อิงซื้อเล่มนี้มาตั้งแต่งานสัปดาห์หนังสือปีที่แล้ว แต่ไม่ได้อ่านสักที
มีน้องๆ หลายคน ถามว่าดีมั๊ยพี่ เลยบอกไปว่าไว้อ่านแล้วจะมารีวิวให้ดูนะจ๊ะ…
วันหยุดที่ผ่านมาได้ฤกษ์หยิบมาอ่าน
อือม… ไม่เหมือนอย่างที่คิดแฮะ…
มาขยายความไปทีละข้อกันค่ะ
ชื่อหนังสือ
เทคนิคทำสไลด์ นำเสนออะไรก็ผ่านใน 3 นาที เนื่องจากอ่านภาษาญี่ปุ่นไม่ออก เลยไม่รู้ว่าถอดชื่อมาจากต้นฉบับตรงๆ เลยหรือเปล่า? แต่สำนักพิมพ์ We Learn เก่งเรื่องการตั้งชื่อไทยอยู่แล้ว แบบว่า ปังทุกเล่ม เห็นแล้วมันโดน เงินในกระเป๋ามันอยากจะโบยบิน
แอบสปอยล์ค่ะ ชื่อหนังสือตั้งได้ดีมาก เพราะเนื้อหาทั้งเล่มพูดแต่เรื่องนี้จริงๆ ทำยังไงถึงจะนำเสนออะไรก็ได้ให้ผ่านใน 3 นาที
เกี่ยวกับผู้แต่ง
มะเอะดะ คะมะริ เริ่มต้นชีวิตการทำงานตามแบบ Salaryman ทั่วไปในญี่ปุ่น เมื่อต้องนำเสนองานให้ผู้บริหารตัดสินใจ ระยะแรกก็มักไม่ผ่าน โดนให้กลับมาทำใหม่ เขาจึงพัฒนาเทคนิคการนำเสนองานขึ้นมา จนได้รางวัลอันดับ 1 จากการแข่งขันนำเสนองานของซอฟต์แบงค์อะคาเดเมียรุ่นที่ 1 ต่อมาแกสอนเทคนิคการนำเสนอให้กับคนอื่นๆ ในแผนก แล้วเลยกลายเป็นวิทยากรสอนการนำเสนอประจำบริษัทไปด้วย
ปัจจุบันแกเป็นวิทยากรอิสระเปิดคอร์สฝึกอบรมเทคนิคการนำเสอนให้กับหน่วยงานต่างๆ ในญี่ปุ่น
การรู้จักว่าผู้แต่งมีประสบการณ์อะไรมาบ้าง จะช่วยให้เราเข้าใจเนื้อหาที่แกเขียนและวิธีคิดที่แกสื่อออกมาได้ดีขึ้นค่ะ
หนังสือเขียนเกี่ยวกับอะไรบ้าง
หนังสือประกอบด้วย บทนำ บทต่างๆ 6 บท และบทส่งท้าย
มาดูแต่ละบทกันค่ะ
บทนำ
เขาว่ากันว่า บทนำที่ดีจะเป็นการปูพื้นว่าในเนื้อหาจริงเราจะเจออะไรบ้าง ผู้เขียนเขียนบทนำได้ดีมากค่ะ
เริ่มจากเล่าถึงความสำคัญของการนำเสนอ (ให้ผ่าน) แล้วทำไมถึงต้องเป็น 3-5 นาที ทำไมถึงนานกว่านั้นไม่ได้ ตัวอย่างในอดีตที่เขาใช้เทคนิคนี้และได้รับการตอบรับอย่างดี (สร้างความน่าเชื่อถือ ให้เราอยากเอาเทคนิคนี้ไปใช้ตาม) การกำหนดบริบทการนำเทคนิคนี้ไปใช้ (เฉพาะการนำเสนองานในบริษัทเพื่อขออนุมัติโครงการ ไม่ใช่การพูดแบบ TED Talk) และการอธิบายภาพรวมของเทคนิคที่ใช้ (การจำกัดเนื้อหาที่นำเสนอให้เหลือเพียง 5-9 สไลด์)
บทที่ 1 เอกสารที่ใช้นำเสนอต้อง “เข้าใจง่ายและเป็นเหตุเป็นผล”
