"การนำแนวคิด BCG มาใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ..."

"การหาข้อมูลการใช้พลังงานของโรงงาน อาจต้องอาศัยฐานข้อมูลของ พพ."

"สิ่งที่โครงการฯ มุ่งหวัง คือ การเกิด industrial symbiosis ในพื้นที่ ซึ่งการใช้เกณฑ์ EIP ก็เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดัน"

...

...

ถ้าผู้ฟังไม่อยู่ในแวดวง หรือผ่านหูผ่านตาเรื่องเหล่านี้มาบ้าง...

อิงรับประกันว่า... ตีความประโยคต่างๆ ข้างบนไม่ออกแน่นอน

แต่... ด้วยความเคยชิน

ผู้นำเสนอบางส่วนมักคิดว่าผู้ฟังอยู่ในวงแน่นอน 

ดังนั้นศัพท์เทคนิคหรือตัวย่อก็จัดกันมาเต็มๆ แบบไม่ได้อธิบายเพิ่ม

ผลที่ได้คือ... ความงุนงง

(เอ๊ะ! หรือเป็นแผนดึงความสนใจจากผู้ฟัง)

แค่ต้องทำความเข้าใจการนำเสนอ 

ผู้ฟังก็เหนื่อยแล้ว...

ต้องมานั่งทายปริศนาตัวย่ออีก... ยิ่งเหนื่อยใหญ่

เรามาทำงานยากให้เป็นงานง่ายของผู้ฟังกันดีกว่าค่ะ

More...

มีเรื่องเล่าสู่กันฟังค่ะ

ถึงอยู่ในวงการเดียวกัน แต่ต่างบริบทกันก็อาจเข้าใจศัพท์เทคนิคแตกต่างกันได้

อิงเคยทำงานกับโครงการหนึ่งที่ได้ทุนจากต่างประเทศในการสนับสนุนการจัดการน้ำเสียในประเทศไทย โครงการนั้นใช้เวลาเกือบครึ่งปีกว่าจะรู้ว่าผู้เชี่ยวชาญชาวสวีเดนและเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานในไทย เข้าใจคำว่า "น้ำเสีย หรือ wastewater" ต่างกัน (เถียงกันนาน แต่ไม่ได้นึกย้อนกลับไปที่พื้นฐานว่าความหมายต่างกัน) เรียกว่าโครงการเกือบล่มเลยทีเดียว สรุปว่า "น้ำเสีย" ของไทย หมายถึง น้ำทุกอย่างที่ออกจากบ้านเรือน ทั้งน้ำจากโถสุขภัณฑ์ อ่างล้างมือ พื้นที่ซักล้าง และอื่นๆ แต่ "น้ำเสีย" ของสวีเดน หมายถึง น้ำจากโถสุขภัณฑ์อย่างเดียว แค่นี้เองค่ะ แต่กิจกรรมอื่นๆ รวมทั้งเทคโนโลยีที่จะนำมาฝึกอบรมต่อนั้นต่างกันมากเลยใน 2 ความหมายนี้

โชคดีที่เคลียร์กันได้ โครงการฯ เลยไปต่อจนจบลงด้วยดี

การพูดด้วยความเคยชินในลักษณะนี้เกิดขึ้นกับการนำเสนอด้วยเช่นกันค่ะ โดยเฉพาะเมื่อผู้นำเสนอมีความเชี่ยวชาญสูงหรือชินกับการพูดคุยกับคนในวงการเดียวกันเป็นส่วนใหญ่ 

แต่... ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ควรใช้ศัพท์เทคนิคหรือตัวย่อ เช่น จะให้พูดชื่อเต็มของ "สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ" ทุกประโยคคงไม่ไหว เรียกสภาพัฒน์ง่ายกว่า 

แล้วการใช้ศัพท์เทคนิคและตัวย่อในการนำเสนอควรทำอย่างไรบ้าง มาดูรายละเอียดกันค่ะ 

แนวทางการใช้ศัทพ์เทคนิคและตัวย่อในการนำเสนอ

#1 รู้พื้นฐานของผู้ฟัง

การวิเคราะห์ผู้ฟังเป็นงานแรกๆ ที่สำคัญในการเตรียมการนำเสนอ อย่างน้อยเราควรทราบว่าผู้ฟังเป็นใคร รู้เรื่องที่เราจะนำเสนอมากน้อยแค่ไหน ซึ่งตรงนี้เองจะทำให้รู้ว่าเราจะใช้ศัพท์เทคนิคได้มากน้อยแค่ไหน

