โพสต์ที่แล้วพูดถึงการใช้รูปไปแล้ว อีกเรื่องนึงที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ การใช้สีค่ะ 

เรื่องสีเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สามารถแตกต่างกันราวฟ้ากับเหวได้ ผู้นำเสนอบางคนไม่เคยเลือกสี โปรแกรม Powerpoint ให้ค่า default มาแบบไหนก็ใช้ไปแบบนั้น ขณะที่ผู้นำเสนอบางคนแสนจะพิถีพิถันในการเลือกชุดสีที่เอามาใช้ในการนำเสนอ 

ถึงเราอาจจะไม่พิถีพิถันมากในการเลือกสีหรือจะใช้แต่สี default (แต่แนะนำให้หาชุดสีประจำตัวไว้ใช้จะดีกว่านะคะ) เราก็ต้องระวังในการใช้สีสำหรับสไลด์ของเราค่ะ 

ต้องระวังอะไรกันบ้าง มาดูรายละเอียดกันค่ะ

More...

#1 ใช้สีมากเกินไป แย่งกันเด่น

สิ่งหนึ่งที่อิงเจอประจำ คือ ผู้นำเสนอใช้สีมากเกินไปในหนึ่งสไลด์ ทำให้เกือบทุกองค์ประกอบของสไลด์วิ่งมาเตะตาผู้ฟังอย่างจัง จนไม่รู้ว่าจะ focus ตรงไหนดี 

ตัวอย่างในรูป A ในสไลด์หมายเลข 1 มีกล่องข้อความหลากสีทั้งหมด 6 สี โดยมีกล่องที่สีเหมือนกัน 2 ชุด คือ ชุดกล่องสีน้ำตาล กับกล่องสีเนื้อ แต่เมื่อลองอ่านดูก็ไม่พบว่ามีความเหมือนหรือแบ่งเป็นหมวดหมู่เดียวกันแต่อย่างไร ในกรณีนี้นอกจากสีแย่งกันเด่นแล้ว ยังเป็นการให้สีโดยไม่มีความหมายพิเศษ ถึงจะสีเหมือนกันก็ไม่ได้มีความสัมพันธ์อะไรกัน สำหรับในสไลด์หมายเลข 2 มีการใช้สี 5 สี สำหรับเนื้อหา 5 กลุ่ม ถึงแม้จะดูชัดเจนดี แต่เมื่อสีวางอยู่ด้วยกันมากเกินไป ทำให้ทุกอย่างมันวิ่งมาเตะตาผู้ฟังมากเกินไป ผู้นำเสนออาจเลือกใช้สีตัวอักษรที่แตกต่างกัน หรือใช้สีที่อ่อนลง (จะได้สบายตาขึ้น) หรือจะใช้สีเฉพาะแถวแรกเป็นการแบ่งหมวดหมู่ก็ได้

แนวทางการปรับปรุง: เลือกสีสำหรับตัวอักษร 1 สี เลือกสีสำหรับเน้นความสำคัญ 1-2 สี (อย่าใช้ทุกสีที่ PowerPoint มีให้เลือก) หากมีการใช้แผนภาพ อย่าใช้สีขององค์ประกอบต่างๆ ในแผนภาพให้หลากหลายเกินไป หรือหากจำเป็นจริงๆ ควรพิจารณาใช้สีที่อ่อนจะได้สบายตาขึ้น 

#2 สีพื้นกับสีตัวอักษรกลืนกันเกินไป

ปัญหานี้มักเกิดกับตัวอักษรที่วางอยู่บนรูปหรือบน Text Box หรือใน Smart Art

ตัวอย่างในรูป B การใช้รูปเป็นพื้นหลัง (โดยเฉพาะรูปที่มีหลากสี) อาจทำให้ตัวอักษรของเรามองไม่ออกในบางช่วงที่สีตัวอักษรและสีพื้นใกล้กันมาก (สไลด์หมายเลข 1) สำหรับสไลด์หมายเลข 2 สีขาวของตัวอักษรกับสีฟ้าอ่อนของ Text Box ดูกลืนกันเกินไป ทำให้อ่านไม่ออกว่าคือคำว่าอะไร (วันที่เห็นด้วยตาก็ไม่ได้ชัดกว่ารูปที่ถ่ายมาเท่าไรค่ะ อ่านไม่ออกเหมือนกัน) 

