ทำไมเราต้องอ่านหนังสือที่สอนให้เราอ่านหนังสือ?

อิงเชื่อว่าหลายคนคงคิดแบบนี้เมื่อเห็นชื่อหนังสือ

แต่พอต่อท้ายด้วย โทได หรือ มหาวิทยาลัยโตเกียว ที่โด่งดัง

บางคนคงตัดสินใจซื้อทันที

(แบบเดียวกับที่อิงเป็น) 

เพื่อช่วยให้คนอื่นๆ มีข้อมูลตัดสินใจมากขึ้น

(รวมถึงป้ายยาเล็กน้อย เพื่อสนับสนุนการอ่าน และการซื้อหนังสือ) 

มาดูรีวิวจากมุมมองของอิงกันค่ะ

More...

เกี่ยวกับผู้เขียน

นิชิโอกะ อิสเซ เป็นนักศึกษาปี 3 ของมหาวิทยาลัยโตเกียว หนึ่งในมหาวิทยาลัยชื่อดังสุดๆ ของญี่ปุ่น น้องมีประวัติที่น่าทึ่งในการเปลี่ยนตัวเองจากนักเรียนที่มีคะแนนสอบมาตรฐานต่ำมาก (35 คะแนน) แถมเรียนในโรงเรียนที่ไม่เคยมีนักเรียนสอบติดโทไดมาก่อน (ตอนแรกน้องเองก็สอบไม่ติด ต้องเตรียมสอบอยู่อีก 2 ปี) 

ในช่วงเวลาเตรียมสอบนี่เอง น้องค้นพบวิธีการอ่านที่ทำให้คะแนนสอบเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนติดอันดับ 4 ของประเทศ ในการทดลองสอบเข้ามหาวิทยาลัยโตเกียว แล้วในที่สุดก็เข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยโตเกียวได้สำเร็จ

สิ่งที่น้องเคลมต่อมา คือ วิธีที่น้องพบนั้น เป็นวิธีเดียวกับที่นักศึกษามหาวิทยาลัยโตเกียวใช้ (น้องรู้ได้อย่างไร? คำตอบ คือ น้องสังเกตคนอื่นๆ และสอบถามนั่นเอง แต่คำถามต่อมา คือ แล้วสิ่งที่พบเชื่อถือได้หรือไม่ นำมาเคลมต่อได้หรือเปล่า - คำถามเหล่านี้ได้มาจากวิธีการอ่านที่น้องเขียนไว้ค่ะ ว่าให้ตั้งข้อสงสัยและถกเถียงกับหนังสือ)

ข้อสังเกต คือ ถึงน้องยังเด็กมาก (เรียนยังไม่จบ ตอนเขียนหนังสือ) แต่สิ่งที่น้องเขียน คือ วิธีการอ่าน ซึ่งนักศึกษามหาวิทยาลัยน่าจะมีความเชี่ยวชาญสูง แล้วน้องยังมีประสบการณ์ในการสอนพิเศษเรื่องทักษะการอ่านและคิดอีกด้วย ถือว่าน่าสนใจทีเดียว

หนังสือนี้น่าจะเหมาะกับใคร

ทักษะการอ่านเป็นหนึ่งในทักษะสำคัญในการสื่อสาร แต่ไม่ใช่ทุกคนจะชื่นชมและทุ่มเทในการสร้างทักษะการอ่าน หากดูจากชื่อหนังสือแล้ว อิงว่าคนที่น่าจะได้ประโยชน์จากหนังสือเล่มนี้มากกว่าเพื่อน คือ

