อิงว่าหนังสือเล่มนี้ตั้งชื่อได้ฉลาดมาก...

แค่ชื่อหนังสือก็บอกแล้วว่า... 

เป็นหนังสือสำหรับคนเก่ง...อย่างเรา (ใครๆ ก็อยากเป็นคนเก่งค่ะ)

แต่กว่าจะได้อ่านหนังสือเล่มนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายค่ะ

เพราะในร้านหนังสือชื่อดังที่ช่วงนี้ลดกระหน่ำเมื่อซื้อแบบออนไลน์ขายดีมาก

หนังสือหมดไป 2 รอบค่ะ สั่งไม่ทัน

สปอยล์นิดนึงก่อนรีวิวค่ะ...

คำว่าคุยไม่เป็นในชื่อหนังสือจะเฉพาะเจาะจงไปค่ะว่า คือ คุยเล่น (ไม่ใช่คุยเรื่องธุรกิจ หรือคุยเจรจาต่อรองค่ะ)

มาดูรีวิวฉบับเต็มกันค่ะ

More...

เกี่ยวกับผู้เขียน

ยาซุดะ ทาดาชิ เป็นประธานกรรมการบริษัท แพน เนชั่นส์ คอนซัลติง กรุ๊ป และเป็นอาจารย์พิเศษที่มหาวิทยาลัยวาเซดะ (มหาวิทยาลัยเอกชนชื่อดังของญี่ปุ่น)

นอกจากนี้ คุณทาดาชิยังเป็นวิทยากรด้านการสื่อสารธุรกิจและทำงานเป็นที่ปรึกษาด้วย (เคยให้คำแนะนำชี้แนะกับพนักงานมากกว่า 1,000 คน)

หนังสือนี้น่าจะเหมาะกับใคร

ถึงแม้ว่าใครๆ ก็อ่านหนังสือเล่มนี้ได้ เพราะแบ่งเป็นบทสั้นๆ (ตามสไตล์หนังสือญี่ปุ่น) เล่มเล็ก อ่านง่าย และไม่ซับซ้อน แต่อิงว่าคนที่น่าจะได้ประโยชน์จากหนังสือเล่มนี้มากที่สุด มีอยู่ 3 กลุ่ม ค่ะ

  • น้องๆ ที่เริ่มทำงานได้ไม่นาน: การเปลี่ยนจากโลกในมหาวิทยาลัยมาเป็นโลกของการทำงานไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับน้องๆ บางคน ความเกรียน ความเป็นตัวของตัวเอง และอะไรอีกหลายๆ อย่างที่ติดตัวเรามา ทำให้บางครั้งเราก็ลืมไปว่าพี่ที่ทำงานหรือเจ้านายหรือลูกค้าไม่ใช่เพื่อนเล่น จะคุยแบบเพื่อนก็ไม่ได้เลยทำตัวห่างๆ ไม่มีอะไรจะคุย แนะนำว่าลองอ่านหนังสือเล่มนี้แล้วเอาไปปรับใช้ดูค่ะ อย่าลืมว่าการเป็นที่รักของเพื่อนเริ่มงานก็สำคัญพอๆ กับการเป็นคนเก่งอย่างที่เราเป็นนะคะ
  • คนที่คิดว่าตัวเองเป็นคนแบบ introvert คุยกับคนอื่นไม่ค่อยจะเป็น: อิงก็จัดตัวเองเป็นคน introvert ที่ชื่นชอบจะอยู่กับตัวเองมากกว่าอยู่กับคนอื่น แต่ด้วยการทำงานมันลำบากที่จะทำอย่างนั้นค่ะ การพูดคุยเล็กๆ น้อยๆ (หรือที่ในเล่มใช้คำว่าคุยเล่น) เพื่อสร้างความคุ้นเคยกับผู้คนถือเป็นงานยากสำหรับอิง แต่เทคนิคที่คุณทาดาชิแนะนำไม่ยากเกินไปสำหรับชาว introvert อย่างเราค่ะ ฝึกสักนิดให้คล่อง ชีวิตเราน่าจะง่ายขึ้นเยอะเลยค่ะ
  • น้องๆ นักศึกษา: เทคนิคหลายข้อที่คุณทาดาชิสอนสามารถเอาไปใช้กับอาจารย์ของเราได้เป็นอย่างดีค่ะ การติดต่อกับผู้ใหญ่ที่อายุมากกว่าเรา มีอำนาจมากกว่าเรา อาจไม่ง่ายสำหรับเด็กๆ หากฝึกไว้ตั้งแต่ตอนอยู่มหาวิทยาลัยย่อมได้เปรียบกว่าค่อยไปหัดและเรียนรู้ตอนทำงานแล้วนะคะ

