จริงหรือโม้?

"ถ้าเราทำงานเก่ง เจ้านายก็เห็นเอง ไม่เห็นต้องนำเสนอเก่งเลย"

"บางคนพูดเก่ง นำเสนอเก่ง แต่ทำงานไม่ได้เรื่อง ความเก่งมันไม่ได้วัดกันที่ตรงนั้น'

"เราเป็นคนสาย introvert ไม่ชอบนำเสนอ แต่เราทำงานเก่ง ก็ไม่ต้องแคร์"

คุณว่าจริงอย่างที่พวกเขาคิดกันหรือเปล่า

More...

เมื่อหลายสัปดาห์ก่อน อิงถูกถามความเห็นว่า ควรจะเลือกใครมาเป็นผู้สอนในคอร์สสำหรับที่ปรึกษาชาวไทย โดยให้เลือกระหว่างผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ 2 คนที่เคยมาเป็น trainer ให้ในโครงการก่อน ที่จริงอิงสนิทกับทั้งคู่พอสมควร ทั้งสองคนเก่งในเรื่องที่จะมาสอนพอๆ กัน แต่คุณ A มีทักษะการนำเสนอที่ดีกว่าและสอนได้อย่างน่าสนใจกว่า ถึงจะลำบากใจในการเลือก แต่ก็ต้องตอบไปตามตรงว่า A เหมาะกับงานนี้มากกว่า ทั้งที่จริงๆ แล้ว B ได้เปรียบกว่าด้วยซ้ำในเรื่องเทคนิคที่รู้ลึกกว่า

คุณว่าทักษะการนำเสนอมีผลกับการตัดสินใจในกรณีนี้หรือเปล่า?

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อิงไปสอนเรื่องการนำเสนอข้อมูลให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นคอร์สสั้นๆ ให้น้องๆ ในมหาวิทยาลัย สิ่งหนึ่งที่น่าตกใจพอสมควร คือ น้องๆ ซึ่งกำลังเรียนป.โท รวมถึงป.เอก ที่บางคนต้องเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย กลับให้ความสำคัญกับทักษะการนำเสนอค่อนข้างน้อยกว่าที่ควรจะเป็น และที่น่าตกใจกว่า คือ มากกว่าครึ่งหนึ่งที่ได้สัมผัสทำสไลด์การนำเสนอโดยใช้ Template ที่ PowerPoint มีให้และนำข้อมูลที่มี (ตัดมาจากรายงาน) ใส่เข้ามาเป็น Bullet Points ในสไลด์

ปัญหาอยู่ตรงไหน

จากการวิเคราะห์พบว่าปัญหาน่าจะเกิดจาก 3 ส่วน

  1. 1
    คนส่วนใหญ่เรียน PowerPoint ด้วยตัวเอง คือ ซื้อหนังสือมาอ่าน หรือเปิดคอมพ์แล้วก็ลุยเลย (เพราะ PowerPoint ใช้งานง่ายมาก) ดังนั้นตัวอย่างที่ในหนังสือให้มาและ Template ที่ PowerPoint ให้มา หลักๆ เลย คือ สไลด์แบบ Bullet Points
  2. 2
    เคยเห็นแต่ PowerPoint ที่เต็มไปด้วย Bullet Points เพราะ สไลด์ส่วนใหญ่ก็เป็นแบบนั้น ก็เลยทำตามๆ กันมา
  3. 3
    มีความสามารถทำให้สไลด์สวยงามได้ แต่ไม่ให้ความสำคัญ เปิดโปรแกรมมาก็จับใส่ๆ ไป ให้แค่เสร็จงานก็พอ

ถ้าถามอิง ปัญหาที่ 3 แก้ยากสุด เพราะเป็นเรื่องทัศนคติและ mindset ไม่ใช่ทักษะ (ซึ่งแค่ใช้เวลาแค่ 1-2 วัน คุณก็เก่ง PowerPoint แบบน้องๆ เซียนได้แล้ว)

ทำไมคนส่วนนึงถึงไม่ให้ความสำคัญกับการนำเสนอ

ไม่ใช่แค่การทำสไลด์ แต่หมายถึงตั้งแต่เริ่มต้นวางแผนการนำเสนอว่าจะพูดเรื่องอะไร การแปลงเรื่องที่จะพูดให้เป็นสไลด์อย่างน่าสนใจ และการนำเสนอ (พูดออกไป) อย่างมีพลัง

น่าเศร้าใจที่คนส่วนนึงไม่ให้ความสำคัญกับการนำเสนอ เพราะคิดว่าพูดไปยังไงก็เหมือนกัน นำเสนอแค่ 15-20 นาที จะไปคาดหวังอะไรกันมาก 