  • นักเรียนนักศึกษา (รวมถึงผู้ที่ไม่หยุดเรียนรู้): ผู้เขียนถือเป็นตัวอย่างของการพัฒนาทักษะการอ่านตามแนวคิดที่ถ่ายทอดในหนังสือ หากผู้เขียนสามารถเพิ่มทักษะการอ่าน (ซึ่งส่งผลต่อไปยังทักษะการคิด) จนได้คะแนนสอบเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด น้องๆ นักเรียนนักศึกษาก็สามารถที่จะนำไปปรับใช้กับการเรียนของตัวเองได้เช่นกัน แต่คำถาม คือ น้องๆ จะทุ่มเทและเอาจริงเอาจังกับการอ่านได้อย่างที่ผู้เขียนแนะนำหรือเปล่า (สำหรับอิง คิดว่าต้องใช้พลังงานกายและพลังงานใจพอสมควร หากไม่อดทนพอในระยะเริ่มแรก อาจท้อไปก่อนได้)
  • ผู้ที่ต้องการพัฒนาทักษะการอ่านของตนเอง: มีแนวโน้มสูงว่าคนกลุ่มนี้มุ่งมั่นและมีแรงใจในการฝึกฝนตามสิ่งที่น้องนิชิโอกะแนะนำ อิงเชื่อว่าคนกลุ่มนี้น่าจะเพลิดเพลินกับการอ่านและได้ประโยชน์จากการอ่านหนังสือเล่มนี้มาก แต่จะนำวิธีการไปปรับใช้จริงได้แค่ไหนคงขึ้นกับความพยายามของแต่ละคน

หนังสือเขียนเกี่ยวกับอะไรบ้าง

อย่างแรกต้องเข้าใจตรงกันก่อนว่า ทักษะการอ่านไม่ใช่แค่การอ่านหนังสือออก แต่ครอบคลุมถึงการตีความ ทำความเข้าใจ สรุปใจความ (ที่เฉพาะตัวสำหรับเรา) เพื่อเอาไปใช้ต่อ 

หนังสือแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักๆ (ไม่รวมบทนำ ภาคผนวนก และบทส่งท้าย) โดยในส่วนที่ 1 คือ 5 ขั้นตอนในการ "อ่านแบบโทได" ที่ช่วยพัฒนาไหวพริบ จะประกอบด้วย 5 ขั้นตอน และส่วนที่ 2 วิธีเลือก "หนังสือที่ควรอ่าน" แบบโทได จะประกอบด้วย 5 วิธีการ มาดูรายละเอียดกันค่ะ

#ส่วนที่หนึ่ง 5 ขั้นตอนในการ "อ่านแบบโทได" ที่ช่วยพัฒนาไหวพริบ

ส่วนนี้คือเนื้อหาหลักที่ตอบโจทย์ที่หัวเรื่องตั้งไว้ "อ่านแบบโทได" โดยมีทั้งหมด 5 ขั้นตอน ซึ่งในแต่ละขั้นตอนจะเป็นการพัฒนาทักษะในแต่ละด้านที่สอดประสานกัน ประกอบด้วย

  • ขั้นตอนที่ 1 การตั้งสมมุติฐานช่วยให้ "ทักษะการอ่านเชิงลึก" เพิ่มขึ้นอย่างน่าทึ่ง: บทนี้พูดถึงการเตรียมตัวก่อนเริ่มอ่านหนังสือ (ใช่ค่ะ ก่อนจะอ่านก็ต้องเตรียมตัว) โดยเริ่มจากข้อมูลจากปก สายคาดปก ไปจนถึงวิเคราะห์สารบัญ เพื่อทำแผนที่นำทางของเราในการอ่านหนังสือ (ขณะอ่านก็ต้องมาปรับแผนที่เป็นระยะด้วยค่ะ)
  • ขั้นตอนที่ 2 การอ่านพร้อมสัมภาษณ์ช่วยให้มองเห็น "ทิศทางของเนื้อหา" ได้อย่างชัดเจน: บทนี้พูดถึงการพัฒนาทักษะการคิดในระหว่างการอ่าน โดยการตั้งคำถามในระหว่างการอ่าน (แล้วค้นหาคำตอบ ที่อาจจะอยู่ในหนังสือหรือต้องค้นคว้าเพิ่มเติม)
  • ขั้นตอนที่ 3 การอ่านพร้อมกับจัดระเบียบช่วยให้สามารถอธิบายเรื่องยากๆ ด้วยการ "สรุปแบบสั้นๆ" ได้: ในส่วนนี้คือการสรุปนั่นเอง ไล่ตั้งแต่สรุปของแต่ละหัวข้อ มาสรุปแต่ละบท และสรุปของหนังสือ หัวใจสำคัญ คือ ต้องสามารถสรุปเนื้อหาในแบบของเราได้
  • ขั้นตอนที่ 4 การอ่านพร้อมกับตรวจสอบช่วยให้ "มีมุมมองที่หลากหลาย": บทนี้แนะนำการอ่านแบบขนานและอ่านแบบสลับ การอ่านแบบขนาน คือ อ่านหนังสือ 2 เล่มที่เนื้อหาคล้ายกันไปพร้อมกัน เพื่อหาจุดร่วมและจุดต่าง (ช่วยในการคิดไตร่ตรองและเพิ่มมุมมองที่หลากหลาย) ส่วนการอ่านแบบสลับ เป็นการอ่านเพื่อหาต้นตอที่ทำให้ความคิดเห็นแตกต่างกัน (ซับซ้อนกว่าการอ่านแบบขนาน)
  • ขั้นตอนที่ 5  การอ่านพร้อมกับถกเถียงช่วยให้ "จำเนื้อหาในหนังสือได้อย่างแม่นยำ": บทนี้เหมือนเป็นการทบทวนขั้นตอนที่ 1 ถึง 4 อีกครั้ง พร้อมยกตัวอย่าง (เราจะจำหนังสือได้อย่างแม่นยำขึ้นหากทำตามขั้นตอนที่กล่าวมาข้างต้น)