หนังสือเขียนเกี่ยวกับอะไรบ้าง

หนังสือเขียนเกี่ยวกับเทคนิคต่างๆ ในการคุยเล่น (มันคือ การเกริ่นนำ การสร้างบทสนทนากับผู้ที่คุยด้วย การเสริมสร้างปฏิสัมพันธ์กับอีกฝ่าย และการกระชับสายสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นขึ้น) หนังสือเขียนขึ้นจากประสบการณ์ของคุณทาดชิที่ได้มีโอกาสพบปะผู้คนมากมาย และแน่นอนมาจากความสนใจส่วนตัวและการให้คำสำคัญกับการคุยเล่นของเขา 

ว่าแต่การคุยเล่น คือ อะไร ฟังแล้วก็ยัง งง งง

อิงมีเรื่องเล่าให้ฟังค่ะ เมื่อสัปดาห์ก่อน อิงไปพบผู้บริหารของหน่วยงานรัฐที่เคยเจอกันหนึ่งครั้ง ครั้งที่แล้วแว่นสายตายาวท่านหัก ทำให้ผู้ติดตามต้องวิ่งวุ่นกันพอสมควร พอเจอกันครั้งนี้ คุยธุระเสร็จ (แอบขรึมๆ คุยไปด้วยอยากทำอย่างอื่นไปด้วย) อิงก็ทักว่าแว่นท่านซ่อมเสร็จแล้ว คราวนี้ไม่ขรึมแล้วค่ะ หัวเราะทันที บอกว่าผมโยนทิ้งไปแล้ว แต่ผมซื้อไว้เยอะเลย พร้อมทั้งเปิดลิ้นชักหยิบมาให้ดู อิงเชื่อว่าการเอ่ยถึงเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อครั้งที่แล้ว เป็นการเพิ่มความคุ้นเคย แบบว่าเราเคยผ่านเหตุการณ์นั้นมาด้วยกัน พร้อมทั้งเป็นการแสดงความใส่ใจอีกด้วย 

คุณว่าในสถานการณ์ข้างต้น ถือเป็นการคุยเล่นหรือเปล่า?

ลักษณะการวางเนื้อหาในหนังสือถือว่าน่าสนใจทีเดียวเลยค่ะ ในบทที่ 1 ถึง 8 จะมีใบปะหน้าที่เป็นชื่อบท พร้อมกับลักษณะ/ผลของการพูดคุยของคน 3 แบบ คือ คนไม่เอาถ่าน คนธรรมดา และคนชั้นแนวหน้า ถือเป็นการเปรียบเทียบอย่างเห็นไ้ด้ชัด แล้วเมื่อจบแต่ละบทย่อยแล้วจะมีกรอบตรงด้านล่างพูดถึงหลักสำคัญของคนชั้นแนวหน้า จากนั้นเมื่อถึงตอนท้ายของแต่ละบทจะมีเหมือนเป็นการสรุปรวมของบทนั้นๆ ภายใต้หัวข้อว่า สัมมนาเกี่ยวกับการคุยเล่น

(ความเห็นส่วนตัวค่ะ อิงว่าหนังสือของญี่ปุ่นค่อนข้างให้ความให้สนใจกับรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ทำให้หนังสือดูน่าสนใจขึ้น)

ในหนังสือประกอบด้วย 10 บทด้วยกัน รวมบทนำและบทส่งท้าย โดยแต่ละบทจะมีบทย่อยๆ ลงไปอีก ยกเว้นบทนำและบทส่งท้าย ดังนี้

บทนำ 

นื้อหาในบทนี้เป็นการปูพื้นและย้ำว่าการคุยเล่นไม่ใช่เรื่องไร้สาระ แถมยังช่วยให้ความสัมพันธ์และคุณภาพการทำงานดีขึ้นอีกด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ความสามารถนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเอง แต่เกิดจากการฝึกฝน คุณทาดาชิกล่าวไว้ หากเราอยากเป็นคนชั้นแนวหน้า (หรือคนเก่ง) ที่คุยเล่นได้อย่างมีเสน่ห์ ก็ต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้ค่ะ 

บทที่ 1 วิธีเริ่มต้น "คุยเล่นแบบคนชั้นแนวหน้า"

