เขาว่ากันว่า การนำเสนอที่ดีไม่ใช่แค่ การพูดนำเสนอ (Deliver Presentation) แต่เป็นการเล่าเรื่อง (Storytelling) ให้ผู้ฟังฟัง

แล้วเราจะนำเสนอความก้าวหน้าของโครงการ หรือการนำเสนอทางวิชาการที่แสนจะเป็นทางการของเรา แบบการเล่าเรื่องได้อย่างไร?

หรือน้องๆ ที่กำลังจะต้อง Defend Project ของตัวเองให้อาจารย์ฟัง มันนึกไม่ออกจริงๆ ว่าจะเอาเรื่องเล่าเข้าไปประกอบยังไงถึงจะถูกใจอาจารย์

อิงขอนำเสนอโครงสร้างการเล่าเรื่องสุดคลาสิกที่เอาไปประยุกต์ใช้ได้อย่างดีกับงานนำเสนอของเรา นั่นก็คือ Man in Hole

มาค่ะ ตามมาดูรายละเอียดพร้อมตัวอย่างกันค่ะ

More...

ทำไมถึงต้องนำเสนอให้มีเรื่องเล่า (Storytelling)

มาทำแบบทดสอบง่ายๆ กันก่อนค่ะ

หนึ่ง คุณจำการนำเสนอครั้งล่าสุดที่คุณไปฟังได้หรือไม่ ตอนท้ายๆ ผู้นำเสนอเขาพูดเกี่ยวกับอะไร?

สอง คุณจำหนังเรื่องสุดท้ายที่คุณดูได้หรือไม่ ตอนหนังใกล้จบ เป็นฉากเกี่ยวกับอะไร?

คุณตอบคำถามข้อไหนได้คะ?

ถ้าคุณตอบข้อหนึ่งได้ ต้องบอกว่าคุณเก่งมากค่ะ (หรือผู้นำเสนอที่คุณไปฟังมาเก่งมาก) เพราะคนส่วนใหญ่จำไม่ได้หรอกค่ะ ไม่ต้องพูดถึงตอนท้ายๆ เอาแค่ไปฟังการนำเสนอเรื่องอะไร มากกว่าครึ่งอาจจะจำไม่ได้ด้วยซ้ำ

ส่วนข้อสองจะเป็นข้อที่คนส่วนใหญ่ตอบได้ (ลองเอาไปถามเพื่อนดูก็ได้ค่ะ) นั่นก็เพราะสมองของคนเราจดจำเรื่องราวได้ดีกว่าข้อมูล ดังนั้นการนำเสนอที่ส่วนใหญ่แล้วมักเอาข้อมูลมาวางต่อๆ กัน ก็เลยไม่เป็นที่จดจำนั่นเอง

ดังนั้นหากให้การนำเสนอของเราเป็นที่จดจำมากขึ้น เราต้องไม่เพียงแต่นำเสนอข้อมูล แต่ต้องเอาข้อมูลมาร้อยเรียงเป็นเรื่องราวด้วยค่ะ

โครงสร้างการเล่าเรื่องสุด Classic

โครงสร้างแบบนึงที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี คือ โครงเรื่องที่แสนจะคลาสสิคแบบ Man in Hole

หนังดังจำนวนมากทั้งไทยและเทศหากเล่าออกมาแบบบรรทัดเดียว ส่วนใหญ่จะมีพล็อตเรื่องแบบ Man in Hole นั่นเอง ที่ตัวเอกของเรื่องจะต้องเผชิญกับเหตุการณ์บีบคั้น ชีวิตตกต่ำ (หรืออยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ดี) จนกระทั่งเกิด tipping point ตัวเอกได้ฝ่าฟันจนกลับมาประสบความสำเร็จหรือผ่านพ้นอันตรายได้ (ถ้าหนังยาวหน่อย จำนวนหลุมก็อาจมากหน่อยค่ะ) ตัวอย่างเช่น

  • Harry Potter

  • John Wick

  • บ้านทรายทอง

ชีวิตของพ่อมดน้อยที่พ่อแม่โดนฆ่า ต้องใจระทึกฝ่าแต่ละด่านไปจนสุดท้ายเอาชนะ "คนที่คุณก็รู้ว่าใคร" ได้สำเร็จ

Man in Hole กับการนำเสนอ

ถ้าเราเจอสถานการณ์ที่ค่อนข้างยากลำบาก หรือมีปัญหาเกิดขึ้น 

โอกาสอันดีมาถึงแล้วค่ะ ที่เราจะประยุกต์ใช้โครงเรื่องแบบ Man in Hole มาใช้เพื่อเพิ่มความน่าสนใจให้กับงานนำเสนอของเรา 

วิธีการก็คือ เราต้องหาพล็อตเรื่อง หรือ Main idea ในการนำเสนอของเราค่ะ แล้วเรียบเรียงเรื่องราวเข้าไป ตัวอย่างเช่น