#ส่วนที่สอง วิธีเลือก "หนังสือที่ควรอ่าน" แบบโทได

การเลือกหนังสือก็สำคัญ เพราะเรามีเวลาจำกัด ไม่สามารถอ่านหนังสือทุกเล่มในท้องตลาดได้ นอกจากนี้หนังสือบางเล่มอ่านในช่วงเวลาที่แตกต่างกันก็ให้มุมมองที่แตกต่างกันเช่นกัน 

ผู้เขียนแนะนำวิธีการเลือกหนังสือที่ควรอ่านไว้ 5 วิธีด้วยกัน คือ

  • เลือกอ่านหนังสือขายดี: ลองเปิดดูตามเว็บไซต์ร้านหนังสือได้เลยค่ะ โดยปกติทุกเจ้ามักมีจัดอันดับหนังสือขายดีเพื่อเป็นข้อมูลให้กับลูกค้า
  • ขอคำแนะนำจากคนที่น่าเชื่อถือ: คนที่ทำงาน รุ่นพี่ที่เคารพ หรือแม้แต่เพื่อนที่รู้มือกันอยู่ น่าจะเป็นแหล่งที่ให้เราเริ่มต้นได้ดี
  • เลือกอ่านหนังสือขึ้นหิ้ง ที่ยังมีคนอ่านจนถึงปัจจุบัน: ส่วนตัวอิงขอแนะนำ The 7 Habits of  highly effective people ของเขาดีจริงค่ะ เพิ่งพิมพ์ฉบับครบรอบ 30 ปี เมื่อปี 2020 แต่เนื้อหาข้างในยังคงช่วยให้เราพัฒนาตัวเองได้อย่างไม่ล้าสมัยแม้แต่น้อย
  • กำหนดหัวข้อของหนังสือที่จะอ่านในปีนี้: ผู้เขียนแนะนำ tips เพิ่มเติม คือ อาจอ่านหลายหัวข้อไปพร้อมกันใน 1 ปี  และอาจเลือกหัวข้อละช่วงเวลานึง (อ่านให้ได้สัก 10 เล่ม) แล้วค่อยเปลี่ยนหัวข้อ
  • เลือกอ่านหนังสือที่ไม่คิดอยากลองอ่าน: อาจลองนึกอะไรที่ไกลออกจากวิชาชีพของเรา หรือทักษะที่เรามีอยู่แล้ว

ความคิดเห็นของฉัน

อิงว่าผู้เขียนตั้งชื่อหนังสือได้อย่างฉลาด เป็นการใช้ Authority ของสถานศึกษา คือ มหาวิทยาลัยโตเกียว (โทได) มาช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือของหนังสือ (อิงก็ซื้อเพราะชื่อหนังสือ) แต่สิ่งที่อิงว่าดึงดูดกว่าชื่อหนังสือ คือ คำโปรยที่ปก "คนทั่วไปอ่านเพิ่มความรู้ แต่เด็กโทไดอ่านเพิ่มความคิด" เป็นการกระตุ้นความอยากรู้และบอกบทสรุปของหนังสือไปพร้อมกันเลยทีเดียว (ตอนซื้ออิงไม่เห็นคำโปรยค่ะ เพราะรูปในหน้าเว็บเล็กเกินกว่าจะส่องเห็น)