ในบทที่ 1 มี 5 บทย่อยให้เราได้เริ่มต้น ตั้งแต่ การนำเสนอตัวเอง การใช้คำเลียนเสียง (เวลาเล่าเรื่องจะได้ดูสมจริง เช่น รถชน -> รถชนดังโครม) วางแผนการคุยเล่น ใช้ระดับเสียง 'ฟา' หรือ 'ซอล' (เสียงสูงหน่อยนั่นเอง เพื่อเพิ่มความเป็นกันเอง) และ พูดว่า 'ขอฝากเนื้อฝากตัวด้วย' ในช่วงต้นของการสนทนา

ในบทที่ 1 นี้ มีเทคนิคข้อนึงที่อิงใช้บ้างเวลาเจอกับผู้ที่ต้องร่วมงานกันไปอีกนานในครั้งแรก คือ ขอฝากเนื้อฝากตัวด้วย จากประสบการณ์ที่ผ่านมาขอสนับสนุนสิ่งที่คุณทาดาชิเขียนว่ามัน work ค่ะ แต่ข้อสำคัญ คือ ต้องพูดด้วยความรู้สึกนั้นจริงๆ นะคะ ไม่ใช่พูดไปตามมารยาทค่ะ

บทที่ 2 ต้องใช้หัวข้อสนทนาแบบไหน การคุยเล่นจึงจะสนุกสนาน

อิงว่าเนื้อหาในบทนี้สำคัญเลยค่ะ เพราะมักเป็นตัวปัญหาว่าเราจะคุยเล่นอะไรกับคนที่เจอกันครั้งแรกหรือยังไม่ค่อยรู้จักดี คุณทาดาชิแนะนำดังนี้ค่ะ เลือกเรื่องเบาๆ ที่ไม่ส่งผลกระทบกับผู้อื่น หาหัวข้อที่น่าสนใจ (ไม่จำเป็นต้องเป็นหัวข้อที่ตลก) และความรู้ที่นำไปใช้ประโยชน์ต่อได้จะโดนใจคนฟังมากกว่าความรู้ทั่วไป 

(ส่วนหัวข้อที่ให้อ่านข่าวจากหนังสือพิมพ์แทนเว็บไซต์ข่าวออนไลน์ อันนี้อิงว่าไม่ค่อยแตกต่างกันเท่าไหร่ เพราะทุกวันนี้ก็ออนไลน์กันเกือบหมดแล้ว)

บทที่ 3 วิธีฟังที่ทำให้คู่สนทนาเปิดใจให้โดยไม่รู้ตัว

เนื้อหาในบทที่ 3 มี 7 บทย่อย แต่ละบทย่อยเป็นเทคนิคที่น่าสนใจและน่าลองเอาไปใช้ ข้อที่อิงสะดุดใจมีอยู่หลายข้อเลยค่ะ เช่น

'ไม่ควรถามว่าทำไมล่ะ' เพราะเป็นคำถามสิ้นคิด อือม... อันนี้อิงว่าขึ้นกับบริบทมากกว่า แต่การถามว่า ทำไมล่ะ กับคนที่ได้พูดคุยกันครั้งแรกๆ ก็อาจเป็นการต้อนอีกฝ่ายเกินไป แต่อิงเชื่อว่าบางกรณีก็มีข้อยกเว้นให้ถามได้

การถามอย่างกระตือรือร้น จะทำให้เราถูกมองว่าตั้งใจฟัง อันนี้เห็นด้วย 100% ค่ะ อิงว่าการพูดคุยกันที่คนส่วนใหญ่ชอบ คือ การที่เขาได้พูด (ไม่ได้ถูกเราแย่งพูดซะหมด) ดังนั้นการตั้งคำถามในเนื้อหาที่เขาเล่า เพื่อถามรายละเอียดเพิ่มเติมเป็นเทคนิคที่ถูกจริตคู่สนทนาค่ะ

ยังมีอีกหลายเทคนิคเลยที่น่าลอง เช่น การถามคู่สนทนาว่า คุณทำอะไรพิเศษมาบ้างหรือเปล่า หรือ บอกความคิดเห็นสั้นๆ แทนการตอบว่านั่นสินะ เป็นต้น บทนี้เทคนิคเขาดีจริงค่ะ

บทที่ 4 วิธีที่ช่วยให้สามารถลดระยะห่างได้ทันทีที่เจอกัน

ในบทนี้มี 5 ข้อย่อย คำแนะนำในบางบทอิงว่ามันอาจดูไม่ค่อยเนียนในสังคมไทย (หรืออาจต้องอาศัยการฝึกหัดค่อนข้างมากจะได้เนียน) เช่น การพึมพำชมอีกฝ่าย และการถามคู่สนทนาก่อนจากกันว่า 'ขอเป็นแฟนคลับได้มั๊ย' เป็นต้น 

