Trend นึงใน พ.ศ. นี้ คือ การใช้ Data Visualization หลายคนอาจงงๆ ว่ามัน คือ อะไร

แล้วในชีวิตประจำวันที่เราทำงานกันอยู่ในออฟฟิสมันจำเป็นต้องใช้มั๊ย ก็เราใช้โปรแกรมซับซ้อนไม่เป็นนี่หน่า

ที่จริงคำว่า Data Visualization มันกว้างมากค่ะ

แต่ถ้าคุณทำงานออฟฟิสรวมถึงงานวิศวกรรมด้วย สิ่งที่ต้องเรียนรู้เกี่ยวกับ Data Viz นั้น ส่วนใหญ่จะเกี่ยวกับ Charts ต่างๆ 

หากคุณอยากเริ่มต้นเรียนรู้เกี่ยวกับ Charts ต่างๆ เพื่อใช้ในการทำงาน อิงขอแนะนำหนังสือเล่มนี้เลยค่ะ

หนังสือชื่อเต็มยาวมาก "The Wall Street Journal Guide to Information Graphics: The Dos & Don'ts of presenting data, facts, and figures”

อย่างที่ชื่อหนังสือบอก หนังสือถูกทำให้อ่านง่ายและนำไปใช้ง่าย เพราะ บอกกันชัดๆ ว่าอะไรควรทำ และอะไรไม่ควรทำ รูปแบบเนื้อหามีการจัดวางมาอย่างดี ที่สำคัญ ไม่ต้องมีทฤษฎีมากมาย อ่านแล้วเอาไปใช้เลย practical มาก แถมด้วยความบาง เบา อ่านจบได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง

ที่เกริ่นมา ไม่ได้ตังนะคะ แต่ชอบมากจนอยากแนะนำให้ทุกคนที่สนใจเรื่อง Charts และ Data Visualization ขั้นพื้นฐานได้อ่านกัน

มาดูรีวิวกันค่ะ

More...

เกี่ยวกับผู้เขียน

Dona M. Wong เริ่มต้นอาชีพด้วยการเป็น Graphics Editor ของ The New York Times อยู่หลายปี ก่อนที่จะมาเป็น Graphics Director ของ The Wall street Journal อีก 9 ปี เรียกว่าคร่ำหวอดในวงการทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย แล้วแสดงออกมาให้เห็นภาพ

แต่ที่อิงอ่านประวัติคุณ Wong แล้วสะดุดกึก คือ ตอนทำวิทยานิพนธ์สมัยปริญญาโท ในหัวข้อเกี่ยวกับ Information Design อาจารย์ที่ปรึกษาของเธอ คือ Edward Tufte ผู้โด่งดังและถือเป็นเป็นปรมาจารย์ด้าน Data Visualization คนนึงเลย 

หนังสือเขียนเกี่ยวกับอะไรบ้าง

หนังสือเล่มนี้ได้รับการแนะนำและอ้างอิงถึงเยอะมากจากหนังสือ Data Visualization รุ่นใหม่ๆ (อาจถึอเป็นหนังสือในตำนานที่ใหม่หน่อยได้) เนื้อหาในเล่มประกอบด้วย 5 บท ที่อัดแน่นไปด้วยเนื้อหาที่นำไปใช้ได้ทันที มาดูรายละเอียดกันค่ะ

Chapter 1 The Basics

บทนี้ว่าด้วยเรื่องพื้นฐานทั้งหลาย ขึ้นต้นมาด้วยสิ่งที่อิงคิดว่าสำคัญมาก คือ การอธิบายให้เห็นภาพว่าการจะสร้าง effective charts ที่สื่อความได้ ต้องทำอย่างไร ซึ่งมีทั้งหมด 4 ขั้นตอน คือ 1) การค้นคว้าวิจัย 2) การแก้ไขปรับปรุง 3) การพล็อตกราฟ และ 4) การทบทวน ซึ่งโดยปกติแล้วเมื่อเรามีข้อมูลเราอาจจะทำขั้นที่ 1 และ 2 นิดหน่อย จากนั้นที่เน้นๆ ก็จะเป็นขั้นที่ 3 ส่วนขั้นที่ 4 นั้นน้อยมาก

การที่ charts ของเราจะสื่อความได้ดี องค์ประกอบที่สำคัญ คือ ตัวข้อมูลเอง นั่นถึงเป็นเหตุผลว่าทำไมขั้นที่ 1 และ 2 ถึงสำคัญมากเช่นกัน ถึงเราจะทำ charts ได้สื่อความ มีประสิทธิภาพ และสวยงามแค่ไหน หากข้อมูลตั้งต้นไม่ถูกต้องเพียงแค่ตัวเดียว charts นั้นก็ขาดความน่าเชื่อถือทันที

ในบทนี้ยังพูดถึงองค์ประกอบเล็กๆ น้อยๆ ที่มีประโยชน์มาก เช่น การใช้ reference point เพื่อให้สิ่งที่เราต้องการจะสื่อถูกตีความอย่างถูกต้องมากขึ้น และการใส่บริบทให้กับตัวเลขของเรา เป็นต้น

