เมื่อหลายปีก่อนช่วงที่อิงสนใจเรื่องการลงทุนในตลาดหุ้นใหม่ๆ

เพจลงทุนศาสตร์เป็นเพจที่อิงติดตามตั้งแต่ช่วงแรกๆ

อิงชอบลีลาการเขียนของเจ้าของเพจที่อ่านสนุกได้ความรู้ 

(แถมความกวนเกรียนเล็กๆ)

เมื่อสิงหาคมปีที่แล้ว เห็นหนังสือ Money Lecture ที่เขียนโดยลงทุนศาสตร์ ในร้านหนังสือออนไลน์ ก็สั่งมาอ่านทันที...

เนื้อหาในหนังสือมีคำถามฉุกคิดเรื่องการเงินอยู่เยอะเลยค่ะ

สัปดาห์ที่แล้ว อิงรีวิวหนังสือเรื่อง Money Summary ไปแล้ว

ก็ต้องตามด้วยรีวิว Money Lecture ซะหน่อยค่ะ

เพราะที่จริงแล้ว ทั้งสองเล่มอาจคล้ายกันในบางส่วน ต่างกันในบางส่วน และเสริมกันในบางส่วน 

ขึ้นอยู่กับว่าผู้อ่านต้องการรู้เรื่องอะไร

มาดูรีวิวกันก่อนตัดสินใจเสียตังกันค่ะ

More...

เกี่ยวกับผู้เขียน

ลงทุนศาสตร์เป็นทั้งนามปากกาและชื่อ facebook page ของ ภก. กิตติศักดิ์ คงคา ผู้เขียนถือเป็นคนรุ่นใหม่ที่ลงทุนให้เงินงอกเงยด้วยตัวเอง และแบ่งปันความรู้พร้อมประสบการณ์ (อาจเรียกได้ว่าเรียนรู้ไปด้วยกัน) กับผู้อ่านผ่านทาง page ด้วยลีลาเฉพาะตัว (ที่ไม่เรียบเกินไป และก็ไม่ได้เกรียนซะเกินไป) ทำให้อ่านเพลินไม่เบื่อและได้ความรู้ไปพร้อมกัน

หากคุณได้ผ่านตาเพจลงทุนศาสตร์มาบ้าง จะพบว่าหนังสือ Money Lecture ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ของลงทุนศาสตร์ไว้ กระตุกต่อมความคิดและชวนให้ติดตามเหมือนเดิมค่ะ

หนังสือนี้น่าจะเหมาะกับใคร

เนื่องจากเนื้อหาในหนังสือจะว่าอ่านง่ายมากก็ไม่ใช่ ต้องใช้สมาธิในการอ่านพอสมควร อิงว่าคนที่น่าจะได้ประโยชน์จากหนังสือเล่มนี้มากกว่าเพื่อน คือ 

  • ผู้ที่ตั้งใจวางแผนเกษียณ: เนื้อหาในหนังสือส่วนใหญ่ปูพื้นไปสู่การวางแผนเกษียณอย่างมั่นคง ทั้งเรื่องของจำนวนเงินที่ต้องเก็บ จำนวนเงินที่ต้องแบ่งไปลงทุน และสูตรการคำนวณเงินเก็บสำหรับเกษียณในรูปแบบต่างๆ ถึงจะอัดแน่นไปด้วยตัวเลขและสูตร แต่อ่านตามได้ไม่ยากค่ะ ผู้เขียนอธิบายไว้ละเอียดและง่ายต่อการทำตาม ดังนั้นหากคุณอยู่ในกลุ่มนี้ คุณจะมีแรงใจอ่านจนจบเล่มแน่นอน
  • ผู้ที่ทำงานมาได้สักพัก แต่ยังไม่เริ่มเก็บตัง: พอทำงานไปสักพัก เราจะติดกับดักความสบาย คือ คิดว่าจะมีเงินเข้ามาตลอดเวลา เลยไม่ได้วางแผนด้านการเงินอะไรเลย ราวกับว่าเงินจะเข้ามาตลอดไม่ขาดสายไปจนเราจากโลกนี้ไป แต่ความจริงโหดร้ายกว่านั้นมากค่ะ หนังสือเล่มนี้เตือนใจให้เราฉุกคิดได้อย่างดี และเนื้อหาก็ประกอบด้วยสิ่งจำเป็นในเบื้องต้นสำหรับคนทำงานที่ต้องการเริ่มวางแผนทางการเงินอย่างเป็นระบบ  โดยรวมแล้วไม่ยากจนเกินไป เริ่มต้นได้ทุกคนค่ะ

