ตื่นเต้นจังเลย…

ยังจำความรู้สึกนั้นได้มั๊ยคะ…

ครั้งแรกๆ ที่เราต้องขึ้นไปนำเสนอ

แล้วเจ้าความตื่นเต้นนั้นก็นำมาซึ่ง…

เสียงสั่น มือสั่น

จำอะไรไม่ค่อยได้ 

แย่กว่านั้นอีกหน่อย คือ 

นำเสนอผิดๆ ถูกๆ 

แล้วเรามีตัวช่วยสำหรับมือใหม่หัดนำเสนอมั๊ย

ถึงอาการตื่นเวที

จะหลีกเลี่ยงได้ยาก

แต่เราพอจะมีตัวช่วยเพื่อบรรเทาอาการอยู่บ้าง

ลองมาดูกันค่ะ

More...

ความตื่นเต้นเป็นเรื่องปกติ

ก่อนอื่น เราต้องยอมรับก่อนว่าความตื่นเต้นเป็นเรื่องปกติ สำหรับอิงไม่ว่าจะนำเสนอกี่ครั้งก็ยังรู้สึกตื่นเต้นอยู่ดีค่ะ และอิงว่าตื่นเต้นนิดๆ ดีกว่ารู้สึกเนือยๆ ด้วยซ้ำ (หากเราดูเนือยๆ ไม่ค่อยมีพลังงาน แนะนำตัวช่วยเพิ่มพลังงานในโพสต์นี้ค่ะ)

เมื่อเรายอมรับความตื่นเต้นเป็นส่วนหนึ่งของการนำเสนอ เราก็ไม่ต้องนอยด์เวลาเราตื่นเต้น และหากเราเริ่มต้นการนำเสนอได้ดี ความตื่นเต้นที่ว่าก็จะลดลงและค่อยๆ จางหายไปเองค่ะ

3 ขั้นตอน ช่วยในการเริ่มต้นที่ดี

แล้วเราจะเริ่มต้นการนำเสนอให้ดีได้ยังไง ก็เรามักตื่นเต้นจนลืมเนื้อหาในการเริ่มการนำเสนอ หรือไม่ก็มัวแต่โฟกัสว่าจะต้องเริ่มยังไงจนดูตะกุกตะกักไปหมด 

ที่จริงแล้ว พอจะมีวิธีหรือตัวช่วยอยู่นะคะ อาจไม่ใช่สูตรสำเร็จ แต่เป็นสิ่งที่อิงทำแล้วใช้ได้ดี มี 3 ขั้นตอนง่ายๆ ดังนี้ค่ะ

#1 จำช่วงเริ่มต้นของการนำเสนอให้แม่น

ช่วงเริ่มต้นของการนำเสนอเป็นช่วงวัดใจที่เราควรให้ความสำคัญมากๆ ค่ะ มาลองดูเหตุผลดีๆ ว่าทำไมถึงสำคัญกันค่ะ

  • First impression เป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะคนที่ไม่รู้จักกันมักตัดสินกันจากไม่กี่วินาทีแรกที่พบกัน
  • ผู้ฟังยังคงง่วนอยู่กับการอ่านสิ่งต่างๆ ในมือถือ หรือคุยกับคนข้างๆ ช่วงเริ่มต้นจึงเป็นการเรียกสติ เตรียมความพร้อมให้กับผู้ฟังว่าเราจะเริ่มแล้วนะจ๊ะ
  • หากเราเริ่มต้นได้น่าสนใจ ผู้ฟังมีแนวโน้มจะตั้งใจฟังเราต่อไป
  • ช่วงเริ่มต้น เป็นโอกาสที่ดีที่เราจะสร้างบรรยากาศของการนำเสนอของเรา (คล้ายๆ กับช่วง intro ของหนัง ที่ปูทางไปสู่เนื้อหา)

แล้วช่วงแรกของการนำเสนอนั้นกี่นาที ให้บอกเป็นนาทีคงยาก แต่ถ้าคร่าวๆ คือ ประมาณ 5-10% ของเวลาที่เราคิดว่าจะใช้ในการนำเสนอทั้งหมดค่ะ

สิ่งที่เราต้องพยายามที่จะจำให้ได้ คือ ประโยคแรก/ย่อหน้าแรกที่เราเริ่มต้น ตรงนี้สำคัญมากค่ะ หากเราเริ่มต้นด้วยประโยคแรกได้ตามที่วางแผนไว้ ประโยคต่อๆ ไปจะตามมาได้ง่ายขึ้นค่ะ 

#2 เลือกรูปแบบการเปิดที่เหมาะกับเนื้อหาและตัวเรา

การเปิดการนำเสนอมีหลายรูปแบบค่ะ ลองดูในโพสต์ “3 ทางเลือก เริ่มการนำเสนอให้กระตุกต่อมความอยากรู้” จุดสำคัญของเรา ณ ตอนนี้ คือ เราต้องการดึงความสนใจของผู้ฟัง ปูทางไปสู่เรื่องที่เราจะนำเสนอ และลดความตื่นเต้นไปในตัว ดังนั้นลองเลือกรูปแบบที่เหมาะกับสไตล์ของเราและเนื้อหาของเราดูค่ะ 

(ส่วนตัวอิงชอบเปิดด้วยคำถามค่ะ ทั้งช่วยให้ผู้ฟังฉุกคิด ให้ผู้ฟังมีส่วนร่วมกับเรา และให้เวลาตัวเราเองลดความตื่นเต้นด้วยค่ะ

#3 ซ้อม 

ที่จริงต้องเป็น ซ้อม ซ้อม และซ้อมอีก ค่ะ 

หากอยากให้การนำเสนอออกมาดี การซ้อม คือ สิ่งที่จำเป็นและสำคัญมาก หากเราซ้อม ซ้อม แล้วก็ซ้อม สิ่งที่เรานำเสนอจะออกมาแบบเป็นธรรมชาติและลื่นไหล 

Tips เล็กๆ ในการซ้อม คือ อย่าอ่านในใจ ให้พูดออกมาเหมือนกับว่าเรามีผู้ฟังอยู่ตรงหน้าจริงๆ จะออกท่าทางประกอบด้วยก็ยิ่งดีค่ะ 

คำถามชวนคิด

เวลานำเสนอ คุณตื่นเต้นหรือไม่?

หากวันไหนคุณเริ่มต้นได้ดี ความตื่นเต้นของคุณลดลงหรือไม่?

Ing

วิศวกรสิ่งแวดล้อมที่หันมาทำงานบริหารโครงการ แต่สนใจเรื่องการนำเสนอมาก
จนอยากจะแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้มาตลอดหลายปี (ไม่กล้าบอกปี เดี๋ยวรู้อายุ) ให้กับผู้อ่านที่น่ารักทุกคน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked

{"email":"Email address invalid","url":"Website address invalid","required":"Required field missing"}

โพสต์อื่นๆ ที่คุณอาจสนใจ

รีวิวหนังสือ (น่าอ่าน): Storytelling with you
รู้ลึก vs รู้แค่ผิวๆ
5 เรื่องสำคัญ ในการออกแบบโปสเตอร์นำเสนอ