เขาว่าหากจะดูว่าคนเราหมกมุ่นกับเรื่องอะไรให้ดูว่าคนนั้นสะสมอะไร…
นับๆ ดู อิงมีหนังสือเกี่ยวกับเรื่องการนำเสนอ (presentation) ทั้งภาษาอังกฤษและภาษาไทยเยอะมาก จนไม่กล้านับ (ขยันซื้อ)
แต่ถ้าหากให้เลือกแนะนำได้แค่เล่มเดียว……
Slide:ology คือเล่มนั้นค่ะ เจ๋งตั้งแต่ตัวคนเขียนจนถึงหนังสือทั้งเล่ม
Nancy Duarte (ผู้เขียนหนังสือ) คือใคร
Nancy Duarte เป็นหนึ่งในกูรูด้าน presentation ที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก เธอและบริษัทของเธอมีประสบการณ์กว่า 20 ปีในการทำ presentation ให้กับบริษัทชั้นนำจำนวนมาก และที่ดังมาก คือ presentaion ที่นำเสนอโดย Al Gore ในหนังสารคดี The Inconvenient Truth ที่ได้รับรางวัลออสการ์นั่นเอง
สรุปง่ายๆ Nancy คือ ของจริงในวงการค่ะ หนังสือของเธอ และคอร์ส (ทั้งสอนสดและแบบ on-line) ได้รับความนิยมมากค่ะ
Don’t Commit Career Suicideประโยคเปิดของบทที่ 1 ที่เน้นย้ำให้เห็นความสำคัญของการนำเสนอกับความก้าวหน้าในการทำงานของเรา คิดง่ายๆ ค่ะ คุณกับเพื่อนร่วมงานเก่งพอๆ กัน อายุงานก็พอๆ กัน เขานำเสนอแบบโปรมาเอง ไปพูดที่ไหนก็มีแต่คนชม เป็นหน้าเป็นตาขององค์กร ส่วนคุณพูดเหมือนท่องอาขยาน จนหลังๆ หัวหน้าคุณก็เลิกให้คุณนำเสนองาน หากจะได้เลื่อนตำแหน่งคุณคิดว่าเพื่อนคุณหรือคุณจะถูกเลือก
มิติใหม่ของการนำเสนอ
ลืม slide ที่เต็มไปด้วยตัวหนังสือและ bullet point ไปได้เลย
Slide:ology เปิดมุมมองใหม่ของการออกแบบการนำเสนอที่ผสมผสานเทคนิคการออกแบบ เช่น การใช้สี การจัดวางองค์ประกอบของสไลด์ และการผสมผสานระหว่างภาพและกราฟที่คิดมาแล้วเป็นอย่างดีที่สอดคล้องกับเนื้อหาที่ต้องการสื่อ เป็นต้น
ตัวอย่างมากมายที่ใส่มาในหนังสือล้วนแต่สวยงาม สามารถนำไปเป็นไอเดียในการทำสไลด์ของเราได้เลยหนังสือเขียนเกี่ยวกับอะไรบ้างพื้นฐานการออกแบบและตัวอย่างงานออกแบบสไลด์ถูกใส่มาในหนังสือแบบไม่มีกั๊ก ถ้าตั้งใจอ่านตั้งแต่ต้นจนจบ รับรองว่า presentaiton ของคุณจะโดดเด่นเหนือค่าเฉลี่ยอย่างมาก
หนังสือเขียนเกี่ยวกับอะไร
ในหนังสือมีทั้งหมด 12 บท
- Chapter 1 Creating a New Slide Ideology – ไม่น่าเชื่อว่าคนทำงานส่วนใหญ่มักให้ความสำคัญกับการนำเสนอแบบผ่านๆ มีแค่ชื่อเรื่องกับ bullet point ที่ใส่เนื้อหาที่เกี่ยวข้องก็น่าจะพอแล้ว เพราะฉะนั้นในบทนี้จะเป็นการปรับความคิดของเราเกี่ยวกับการนำเสนอรวมถึงความสำคัญของการนำเสนอให้ดี
- Chapter 2 Creating Ideas, Not Slides – ไอเดียเป็นสิ่งที่มาก่อนสไลด์ แต่เราจะหาไอเดียมาจากไหน ในบทนี้มีการยกตัวอย่างการใช้ Sticky Note (หรือที่เราคุ้นเคยในชื่อ Post-it มากกว่า) การ sketch ไอเดีย เป็นต้น
- Chapte 3 Creating Diagrams – ไดอะแกรม (Diagrams) เป็นสิ่งที่มีประโยชน์มากในการนำเสนอไอเดียของเราและความเชื่อมโยงระหว่างไอเดียแต่ละอัน (แทนที่จะพูดว่า A เชื่อมโยงกับ B และ C โดยตรง ขณะที่เชื่อมโยงกับ D ผ่าน C และ B กับ D จะเชื่อมกันได้ต้องผ่าน C และ A เท่านั้น -> งงมั๊ยคะ แต่ถ้าแสดงในรูปแบบไดอะแกรม รูปเดียวจบค่ะ) ผู้เขียนจัดรูปแบบไดอะแกรมจำนวนมากมาให้เราเลือกใช้ โดยบางแบบเราอาจไม่เคยเห็นมาก่อน ค่อยๆ ไล่ดูไปได้ค่ะ