ในช่วงครึ่งหลังของบทนี้จะอธิบายถึงการเลือกและการใช้ ตัวหนังสือ (Text) และสี ส่วนที่อิงชอบมาก คือ เรื่องสี เพราะสรุปสั้นได้ประเด็น นำไปใช้ได้เลย แถมเอาไปประยุกต์ใช้กับเรื่องการทำสไลด์ Presentation ได้อีกด้วย

Chapter 2 Chart Smart

ในบทนี้จะอธิบายถึง charts 7 แบบที่พบเห็นและใช้เกันเป็นประจำ ประกอบด้วย 1) Lines 2) Vertical bars 3) Horizontal bars 4) Pies 5) Tables 6) Pictograms และ 7) Maps น่าสังเกตว่า Tables ถูกรวมอยู่ใน Charts ด้วยค่ะ 

ลักษณะการนำเสนอในบทนี้จะแบ่ง layout แยกเป็นหน้าซ้ายและขวา โดยหน้าซ้ายจะบอกลักษณะหรือวิธีการที่ผิดหรือประสิทธิภาพต่ำกว่า ส่วนหน้าขวาจะเป็นลักษณะหรือวิธีการที่ถูกหรือประสิทธิภาพสูงกว่า 

ตัวอย่างเด่นๆ ของ Chart แต่ละแบบที่อิงชอบมีดังนี้ค่ะ

  • Lines: เหมาะกับการแสดงชุดข้อมูลที่มีความต่อเนื่องในช่วงเวลาหนึ่งๆ ในการอธิบายว่าเส้นกราฟแต่ละเส้น คือ อะไร โดยปกติกราฟที่สร้างตามค่า Default ของ Excel จะแสดง Legend แยกออกมาด้านล่าง ซึ่งแนวทางที่ดีกว่า คือ การใส่คำอธิบายแบบกระชับที่ปลายเส้นกราฟ หรือบนเส้นกราฟ และอาจใส่คำอธิบายในแต่ละจุดเปลี่ยนของกราฟเพิ่มเติมได้ด้วย เป็นต้น
  • Vertical Bars: กราฟแบบนี้แสดงข้อมูลด้วยความสูงของกราฟแต่ละแท่ง ลักษณะของกราฟแท่งที่ดี คือ ไม่ผอมเกินไป และไม่ใช่กราฟแท่งแบบสามมิติ เพราะทำให้งงว่าความสูงของกราฟอยู่ตรงไหนกันแน่ ประเด็นที่เป็นที่ถกเถียงกันในวงการ คือ กราฟควรเริ่มต้นจากศูนย์เท่านั้นจริงหรือไม่ ถ้าเป็นกราฟแท่ง คุณ Wong ฟันธงเลยค่ะว่าต้องเริ่มต้นจากศูนย์เท่านั้น
  • Horizontal Bars: กราฟแท่งแบบนอนจะคล้ายกราฟแท่งแบบตั้ง แต่แสดงข้อมูลด้วยความยาว ไม่ใช่ความสูง ถึงยังงั้น กราฟแบบสามมิติก็ไม่ควรนำมาใช้อยู่ดีค่ะ สิ่งหนึ่งที่เรามักงุนงงกัน คือ การเรียงลำดับกราฟแท่งแบบนอน คุณ Wong แนะนำให้เรียงข้อมูลจากน้อยไปมาก (ให้น้อยอยู่ด้านล่าง มากอยู่ด้านบน) ข้อยกเว้น คือ เรียงลำดับตามสิ่งที่กำหนด เช่น ตามตัวอักษร เป็นต้น
  • Pies: แผนภูมิวงกลม หรือ Pies เป็นอีกหนึ่งกราฟที่ได้รับความนิยมมาก ขณะเดียวกันก็เป็นกราฟที่มีทั้งคนรักและคนเกลียดมากเช่นกัน สิ่งนึงที่ต้องระวังสำหรับ Pies คือ ไม่ควรแบ่งถูกแบ่งย่อยมากเกินไป (ในหนังสือแนะนำว่าไม่ควรเกิน 5 ส่วน) และการใช้รูปแบบสามมิติยังคงเป็นสิ่งต้องห้าม 
  • Tables: อย่างแรกเลย เราต้องคิดให้ดีก่อนว่าควรใช้ตารางหรือกราฟในรูปแบบอื่น (คลิกเพื่อดูบทความเรื่อง ตารางหรือกราฟ ได้ที่นี่) จากนั้นก็เป็นการจัดรูปแบบของตารางให้อ่านเข้าใจง่ายขึ้น ถ้าชุดข้อมูลมีไม่เยอะการใช้แถบสีช่วยในการแยกแต่ละแถวนั้นไม่จำเป็น (นำไปปรับใช้กับการนำเสนอได้นะคะ) 
  • Pictograms: การใช้ไอคอนเป็นอีกทางเลือกนึงที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบันค่ะ คุณ Wong แนะนำว่าเราควรเลือกไอคอนที่เรียบง่าย (รายละเอียดไม่เยอะ) เช่น รูปบ้านก็เป็นโครงบ้าน ไม่จำเป็นต้องมี 1 ประตู 5 หน้าต่าง พร้อมห้องใต้หลังคามาประกอบด้วย เป็นต้น และที่สำคัญ คือ ควรมีความสม่ำเสมอในการใช้ ไม่ใช่ใช้ไอคอนรูปบ้าน 3 แบบ ใน Pictogram 3 รูป ที่อธิบายเรื่องเดียวกัน และขนาดก็ต้องคงที่ ไม่ใช่ขนาดเล็กแทนจำนวนที่น้อยกว่า ขนาดใหญ่แทนจำนวนที่มากกว่า แต่ให้ใช้จำนวนไอคอนแทนจำนวนที่น้อยหรือมากนั้นแทน
  • Maps: แผนที่ใช้เมื่อเราต้องแสดงข้อมูลทีเกี่ยวข้องกับลักษณะภูมิศาสตร์ สำหรับอิงแผนที่นั้นน่าใช้ แต่ข้อด้อย คือ เราไม่สามารถสร้าง Chart แบบนี้ด้วย Excel ได้

