคิด

คุณรู้สึกอย่างไร เมื่อผู้นำเสนอออกตัวว่าเขาค่อนข้างใหม่กับเรื่องที่เขาจะมาพูดให้คุณฟัง

คุณรู้สึกอย่างไร เมื่อวิทยากรชื่อดังนำเสนอผลการศึกษาโครงการได้เยี่ยมเลย แต่สไลด์เหมือนตัดจากรายงานมาแปะไว้ ใน 1 สไลด์ มี 15 บรรทัดเท่านั้นเอง

คุณรู้สึกอย่างไร เมื่อผู้นำเสนอพูดเกินเวลาไป 1 ชั่วโมงเศษๆ จากจบเที่ยงเป็นบ่ายโมง (ประสบการณ์จริง เจอมากับตัวค่ะ)

Ing

วิศวกรสิ่งแวดล้อมที่หันมาทำงานบริหารโครงการ แต่สนใจเรื่องการนำเสนอมาก
จนอยากจะแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้มาตลอดหลายปี (ไม่กล้าบอกปี เดี๋ยวรู้อายุ) ให้กับผู้อ่านที่น่ารักทุกคน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked

{"email":"Email address invalid","url":"Website address invalid","required":"Required field missing"}

โพสต์อื่นๆ ที่คุณอาจสนใจ

รีวิวหนังสือ (น่าอ่าน): Storytelling with you
รู้ลึก vs รู้แค่ผิวๆ
5 เรื่องสำคัญ ในการออกแบบโปสเตอร์นำเสนอ