หนังสือเขียนเกี่ยวกับอะไรบ้าง

หนังสือเขียนเกี่ยวกับสรรพสิ่งทั้งหลายที่ควรรู้เพื่อการบริหารและจัดการเงินของเรา และอย่างที่โปรยไว้บนหน้าปกว่าใช้ได้ตั้งแต่เริ่มตั้งตัวจนเกษียณ อันนี้จริงค่ะ โดยในหนังสือจะพาเราเดินทางเสมือนหนึ่งลงเรียนวิชา Money Lecture มีการปฐมนิเทศ มีแบบฝึกหัดให้ทำเป็นระยะ และมีปัจฉิมนิเทศสำหรับคนเรียนจบ (อ่านจบ) พร้อมออกไปผจญโลก 

สารภาพตามตรงค่ะ เมื่ออ่านหนังสือไปสักพักนึง อิงแอบแปลกใจนิดหน่อย เพราะคิดว่าหนังสือจะเน้นเรื่องหุ้นมากกว่านี้ ปรากฏว่าหนังสือเน้นไปเรื่องของการวางแผนทางการเงิน โดยเฉพาะการเตรียมการเกษียณให้ยังมีเงินใช้ไม่ลำบากซะมากกว่า

หนังสือแบ่งเป็นทั้งหมด 16 บท โดยมีชื่อบทหวือหวา ชวนให้ตีความว่าบทนี้พูดถึงเรื่องอะไร และในแต่ละบทจะมีเนื้อหาเป็นตอนสั้นๆ เพื่อให้อ่านได้จบในตอน แต่หากจะพูดถึงทั้ง 16 บทในโพสต์นี้ คงยาวมากค่ะ อิงขอสรุปเป็นประเด็นสำคัญที่จะให้ผู้อ่านใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจดังนี้ค่ะ

ความรู้พื้นฐาน

เรื่องต่างๆ เกี่ยวกับพื้นฐานในการวางแผนทางการเงิน ทั้งสมการทางการเงิน และองค์ประกอบของความมั่งคั่ง เนื้อหาตรงนี้เป็นเรื่องพื้นฐานมาก แต่บางครั้งเราก็ไม่ได้ฉุกคิดค่ะ ผู้เขียนมีลีลาการเขียนที่เหมือนคุยกับเพื่อนเกรียนๆ ซักคน ดังนั้นถึงจะเป็นความรู้พื้นฐานก็ไม่น่าเบื่อ

เป้าหมายทางการเงิน

อิงว่าเนื้อหาตรงส่วนนี้เป็นก้าวเดินที่สำคัญของทุกคน หลายๆ คนอาจไม่เคยวางเป้าหมายทางการเงินมาก่อน หรือเป็นแค่คิดไว้คร่าวๆ เช่น อยากมี 10 ล้าน ก่อนอายุ 35 ปี แต่ไม่ลงรายละเอียดว่าจะมี 10 ล้านได้อย่างไร เป็นแค่ความอยากล้วนๆ (อันนี้เรียกฝันไม่เรียกเป้าหมาย) การวางเป้าหมายต้องมาพร้อมองค์ประกอบอื่นและต้องวัดผลได้ ตารางเป้าหมายทางการเงินที่ปรากฏตัวขึ้นครั้งแรกในหน้า 25 เป็นตารางที่นำไปใช้ได้จริงและช่วยให้เรากำหนดเป้าหมายที่ใกล้เคียงความเป็นไปได้ เมื่อเราเห็นตารางนี้ครั้งแรกจะงงๆ กรอกไม่ถูก แต่พออ่านจนจบเล่มกรอกได้แน่นอนค่ะ 