แต่มีเทคนิคนึงที่อิงว่าน่าสนใจมาก คือ การพูดว่า 'ผม/ดิฉันไม่ทันคิดให้รอบคอบเอง' เมื่อมีความคิดเห็นขัดแย้งกัน เพื่อลดระดับความขุ่นข้องในการสนทนา เทคนิคนี้อิงเคยทำคล้ายๆ กัน คือ เมื่อหลายสัปดาห์ก่อน พี่ที่เคยทำงานร่วมกัน (และกำลังจะทำงานร่วมกันอีกรอบ) ได้กล่าวแย้งในสิ่งที่โครงการกำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งถึงแม้จะเป็นคำพูดที่ค่อนข้างแรงและเรื่องที่ทำก็เป็นสิทธิ์ที่โครงการจะทำได้ แต่อิงก็ตัดสินใจถอยมาก้าวนึง โดยกล่าวขอบคุณพร้อมกับยอมรับว่าเราไม่ได้คิดถึงประเด็นนี้ และดำเนินการแก้ไข เพื่อป้องกันปัญหาที่แกคิดว่าอาจจะเกิด (หรือไม่เกิดก็ได้) ในอนาคต บทสรุปของเรื่องนี้ก็ผ่านไปด้วยดี ไม่มีความขุ่นข้องหมองใจแต่อย่างไร และดูเหมือนความสัมพันธ์จะดีกว่าเดิมด้วยซ้ำค่ะ 

บทที่ 5 วิธีคุยเล่นในการเจอกันครั้งถัดไปที่ช่วยให้ความสัมพันธ์ดียิ่งขึ้น

ในบทนี้มี 4 หัวข้อย่อย มี 2 หัวข้อที่อิงชอบมาก คือ หนึ่งถึงแม้อีกฝ่ายจะไม่อยู่ก็ต้องพูดถึงอย่างสุภาพนอบน้อม ข้อนี้อิงว่าน้องๆ ที่เริ่มทำงานทุกคนควรหัดให้เป็นนิสัยค่ะ การแสดงความเคารพต่อผู้อื่นทั้งต่อหน้าและลับหลังเป็นการสะท้อนตัวตนของเราเองด้วยว่าเป็นคนอย่างไร

สอง คือ บอกอีกฝ่ายในการเจอกันครั้งถัดไปว่า เราได้ลองทำตามที่เขาแนะนำ/บอกเมื่อครั้งที่แล้ว ข้อนี้อิงว่าเป็นการแสดงความใส่ใจในคำแนะนำของอีกฝ่าย ทำให้เขารู้สึกว่าเราให้ความสำคัญกับเขา แต่ต้องทำจริงนะคะ ไม่ใช่แค่พูดเพื่อเอาใจอีกฝ่าย

บทที่ 6 เปลี่ยนหัวข้อสนทนาและวิธีพูดตามคู่สนทนา 

ในบทนี้ คุณทาดาชิพูดถึงวิธีพูดกับคน 5 แบบ ได้แก่ 1) คนประเภท 'เจ้านาย' 2) คนดีที่อ่อนโยน (อันตรายกว่าที่คิด อันนี้เห็นด้วยค่ะ) 3) นักวิเคราะห์ 4) คนที่ชอบเข้าสังคม และ 5) คนขี้เกรงใจ ลองอ่านรายละเอียดแล้วคิดเทียบกับคนที่เรารู้จักก็น่าสนใจดีค่ะ

บทที่ 7 วิธีพูดเข้าประเด็นสำคัญต่อจากการคุยเล่น 

อิงเชื่อว่าหลายคนรอเนื้อหาในบทนี้ค่ะ คือ แล้วจากคุยเล่นจะเข้าประเด็นสำคัญยังไง เช่น จะขายของ จะนำเสนองาน หรืออื่นๆ 

บทนี้ขึ้นด้วยหัวข้อที่ว่า 'ว่าแต่วันนี้' เป็นการเปิดประเด็นที่แย่ที่สุด อันนี้แอบขำค่ะ เพราะอิงรู้จักคนที่ติดพูดคำว่า 'ว่าแต่วันนี้' ก่อนจะเข้าเรื่องสำคัญ หุหุ ไม่รู้เขาจะได้อ่านหนังสือเล่มนี้บ้างหรือเปล่านะคะ

