โปสเตอร์นำเสนอ...

เป็นหนึ่งในความภูมิใจของคนในวงวิชาการ

ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์ นักวิจัย นักศึกษา ...

การที่งานของเราได้รับคัดเลือกให้ทำเป็นโปสเตอร์นำเสนอ

แล้วนำไปแสดงในงานประชุมสัมมนาใหญ่ๆ 

มันจะปลื้มเป็นพิเศษค่ะ...

ก็งานวิจัยที่เราตั้งใจทำมาแบบหลังขดหลังแข็ง

...ได้ออกไปอวดโฉมสู่สายตาชาวโลก

มันจะไม่ภูมิใจได้ยังไงหล่ะคะ

แต่...

โปสเตอร์นำเสนอก็มีทั้งแบบที่ดี สวยงาม น่าพุ่งเข้าไปดู อ่านแล้วเข้าใจง่าย

กับ...

โปสเตอร์นำเสนอที่มองผ่านๆ แล้วก็ผ่านไปเลย ไม่อยากแวะไปดู

เพราะมันไม่ดึงดูด ดูแล้วปวดหัว ผสมกับความงงงวย 

ประเด็น คือ งานวิจัยของเราดีแค่ไหน แต่ถ้าไม่มีคนมาดู ก็ไร้ความหมายค่ะ

คำถาม คือ โปสเตอร์นำเสนอของเราเป็นแบบไหนคะ?

More...

หัวใจสำคัญของโปสเตอร์นำเสนอ

หัวใจสำคัญของโปสเตอร์นำเสนอที่ต้องมี คือ key message ที่ต้องการสื่อสาร โปสเตอร์ที่สวยงามแต่ขาด key message ที่อยากจะเล่า ก็เหมือนกับภาพถ่ายที่สวยแต่ขาดเรื่องราวที่จะสื่อ เห็นแล้วก็ลืม 

5 เรื่องสำคัญที่ต้องใส่ใจในการออกแบบโปสเตอร์นำเสนอ

เมื่อเรามี key message ที่ต้องการสื่อสารแล้ว ก็ได้เวลาออกแบบโปสเตอร์ให้ส่งเสริม key message และดึงดูดผู้คนให้เข้ามาดู Key Message ของเรา

แน่นอนค่ะ เราไม่ได้มีอาชีพเป็น Graphic Designer นานๆ อาจจะได้ออกแบบโปสเตอร์สักครั้งนึง แต่เราสามารถเรียนรู้หลักการเบื้องต้นของการออกแบบ เพื่อเอามาประยุกต์ใช้กับโปสเตอร์ของเรา มาดูกันค่ะว่ามีเรื่องอะไรบ้างที่เราควรรู้และนำมาใช้

#1 Layout

อย่างแรกที่เราต้องรู้ก่อน คือ ขนาดของโปสเตอร์ที่ผู้จัดงานกำหนด รวมทั้งแนวการวางโปสเตอร์ (แนวตั้งหรือแนวนอน) 

ในส่วนของการจัดวาง layout เราสามารถทำได้หลายรูปแบบ โดยดูที่เนื้อหาและองค์ประกอบอื่นๆ ของเนื้อหาเป็นหลัก เช่น รูปภาพ กราฟ ตาราง ไดอะแกรม เป็นต้น ลองเอา Tips ในการจัดวาง Layout ไปประยุกต์ใช้กันค่ะ

  • เว้นระยะระหว่างเนื้อหากับขอบกระดาษ (Margin) ทุกด้าน
  • ใช้การแบ่งคอลัมน์เพื่อกำกับการวางเนื้อหา เช่น ตัวอย่างในรูป A (เนื่องจากเราไม่ใช่มืออาชีพด้านการออกแบบ ควรใช้การแบ่งคอลัมน์เป็นตัวช่วย)
  • เพื่อความเป็นระเบียบและอ่านง่าย ควรใช้การจัดบรรทัดที่ทั้งด้านหน้าและด้านหลังของบรรทัดเสมอกัน ตัวอย่างในรูป B
    ให้มององค์ประกอบที่ใส่เข้าไปในแต่ละคอลัมน์ เช่น เนื้อหา รูป กราฟ เป็นก้อนๆ แยกกัน และควรมีระยะห่างระหว่างก้อนที่เหมาะสม
  • องค์ประกอบแต่ละก้อนควรมีความกว้างเต็มคอลัมน์ที่แบ่งไว้
  • หากไม่แน่ใจในฝีมือการจัดวาง layout ให้ keep it simple (วางแบบง่ายๆ ตามคอลัมน์ที่แบ่งไว้)