จากการวิเคราะห์ คิดว่าสาเหตุของเรื่องเหล่านี้เกิดจาก

  1. 1
    ก็มันไม่มีเวลา (เพราะไม่ให้ความสำคัญกับการนำเสนอ จึงทำงานอื่นๆ ก่อน แล้วค่อยมายำสไลด์กันก่อนพูดคืนนึง)
  2. 2
    มันต้องพูดโดยตำแหน่ง และด้วยตำแหน่งที่ใหญ่โต จึงคิดว่าไม่ใช่หน้าที่ที่ต้องเตรียมสไลด์ ดังนั้นคนนำเสนออาจไม่ได้เตรียมสไลด์ ทำได้แค่พูดไปตามที่น้องๆ จัดมาให้
  3. 3
    ไม่เห็นคุณค่าของผู้ฟัง ถึงทำสไลด์ไปแบบไหน หรือจะพูดตามสไลด์ยังไง คนฟังก็ต้องฟังอยู่ดี
  4. 4
    ไม่คิดว่าการนำเสนอให้ดีหรือไม่ดี จะส่งผลต่ออนาคตในการทำงานของตัวเอง

ข้อ 1-2 เป็นคำแก้ตัว ของคนไม่ให้ความสำคัญ หากสิ่งที่ต้องไปนำเสนอ มีเดิมพัน คือ ตำแหน่งงานที่สูงขึ้น หรือข้อเสนองานมูลค่าหลายสิบล้าน ข้อ 1-2 ไม่เกิดขึ้นแน่นอน

ข้อ 3-4 เป็นปัญหาด้านทัศนคติและ mindset ของผู้นำเสนอ

จริงหรือไม่: นำเสนอได้ดีหรือไม่ดี ก็ไม่เกี่ยวกับอนาคตในการทำงาน

ถ้าจากประสบการณ์ที่เห็นผู้คนมากหน้าหลายตาได้ดี (แบบคนชื่นชมกันทั้งบางว่าเหมาะสม) กับหลายคนที่แป๊กอยู่กับที่ไม่ไปไหนซักที อิงว่าความเก่งเป็นส่วนหนึ่ง แต่ทักษะด้านการนำเสนอเป็นตัวเสริมที่สำคัญ ที่จะใช้วัดว่าใครจะเหนือกว่าใคร (และอาจตัดสินว่า A กับ B ที่เก่งพอๆ กัน ใครควรได้ไปต่อ)

การนำเสนอได้ดีเป็นเหมือนการเพิ่มเสน่ห์ให้กับตัวเรา เพิ่มความได้เปรียบให้กับตัวเรา เมื่อต้องก้าวไปในตำแหน่งระดับสูงในองค์กร เพราะการนำเสนอไม่จำเป็นต้องเป็นการนำเสนอด้วยสไลด์แต่เป็นการพูดเล่าเรื่องที่น่าดึงดูดใจคนฟัง 

อาจไม่ใช่ผู้นำทุกคนที่นำเสนอได้ดี แต่ผู้นำที่โดดเด่นส่วนใหญ่มีทักษะการนำเสนอที่ดีเกือบทั้งนั้น การแนะนำ iPod, iPhone และ iPad (ที่มาในซองเอกสาร) ของ Steve Jobs เป็น Talk of the town ทุกครั้ง หรือแม้แต่ Bill Gates ที่ปล่อยยุงจำนวนมากออกมาจากฝาครอบตอนพูดเรื่องไข้มาลาเรียที่งาน TED Talk ยังคงเป็นที่โจษจันกันในหมู่ผู้ชื่นชอบ TED

เรื่องสุดท้ายสดๆ ร้อนๆ อิงไปฟังรัฐมนตรีท่านนึงพูดเปิดงาน ต้องบอกว่าหลังจากฟังมาหลายคน คนนี้แตกต่างจริงๆ (เก่งกว่าหรือเปล่าไม่รู้) ทุกคนที่ได้คุยด้วยหลังงานพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่คิดว่าท่านจะทำได้ดีขนาดนี้ (เหนือสิ่งที่คาดว่าจะได้ฟังไปมาก) มาครบทั้งเรื่องอารมณ์ขัน การพูดแบบเป็นธรรมชาติ (ไม่ได้อ่าน Speech แบบข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และรัฐมนตรีคนอื่นๆ เวลาไปเปิดงาน) อิงคิดว่าแกน่าจะไปได้ไกลบนเวทีทางการเมืองนะคะ 

Ing

วิศวกรสิ่งแวดล้อมที่หันมาทำงานบริหารโครงการ แต่สนใจเรื่องการนำเสนอมาก
จนอยากจะแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้มาตลอดหลายปี (ไม่กล้าบอกปี เดี๋ยวรู้อายุ) ให้กับผู้อ่านที่น่ารักทุกคน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked

{"email":"Email address invalid","url":"Website address invalid","required":"Required field missing"}

โพสต์อื่นๆ ที่คุณอาจสนใจ

รีวิวหนังสือ (น่าอ่าน): Storytelling with you
รู้ลึก vs รู้แค่ผิวๆ
5 เรื่องสำคัญ ในการออกแบบโปสเตอร์นำเสนอ