“เป็นเรื่องน่ายินดีที่โครงการของเราได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย”
เสียงเรียบๆ จากผู้นำเสนอบอกเล่าถึงข่าวดีของโครงการ…
เมื่อเหลือบไปมองหน้าเขา…
‘ไหนบอกว่าเรื่องน่ายินดีไง ทำไมหน้านิ่งซะขนาดนั้น’ เสียงเราเองที่แอบคิดดังไปหน่อย…
จากที่อิงไปนั่งฟังการนำเสนอทั้งงานโครงการและงานวิจัย บ่อยครั้งที่พบว่า ผู้นำเสนอหน้านิ่งกันเหลือเกิน (อย่างที่แอบเล่าให้ฟังข้างบน) คือ ไม่ว่าจะเล่าข่าวดีหรือข่าวร้าย หน้าก็ไม่ยินดียินร้ายทั้งนั้น
พอเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา นั่งอ่านนู่นอ่านนี่ไปเจอบทความเรื่อง “Facial Expressions Matter When Presenting, Here’s Why” ในเว็บไซต์ duarte.com ของ Nancy Duarte ผู้เขียนหนังสือ Slide:ology ที่เคยรีวิวไว้ พออ่านจบตั้งใจไว้เลยว่าเรื่องนี้ต้องขยาย…
สิ่งที่น่าสนใจในบทความมีอยู่ 5 เรื่อง
- หน้านิ่งๆ ก็เหมือนเสียงโมโนโทน ขณะที่การแสดงออกทางสีหน้าจะช่วยเพิ่มสีสันให้กับการนำเสนอของเราและมีส่วนช่วยให้ผู้ฟังคล้อยตามสิ่งที่เราพูดได้มากขึ้น
- หน้าตาต้องไปด้วยกันกับเนื้อหา ไม่ใช่เล่าเรื่องเศร้าแต่ยิ้มจนถึงหู
- ถึงจะนำเสนอเรื่องงานที่แสนซีเรียส ก็ไม่ต้องทำหน้าบึ้ง ยิ้มบ้างก็ได้
- สังเกตผู้ฟังบ้าง ว่าเขาทำหน้าอย่างไร
- ลองซ้อมหน้ากระจก จะได้เห็นว่าตัวเองทำหน้าตาอย่างไร
ซึ่ง… จริงทุกข้อค่ะ คำแนะนำสั้นๆ แต่เอาไปใช้ได้เลย
จากประสบการณ์ที่ผ่านมา อิงว่ามีประเด็นนึงค่ะที่ต้องระวังเวลา “ใช้ใบหน้า” เป็นองค์ประกอบในการนำเสนอ
นั่นคือ “ต้องเล่นใหญ่แค่ไหน” หรือแปลเป็นภาษาทางการ คือ “กาละเทศะ” นั่นเอง มาดูทีละหน้ากันค่ะ
หน้ายิ้ม
- ยิ้มบางๆ หรืออมยิ้มน้อยๆ ควรเป็นหน้าปกติที่เราใช้ในการนำเสนอ (ยกเว้นตอนพูดเรื่องเศร้า เรื่องไม่ดี เรื่องร้าย)
- ยิ้มมากขึ้น เวลาเล่าเรื่องดีๆ
- ยิ้มแฉ่ง ตาหยี เวลาแสดงความชื่นชอบสุดขั้ว ดีใจสุดขีด (ไม่ควรทำบ่อย) มีได้บ้าง ครั้งสองครั้งจะแสดงถึง passion ของเรา ส่งต่อไปยังคนฟัง แต่มากกว่านั้นจะดูไม่งาม
หัวเราะ
- หัวเราะเล็กน้อย อาจมีได้บ้างขึ้นกับเนื้อหา
- หัวเราะเสียงดัง อาจเหมาะสมแค่บางกรณี แต่ส่วนใหญ่จะดูไม่ถูกกาละเทศะ
หน้าเศร้า
- เศร้าน้อย เศร้ามาก ขึ้นอยู่กับเนื้อหา แต่ไม่ควรเศร้ามากให้บ่อยเกินไป
ร้องไห้
อาจมีกรณีที่ถือเป็นความเหมาะสม แต่สำหรับงานวิจัยหรืองานโครงการยังนึกไม่ออก
หน้าตกใจ
- ตกใจเล็กน้อย ใช้เป็นท่าทางประกอบได้ตามความเหมาะสม
- ตกใจสุดขีด ต้องดูเนื้อหาด้วย อาจมีกรณีที่เหมาะสมแต่คงน้อยมาก
หน้าประหลาดใจ
- ประหลาดใจเล็กน้อย (อ้าปากนิดหน่อย) ใช้เป็นท่าทางประกอบได้ตามความเหมาะสม
- ประหลาดใจสุดขีด (jaw drop – อ้าปากกว้างมาก) ต้องดูเนื้อหาด้วย อาจมีกรณีที่เหมาะสมแต่คงน้อยมาก
สิ่ง (หน้า) ที่ไม่ควรทำ
- ทำหน้านิ่งหรือหน้าบึ้งตลอดเวลา
- หัวเราะตลอดเวลาหรือพูดไปหัวเราะไป
- หน้าตากับเนื้อหาไม่เข้ากัน
- เล่นใหญ่เว่อร์ (รัชดาลัยเธียร์เตอร์) ตามเนื้อเรื่องแล้วควรยิ้มบางๆ แต่ยิ้มจริงถึงหูไปแล้ว หรือเรื่องมันศร้านิดหน่อย แต่เศร้าจริงให้คนฟังเห็นชนิดน้ำหูน้ำตาร่วง แบบนี้จะดูเหมือนเล่นละครค่ะ ไม่ใช่การนำเสนอ
สรุปง่ายๆ ค่ะ ‘สีหน้า’ ของเราก็เป็นอาวุธชั้นดีในการนำเสนอได้เหมือนกัน
คำถามชวนคิด
คนน้อยกับคนเยอะ ห้องเล็กกับห้องใหญ่ ส่งผลอย่างไรกับการแสดงออกทางสีหน้าของเรา