เวลาไปฟังการนำเสนอ ไม่ว่าจะป็นสัมมนาหรืองานประชุม

สำหรับบางคน บอกได้เลยว่ามันน่าเบื่อมาก 

บางคน ก็ฟังไป เล่นมือถือไป รอเวลาพักเบรค

อือม...

อันนี้เข้าใจได้ค่ะ 

แต่สายการนำเสนออย่างเรา... อย่าปล่อยโอกาสผ่านไปเปล่าๆ ค่ะ

เราต้องใช้โอกาสนี้เรียนรู้และปรับปรุงการนำเสนอของเรา

"สิ่งต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาล้วนเป็นครู"

อิงผ่านตาประโยคนี้จากที่ไหนสักแห่ง

ว่าแล้วเราก็ใช้สไลด์ในงานสัมมนาเป็นครูซะเลย

มาดูกันค่ะ ว่าเราจะเรียนรู้อะไรได้บ้าง

More...

ข้อมูลพื้นฐานของสไลด์

  • สไลด์ชุดนี้ใช้ในงานสัมมนาเกี่ยวกับการเปิดตัวระบบฐานข้อมูลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของหน่วยงานแห่งหนึ่ง
  • ผู้จัดงานได้ส่งหนังสือเชิญพร้อม QR Code เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานดาวน์โหลดเอกสารประกอบการประชุมได้ก่อนวันงาน (เป็นสิ่งที่ดีมาก ขอชื่นชม)
  • จอรับภาพจาก Projector มีขนาดใหญ่มาก
  •  รูปที่อิงถ่ายมาจากแถวที่ 6 จากข้างหน้า

ข้อสังเกต

  • สไลด์มีเนื้อหาค่อนข้างมาก ทำให้สไลด์เหมาะกับการอ่านมากกว่าการเป็นสไลด์สำหรับนำเสนอ ข้อดีก็คือ ผู้ที่ไม่ได้ไปฟังสัมมนาเอง ก็สามารถอ่านสไลด์นี้ได้เข้าใจ ส่วนข้อเสีย คือ เนื้อหาที่แน่น มีแนวโน้มที่ทำให้ผู้ฟังให้ความสำคัญกับการอ่านมากกว่าการฟังการนำเสนอ
  • สไลด์มีความแตกต่างของรูปแบบเป็นระยะ  แสดงให้เห็นว่าน่าจะเกิดจากการนำสไลด์เก่ามาประกอบกันและดัดแปลงเนื้อหาบางส่วน ให้เหมาะกับการนำเสนอครั้งนี้

สิ่งที่สามารถปรับปรุงได้

ถึงแม้ว่าสไลด์ชุดนี้จะทำได้ดีกว่ามาตรฐานทั่วไปของสไลด์ที่เตรียมโดยหน่วยงานภาครัฐ แต่เพื่อการพัฒนาทักษะของเรา ก็ต้องหามุมมองที่สามารถปรับปรุงได้ เราจะได้เรียนรู้และนำไปพัฒนาฝีมือของเราเอง

ในความเห็นของอิง มีอยู่ 6 ประเด็นที่น่าจะปรับปรุงได้ดังนี้

#1 Consistency เรื่องขนาดและรูปแบบตัวอักษรสำหรับ Title

Consistency เป็นสิ่งสำคัญสำหรับการออกแบบสไลด์ หากอยากดูว่าสไลด์นั้นโปรหรือไม่ ให้ดูว่าทั้งชุดสไลด์นั้นมีความสม่ำเสมอในการออกแบบหรือเปล่า 

ดังนั้น Consistency เป็นตัวแบ่งแยกระหว่างนักออกแบบมือโปรกับมือสมัครเล่นได้เป็นอย่างดี 

ส่วนใหญ่แล้วหากเรานำสไลด์จากหลายๆ ไฟล์มารวมกัน มักจะตกม้าตายเรื่อง consistency นี่แหละค่ะ แต่ถ้าเราปรับตรงนี้สักนิดก็จะเนียนขึ้นมาก

ในสไลด์ชุดนี้ Title (ส่วนด้านบนของสไลด์ที่ใช้แสดงหัวเรื่อง) ของสไลด์มีแตกต่างกันอยู่ 2 แบบด้วยกัน คือ ตัวอักษรที่เป็นสีดำตัวหนา และตัวอักษรที่เป็นสีขาวบนพื้นหลังสีฟ้าน้ำเงิน ดังแสดงตัวอย่างในรูป A

วิธีการปรับปรุง คือ

  1. 1
    เลือกแบบใดแบบหนึ่ง
  2. 2
    ผู้นำเสนออาจต้องการใช้ตัวอักษรสีดำหนาสำหรับเนื้อหาในส่วนต้นที่เป็นเหมือนการปูพื้น ก่อนที่จะเข้าเรื่องของระบบติดตามข้อมูล ซึ่งใช้ตัวอักษรที่เป็นสีขาวบนพื้นหลังสีฟ้าน้ำเงิน ถ้าอย่างนั้น จะต้องปรับเปลี่ยน Title ที่อยู่ในเนื้อหาส่วนต้นให้เป็นตัวอักษรสีดำหนาทั้งหมด 