(ความเห็นส่วนตัว อิงชอบตารางนี้มากค่ะ ทำให้เราเห็นภาพในอนาคตได้ชัดในระดับนึง รู้ว่าถ้าอยากมีสัก 30 ล้าน ก่อน 35 มันพอเป็นไปได้มั๊ยด้วยรายได้ที่เราคาดการณ์ เราต้องทำอะไรเพิ่มบ้าง หรือต้องลดความอยากอะไรบ้าง)

มูลค่าเงินในอนาคตและเงินเฟ้อ

เงินเฟ้อฟังดูไกลตัว เหมือนกับจะอยู่แค่ในหนังสือเศรษฐศาสตร์ แต่ที่จริงแล้วเงินเฟ้อหายใจรดกระเป๋าตังเราอยู่ทุกวัน เงินเราอยู่ไหนเงินเฟ้อก็อยู่ตรงนั้นค่ะ

ผู้เขียนอธิบายเรื่องมูลค่าเงินในอนาคตและเงินเฟ้อให้เข้าใจได้ง่าย พร้อมสอนวิธีคิดไม่ว่าจะคำนวณมือหรือคำนวณด้วยเครื่องคิดเลขทางการเงิน (เป็น free application ที่เราสามารถ download มาใช้ผ่านทาง QR Code ในหนังสือได้)

ถุงมือนิรภัย (ประกันต่างๆ)

บทนี้เป็นบทที่อิงชอบ (อีกแล้ว) และ practical มาก เรื่องของเรื่องคือ อิงไม่ชอบความเสี่ยง ดังนั้นประกันจึงเป็นสิ่งจำเป็น ผู้เขียนช่วยได้มากในการทำให้ฉุกคิดว่าเรามีประกันเพียงพอกับความจำเป็นหรือเปล่า (มีน้อยเกินไปก็เสี่ยง หรือซื้อประกันในรูปแบบที่ไม่เหมาะสมกับความจำเป็นก็อาจทำให้เราเสียประโยชน์ได้) หรือมีมากเกินกว่าที่จำเป็นหรือเปล่า (มีมากไปก็ไม่ดีค่ะ เงินไม่งอกเงยเท่ากับเอาไปลงทุนแบบอื่น) 

อ่านบทนี้แล้ว ถึงกับต้องมานั่งคำนวณเลยค่ะว่าที่จ่ายไปแต่ละปีนั้นคุ้มหรือเปล่า

ภาษี

หากมีเงินได้ก็ต้องมีภาษีเป็นของคู่กัน (ยกเว้นเราจะไม่ทำงาน แต่มีสมบัติมากพอที่จะใช้ชีวิตอย่างสบาย หรือมีรายได้จากการถูกหวยใต้ดินทุกงวด)

ผู้เขียนได้อธิบายเรื่องของการคำนวณภาษี อะไรหักค่าใช้จ่ายได้ หักได้เท่าไร และอะไรหักไม่ได้ เพื่อเราจะวางแผนถูกค่ะว่าเราจะเหลือเงินเท่าไหร่หลังจ่ายภาษีแล้ว

การออมและการลงทุน

เนื้อหาในหนังสือครอบคลุมความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการออมและลงทุนประเภทต่างๆ ทั้งการฝากธนาคาร สลากออมสิน (หรือสลากอื่นๆ ที่คล้ายกัน) ตราสารหนี้ หุ้น และกองทุน โดยเป็นบทย่อยๆ อย่างละนิดอย่างละหน่อย เพื่อปูพื้นให้เราเข้าใจภาพรวมของการออมและลงทุนแต่ละประเภท 

