คุณเคยฟังการนำเสนอที่ (ปวดใจ) สุดๆ หรือเปล่าคะ… แบบถ้าย้อนเวลากลับไปได้คงไม่เข้ามาฟังแน่นอน…

การนำเสนอนั้นเป็นแบบไหนคะ?

ฟังแล้วงง ฟังแล้วหลับ ฟังแล้วเหมือนไม่ได้ฟัง…

Jerry Weissman ผู้เขียนหนังสือการนำเสนอขายดีหลายเล่ม ได้สรุปปัญหาสุดปวดใจสำหรับคนฟังการนำเสนอไว้ 5 ข้อ ซึ่งตอนอ่านครั้งแรก เราก็พยักหน้าเห็นด้วยจนเมื่อยคอกันเลยทีเดียว และจากที่ไปฟังการนำเสนอมาบ่อยๆ เลยขอเพิ่มจากที่คุณ Weissman เขียนไว้อีก 1 ข้อ รวมเป็น 6 ข้อ มีอะไรบ้างมาดูกันค่ะ

  • ไม่มีประเด็นที่ชัดเจน (No clear point): การนำเสนอที่ฟังจนจบแล้วก็ไม่รู้ว่าผู้พูดอย่างสื่ออะไร อะไรคือสิ่งสำคัญ
  • คนฟังไม่ได้ประโยชน์อะไร (No audience benefit): มักเกิดขึ้นเมื่อผู้นำเสนอพูดแต่เรื่องที่ตัวเองอยากเล่า (โดยไม่สนใจว่าเราอยากฟัง และเป็นประโยชน์กับเราหรือเปล่า) การนำเสนอแบบนี้เป็นการเสียเวลาที่สุด เพราะสุดท้ายเมื่อการนำเสนอจบลง เราได้แต่พึมพำกับตัวเองว่า ที่ฟังมาฉันได้อะไรเนี่ย?
  • วกวน (No clear flow): ปัญหานี้พบบ่อยมาก เคยมั๊ยคะ นั่งฟังการนำเสนออยู่ พอซักพักนึง ถึงกับงงว่า เฮ้ย… มาถึงจุดนี้ได้ยังไง สาเหตุนึงก็เพราะผู้นำเสนอคิดไม่ขาดค่ะ ก็เลยวนไปวนมา เรียงลำดับได้ไม่ดี
  • ละเอียดเกินไป (Too detailed): ปัญหานี้มักเกิดขึ้นกับผู้นำเสนอที่มีความรู้ในเรื่องที่นำเสนอมาก และไม่ได้วาง scope ของการนำเสนอให้เหมาะกับคนฟัง ทำให้มีแนวโน้มที่จะพูดลงรายละเอียดทางเทคนิคมาก หรือที่แย่กว่านั้น คือ พูดในสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่ต้องการสื่อ ทำให้ประเด็นหลักที่ต้องการนำเสนอถูกบดบังไป
  • ยาวเกินไป (Too long): เรายังไม่เคยได้ยินใครบ่นให้ฟังว่า presentation ที่เขาไปฟังมาสั้นเกินไป น่าจะยาวกว่านี้หน่อย แต่สิ่งที่เราได้ยินบ่อยมาก คือ จะพูด (นำเสนอ) ยาวไปไหน ไม่จบซะที เกินเวลามาตั้งเยอะแล้ว …. ความปวดใจจะเพิ่มมากขึ้น หากการนำเสนอนั้นเป็น session ก่อนกินข้าว และก่อนงานเลิก…
  • ไม่เกี่ยวกันเลย (Irrelevant): เป็นอีกหนึ่งความปวดใจที่พบค่อนข้างบ่อย เมื่อต้องฟังผู้บริหารระดับสูง (ที่ไม่ได้เตรียมเนื้อหาเอง ให้ลูกน้องเตรียมให้) มานำเสนอในสิ่งที่ไม่เกี่ยวกับ theme ของงาน หรือ ไม่เกี่ยวกับผู้ฟังเลย เช่น ผู้ฟังเป็นผู้แทนบริษัทขนาดใหญ่ ผู้นำเสนอกลับพูดถึงแต่การช่วยเหลือ SMEs และวิสาหกิจชุมชน อันนี้เหนือกว่า no audience benefit อีกค่ะ คือ irrelevant at all

และเช่นกันค่ะ ใจเขาใจเรา เราไม่อยากฟังการนำเสนอที่ชวนให้ปวดใจ (และปวดตับ) อย่างที่เล่ามา เราก็ไม่ควรสร้างความปวดใจให้ใครเช่นกัน โดยการออกแบบการนำเสนอของเราให้ดีค่ะ ซึ่งนอกจากเราจะมีความสุขที่ได้ส่งต่อความรู้แล้ว คนฟังเราก็จะมีความสุขเช่นเดียวกันค่ะ…

Ing

วิศวกรสิ่งแวดล้อมที่หันมาทำงานบริหารโครงการ แต่สนใจเรื่องการนำเสนอมาก
จนอยากจะแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้มาตลอดหลายปี (ไม่กล้าบอกปี เดี๋ยวรู้อายุ) ให้กับผู้อ่านที่น่ารักทุกคน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked

{"email":"Email address invalid","url":"Website address invalid","required":"Required field missing"}

โพสต์อื่นๆ ที่คุณอาจสนใจ

รีวิวหนังสือ (น่าอ่าน): Storytelling with you
รู้ลึก vs รู้แค่ผิวๆ
5 เรื่องสำคัญ ในการออกแบบโปสเตอร์นำเสนอ