แนวทางการปรับปรุง: หากตัวอักษรสีใกล้กับสีของรูปอาจพิจารณาเปลี่ยนสีตัวอักษรหรือสีพื้นหลังของ Text Box เพื่อให้ตัวอักษรเด่นขึ้นมา หากสีตัวอักษรใกล้กับสีของ Text Box หรือ Smart Art ให้พิจารณาเปลี่ยนสีของตัวอักษร (มักเกิดบ่อยกรณีที่เลือกสีและ effect แบบ default ที่โปรแกรมมีมาให้)

#3 การสื่อความหมายด้วยสีแตกต่างกันไปในแต่ละสไลด์

การใช้สีควรมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน เช่น ใช้แบ่งกลุ่มเนื้อหา และใช้เน้นเนื้อหาที่สำคัญ และเมื่อเลือกสีใดสีหนึ่งสำหรับสื่อความใดๆ แล้ว ควรคงรูปแบบนั้นไว้ทั้งการนำเสนอ แต่ในบางครั้งผู้นำเสนอเองก็สร้างความสับสนให้กับผู้ฟัง โดยใช้สีกับการสื่อความของสีเปลี่ยนไปตลอดการนำเสนอ 

ตัวอย่างในรูป C เมื่อผู้ฟังเห็นสีฟ้าครั้งแรกจะเข้าใจว่าสีฟ้า คือ ส่วนของ Capacity Building ขณะที่สีม่วง คือ ส่วนของการสร้างความตระหนัก (สไลด์หมายเลข 1) ซึ่งในสไลด์ถัดมา (สไลด์หมายเลข 2) ก็ยังคงดูเป็นอย่างนั้นอยู่ เมื่อสีฟ้าถูกใช้สำหรับ Capacity Building แต่พอในสไลด์ต่อไป (สไลด์หมายเลข 3) สีฟ้า ถูกใช้สำหรับหัวข้อ (อื่น ที่ไม่ใช่ Capacity Building) ขณะที่สีม่วงเป็นสีที่ใช้กับตัวเนื้อหาของสไลด์ (แต่ไม่เกี่ยวกับการสร้างความตระหนัก) พอในสไลด์สุดท้าย (สไลด์หมายเลข 4) กลายเป็นสีฟ้าถูกใช้สำหรับเนื้อหาทั่วไป ขณะที่สีม่วงถูกใช้สรุปใจความ 

โปรดระวังการใช้สีตัวอักษรมากกว่า 1 สีใน 1 หน้าสไลด์ เพราะผู้ฟังจะ assign ความหมายให้กับสีตามที่เห็น และอาจยังยึดติดกับสิ่งที่ตัวเองคิดอยู่ 

แนวทางการปรับปรุง: คงการสื่อความกับสีที่ใช้ให้สม่ำเสมอตลอดการนำเสนอ

คำถามชวนคิด

การนำเสนอที่คุณกำลังเตรียมอยู่ ใช้สีทั้งหมดกี่สี

Ing

วิศวกรสิ่งแวดล้อมที่หันมาทำงานบริหารโครงการ แต่สนใจเรื่องการนำเสนอมาก
จนอยากจะแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้มาตลอดหลายปี (ไม่กล้าบอกปี เดี๋ยวรู้อายุ) ให้กับผู้อ่านที่น่ารักทุกคน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked

{"email":"Email address invalid","url":"Website address invalid","required":"Required field missing"}

โพสต์อื่นๆ ที่คุณอาจสนใจ

รีวิวหนังสือ (น่าอ่าน): Storytelling with you
รู้ลึก vs รู้แค่ผิวๆ
5 เรื่องสำคัญ ในการออกแบบโปสเตอร์นำเสนอ