คุณว่าคุณนำเสนอได้ดีแค่ไหน?

ว่าแต่...

"ดี" ของเรา กับ "ดี" ของคนอื่น เหมือนกันหรือเปล่า?

เทียบกันได้มั๊ย?

แล้วที่ว่า "ดี" นั้นดีจริงหรือไม่?

...

อันที่จริงแล้วมีปัจจัยหลากหลายที่รวมกันเป็นคำว่า "ดี"

อิงไปอ่านเจอ matrix การจำแนกการนำเสนอ (ว่าดีหรือไม่ดี) ที่น่าสนใจมาค่ะ

เป็น matrix แบบ 2 x 2 ที่ใช้ปัจจัยง่ายๆ วัดผลได้ 

เลยเอามาแนะนำให้ลองใช้วัดผลการนำเสนอของเรากันค่ะ

More...

2 ปัจจัยวัดการนำเสนอ

(หมายเหตุ: 2 ปัจจัยและรูปกราฟสำหรับ matrix นี้ มาจากหนังสือชื่อ The Floor is Yours เขียนโดย Hans Van de Water และ Toon Verlinden)

อย่างที่บอกค่ะ มีปัจจัยหลากหลายในการจำแนกการนำเสนอว่าดีหรือไม่ดี คุณ Hans Van de Water และ Toon Verlinden เสนอว่าใช้ 2 ปัจจัย ก็เพียงพอจะสร้าง matrix ง่ายๆ ได้แล้ว นั่นคือ ความน่าสนใจ (แกน X) และความชัดเจน (แกน Y) ดังแสดงในรูป A

ทั้ง 2 แกนนี้ เราพอจะวัดได้จากตัวผู้นำเสนอ (ถ้าไม่ลำเอียงเข้าข้างตัวเองจนเกินไป) กับปฏิกิริยาการตอบสนองของผู้ฟัง เช่น หยิบโทรศัพท์มาไถ feed เล่น นั่งเหม่อ นั่งหลับ หรือ ทำหน้างงแบบเพิ่งดูหนังดราม่าแต่เปิด soundtrack ในภาษาที่เราไม่รู้จัก นั่นทำให้เราพอจะเอาผลมาประเมินตัวเอง เพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้นในครั้งต่อไป

การนำเสนอ 4 แบบ ที่จะได้พบเจอ

เมื่อนำปัจจัยทั้ง 2 คือ ความน่าสนใจ และความชัดเจน มาสร้าง matrix จะได้การนำเสนอ 4 แบบ (ในรูป A) คือ 

#1 การนำเสนอที่ทั้งน่าเบื่อและชวนงงงวย

นี่คือการนำเสนอที่ไม่มีใครอยากเจอ (และคงไม่มีใครตั้งใจจะนำเสนอแบบนี้ด้วย - แต่... มันก็เกิดขึ้นค่ะ) ก็มันทั้งน่าเบื่อ (ชวนง่วงนอน) แถมยังจับประเด็นไม่ได้อีกว่าคนนำเสนออยากจะสื่ออะไร เป็นการเสียเวลาอย่างเปล่าประโยชน์ทั้งคนฟัง (ในการนั่งฟัง) และคนนำเสนอ (ในการเตรียมเนื้อหา เตรียมสไลด์)

แต่... นี่เป็นการนำเสนอที่มีโอกาสพบเจอในชีวิตจริงได้สูงมากค่ะ

ข้อสังเกต: ผู้ฟังจะค่อยๆ หยิบมือถือขึ้นมา บางคนอาจหลับไป หลายคนอาจลุกออกจากห้องไปเข้าห้องน้ำ (แต่ไปแบบไปลับไม่กลับมา)

#2 การนำเสนอที่นำเสนอได้ชัดเจนแต่น่าเบื่อ

ผู้นำเสนอสามารถนำเสนอได้อย่างชัดเจนว่าสิ่งที่ต้องการสื่อสารคืออะไร ประเด็นสำคัญคืออะไร ส่วนผู้ฟังเองก็เข้าใจเช่นกันค่ะ แต่...ไม่การันตีว่าผู้ฟังจะสามารถฟังจนจบนะคะ อาจหูดับไปหลังจากนำเสนอได้ไม่นาน 

ดังนั้นยังถือว่ามีความเสี่ยงที่จะเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์อยู่ (หากคนฟังถอดใจหรือถอดจิตเลิกฟังไปก่อน

#3 การนำเสนอที่น่าสนใจแต่ก็ยังน่างงงวยอยู่ดี

อันนี้นักเอนเตอร์เทนมาเองค่ะ การนำเสนอที่ทั้งสนุก (อาจมีเสียงหัวเราะเป็นระยะ) น่าติดตาม เรียกว่าสามารถดึงคนฟังไว้ได้อยู่หมัดเลย แต่... เนื้อหามันน่างงงวย คนฟังอาจสนุกแต่ไม่เข้าใจว่าสิ่งสำคัญที่ต้องการสื่อคืออะไร

หากเทียบกันแล้วอิงว่าการนำเสนอแบบนี้แย่กว่าแบบที่ 2 อีกค่ะ 

#4 การนำเสนอที่ทั้งน่าสนใจและชัดเจน

สุดยอดของการนำเสนอที่ผู้ฟังอยากเจอ (และผู้นำเสนออยากทำให้ได้) แต่โลกของความเป็นจริงมันโหดร้ายค่ะ โอกาสในการเจอการนำเสนอแบบนี้มีน้อยมาก ส่วนผู้นำเสนอการจะนำเสนอได้แบบนี้ทั้งชัดเจนและน่าสนใจ ต้องผ่านการเตรียมตัวอย่างตั้งใจ ทั้งการเรียบเรียงเรื่องราว ทำสไลด์ให้ส่งเสริมการนำเสนอ (ไม่ใช่ช่วยทำให้ง่วงขึ้น) รวมถึงผู้นำเสนอต้องซ้อมมาแล้วเป็นอย่างดี

สิ่งที่เราต้องถามตัวเอง คือ เรามีทักษะ และความใส่ใจที่จะนำเสนอแบบนี้หรือเปล่า? 

(ทุกอย่างมีราคาในตัวเองค่ะ)

คำถามชวนคิด

คุณว่าโดยปกติแล้วคุณพบเจอการนำเสนอแบบไหน?

แล้วตอนที่คุณเป็นผู้นำเสนอซะเอง การนำเสนอของคุณเป็นแบบไหน?

Ing

วิศวกรสิ่งแวดล้อมที่หันมาทำงานบริหารโครงการ แต่สนใจเรื่องการนำเสนอมาก
จนอยากจะแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้มาตลอดหลายปี (ไม่กล้าบอกปี เดี๋ยวรู้อายุ) ให้กับผู้อ่านที่น่ารักทุกคน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked

{"email":"Email address invalid","url":"Website address invalid","required":"Required field missing"}

โพสต์อื่นๆ ที่คุณอาจสนใจ

รีวิวหนังสือ (น่าอ่าน): Storytelling with you
รู้ลึก vs รู้แค่ผิวๆ
5 เรื่องสำคัญ ในการออกแบบโปสเตอร์นำเสนอ