หากพิจารณาแล้วการลงทุนแบบไหนถูกจริตเรา (รับความเสี่ยงได้มากหรือน้อย) ค่อยไปเจาะลึกเอาในแต่ละด้านค่ะ 

การวางแผนเกษียณแบบจริงจังและมีตัวเลขประกอบ

ถึงแม้ว่าการวางแผนเกษียณจะถูกกล่าวถึงตั้งแต่บทต้นๆ พร้อมกับให้เราทำแบบฝึกหัดมาเป็นระยะ (เพื่อคำนวณเงินส่วนต่างๆ ตามข้อมูลจริงของเรา) แต่พออ่านๆ ไปอาจเบลอได้ 

ดังนั้นในบทที่ 15 ที่ชื่อว่า "เทส่วนผสมทุกอย่างลงในหม้อ" จึงเป็นการทบทวนและวางแผนเกษียณด้วยกันอีกครั้ง ตั้งแต่ขั้นตอนที่ 1ไปจนจบ โดยเอาตัวเลขจากแบบฝึกหัดที่เราทำ (ในบางบท) มาประกอบเข้าด้วยกัน ถือเป็นการสอบปลายภาคก่อนเรียนจบ พร้อมกับแผนที่เอาไปใช้ได้จริง

ความคิดเห็นของฉัน

อิงคิดว่าเนื้อหาในหนังสือเป็นประโยชน์กับคนทำงานมาก การวางแผนเกษียณยิ่งทำได้เร็วก็ยิ่งช่วยแบ่งเบาภาระทางการเงินระหว่างทางและช่วยให้เราเครียดน้อยลงค่ะ ถึงเราจะไม่อยู่เฉยๆ หลังเกษียณ แต่การมีเงินก้อนและมีรายได้เข้ามาอยู่ย่อมทำให้เราไปทำสิ่งอื่นๆ ได้อย่างสบายใจขึ้น 

จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้ คือ

  • แบ่งเป็นบทย่อยๆ อ่านจบได้ในตอน
  • มีเรื่องเล่าและตัวอย่างประกอบ ทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น
  • มีแบบฝึกหัดท้ายบทให้เราลองทำ เป็นการเริ่มต้นที่ดีค่ะ (แนะนำให้ทำให้เสร็จก่อนอ่านบทต่อไปค่ะ)
  • การวางแผนเกษียณเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคน เพื่อเพิ่มความสบายใจในการใช้ชีวิตและลดความเสี่ยงที่จะลำบากตอนอายุมาก

เนื่องจากหนังสือมีภาพประกอบน้อยและเต็มไปด้วยตัวหนังสือ ประกอบกับเนื้อหาด้านการเงินในบางช่วงไม่ง่าย (ถึงแม้ผู้เขียนพยามเขียนให้ง่ายและสนุกแล้ว) คุณอาจต้องใช้สมาธิในการอ่านพอสมควรค่ะ (ให้เตรียมใจให้พร้อม) 

สรุปว่า... ควรซื้อมั๊ย?

หากคุณยังไม่ได้วางแผนเกษียณ แนะนำให้ซื้อค่ะ อย่าลำบากตอนแก่เลย เพราะเราอาจไม่เหลือแรงจะมาฮึดอีกรอบเหมือนผู้พันแซนเดอร์ส (KFC) นะคะ

ของแถม! เปรียบเทียบ Money Lecture และ Money Summary

พออ่าน Money Lecture ก็อดจะเปรียบเทียบกับ Money Summary ที่รีวิวไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้วไม่ได้ (อ่านรีวิวของ Money Summary ได้ที่นี่) อือม... ขอแบ่งประเด็นในการเปรียบเทียบแบบนี้ค่ะ