ในบทนำผู้เขียนได้กำหนดบริบทของสไลด์แล้วว่า สำหรับการนำเสนอภายในบริษัทเท่านั้น ดังนั้นเมื่อเราอ่านคำแนะนำต่างๆ ในหนังสือเล่มนี้ ต้องอย่าลืมคิดถึงบริบทนี้ด้วย ยกตัวอย่างเช่น ในบทที่ 1 ผู้เขียนแนะนำว่าเนื้อหาหลักในการนำเสนอไม่ควรเกิน 5-9 หน้า และในบทที่ 2 ที่พูดถึงเนื้อหาหลักว่ามีเพียง “รายงานสภาพปัจจุบัน” และ “ข้อเสนอแนะ” เป็นต้น คำแนะนำเหล่านี้อาจไม่เข้ากับสถานการณ์อื่นๆ ของเรา เช่น การรายงานความก้าวหน้า ที่อาจต้องมีรายละเอียดมากกว่านี้
อย่างไรก็ตามคำแนะนำในบทที่ 1 มีประโยชน์ในการเรียบเรียงเนื้อหาให้กระชับและสามารถนำมาประยุกต์เป็นส่วนหนึ่งของการนำเสนอตามปกติของเราได้
บทที่ 2 เอกสารนำเสนอที่ผู้อนุมัติ “ดูแล้วเข้าใจได้ทันที”
ในบทที่ 2 ผู้เขียนพูดถึงองค์ประกอบของสไลด์ในแง่ของการออกแบบ เช่น ขนาดฟอนต์ และขนาดของสไลด์ เป็นต้น
โดยส่วนตัว อิงไม่เห็นด้วยในบางคำแนะนำ เช่น ควรใช้สไลด์ขนาด 4:3 เท่านั้น การนำเสนอในปัจจุบันขนาดสไลด์ 16:9 ได้รับความนิยมมากขึ้น และแม้กระทั่งในบริษัทเอง จอที่ใช้ในห้องประชุมก็อาจไม่ใช่เครื่อง Projector แต่เป็นทีวีจอแบน ซึ่งขนาด 16:9 จะเต็มจอและใช้ประโยชน์จากพื้นที่จอได้ดีกว่า
นอกจากนี้ในเรื่องขนาดของ Font ที่ 100 หรือ 200 (ผู้เขียนแนะนำว่า 200 จะดีกว่า) ไม่แน่ใจว่าขนาดตัวอักษรญี่ปุ่นกับไทยกับภาษาอังกฤษมันต่างกันมากมั๊ย เพราะ Font ใหญ่ขนาดนั้น เหมือนการตะโกนใส่หน้าผู้ฟังซะมากกว่า
โดยสรุปเนื้อหาในบทนี้ เอาไปประยุกต์ใช้ได้แค่บางส่วน
บทที่ 3 สร้างกราฟให้เข้าใจได้ทันที
เนื้อหาในบทนี้น่าสนใจและมีประโยชน์มาก เพราะไม่ค่อยมีใครเขียนถึงการนำเสนอด้วยกราฟกันซะเท่าไร เทคนิคเรื่องการวางกราฟไว้ด้านซ้ายและข้อความสำคัญอยู่ด้านขวา พอมีรูปเปรียบเทียบให้เห็นอิงถึงกับพยักหน้าว่าจริงๆ ด้วย
หากมีหนังสือในมือ ลองค่อยๆ อ่านบทนี้ เอาไปใช้ได้เยอะเลย
แต่ก็มีที่ไม่เห็นด้วยอยู่บ้างค่ะ คือ เรื่องของกราฟแท่งแนวนอนที่ผู้เขียนไม่แนะนำให้ใช้ (ยกเว้นแสดงผลการสำรวจ) ด้วยเหตุผลว่าผู้บริหารจะคุ้นชินกับกราฟแท่งแนวตั้งมากกว่า อันนี้คิดว่าไม่น่าใช่ประเด็น
บทที่ 4 เพียงแค่ใช้ “รูป” ก็ช่วยให้ผู้อนุมัติเข้าใจได้ง่ายขึ้น
ผู้เขียนแนะนำการเลือกหารูปจาก internet โดยใช้ Google Search เพื่อนำมาใช้ในการนำเสนอ แต่อย่าลืมว่าการหารูปจาก Google นั้นจะแสดงทั้งรูปที่มีลิขสิทธิ์และไม่มี ต้องระวังในการนำมาใช้ค่ะ