- Chapter 4 Displaying Data – ผู้เขียนแนะนำให้ใช้หลักการ 5 ข้อในการนำเสนอข้อมูลเพื่อให้เกิดความชัดเจนที่สุด ประกอบด้วย 1) Tell the truth บอกเรื่องจริง 2) Get to the point บอกไปเลยว่าประเด็นของเราคืออะไร 3) Pick the right tool for the job เลือกเครื่องมือให้เหมาะกับงาน 4) Highlight what’s important โชว์ให้เห็นว่าอะไรสำคัญ และ 5) Keep it simple อันนี้คงไม่ต้องแปล
- Chapter 5 Thinking Like a Designer – เราไม่จำเป็นต้องเป็นนักออกแบบ เราก็สามารถคิดแบบนักออกแบบได้ค่ะ ไม่ต้องกังวลว่าเราไม่เก่งศิลปะ เราไม่มีหัว ของอย่างนี้เรียนรู้กับได้ค่ะ ในหน้ารองสุดท้ายของบทนี้ ผู้เขียนบอกเราว่าหากจะคิดเหมือนนักออกแบบต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง (คร่าวๆ คือ Arrangement, Visual elements และ Movement)
- Chapter 6 Arranging Elements – ในที่สุดเราก็มาถึงพื้นฐานการออกแบบสไลด์แบบจริงๆ จังๆ ซะที บทนี้ผู้เขียนอธิบายหลักการ (หรือจะเรียกว่าวิธีมองก็ได้) ในการจัดวางองค์ประกอบของสไลด์ ประกอบด้วย Contrast, Flow, Hierarchy, Unity, Proximity และ Whitespace แต่ละหัวข้อย่อยอธิบายไว้สั้นๆ 2 หน้า เข้าใจง่าย พร้อมตัวอย่างประกอบ
- Chapter 7 Using Visual Elements: Background, Color, and Text – บทนี้กล่าวถึงองค์ประกอบที่สำคัญอีกชุดนึงของสไลด์ คือ พื้นหลัง (background) สี และตัวอักษร ถึงสิ่งเหล่านี้จะดูเล็กน้อย แต่มีผลอย่างมากค่ะ ทั้งสีที่เราเลือก และตัวอักษรที่ใช้
- Chapter 8 Using Visual Elements: Images – หมายรวมถึงทั้งรูปภาพ รูปวาด รูปกราฟฟิคต่างๆ ตัวอย่างในบทนี้น่าสนใจและดูแปลกใหม่ดีค่ะ น่าเอามาประยุกต์ใช้มาก
- Chapter 9 Creating Movement – มีอยู่ช่วงนึง มีความเชื่อกันว่า presentation ไม่ควรมี animation เพราะจะดึงความสนใจผู้ฟังไปจากสิ่งที่เราพูด ผู้เขียนแสดงให้เห็นว่าหากเราเลือกใช้ Animation และ Transition อย่างมีความหมายจะทำให้การนำเสนอของเราน่าสนใจและมีเสน่ห์ขึ้นทันตาเห็น
- Chapter 10 Governing with Templates – โดยส่วนตัวอิงไม่ชอบ Template แต่ผู้เขียนยกตัวอย่างได้ดีค่ะว่าในบางครั้ง Templates ก็มีประโยชน์กับเราไม่ใช่น้อย อันนี้ลองอ่านและตัดสินใจกันเองค่ะ
- Chapter 11 Interacting with Slides – บทนี้รวบรวมเนื้อหาเกี่ยวกับ Slide มาไว้ในบทเดียวกันรวมถึงคำถามต่างๆ เช่น เราควรมีกี่สไลด์ในการนำเสนอ และเราควรฉายออกทางจอภาพหรือไม่ เป็นต้น
- Chapter 12 Manifesto: The Five Theses of the Power of a Presentation – บทนี้มีตัวหนังสือน้อยมาก แต่เป็นหัวใจสำคัญของการนำเสนอ มีอะไรบ้างต้องไปเปิดดูกันเอง (อุบไว้ก่อน) แต่โดยส่วนตัวที่ชอบมากที่สุด คือ ข้อ 4 Practice design, not decoration
ความคิดเห็นของฉัน
อย่างที่บอกตอนต้นค่ะ หากแนะนำหนังสือด้านการนำเสนอได้แค่เล่มเดียว Slide:ology คือ เล่มนั้นค่ะ
หากอยากทำ presentation ให้เจ๋งขึ้น แนะนำอย่างยิ่งค่ะว่าต้องอ่าน (ฉบับภาษาไทยก็มีขายนะคะ) รับรองว่าอ่านจบแล้วมุมมองในการนำเสนอและวิธีการเตรียมสไลด์ของเราจะเปลี่ยนไปแน่นอน