อิงว่าหนังสือเล่มนี้เนื้อหาค่อนข้างแหวกแนวจากเล่มอื่นๆ ในท้องตลาด อิงเคยอ่านอีกเล่มนึงที่คล้ายกันบางส่วน เป็นหนังสือภาษาอังกฤษ ชื่อว่า Asking the right questions พอมาเจอมีหนังสือภาษาไทย (ถึงจะแปลมาจากภาษาญี่ปุ่นก็ตาม) ที่คล้ายกันก็ดีใจค่ะ เพราะอยากให้หลานๆ และน้องๆ ที่ทำงานด้วยกันได้อ่าน ก่อนหน้านี้จะมีหนังสืออีกเล่มนึงชื่อ ความลับที่คนอ่านหนังสือเท่านั้นจะรู้ (ดูรีวิวได้ที่นี่) ที่มีแตะเรื่องทักษะการอ่านอยู่ด้วย แต่อิงว่าอ่านแบบโทได ลงรายละเอียดในขั้นตอนการอ่านมากกว่า

ผู้เขียนวางโครงเรื่องในการเขียนไว้ดีมากค่ะ เป็นขั้นเป็นตอน ในแต่ละหัวข้อมีการพูดถึงประเด็นสำคัญในแต่ละเรื่องแล้วค่อยๆ ขยายความพร้อมยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เทคนิคที่แนะนำในหนังสือทำตามได้ไม่ยากเลย 

สำหรับเนื้อหาในส่วนที่ 1 สิ่งที่อาจต้องตั้งคำถามกับตัวเราเอง คือ เราจะนำทุกขั้นตอนที่ผู้เขียนแนะนำมาลองใช้หรือไม่ เพราะเราอาจคุ้นชินกับการอ่านหนังสือที่เป็นแค่ "การอ่าน" คือ อ่านเฉยๆ เพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อาจไม่ได้ใช้พลังสมองใน "การคิด" เพื่อโต้แย้ง ขยายความ หรือหาคำตอบให้กับคำถามที่ใบ้ไว้ในหนังสือ ดังนั้นหากต้องมาต่อสู้ (ทางความคิด) กับหนังสือในระหว่างการอ่าน เราจะทำมันได้ตลอดรอดฝั่งหรือเปล่า 

คำถามต่อมา คือ แล้วหนังสือที่เรากำลังจะอ่าน มีคุณค่ามากพอที่จะทำให้เราต้องทุ่มเทแรงใจแรงกายหรือเปล่า?

อิงคงตอบทั้ง 2 คำถามแทนตัวคุณไม่ได้  ส่วนตัวอิงก่อนหน้านี้ก็ใช้แค่เทคนิคบางอย่างที่ในผู้เขียนพูดถึง เช่น การอ่านหน้าปกและการวิเคราะห์สารบัญ ตอนที่อ่านหนังสือเล่มนี้ก็พยามทำตามเพื่อลองฝึกและจับความรู้สึกว่าถูกจริตหรือเปล่า (ส่วนที่ไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ คือ ตอนตั้งสมมุติฐาน) ผลที่ได้รู้สึกว่าอ่านหนังสือเข้าใจมากขึ้น จดจำได้ค่อนข้างดี แต่หวาดระแวงมากขึ้น (หมายถึง ไม่ค่อยเชื่อสถิติและข้อมูลบางอย่างที่ผู้เขียนยกมา) 

โดยสรุป อิงคงนำเทคนิคส่วนใหญ่ที่ผู้เขียนแนะนำไปใช้ในการอ่านหนังสือเล่มต่อไปแน่นอน