#2 สี

การเลือกสีที่ใช้ในโปสเตอร์ทำได้หลายรูปแบบและสีมีผลอย่างมากที่จะทำให้โปสเตอร์ของเราดึงดูดสายตาผู้ฟังค่ะ Tips ในการเลือกใช้สีมีดังนี้ค่ะ

  • ใช้สีแค่ 2-3 สีก็เพียงพอ โดยมี 1 สี เป็นสีหลัก (แนะนำเทาเข้ม น้ำเงินเข้ม หากสีพื้นโปสเตอร์เป็นสีอ่อน หรือสีขาวหากสีพื้นโปสเตอร์เป็นสีเข้ม)และอีก 2 สีที่แตกต่างจากสีหลักอย่างเห็นได้ชัด เป็นสีที่ใช้เน้น
  • ใช้สีอย่างมีความหมาย ใช้สีใดเน้นก็ใช้สีนั้นตลอด อย่าใช้สลับกันไปมา
  • สีที่เลือกควรสอดคล้องกับเนื้อหา เช่น พูดเรื่องที่สัมพันธ์กับ SDG ใดก็เลือกสีของ SDG นั้นมาใช้ด้วย หรือเนื้อหาเป็นเรื่องกบ ก็เลือกสีของกบมาใช้ในโปสเตอร์ (ตัวอย่างในรูป C)

ในกรณีที่ผู้จัดงานกำหนดสีที่ต้องใช้ เช่น กำหนดให้ใช้สีเขียว เลือดหมู และเทาดำ สิ่งที่เราทำได้อาจหลากหลายน้อยลง แต่ที่สำคัญ คือ เราต้องเลือกสีหลัก (อิงเลือกสีเทาดำ) และเลือกสีเน้น (อิงเลือกสีเลือดหมู) อย่าใช้ปนกันไปหมดค่ะ 

#3 ตัวอักษร

ตัวอักษรที่เราเลือกสามารถสะท้อนภาพลักษณ์ของเนื้อหาที่เรานำเสนอได้ หากผู้จัดงานไม่ได้กำหนด Font มาให้ เราควรเลือกอย่างพิถีพิถันนิดนึงค่ะ โดยมี Tips ดังนี้

  • แนะนำให้ใช้ตัวอักษรแบบไม่มีหาง (Sans Serif) มากกว่าแบบมีหาง (Serif) 
  • หากงานเราเป็นแนวจริงจัง ควรหลีกเลี่ยง Font แบบลายมือ (Script) เช่น Comic Sans เพราะทำให้งานของเรากลายเป็นเรื่องเล่นและลดความน่าเชื่อถือลง (ตัวอย่างในรูป D)
  • ใช้ตัวอักษรแค่ 1-2 แบบ ไม่ควรใช้เยอะกว่านั้น ในกรณี 2 แบบ สามารถใช้แบบนึงเป็นหัวเรื่อง และอีกแบบนึงเป็นเนื้อหาได้
  • ใช้ตัวอักษรที่มีขนาดใหญ่เพียงพอที่จะอ่านได้อย่างสบายตาในระยะ 1 เมตร (แต่ละ Font จะมีขนาดตัวอักษรที่แตกต่างกันไป แนะนำให้พิมพ์ออกมาแล้วลองอ่านดูค่ะ)

#4 Contrast 

ทำไมโปสเตอร์บางอันถึงถูกมองผ่านราวกับไม่มีตัวตน นั่นเพราะปัญหาเรื่อง Contrast ค่ะ ลองนึกภาพโปสเตอร์สีขาว ที่มีตัวหนังสือสีเหลือง หรือโปสเตอร์สีขาว ที่มีแต่ตัวหนังสือสีดำแน่นๆ เหมือนเวลาอ่านตำราเรียนที่มีแต่ตัวหนังสือ อารมณ์ประมาณนั้นค่ะ 

Contrast ในโปสเตอร์จะมี 2 ส่วนค่ะ แต่ละส่วนก็มีคำแนะนำเล็กๆ น้อยๆ ของตัวเอง เพื่อให้เราใช้ประโยชน์จาก Contrast ให้ได้เต็มที่