อิงแนะนำว่าหารูปจากเว็บไซต์อย่าง unsplash ดีกว่าค่ะ รูปภาพคุณภาพสูง และมีข้อแนะนำบอกชัดเจน เช่น สามารถนำไปใช้ได้โดยไม่ต้องแจ้ง แต่ให้ระบุข้อความอะไรบ้าง (ส่วนใหญ่เป็นชื่อเจ้าของรูป) เป็นต้น
บทที่ 5 ขัดเกลาเอกสารให้ “โน้มน้าวใจได้” ร้อยเปอร์เซ็นต์
อิงชอบบทนี้ที่สุดค่ะ ได้ความรู้ใหม่ๆ นำไปใช้กับงานนำเสนออื่นๆ ได้ด้วย ทั้งในส่วนของการเตรียมสไลด์เพื่อเป็นภาคผนวก (สไลด์ที่ใช้ขยายความเนื้อหาหลัก ข้อมูลดิบ ข้อมูลเพิ่มเติม รวมถึงสไลด์ที่เตรียมสำหรับตอบคำถามที่เราคาดการณ์ว่าจะมีคนถามด้วย) และการตรวจสอบสไลด์ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่มักถูกละเลยค่ะ
บทที่ 6 เวลานำเสนอ ให้พูดไปตามเอกสารก็พอ
ชื่อบทดูน่าตกใจ เหมือนกับให้เราไม่ต้องเตรียมตัวแค่พูดตามเอกสาร แต่ที่จริงแล้วผู้เขียนแนะนำให้เราซ้อมซัก 20 รอบเป็นอย่างน้อยค่ะ (พอเป็นไปได้สำหรับงานนำเสนอ 3 นาที)
คำแนะนำที่น่านำไปใช้อีกข้อ คือ เวลานำเสนอให้มองตาซ้ายของผู้อนุมัติโครงการ (เหตุผล คือ บางคนเขินที่ต้องมองเต็มๆ เลยให้มองตาซ้ายก็พอ) เทคนิคนี้น่าเอาไปลองใช้มาก
บทส่งท้ายชื่อบท ทำงานด้วย “ความมุ่งมั่น” เพื่อบริษัท
ช่างเป็นชื่อบทส่งท้ายที่มีความเป็นญี่ปุ่นสูงมาก เนื้อหาในบทนั้นผู้เขียนเน้นว่าบริบทและวัฒนธรรมองค์กรของแต่ละบริษัทแตกต่างกัน แต่เทคนิคในหนังสือนั้นก็สามารถที่จะนำไปปรับใช้ได้ แน่นอนค่ะ เป้าหมายสุดท้าย คือ “เพื่อบริษัท” ค่ะ
ข้อคิดเห็นของฉัน
อย่างที่บอกค่ะ ว่าตอนซื้อมีความคาดหวังแบบนึง แต่พออ่านก็ให้ความรู้สึกอีกแบบนึง หากเราไม่ได้ทำงานบริษัทและงานที่นำเสนอไม่ได้ต้องการการตัดสินใจอนุมัติอย่างรวดเร็วตามบริบทในหนังสือ เนื้อหาในเล่มอาจนำไปประยุกต์ใช้ได้ซัก 50-60%
เนื้อหาในเล่ม ไม่ได้สอนการออกแบบสไลด์อย่างจริงจังนัก เช่น การเลือกสี การเลือกตัวอักษร และการวางองค์ประกอบ เป็นต้น ดังนั้นหากคาดหวังเนื้อหาแบบนี้ อาจต้องมองหาหนังสือเล่มอื่นค่ะ
แต่ถ้าอยากเรียนรู้การนำเสนองานในบริษัทญี่ปุ่น เพื่อเอามาปรับใช้กับงานในบริษัทของเรา และอยากเรียนรู้เทคนิคการออกแบบสไลด์แบบไม่ต้องรู้ละเอียดมาก หนังสือเล่มนี้น่าซื้อมาอ่านค่ะ
ส่วนที่อิงชอบ คือ เทคนิคบางข้อที่ผู้เขียนแนะนำ ไม่เคยได้ยินมาก่อน (เช่น การมองตาซ้าย) อ่านแล้ว ถือว่ามีประโยชน์ เพิ่มพูนความรู้
ดังนั้น ก่อนซื้อมาอ่านถามตัวเองก่อนค่ะ ว่าเราต้องการรู้อะไร? จะได้ไม่ผิดหวังค่ะ