#2 ขยายความศัพท์เทคนิค

ถึงแม้ผู้ฟัง 90% ของเราจะเข้าใจศัพท์เทคนิคนั้น แต่หากผู้ฟังอีก 10% ของเราไม่รู้จัก เราควรขยายความศัพท์เทคนิคนั้นด้วย แต่... ความละเอียดของการขยายความขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยค่ะ เช่น ความสำคัญของผู้ฟังที่ไม่รู้ศัพท์เทคนิคนั้น และความเกี่ยวเนื่องของศัพท์เทคนิคนั้นกับประเด็นหลักที่เราต้องการสื่อ เป็นต้น หากผู้ฟัง 10% นั้นอยู่ในกลุ่มเป้าหมายหลักของเรา ก็ต้องอธิบายมากหน่อย 

#3 เตรียมสไลด์สำหรับศัทพ์เทคนิคที่สำคัญ

เราอาจเตรียมสไลด์สำหรับศัพท์เทคนิคที่สำคัญ เพื่อใช้ประกอบการอธิบาย หากเราต้องขยายความศัพท์เทคนิคนั้นอย่างละเอียด

#4 พูดชื่อเต็มของตัวย่อของศัพท์เทคนิคในครั้งแรก

แม้ในแวดวงเดียวกัน ตัวย่อตัวเดียวกันก็อาจหมายถึงสิ่งที่ต่างกันได้ ยกตัวอย่างเช่น PPP ในงานนโยบายสิ่งแวดล้อม อาจหมายถึง Policy Plan และ Program หรือ Public-private Partnership ก็ได้ หรือ SEA อาจหมายถึง Southeast Asia หรือ อาจหมายถึง Strategic Environmental Assessment ก็ได้ เป็นต้น ดังนั้นเมื่อพูดถึงตัวย่อนั้นเป็นครั้งแรก อย่าลืมพูดถึงชื่อเต็มเขาด้วยค่ะว่าย่อมาจากอะไร (ใส่ไว้ในสไลด์ด้วยก็ยิ่งดี) 

#5 ชื่อเต็มของตัวย่อชื่อหน่วยงานขึ้นกับผู้ฟัง

ยกตัวอย่างเช่น เราเรียกชื่อหน่วยงานย่อยของหน่วยงานหลักด้วยตัวย่อ หากผู้ฟังไม่ได้อยู่ในหน่วยงานหลักนั้น คงไม่ทราบว่าตัวย่อนั้นหมายถึงหน่วยงานส่วนไหน แต่หากผู้ฟังของเรามาจากหน่วยงานหลักเดียวกันทั้งหมด การเรียกหน่วยงานย่อยด้วยตัวย่ออาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่า ทั้งกระชับและแสดงความเข้าใจในบริบทของเราด้วย แต่หากไม่แน่ใจอย่าลืมเรียกชื่อเต็มในครั้งแรกที่พูดถึงตัวย่อนั้นด้วย

คำถามชวนคิด

ในการนำเสนอครั้งล่าสุดของคุณ มีศัพท์เทคนิคและตัวย่อที่ผู้ฟังอาจไม่รู้อยู่หรือไม่? แล้วคุณจะปรับปรุงอย่างไร?

Ing

วิศวกรสิ่งแวดล้อมที่หันมาทำงานบริหารโครงการ แต่สนใจเรื่องการนำเสนอมาก
จนอยากจะแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้มาตลอดหลายปี (ไม่กล้าบอกปี เดี๋ยวรู้อายุ) ให้กับผู้อ่านที่น่ารักทุกคน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked

{"email":"Email address invalid","url":"Website address invalid","required":"Required field missing"}

โพสต์อื่นๆ ที่คุณอาจสนใจ

รีวิวหนังสือ (น่าอ่าน): Storytelling with you
รู้ลึก vs รู้แค่ผิวๆ
5 เรื่องสำคัญ ในการออกแบบโปสเตอร์นำเสนอ