การนำเสนอความก้าวหน้าวิทยานิพนธ์

ภาพรวม คือ หลังจากเก็บตัวอย่างและทำการทดลองไป 125 ครั้ง แล้ว คุณพบว่าผลการทดลองที่ได้ไม่สอดคล้องกับสมมุติฐานที่คุณตั้งไว้

วิธีการนำเสนอโดยทั่วไป

คุณพูดถึงวัตถุประสงค์ วิธีการวิจัย การเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ผล และนำเสนอว่าผลการทดลองที่ได้ไม่สอดคล้องกับสมมุติฐานที่ตั้งไว้ โดยน่าจะเกิดจากตัวแปรนึงที่มีปัญหา ต้องมีการปรับค่าและทำการทดลองใหม่ สรุป ปรับค่าตัวแปรและทำการทดลองใหม่

วิธีการนำเสนอแบบ Man in Hole

ที่จริงแล้วในการนำเสนอความก้าวหน้าวิทยานิพนธ์ อาจารย์ก็ทราบวัตถุประสงค์ วิธีการวิจัย และการเก็บข้อมูลของเราดีอยู่แล้ว สิ่งที่เราควรให้ความสำคัญ คือ ผลการศึกษา ณ ช่วงเวลานั้นๆ ดังนั้นเราอาจขึ้นต้นว่า เรามีช่วงเวลาที่ยากลำบากเนื่องจากสิ่งที่เราคิดไว้ไม่เป็นไปตามนั้น แต่... สิ่งเหล่านั้นกลับช่วยให้เราเห็นถึงความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่อาจพางานวิจัยของเราก้าวไปอีกขั้น (นี่คือการเกริ่นนำแบบฉายพล็อตเรื่องไปเลย) มาดูรายละเอียดกันค่ะ/ครับ จากการทดลอง 125 ครั้งที่ผ่านมา ผลพบว่า  ไม่สอดคล้องกับสมมุติฐานที่ตั้งไว้ (คนค่อยๆ ตกลงไปในหลุม) แต่การไม่สอดคล้องนั้นมีสาเหตุ (อธิบายว่าเกิดจากอะไร) ซึ่งตรงนี้เราสามารถนำผลการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์มาเล่าโดยละเอียดได้ จากนั้นก็ถึง Tipping Point ค่ะ คือการที่เรารู้ว่าความไม่สอดคล้องนั้นเกิดจากอะไร (คนค่อยๆ เริ่มปีนออกจากหลุม) แล้วจึงเสนอแผนการดำเนินงานขั้นต่อไป (คนออกจากหลุมแล้วพุ่งทะยานไปข้างหน้าต่อไป)

สิ่งสำคัญ คือ เราต้องหาโครงเรื่องของสิ่งที่เราจะนำเสนอให้ได้ ไม่ใช่แค่ตัวข้อมูล แต่สิ่งที่สะท้อนอารมณ์และความรู้สึกออกมาด้วย แต่ถ้าสถานการณ์ของเราไม่เหมาะกับ Man in Hole ก็ยังมีโครงเรื่องแบบอื่นๆ ให้เราเลือกใช้ได้ (ไว้ค่อยมาขยายความกันในโพสต์ต่อๆ ไปนะคะ)

ช่วงแรกๆ อาจจะยากนิดนึงค่ะ แต่อิงเชื่อว่าทุกคนมีประสบการณ์การดูหนังมาอย่างเชี่ยวชาญ แถมเกือบเป็นผู้กำกับซะเองในบางเรื่อง (เวลาเดาพล็อตเรื่องกับเพื่อนกับแฟน) เพราะฉะนั้นแค่สร้างโครงเรื่องให้การนำเสนอของเราไม่ยากเกินความสามารถแน่นอนค่ะ 

คำถามชวนคิด

ในการนำเสนอครั้งต่อไปของคุณ คุณอยู่ในสถานการณ์ที่นำโครงเรื่องแบบ Man in Hole ไปประยุกต์ใช้ได้หรือไม่ อย่างไร

Ing

วิศวกรสิ่งแวดล้อมที่หันมาทำงานบริหารโครงการ แต่สนใจเรื่องการนำเสนอมาก
จนอยากจะแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้มาตลอดหลายปี (ไม่กล้าบอกปี เดี๋ยวรู้อายุ) ให้กับผู้อ่านที่น่ารักทุกคน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked

{"email":"Email address invalid","url":"Website address invalid","required":"Required field missing"}

โพสต์อื่นๆ ที่คุณอาจสนใจ

รีวิวหนังสือ (น่าอ่าน): Storytelling with you
รู้ลึก vs รู้แค่ผิวๆ
5 เรื่องสำคัญ ในการออกแบบโปสเตอร์นำเสนอ