Chapter 3 Ready Reference

ในบทนี้จะพูดถึงเรื่องคณิตศาสตร์ที่ใช้สื่อความข้อมูลใน Charts ที่ใช้กันบ่อย เช่น mean, median, mode, standard deviation ค่าความน่าจะเป็นต่างๆ และเนื้อหาอื่นๆ ที่มาในรูปบทสรุปให้เราเอาไปประยุกต์ใช้ได้เป็นอย่างดี

Chapter 4 Tricky Situation

บทนี้แค่ชื่อก็น่าสนใจมาก คุณ Wong แกมาไขปัญหาคาใจให้กับหลายๆ เหตุการณ์ที่เรามักเจอในการสร้าง charts จากข้อมูล เช่น ถ้าชุดข้อมูลของเรา มีข้อมูลที่ขาดหายไป 1-2 จุด จะทำอย่างไร และเราควรทำอย่างไรหากเราต้องการแสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของข้อมูลแต่ละตัว แต่การเปลี่ยนแปลงนั้นไม่มากนักเมื่อเทียบกับค่าของข้อมูล เช่น รายได้ปีที่หนึ่ง เท่ากับ 80 ล้านเหรียญ ปีที่สอง เท่ากับ 85 ล้านเหรียญ ปีที่สามเท่ากับ 92 ล้านเหรียญ ซึ่งผลต่างแต่ละปีไม่มากนักเมื่อเทียบกับยอดขาย เป็นต้น 

เนื้อหาสองหน้าสุดท้ายของบทนี้ว่าด้วยเรื่องการสร้างความแตกต่างอย่างไรเมื่อเรามีแค่สีดำกับขาว (ที่ความเข้มต่างๆ)  อิงว่านำไปประยุกต์ใช้ได้มากเลยค่ะ เพราะงานที่เราทำส่วนใหญ่จะพิมพ์ออกมาเป็นขาว-ดำ 

Chapter 5 Charting Your Course

เนื้อหาในบทนี้พูดถึงการนำเสนอกราฟฟิกในรูปแบบอื่นๆ ที่เราพบเจอได้บ่อยในการทำงาน เช่น ผังองค์กร (organization chart) แผนงาน และความก้าวหน้าของแผน เป็นต้น 

ความคิดเห็นของฉัน

โดยส่วนตัวอิงชอบหนังสือเล่มนี้มาก ด้วยความ practical ของตัวหนังสือ เนื้อหากระชับได้ใจความ ไม่ต้องรู้มาก รู้แบบเอาไปใช้ได้เลย เวลาติดอะไรก็หยิบมาดูเป็น reference ได้ง่าย

หากคุณมีเวลาน้อย แล้วอยากเรียนรู้ Good Practice ในการนำ Charts ไปใช้ในชีวิตประจำวัน (งาน office และงานนำเสนอด้านวิศวกรรมทั่วไป) แนะนำอย่างยิ่งให้หากโอกาสอ่านหนังสือเล่มนี้ค่ะ ความรู้ที่ได้เมื่อนำไปใช้จะช่วยยกระดับการนำเสนอข้อมูลในรูปแบบของ Charts ต่างๆ ได้แน่นอนค่ะ

Ing

วิศวกรสิ่งแวดล้อมที่หันมาทำงานบริหารโครงการ แต่สนใจเรื่องการนำเสนอมาก
จนอยากจะแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้มาตลอดหลายปี (ไม่กล้าบอกปี เดี๋ยวรู้อายุ) ให้กับผู้อ่านที่น่ารักทุกคน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked

{"email":"Email address invalid","url":"Website address invalid","required":"Required field missing"}

โพสต์อื่นๆ ที่คุณอาจสนใจ

รีวิวหนังสือ (น่าอ่าน): Storytelling with you
รีวิวหนังสือ (น่าอ่าน): Everyday Business Storytelling
รีวิวคอร์สออกแบบสไลด์สไตล์คนงานยุ่ง