เวลานั่งฟังการนำเสนอ

อิงเชื่อว่าหลายๆ ครั้ง เราอาจรู้สึกว่า…

ทำไมการนำเสนอถึงดูเหมือนอ่านมาเล่าให้ฟัง

ให้อารมณ์เหมือน Search ใน Google 

มันฟังแล้วเหมือนกับวิทยากรรู้เรื่องนั้นแบบผิวๆ

ไม่ได้รู้ลึก รู้จริง 

ทั้งที่วิทยากรอาจรู้ลึกรู้จริงแบบช่ำชอง

แต่ทำไม… การนำเสนอของผู้รู้จริง (บางคน) …

ถึงกลายเป็นรู้แค่ผิวๆ ไปได้…

จากประสบการณ์ของอิง…

นั่นเพราะการนำเสนอ (และสไลด์) ของเขา…

ขาดอะไรบางอย่างไปค่ะ

มาดูกันค่ะว่า “บางอย่าง” นั้น คือ อะไร?

More...

ทุกวันนี้โลกความรู้ทั้งใบแทบจะอยู่ในมือ (ถือ) ของเรา อยากรู้อะไรก็แค่ Search ใน Google แล้วอ่านหรือฟังแค่ไม่กี่นาที เราก็พอจะรู้จักเรื่องนั้นๆ ในเบื้องต้นแล้ว 

ความง่ายในการเข้าถึงข้อมูลส่งผลหลายอย่างกับการนำเสนอค่ะ หลักๆ คือ 

  • ผู้เตรียมการนำเสนอหาข้อมูลได้ง่ายขึ้น 
  • ถึงผู้นำเสนอจะไม่ได้รู้ลึกในเรื่องนั้น แต่ก็สามารถมีข้อมูลมากมายในเรื่องนั้นได้ผ่านการค้นหาทางอินเตอร์เน็ต
  • ผู้ฟังการนำเสนอเข้าถึงข้อมูลมากมาย

สรุปง่าย ๆ คือ ผู้ฟังมีความคาดหวังมากขึ้น ขณะที่ใครๆ ก็สามารถเป็นผู้นำเสนอได้ง่ายขึ้น (โดยไม่ต้องรู้ลึกรู้จริง)

แล้ว… ถ้าเราอยากให้การนำเสนอของเราสะท้อนความรู้จริงของเราออกมา ต้องทำยังไงบ้าง? แล้วการนำเสนอแบบไหนที่เปลี่ยนสภาพเราจากผู้รู้จริง กลายเป็นผลการค้นหาจาก Google แทน?

จากประสบการณ์ของอิง หากการนำเสนอของเรามีแต่ทฤษฎี และผลการศึกษาโน่นนี่ที่อ่านมา งานของเรามีโอกาสสูงมากที่จะถูกตีความว่าเป็นงานจำพวกรู้ผิวๆ (ถึงแม้เราจะรู้จริงก็ตาม) มาดูกันค่ะว่าแล้วเราควรใส่อะไรเพิ่มเข้าไปในการนำเสนอของเราจะได้สะท้อนความรู้จริงของเรา

#1 ข้อมูลเชิงลึก (Insight)

ในการนำเสนอ ข้อมูล เช่น ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ และอย่างไร อาจจะจำเป็นแต่ไม่เพียงพอ สิ่งที่ผู้ฟังจะหูผึ่งและเห็นว่าเป็นข้อมูลที่มีค่า คือ ข้อมูลเชิงลึก เช่น ผลการวิเคราะห์ ปัญหา อุปสรรค โอกาส และบางสิ่งที่ถ้าไม่ใช่คนวงในที่ลงมือทำจริงๆ อาจไม่รู้ เป็นต้น 

ตัวอย่างเช่น คุณกำลังทำงานวิจัยเกี่ยวกับสารมลพิษกลุ่มหนึ่ง และได้มีโอกาสไปฟังการสัมมนา วิทยากร A เสนอวิธีเก็บตัวอย่างสารแบบแน่นปึ้ก มีข้อมูลจาก literature ประกอบเป็นหน้าๆ ว่าวิธีมาตรฐานนั้นทำอย่างไร ขณะที่วิทยากร B พูดถึงวิธีมาตรฐานเพียงเล็กน้อย (เป็นวิธีเดียวกันกับ A) และให้แหล่งข้อมูลสำหรับผู้ฟังที่สนใจไปค้นคว้าต่อ แต่วิทยากร B ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าการเก็บตัวอย่างตามวิธีมาตรฐานในหน้างานจริงโดยเฉพาะภายใต้เงื่อนไขสภาพอากาศของไทย มีอะไรที่ต้องระวังบ้าง และแผนสำรองในการเก็บตัวอย่างเป็นอย่างไร 

คุณว่าวิทยากร A หรือ B ให้ข้อมูลเชิงลึกที่มีคุณค่ากับคุณมากกว่ากัน?

#2 ตัวอย่าง

ตัวอย่างเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่เพิ่มคุณค่าให้กับการนำเสนอ และเป็นสิ่งที่ช่วยเสริมความเข้าใจให้กับผู้ฟัง ตัวอย่างอาจมาจากการอ่าน แต่อ่านแบบลึกขึ้น หากการนำเสนอของเรามีตัวอย่าง ผู้ฟังจะปลื้ม ถือว่าเป็นการยกระดับการนำเสนอขึ้นอีกระดับค่ะ

#3 ประสบการณ์จริงของเราเอง

ประสบการณ์จริงเป็นสิ่งที่สะท้อนความรู้ลึกรู้จริงของเราได้ดีที่สุด หากเรามีประสบการณ์จริงในเรื่องที่นำเสนอ อย่าลืมนำมาปรับใช้ในการนำเสนอของเรานะคะ จะสร้างความแตกต่างกับคนที่รู้เรื่องนี้แบบผิวๆ อย่างแน่นอนค่ะ

อิงเคยไปนั่งฟังการนำเสนอเกี่ยวกับการทำงานของคนรุ่นใหม่ แล้วผู้นำเสนอเล่าประสบการณ์ของตัวเองตอนรับน้องๆ เข้ามาทำงานว่าเจออะไรบ้าง และได้เรียนรู้อะไรจากน้องๆ บ้าง ความคิดของคนแต่ละรุ่นต่างกันยังไง ฟังแล้วเพลินเลยค่ะ เห็นภาพชัดเจน ได้ข้อคิดอีกต่างหาก

คำถามชวนคิด

คุณจะเพิ่มความรู้ลึกรู้จริงในการนำเสนอครั้งหน้าของคุณอย่างไร?

Ing

วิศวกรสิ่งแวดล้อมที่หันมาทำงานบริหารโครงการ แต่สนใจเรื่องการนำเสนอมาก
จนอยากจะแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้มาตลอดหลายปี (ไม่กล้าบอกปี เดี๋ยวรู้อายุ) ให้กับผู้อ่านที่น่ารักทุกคน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked

{"email":"Email address invalid","url":"Website address invalid","required":"Required field missing"}

โพสต์อื่นๆ ที่คุณอาจสนใจ

รีวิวหนังสือ (น่าอ่าน): Storytelling with you
รู้ลึก vs รู้แค่ผิวๆ
5 เรื่องสำคัญ ในการออกแบบโปสเตอร์นำเสนอ