คุณว่าอะไรเป็นการนำเสนอที่ได้ผลลัพธ์ต่ำสุด?
ก. อ่านสไลด์ให้คนฟังฟัง
ข. ใช้สไลด์ที่เต็มไปด้วยตัวหนังสือ
ค. พูดนำเสนอด้วยเสียงโมโนโทน
ง. นำเสนอด้วยความไม่มั่นใจ
คุณคิดว่าข้อไหนคะ?
มาลองคิดไปด้วยกันค่ะ...
More...
วิเคราะห์สถานการณ์ว่าแบบไหนแย่กว่ากัน
ในความเห็นของอิง ทุกข้อที่ว่ามาเป็นการนำเสนอที่ไม่ดีค่ะ แต่ถ้าพูดถึงการนำเสนอที่ได้ผลลัพธ์ต่ำสุด... อือม...ข้อไหนนะ... มาดูกันทีละข้อค่ะ
ก. โดยปกติแล้ว หากเราต้องอ่านสไลด์หูเราจะดับ หรือถ้าเราฟังผู้นำเสนอพูด เราจะไม่มีสมาธิมากพอที่จะอ่านอะไรยาวๆ ดังนั้นเมื่อเราเจอสไลด์ยาวๆ แล้วคนนำเสนออ่านให้ฟัง เราจะเลือทำอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ อ่าน หรือ ฟัง ถึงจะน่าเบื่อ แต่อย่างน้อยเรายังพอรับเนื้อหาได้จากทางใดทางหนึ่ง
ข. สไลด์ที่เต็มไปด้วยตัวหนังสือ มักจะเชิญชวนให้เราอ่านค่ะ ดังนั้นเรามักจะอ่านโดยไม่ฟังผู้นำเสนอ ซึ่งอย่างน้อยเราก็ยังพอรู้เรื่องบ้างว่าสไลด์ต้องการสื่ออะไร
ค. เมื่อเราเจอเสียงโมโนโทน มีแนวโน้มว่าเราจะสติหลุดเป็นช่วงๆ แต่ถึงจะน่าเบื่อและน่าหลับ แต่เราก็ยังพอรับเนื้อหาได้บางส่วน
ง. นำเสนอด้วยความไม่มั่นใจ ถึงแม้ว่าสไลด์จะดี ผู้ฟังเข้าใจเนื้อหา (สมมุติว่าเข้าใจ) แต่... ถ้าผู้ฟังรู้สึกถึงความไม่มั่นใจ เช่น การใช้คำที่แสดงความไม่มั่นใจ (อาจจะ คิดว่า น่าจะ เป็นต้น) หรือการใช้น้ำเสียงที่ดูไม่มั่นใจ (พูดติดๆ ขัดๆ) หรือทำท่าลับๆ ล่อๆ (เช่น พูดแบบหลบหน้าหลบตา หรือแสดงความไม่มั่นใจออกมาทางใบหน้า เป็นต้น) ถึงผู้ฟังจะได้รับเนื้อหาไป แต่มันเกิดความลังเลใจว่าที่เขาพูดมานั้นใช่หรือเปล่า เพราะขนาดผู้นำเสนอยังไม่มั่นใจในเนื้อหาที่สื่อออกมาเลย ถ้าคุณเป็นคนฟัง คุณจะเชื่อเขาหรือเปล่า
ในความเห็นของอิงการนำเสนอด้วยความไม่มั่นใจทำลายความน่าเชื่อถือของเนื้อหาอย่างมาก ถึงคนฟังจะได้รับฟัง แต่ถ้าเขาคิดแล้วว่ามันไม่น่าเชื่อถือ ก็เหมือนไม่ได้ฟังค่ะ
นำเสนอด้วยความมั่นใจ
แล้วถ้าจะนำเสนอด้วยความมั่นใจต้องทำอย่างไร?
จากประสบการณ์ อิงว่าผู้นำเสนอส่วนใหญ่ค่อนข้างมั่นใจในสิ่งที่นำเสนอ แต่ก็อาจมีองค์ประกอบเล็กๆ ที่อาจทำให้ผู้นำเสนอดูไม่มั่นใจได้ในสายตาของผู้ฟัง (ถึงแม้ที่จริงจะมั่นใจก็ตาม)
ถ้าเราอยากนำเสนอด้วยความมั่นใจ มีข้อควรระวังอยู่ 3 ข้อค่ะ
#1 การใช้คำพูด
ในการนำเสนอ (จะให้ดีควรทำตั้งแต่ตอนซ้อม) ควรกำจัดคำที่แสดงความไม่มั่นใจออกไป ลองมาดูตัวอย่างกันค่ะ
ผมเดาว่าเครื่องจักรน่าจะเข้ามาติดตั้งได้เดือนพฤษภาคม ควรปรับเปลี่ยนเป็น ผมคาดว่าเครื่องจักรจะเข้ามาติดตั้งได้เดือนพฤษภาคม
ผมหวังว่าศูนย์ของเราอาจจะมีประโยชน์กับชุมชนในอนาคตบ้างทางใดก็ทางหนึ่ง ควรปรับเปลี่ยนเป็น ผมมุ่งหวังให้ศูนย์ของเราสร้างประโยชน์ให้กับชุมชนในอนาคต เป็นต้น
(หมายเหตุ: ประโยคตัวอย่างดัดแปลงมาจากสถานการณ์จริง)
จะเห็นว่าคำพูด เช่น เดาว่า น่าจะ อาจจะ คิดว่า หวังว่า เป็นต้น เวลาใช้ต้องดูบริบทและรูปประโยคด้วย เพราะอาจทำให้คำพูดของเราแสดงถึงความไม่มั่นใจ
#2 การใช้น้ำเสียง
บางครั้งไม่ใช่ว่าเราไม่มั่นใจ แต่การใช้เสียงของเรามันพาลให้คิดว่าเราไม่มั่นใจ ในการแสดงความมั่นใจ เราควรพูดเต็มเสียง ชัดถ้อยชัดคำ ไม่มีคำจำพวก เอ่อ อ่า หรือพูดติดๆ ขัดๆ สิ่งเหล่านี้ฝึกได้ค่ะ
#3 การใช้ท่าทาง
ความประหม่า ตื่นเวที ก็ทำให้เราดูไม่มั่นใจได้ค่ะ อยู่บนเวทีเราควรทำตัวสบายๆ (แต่ไม่สบายเกินไป จนไม่มีทรง) จะเดิน จะก้าว ทำให้เป็นธรรมชาติ แค่นี้เราก็จะดูมีความมั่นใจแล้วค่ะ
คำถามชวนคิด
ในการนำเสนอครั้งก่อนๆ ของเรา มีลักษณะที่แสดงความไม่มั่นใจบ้างหรือไม่ แล้วต้องทำอย่างไรเราจึงจะปรับปรุงให้ดูมั่นใจขึ้นได้