องค์ประกอบหลักๆ ของสไลด์ทั่วไป

คือ Title (หัวข้อ) และ Content (เนื้อหา)

หัวข้อจำพวก…

‘การใช้พลังงานในโรงงาน’

‘ความก้าวหน้าในการดำเนินงาน’

‘ยอดขายปี 2564’

หัวข้อในสไลด์ที่คุ้นเคยเหล่านี้

เป็นรูปแบบที่มักพบในการนำเสนอ

แต่…

มันขาดอะไรไปบางอย่างค่ะ 

รวมทั้งพลาดโอกาสไปบางอย่างเช่นกัน

มาดูกันค่ะ ว่าที่ขาดและที่พลาดไปมีอะไรบ้าง

และที่สำคัญเราจะใช้ประโยชน์จากหัวข้อให้มากกว่านี้ได้อย่างไร

More...

หน้าตาของหัวข้อ (Title) ในสไลด์

สไลด์ปกติของเราเมื่อเปิดโปรแกรม PowerPoint มาจะเป็นประมาณรูป A ค่ะ

โดยปกติแล้ว โปรแกรมจะกำหนดให้หัวข้อ หรือ Title ของเราเป็นตัวหนังสือที่มีขนาดใหญ่กว่าส่วนเนื้อหา และมีพื้นที่ให้เขียนน้อยกว่า (สี่เหลี่ยมขนาดเล็กกว่ามาก) 

สังเกตอะไรมั๊ยคะ?

รูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างหัวข้อกับเนื้อหาในสไลด์ คล้ายคลึงกับการพาดหัวข่าวในหนังสือพิมพ์หรือนิตยสารต่างๆ ที่เราคุ้นเคยกันเลยค่ะ ทดตรงนี้ไว้ในใจก่อนนะคะ เดี๋ยวเราจะมาใช้ประโยชน์จากข้อสังเกตของเรากันค่ะ

การใช้ Title ในสไลด์แบบเดิมๆ

จากที่อิงสังเกตมา (รวมถึงความเคยชินของตัวเอง) พบว่า Title ของสไลด์ส่วนใหญ่จะเป็นคำนามสั้นๆ เช่น ยอดขายในปี 2564 กิจกรรมของโครงการ และข้อคิดเห็นจากลูกค้า เป็นต้น ซึ่งอ่านแล้วเหมือนป้ายบอกทาง แต่ไม่ใช่ Key message ของสไลด์

เอ๊ะ! จริงหรือเปล่า

ลองทดสอบดูได้ โดยกลับไปดู Title ในชุดสไลด์ของเราค่ะ ว่ามีกี่สไลด์ที่เป็นป้ายบอกทาง และกี่สไลด์ที่หัวข้อบ่งบอก key message 

ส่วนในรูป B เป็นผลจากการสำรวจสั้นๆ ของอิงเองค่ะ จากชุดสไลด์ทั้งหมด 10 ชุด ของ 10 หน่วยงานที่แตกต่างกัน มีทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เป็นไทยสัก 5 และชาติอื่นๆ อีก 5 ค่ะ 

ผลที่ได้ คือ 84% ของสไลด์ทั้งหมด มี Title แบบป้ายบอกทางค่ะ มีแค่ 16% ที่ใช้ Title บอก Key message

ใช้ Title ในสไลด์ แบบพาดหัวข่าว

อย่างที่เราทดกันไว้ในใจว่า PowerPoint เองก็ออกแบบการใช้พื้นที่แบบ Default มาให้คล้ายกับรูปแบบของการพาดหัวข่าว ที่สั้น กระชับ แต่ะสรุปเนื้อหาในข่าว (แค่อ่านพาดหัวก็พอรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น)

ถ้าหากเราใช้ Title แบบเป็นป้ายบอกทาง เราจะเสียโอกาสในการสื่อสาร key message ออกไปค่ะ เพราะอย่าลืมว่าผู้ฟังอาจไม่ได้ตั้งใจฟังเราตลอด แต่หากเขามองมาที่สไลด์ ส่วนใหญ่แล้วเขาจะต้องมายังส่วนที่เป็น Title ก่อนแน่นอน เพราะตัวหนังสือก็ไหญ่ แถมอยู่ในจุดแรกๆ ในการกวาดตาอีกต่างหาก 

คำแนะนำในการพาดหัวสไลด์

มาดูคำแนะนำสำหรับเทคนิคในการพาดหัวสไลด์กันค่ะ

  • กระชับ: เนื่องจากพื้นที่สำหรับใส่ Title มีไม่มากนัก เราควรใช้คำที่สั้นกระชับ เพื่อให้อ่านง่าย กวาดตาได้เร็ว และตัวหนังสือไม่ถูกลดขนาดลง
  • บอก Key message: หากเราอยากบอกอะไรกับผู้ฟัง ให้เราบอกเขาไปตรง Title นี่แหละค่ะ อย่างน้อยหากเขาไม่ได้ฟังเรา เขากวาดตามามองสไลด์ก็จะพอรู้ว่า Key message คืออะไร
  • ดึงความสนใจให้กับเนื้อหา: นอกจากบอก Key message แล้ว Title สามารถใช้ในการดึงความสนใจให้กับเนื้อหาได้เป็นอย่างดีเลยค่ะ
  • ใช้องค์ประกอบช่วยนำสายตา (ถ้าทำได้): นอกจากพาดหัวไสลด์แล้ว เรายังใช้องค์ประกอบที่แตกต่าง เช่น สี ในการนำสายตาผู้ฟัง ว่า key message ของเราสัมพันธ์กับเนื้อหาอย่างไร เทคนิคนี้ใช้มากกับสไลด์ตารางและสไลด์กราฟค่ะ 

คำถามชวนคิด

เราจะปรับปรุง Title  ในสไลด์ของเราให้เป็นพาดหัวข่าวที่น่าสนใจได้อย่างไร?

Ing

วิศวกรสิ่งแวดล้อมที่หันมาทำงานบริหารโครงการ แต่สนใจเรื่องการนำเสนอมาก
จนอยากจะแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้มาตลอดหลายปี (ไม่กล้าบอกปี เดี๋ยวรู้อายุ) ให้กับผู้อ่านที่น่ารักทุกคน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked

{"email":"Email address invalid","url":"Website address invalid","required":"Required field missing"}

โพสต์อื่นๆ ที่คุณอาจสนใจ

รีวิวหนังสือ (น่าอ่าน): Storytelling with you
รู้ลึก vs รู้แค่ผิวๆ
5 เรื่องสำคัญ ในการออกแบบโปสเตอร์นำเสนอ