  • อ่านง่าย: ถ้าพูดถึงความอ่านง่าย อิงให้ Money Summary ได้คะแนนนำในส่วนนี้ (ส่วนหนึ่งเลยเพราะการมีรูปประกอบและการสรุปประเด็นเป็นข้อสั้นๆ) แต่ Money Lecture ก็ไม่ได้อ่านยาก เพราะผู้เขียนมีลีลาที่ทำให้เราเพลิดเพลินไปกับตัวหนังสือเหมือนจับเข่าคุยกัน แต่ตัวหนังสือที่เต็มพรืดก็อาจทำให้ใครบางคนง่วงได้ค่ะ
  • ความรู้: อิงว่าได้ความรู้ทั้ง 2 เล่ม เรื่องพื้นฐานคล้ายกัน (แต่วิธีอธิบายต่างกัน) โดยที่ Money Summary เน้นไปเรื่องของการจัดการหนี้และลงทุนอสังหาริมทรัพย์มากกว่า ส่วน Money Lecture เน้นการวางแผนเกษียณและความรู้เรื่องการลงทุนประเภทต่างๆ (ตราสารหนี้ หุ้น และกองทุน เป็นต้น) มากกว่า  และลงรายละเอียดเนื้อหามากกว่าอีกเล่มนึง
  • ตัวช่วย: ใน Money Lecture มีตัวช่วยอย่างเช่น ชี้เป้า App เครื่องคิดเลขทางการเงิน (พร้อมวิธีคำนวณ) และตารางเป้าหมายทางการเงิน ที่อิงชอบมาก แถมมีแบบฝึกหัดท้ายบทกระตุ้นให้เราลองคิดและเอาตัวเลขจริงของเรามาคำนวณดู

ถ้าให้เลือกเพียงเล่มเดียว 

คุณต้องถามตัวเองว่าอยากได้อะไรจากการอ่านหนังสือ?

ถ้าอยากรู้เรื่องการเกษียณแบบเจาะลึก หรืออยากรู้เรื่องการวางแผนทางการเงินและลงทุนแบบภาพรวม ควรอ่าน Money Lecture แต่... คุณต้องแน่ใจก่อนว่าคุณสามารถอ่านหนังสือแบบยาวๆ ได้โดยไม่ยอมแพ้ไปซะก่อน

แต่ถ้าอยากได้ความรู้พื้นฐานในการจัดการเงินและเน้นเรื่องการจัดการค่าใช้จ่าย หนี้ และหาวิธีการลงทุนแบบอื่นๆ (ทั้งอสังหาริมทรัพย์ หุ้น และอื่นๆ) ก็อ่าน Money Summary 

หรือถ้าอยากรู้เรื่องทางการเงินเพื่อเริ่มต้น และอ่านหนังสือไม่ค่อยทน เชิญที่ Money Summary ได้เลยค่ะ

ถ้าซื้อได้ทั้ง 2 เล่มเลย

ดีค่ะ สนับสนุนผู้เขียนให้มีกำลังใจออกผลงานอื่นๆ ในอนาคต

ถ้าซื้อ 2 เล่ม อิงแนะนำให้อ่านเล่ม Money Summary ก่อน (อ่านจบเร็ว ไม่ท้อ) แล้วตามด้วย Money Lecture ต่อยอดกันไปด้วยความมุ่งมั่นค่ะ

ลองตัดสินใจกันดูนะคะ

คำถามชวนคิด

วันนี้คุณวางแผนเกษียณแล้วหรือยัง?

Ing

วิศวกรสิ่งแวดล้อมที่หันมาทำงานบริหารโครงการ แต่สนใจเรื่องการนำเสนอมาก
จนอยากจะแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้มาตลอดหลายปี (ไม่กล้าบอกปี เดี๋ยวรู้อายุ) ให้กับผู้อ่านที่น่ารักทุกคน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked

{"email":"Email address invalid","url":"Website address invalid","required":"Required field missing"}

โพสต์อื่นๆ ที่คุณอาจสนใจ

รีวิวหนังสือ (น่าอ่าน): Storytelling with you
รีวิวหนังสือ (น่าอ่าน): Everyday Business Storytelling
รีวิวคอร์สออกแบบสไลด์สไตล์คนงานยุ่ง