Contrast ระหว่างพื้นหลังของโปสเตอร์กับตัวหนังสือ

สิ่งที่เราต้องทำ คือ เลือกสีตัวหนังสือที่ตัดกับสีพื้นหลังอย่างเด่นชัด ถ้าพื้นหลังเป็นสีอ่อน ให้ใช้ตัวหนังสือสีเข้ม (ที่เข้มมากพอ) และถ้าพื้นหลังเป็นสีเข้ม ให้ใช้ตัวหนังสือสีอ่อน (สีขาวได้รับความนิยมมากสุด)

Contrast เพื่อสร้างความโดดเด่นให้กับ Key Message

เราสามารถใช้ Contrast ได้หลายรูปแบบในการสร้างความโดดเด่นให้กับ Key Message

ใช้ตัวอักษรที่ใหญ่ขึ้นเพื่อเน้น Key Message (วิธีนี้ต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง เพราะอาจทำให้โปสเตอร์ดูไม่เรียบร้อยได้ โดยปกติมักนิยมใช้ตัวอักษรที่ใหญ่ขึ้นสำหรับชื่อเรื่อง และหัวข้อ เพื่อให้ดูแตกต่างจากเนื้อหาอื่นๆ)

ใช้สีที่แตกต่างจากสีหลักเพื่อเน้น Key Message รูปแบบนี้จะได้รับความนิยมมากกว่า แต่ต้องระวังเรื่องความสม่ำเสมอในการใช้สี หากใช้สีไหนเน้นแล้วควรใช้สีนั้นไปตลอด ไม่ควรเปลี่ยนสีไปมา สิ่งที่ควรระวัง คือ อย่าใช้สีที่ตัดกันมากเกินไป เพราะจะทำให้องค์รวมของโปสเตอร์ดูขัดตาได้

#5 รูปและกราฟิก

รูปและกราฟิกช่วยดึงดูสายตาและช่วยอธิบายเนื้อหายากๆ ของเราให้เข้าใจง่ายขึ้น อิงมีคำแนะนำเล็กๆ น้อยๆ ในการจะใช้รูปและกราฟิกในโปสเตอร์ดังนี้ค่ะ

  • เลือกรูปและกราฟิกที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาเท่านั้น อะไรไม่เกี่ยวไม่ต้องใส่ในโปสเตอร์ (อย่าใส่เพียงเพราะไม่อยากให้กระดาษว่าง)
  • เลือกใช้รูปภาพที่มี resolution ที่สูงพอ ไม่แตกเมื่อขยายและพิมพ์ออกมา
  • ห้ามใช้รูปภาพหรือกราฟิกที่ละเมิดลิขสิทธิ์อย่างเด็ดขาด 
  • หากเป็นไปได้ ควรคุมโทนสีของรูปกับสีอื่นๆ ในโปสเตอร์ให้ไปด้วยกัน (ถ้าลำบากเกินไป อาจข้ามข้อนี้ไปได้ค่ะ)
  • ใช้การ Crop รูปภาพ เพื่อเสริมความน่าสนใจให้กับรูปภาพ ไม่จำเป็นต้องใช้รูปเต็ม
  • สีขององค์ประกอบในกราฟควรเป็นสีเดียวกับที่เราใช้ในโปสเตอร์
  • ควรปรับแต่งกราฟให้สื่อสิ่งที่เราต้องการนำเสนอ
  • หลีกเลี่ยงการใช้กราฟแบบ 3D เพราะอ่านค่าได้ยากและอาจให้ความหมายที่ผิดไป (อ่านรายละเอียดในโพสต์นี้)

คำถามชวนคิด

หากคุณจะปรับปรุงโปสเตอร์นำเสนอของคุณ คุณจะทำอะไรบ้าง?

Ing

วิศวกรสิ่งแวดล้อมที่หันมาทำงานบริหารโครงการ แต่สนใจเรื่องการนำเสนอมาก
จนอยากจะแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้มาตลอดหลายปี (ไม่กล้าบอกปี เดี๋ยวรู้อายุ) ให้กับผู้อ่านที่น่ารักทุกคน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked

{"email":"Email address invalid","url":"Website address invalid","required":"Required field missing"}

โพสต์อื่นๆ ที่คุณอาจสนใจ

รีวิวหนังสือ (น่าอ่าน): Storytelling with you
รู้ลึก vs รู้แค่ผิวๆ
5 เรื่องสำคัญ ในการออกแบบโปสเตอร์นำเสนอ