ส่วนเทคนิคอื่นๆ ในบทนี้ก็น่าลองค่ะ อย่างการเว้นจังหวัะก่อนการพูดเรื่อสำคัญ (อันนี้เป็นเทคนิคที่ใช้ในการนำเสนอด้วยค่ะ) ส่วนการบอกล่วงหน้าว่าประเด็นสำคัญมี 3 ข้อ ก็เข้าใจเล่นกับตัวเลขกับการสร้างมโนภาพในหัวของคนฟังค่ะ

บทที่ 8 เริ่มฝึกคุยเล่นตั้งแต่วันนี้ 

การฝึกหัดมีทั้งหมด 8 ระดับด้วยกัน ไล่จากง่ายไปยาก ตั้งแต่การถามคนในลิฟต์ว่าจะไปชั้นไหน การพูดคุยสั้นๆ กับพนักงานตอนจ่ายเงิน ยากขึ้นมาหน่อยก็เป็นการคุยเล่นกับเพื่อนร่วมงานที่ไม่ชอบหน้าหรือรับมือได้ยาก ไปจนถึงขั้น advance อย่างการรับเป็นพิธีกรและพูดสุนทรพจน์ในงานทางการต่างๆ (อยู่ในหัวข้อ level 8) ลองไปฝึกดูกันได้ค่ะ (หัวใจสำคัญ คือ ต้องฝึก และฝึกค่ะ)

แต่อิงเชื่อว่าผู้ที่สนใจการนำเสนออย่างผู้อ่าน การเป็นพิธีกรไม่ยากเกินไปแน่นอนค่ะ 

บทส่งท้าย 

ในบทส่งท้าย คุณทาดาชิเน้นย้ำกันอีกครั้งค่ะ ถึงพลังของการคุยเล่น ว่าจะช่วยในเรื่องการทำงานและความสัมพันธ์ของเรากับผู้คนรอบข้างให้ดีขึ้นเป็นอย่างมาก อย่าลืมเริ่มหัดคุยเล่นตั้งแต่วันนี้นะคะ

ความคิดเห็นของฉัน

อย่างที่บอกค่ะว่าอิงซื้อเพราะชื่อหนังสือ (ตัวโปรยด้านบนเล็กเหลือเกิน มองไม่เห็นในจอคอมฯ เลยไม่ได้สังเกตค่ะ) ก็เลยเซอร์ไพรส์นิดหน่อย

โดยรวม อิงชอบหนังสือเล่มนี้นะคะ อาจเพราะโดยส่วนตัวจะเขินๆ เวลาต้องหาเรื่องคุยกับคนที่ไม่รู้จักหรือคนที่ยังไม่คุ้นนัก อิงว่าข้อดีของหนังสือ คือ

  • เนื้อหากระชับ เป็นบทสั้นๆ อ่านจบในตอน ไม่ต้องอ่านต่อกัน
  • เทคนิคต่างๆ ที่อยู่ในหนังสือน่าสนใจและน่าลองเอามาปรับใช้ในชีวิตการทำงานเป็นอย่างยิ่งค่ะ ไม่ต้องไปคิดเองด้วย
  • หนังสือจากญี่ปุ่นมีบริบทบางส่วนที่คล้ายกับไทย เช่น ให้ความสำคัญกับเรื่อง Seniority และความอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นต้น ซึ่งพอมาปรับใช้แล้วมีโอกาสสำเร็จค่อนข้างสูง
  • เป็นหนังสือที่แปลกในท้องตลาด (ใครจะแต่งหนังสือเรื่องการคุยเล่นออกมาขาย) แต่ก็เหมาะกับการเรียนรู้ ไม่ต้องไปลองผิดลองถูกเองค่ะ

คำถามชวนคิด

ในอดีตที่ผ่านมา การคุยเล่นส่งผลอย่างไรต่อการทำงานของคุณ?

คุณคิดว่า จะนำเทคนิคในหนังสือไปใช้ในการช่วยสานสัมพันธ์ระหว่างคุณและผู้อื่นอย่างไร?

Ing

วิศวกรสิ่งแวดล้อมที่หันมาทำงานบริหารโครงการ แต่สนใจเรื่องการนำเสนอมาก
จนอยากจะแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้มาตลอดหลายปี (ไม่กล้าบอกปี เดี๋ยวรู้อายุ) ให้กับผู้อ่านที่น่ารักทุกคน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked

{"email":"Email address invalid","url":"Website address invalid","required":"Required field missing"}

โพสต์อื่นๆ ที่คุณอาจสนใจ

รีวิวหนังสือ (น่าอ่าน): Storytelling with you
รีวิวหนังสือ (น่าอ่าน): Everyday Business Storytelling
รีวิวคอร์สออกแบบสไลด์สไตล์คนงานยุ่ง