สำหรับเนื้อหาในส่วนที่ 2 ว่าด้วยการเลือกหนังสือ อิงเห็นด้วยทุกประการค่ะ ไม่ว่าหนังสือขายดี หนังสือที่คนที่ไว้ใจได้แนะนำ หนังสือขึ้นหิ้ง หนังสือตามธีมที่เลือกไว้ หรือหนังสือที่ไม่คิดว่าอยากจะอ่าน อิงชอบทุกแบบค่ะ น่าซื้อน่าอ่านไปหมด ปีนี้ตั้งใจว่าจะลองอ่านหนังสือที่ไม่คิดว่าจะอ่านเพิ่มขึ้นค่ะ มีซื้อมาเก็บไว้ใน stock บ้างแล้ว รอคิวไปก่อน 

(หา... อะไรนะ มีหนังสือเยอะเกินไปแล้วหรอ... อือม ก็เยอะจริงค่ะ เมื่อหลายปีก่อน เคยคิดว่าถ้าลาออกมานั่งอ่านหนังสืออย่างเดียวต้องใช้เวลากี่ปีถึงจะอ่านครบ คิดแล้วสยอง เลยเลิกคิดไปแล้วค่ะ ว่าแล้วไปเลือกซื้อหนังสือใหม่ดีกว่า)

จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้

  • เนื้อหาในหนังสือถือว่าแปลกใหม่กว่าเล่มอื่นๆ ในตลาด
  • เนื้อหาเกี่ยวข้องกับการพัฒนาทักษะการอ่าน ซึ่งอิงว่าสำคัญมากในการเรียนรู้และพัฒนาทักษะอื่นๆ
  • การวางโครงเรื่องทำได้ดี ช่วยเสริมสร้างความเข้าใจและค่อยๆ นำผู้อ่านไปทีละขั้นทีละตอน
  • เทคนิคที่แนะนำในหนังสือ สามารถทำตามได้ไม่ยาก
  • มีภาคผนวกรวม Tips ต่างๆ ที่สอดแทรกในเนื้อหา ทำให้ประหยัดเวลาในการทบทวน (เปิดอ่านภาคผนวกได้เลย) 

แล้วควรซื้อหรือไม่?

นี่เป็นหนังสือที่อิงอยากซื้อให้หลานๆ อ่าน (ถึงแม้เด็กๆ อาจจะอยากเล่นเกมมากกว่าก็ตาม)

ถ้าถามคนชอบอ่านหนังสืออย่างอิง แน่นอนค่ะ หนังสือเล่มนี้น่าซื้อมาเก็บ (หรือถ้าไม่ซื้อ อย่างน้อยควรหายืมมาอ่าน) หากคุณอ่านแล้วนำไปใช้ อิงเชื่อว่าคุณจะอ่านหนังสือเล่มต่อไปของคุณได้อย่างสนุกมากขึ้น ได้ใช้ความคิดระหว่างการอ่านมากขึ้น และจะจดจำสิ่งสำคัญได้มากขึ้นแน่นอน 

แต่... ก่อนจะตัดสินใจ คิดก่อนนะคะว่าเราอยากพัฒนาทักษะการอ่านอย่างจริงจังหรือเปล่า เพราะวิธีการที่แนะนำในหนังสือ ไม่ได้มีอะไรซับซ้อน แต่ใช้พลังกายพลังใจสูงในการทำตามค่ะ 

คำถามชวนคิด

คุณพร้อมหรือไม่ ที่จะพัฒนาทักษะการอ่านของคุณ?

Ing

วิศวกรสิ่งแวดล้อมที่หันมาทำงานบริหารโครงการ แต่สนใจเรื่องการนำเสนอมาก
จนอยากจะแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้มาตลอดหลายปี (ไม่กล้าบอกปี เดี๋ยวรู้อายุ) ให้กับผู้อ่านที่น่ารักทุกคน

Leave a Reply
Ing Cancel reply

Your email address will not be published. Required fields are marked

  1. ขอบคุณสำหรับรีวิวครับ เป็นประโยชน์มากๆครับ

{"email":"Email address invalid","url":"Website address invalid","required":"Required field missing"}

โพสต์อื่นๆ ที่คุณอาจสนใจ

รีวิวหนังสือ (น่าอ่าน): Storytelling with you
รู้ลึก vs รู้แค่ผิวๆ
5 เรื่องสำคัญ ในการออกแบบโปสเตอร์นำเสนอ