#2 Consistency ในการใช้สี เพื่อสร้างความหมาย

การใช้สีเพื่อแสดงความหมายพิเศษนั้นเป็นเทคนิคอย่างหนึ่งที่นิยมใช้และช่วยสร้างการจดจำได้เป็นอย่างดี  แต่ข้อควรระวัง คือ สีที่ใช้ต้องสอดคล้องกันทั้งชุดสไลด์

สไลด์ชุดนี้ใช้สีค่อนข้างหลากหลาย และมีการใช้สีที่ไม่ consistency ในเรื่องเดียวกัน ดังเช่นตัวอย่างในรูป B

#3 Consistency ในเรื่องสไตล์ของรูปวาดประกอบสไลด์

การใช้รูปประกอบสไลด์ก็ต้องมีสไตล์ที่คล้ายกัน เพื่อสร้างความสอดคล้องในชุดสไลด์ 

จากตัวอย่างในรูป C จะเห็นว่ารูปประกอบในหน้าสไลด์มีทั้งรูปวาด (vector) และรูปภาพ 

#4 Consistency ในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ

เราต้องใส่ใจเรื่องความสม่ำเสมอและความสอดคล้องในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น bullet points (หากเลือกที่จะใช้ bullet points) ก็ควรเหมือนๆ กันทั้งชุดสไลด์

ในตัวอย่างสไลด์ของเรามีการใช้ bullet points ที่แตกต่างกันถึง 4 แบบ ด้วยกัน (ตัวอย่างในรูป D แสดง bullet points 2 แบบที่ใช้)

#5 สิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นเมื่อฉายภาพสไลด์ขึ้นจอ

เมื่อฉายภาพสไลด์ขึ้นจอรับภาพ สภาวะแวดล้อมต่างๆ เช่น แสงสว่างในห้องประชุม คุณภาพของเครื่องฉาย projector เป็นต้น จะส่งผลให้ภาพที่เราเห็นบนจอคอมพิวเตอร์ไม่เหมือนกับสิ่งที่คนฟังเห็นบนจอรับภาพ

สิ่งที่ต้องระวัง คือ สีที่เราเห็นบนจอคอมพิวเตอร์เรามีแนวโน้มจะซีดหรือเปลี่ยนสีไปเมื่อฉายผ่านเครื่อง projector ดังนั้นหากเราใช้สีเพื่อแบ่งกลุ่ม ผู้ฟังอาจมองไม่เห็นอย่างที่เราอยากให้เป็น หรือหาก contrast ระหว่างตัวหนังสือและพื้นหลังไม่มากพอ อาจทำให้ผู้ฟังมองเห็นได้ยากขึ้นมาก ดังแสดงตัวอย่างในรูป E

(สามารถเปรียบเทียบสไลด์ด้านซ้ายของรูป D ซึ่งเป็นรูปที่เห็นจากจอคอมพิวเตอร์และสไลด์ด้านขวาของรูป E ซึ่งเป็นรูปที่ถ่ายจากจอรับภาพ)

#6 ใช้ Animation ช่วย ในการนำเสนอ

ก่อนอื่น อิงขอชมเชยผู้นำเสนอว่ามีความรู้ในเรื่องที่นำเสนอเป็นอย่างดี นำเสนอได้อย่างไม่ติดขัด 

แต่เนื่องจากเนื้อหาในสไลด์ค่อนข้างแน่น และแสดงขึ้นมาพร้อมกันหมด (แถมผู้ฟังบางคนนำ tablet หรือ คอมพิวเตอร์ไปเองก็เปิดสไลด์ดูได้ตรงหน้าเลย) ทำให้คนฟังสนใจที่จะอ่านมากกว่าที่จะฟัง

หากผู้นำเสนอใช้ animation ช่วยในการนำเสนอ จะช่วยให้ผู้ฟังติดตามการนำเสนอได้ดีกว่านี้ 

สรุปสิ่งที่เรียนรู้

  • Consistency ป็นสิ่งสำคัญ ทั้งเรื่องรูปแบบของ Title และการใช้สี สไตล์ของรูปวาดประกอบ และเรื่องเล็กน้อยอื่นๆ เช่น รูปแบบของ bullet points (หากเลือกจะใช้ bullet points)
  • สีบนจอรับภาพ มีแนวโน้มจะซีดกว่าสีที่เห็นจากจอคอมพิวเตอร์ ดังนั้นต้องระวังในการใช้สีเพื่อแบ่งกลุ่ม
  • ควรใช้ animation ช่วยในการนำเสนอ

คำถามชวนคิด

คุณได้เรียนรู้อะไรจากสไลด์การนำเสนอที่ไปฟังมาเมื่อครั้งที่แล้ว?

Ing

วิศวกรสิ่งแวดล้อมที่หันมาทำงานบริหารโครงการ แต่สนใจเรื่องการนำเสนอมาก
จนอยากจะแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้มาตลอดหลายปี (ไม่กล้าบอกปี เดี๋ยวรู้อายุ) ให้กับผู้อ่านที่น่ารักทุกคน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked

{"email":"Email address invalid","url":"Website address invalid","required":"Required field missing"}

โพสต์อื่นๆ ที่คุณอาจสนใจ

รีวิวหนังสือ (น่าอ่าน): Storytelling with you
รู้ลึก vs รู้แค่ผิวๆ
5 เรื่องสำคัญ ในการออกแบบโปสเตอร์นำเสนอ