เวลาที่เราดูกราฟ สมองน้อยๆ ของเราจะพยายามตีความหมายที่ซ่อนอยู่ในกราฟ บางครั้งก็ใช้เวลานานกว่าจะมองออกว่ากราฟบอกอะไร โดยเฉพาะเมื่อชื่อกราฟไม่ได้บอกอะไรมาก เช่น ยอดขายสินค้าของบริษัทในปี 2560 เป็นต้น หากเราเป็นผู้ออกแบบกราฟ เราสามารถช่วยผู้อ่านของเราให้เข้าใจความหมายของกราฟได้ง่ายขึ้นด้วยเวลาที่น้อยลง โดยวิธีนึงที่นิยมใช้กันมาก คือ การใช้สีเพื่อสื่อความในกราฟ

ใน post การใช้สีเพื่อดึงสายตา (https://skilldee.com/2018/color-to-draw-attention/) เราได้เห็นการใช้สีเพื่อสร้างความโดดเด่นมาแล้ว เรามาลองทบทวนกันอีกรอบนึงค่ะ ลองจับเวลาดูนะคะว่า เราใช้เวลาเท่าไรในการนับจำนวนรูปทรงห้าเหลี่ยมในรูป A ด้านล่าง

ใช้ไปกี่วินาทีคะ (โดยส่วนตัวใช้ไป 9 วินาทีค่ะ แยกหกเหลี่ยมกับห้าเหลี่ยมไม่ค่อยออก)

ลองใหม่ค่ะ เราใช้เวลาเท่าไรในการนับจำนวนรูปทรงห้าเหลี่ยมในรูป B ด้านล่าง

ใช้ไปกี่วินาทีคะ สำหรับรูปห้าเหลี่ยมของเราที่มีสีส้มโดดเด่นต่างกันคนอื่น (คราวนี้แค่กวาดตาก็เห็นค่ะ น่าจะน้อยกว่า 1 วินาที)

เราสามารถนำเทคนิคการใช้สีแบบเดียวกับที่ใช้กับรูปทรงห้าเหลี่ยมมาช่วยสื่อความหมายในกราฟให้ชัดเจน เข้าใจง่าย โดยมีสีนำสายตาไปสู่สิ่งที่เราต้องการจะสื่อ มาดูตัวอย่างกันค่ะ

ในรูป C ด้านล่าง กราฟแสดงยอดขายของบริษัท อูมามิ จำกัด ในปี 2560โดยผลิตภัณฑ์ของบริษัทมี 4 ตัว และมียอดขายของบริษัท X และ Y มาเปรียบเทียบให้ดู โดยบริษัท X ขายของที่เหมือนสินค้า B ของเรา และบริษัท Y ขายของที่เหมือนสินค้า C ของเรา ชื่อกราฟนี้ คือ ยอดขายของบริษัท อูมามิ จำกัด ในปี 2560

คำถามค่ะ เราใช้เวลานานแค่ไหนในการดูกราฟ และเราอ่านอะไรได้จากกราฟบ้าง

เนื่องจากชื่อกราฟ คือ ยอดขายของบริษัท อูมามิ จำกัด ในปี 2560 หากไม่มีคนมาพูดให้เราฟังว่าเขาต้องการสื่ออะไร (ระหว่างการนำเสนอ) หรือไม่มีข้อความกำกับว่ากราฟต้องการสื่ออะไร (ระหว่างอ่านรายงาน) เราก็อาจตีความได้มากมาย เช่น สินค้า A ขายดีที่สุด สินค้า C ขายได้น้อยที่สุด บริษัท X ที่ขายสินค้าเหมือนสินค้า B ของเรา ขายได้มากกว่าเรา 3 เท่ากว่าทีเดียว ขณะที่บริษัท Y ที่ขายสินค้าเหมือนสินค้า C ของเรา ขายได้มากกว่าเราเกือบ 4 เท่า

แต่ถ้าหากในการนำเสนอหรือในรายงานนี้เราต้องการเน้นให้เห็นยอดขายของสินค้าB ซึ่งเป็นสินค้าใหม่ที่เพิ่งวางตลาดในปี 2560 เราจะใช้ชื่อกราฟว่า “ยอดขายสินค้า B ของบริษัท อูมามิ จำกัด ในปี 2560”พร้อมทั้งเปลี่ยนสีกราฟแท่งของสินค้า B เป็นสีส้ม เพื่อดึงสายตาของผู้อ่าน (ตัวอย่างในรูป D)

และถ้าเราต้องการเปรียบเทียบว่าถึงแม้เป็นสินค้าใหม่ที่เพิ่งวางตลาดในปี2560 แต่สินค้า B สามารถสร้างยอดขายได้ถึง 1 ใน 3 ของบริษัท X ที่เป็นผู้นำตลาดของสินค้าประเภทเดียวกันนี้ เราจะใช้ชื่อกราฟว่า “ยอดขายสินค้าBของบริษัท อูมามิ จำกัด ในปี 2560 เท่ากับ 1 ใน 3 ของยอดขายสินค้าที่เหมือนกันของบริษัท X ที่เป็นผู้นำตลาด” พร้อมทั้งเปลี่ยนสีกราฟแท่งของสินค้า B และ บริษัท X เป็นสีส้ม เพื่อดึงสายตาของผู้อ่าน (ตัวอย่างในรูป E)

Ahhh…. ชีวิตง่ายขึ้นทันทีค่ะ

เทคนิคนี้ยังใช้ได้ดีกับการนำเสนอด้วยนะคะ เอาไปใช้แล้วผู้อ่าน/ผู้ฟังจะรักเราขึ้นอีกเยอะเลยค่ะ

Ing

วิศวกรสิ่งแวดล้อมที่หันมาทำงานบริหารโครงการ แต่สนใจเรื่องการนำเสนอมาก
จนอยากจะแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้มาตลอดหลายปี (ไม่กล้าบอกปี เดี๋ยวรู้อายุ) ให้กับผู้อ่านที่น่ารักทุกคน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked

{"email":"Email address invalid","url":"Website address invalid","required":"Required field missing"}

โพสต์อื่นๆ ที่คุณอาจสนใจ

รีวิวหนังสือ (น่าอ่าน): Storytelling with you
รู้ลึก vs รู้แค่ผิวๆ
5 เรื่องสำคัญ ในการออกแบบโปสเตอร์นำเสนอ