เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

อิงไปฟังสัมมนาวิชาการมา 2 งานใกล้ๆ กัน

วิทยากรของสองงานนี้น่าสนใจในแง่ของการนำเสนอไม่แพ้กันเลยค่ะ

งานแรก พ่อหนุ่มไฟแรง มือใหม่สำหรับเวทีใหญ่ บวกหนุ่มวัยกลางคน ที่ดูสุขุมเยือกเย็น

งานที่สอง หนุ่มวัยกลางคน ที่แสนจะมั่นใจ

มาลองให้คะแนนทั้ง 2 งาน ไปพร้อมกันมั๊ยคะ

More...

งานที่ 1 พ่อหนุ่มไฟแรง บวก หนุ่มวัยกลางคนผู้สุขุม

การนำเสนอนี้เป็นแบบ Combo คือ มีผู้นำเสนอ 2 คน

พ่อหนุ่มไฟแรง คุ้นเคยกับงานนำเสนอในทีมเป็นอย่างดี แต่เป็นครั้งแรกบนเวทีใหญ่กับคนหลักร้อย

เนื้อหาที่นำเสนอเป็นแผนที่นำทางในการจัดการซากแผงโซลาร์และแบตตารี่ โดยธรรมชาติของเนื้อหาในลักษณะนี้จะมีความซับซ้อนในตัวพอสมควร ผสมกันทั้งเรื่องเทคนิค ผลการวิเคราะห์ และแนวทางการจัดการในอนาคต

ตัวสไลด์ถือว่าทำได้สะอาดตา (สำหรับเนื้อหาเชิงเทคนิคที่แน่น) การจัดวางรูปและองค์ประกอบอื่นๆ ไม่แน่นจนเกินไป แต่แน่นอนว่ายังสามารถปรับปรุงขึ้นได้อีก

กราฟฟิกต่างๆ ที่ใช้ในสไลด์ค่อนข้างสอดรับกัน 

การนำเสนอก็ทำได้ดีในระดับนึง มีพูดเร็วไปบ้างในบางตอน และดูออกว่าตื่นเวทีเล็กน้อย แต่โดยรวมถือว่าดี 

ถ้าทุกอย่างเหมือนเดิมหมด สิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้ฟังเข้าใจการนำเสนอชุดนี้ได้ดีขึ้น  คือ การใช้ animation ช่วยจัดลำดับแสดงส่วนต่างๆ ของสไลด์ที่ผู้นำเสนอพูดถึง

สำหรับในส่วนที่สองของการนำเสนอนี้ เป็นหนุ่มวัยกลางคนที่ดูสุขุม แต่เจนสนามกว่า (อิงว่าผู้ฟังคนอื่นๆ ก็สามารถสังเกตความแตกต่างได้)

นอกจากนี้อีกสิ่งนึงที่ต่างกัน คือ การใช้ Animation เข้าช่วย ทำให้ผู้ฟังอยู่กับสิ่งที่ผู้นำเสนอพูดถึง ไม่รีบร้อนอ่านทั้งสไลด์ไปก่อน โดยไม่สนใจผู้นำเสนอพูด

งานที่ 2 หนุ่มวัยกลางคนผู้มั่นใจ

เนื้อหาในการนำเสนอเล่าถึงความก้าวหน้าในการดำเนินงานของโครงการว่ามีทำกิจกรรมอะไรไปแล้วบ้าง และต้องทำอะไรต่อบ้าง เนื้อหาไม่ซับซ้อนเท่างานที่ 1 

ถ้าเทียบวิธีการพูดระหว่างผู้นำเสนอในงานที่ 1 กับงานที่ 2 ผู้นำเสนอหนุ่มวัยกลางคนที่แสนจะมั่นใจของงานที่ 2 กินขาดค่ะ ความลื่นไหลในการนำเสนอ การใช้น้ำเสียง แสดงถึงความเก๋าบวกความมั่นใจ และดึงความสนใจผู้ฟังได้ดีมาก

ตัวสไลด์เกือบดีค่ะ แต่ดูออกว่าเอาจากหลายๆ ชุดสไลด์มาปะรวมเข้าด้วยกัน มันมีความไม่เข้ากันอยู่พอสมควร (ถ้าดูเฉพาะสไลด์ งานที่ 1 จะดูดีกว่า)

และที่สำคัญ ผู้นำเสนอไม่ได้ใช้ Animation เลย ทำให้บางครั้งอิงตามไม่ค่อยทันว่าแกพูดถีงตรงส่วนไหนของสไลด์อยู่ และบางครั้งก็มัวแต่อ่านสไลด์เลยพลาดไม่ได้ฟังผู้นำเสนอพูดในบางช่วง

คำถาม

ถ้าเป็นคุณ คุณจะให้คะแนนการนำเสนอในงานที่ 1 หรือ 2 มากกว่ากันคะ?

โดยส่วนตัว อิงชอบวิธีการนำเสนอและลีลาของวิทยากรของงานที่ 2 มากกว่า แต่ถ้าพูดถึงความเข้าใจในเนื้อหา งานที่ 1 ผู้นำเสนอลำดับเนื้อหาและใช้สไลด์ช่วยในการนำเสนอได้ดีกว่า โดยเฉพาะเมื่อใช้ Animation เข้าช่วย

Animation เครื่องมือสำคัญในการควบคุมความสนใจ

ถ้าถามอิงว่าสิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้การนำเสนอทั้ง 2 งานดีขึ้นได้มาก (ยกเว้นการนำเสนอของหนุ่มวัยกลางคนในงานที่ 1) โดยที่ทุกอย่างเหมือนเดิม คือ อะไร 

คำตอบ คือ การใช้ Animation ในการควบคุมความสนใจของผู้ฟัง  

การใช้ Animation ก็เหมือนกับการกำกับหนังว่าตอนไหนภาพควรเป็นอย่างไร อะไรควรปรากฏออกมาเมื่อไหร่

การใช้ Animation อย่างฉลาดจะช่วยให้

  • เผยสิ่งต่างๆ ที่เรานำเสนอออกมาอย่างเป็นลำดับ
  • ดึงความสนใจของผู้ฟังกลับมาที่การนำเสนอ (เอ๊ะ! มีอะไรใหม่บนสไลด์นะ ต้องดูซะหน่อย -> อารมณ์ประมาณนี้ค่ะ)
  • เก็บผู้ฟังไว้กับสิ่งที่ผู้นำเสนอพูด แทนที่จะปล่อยให้ผู้ฟังนั่งอ่านสไลด์

ข้อแนะนำเบื้องต้นในการเลือกและตั้งค่า Animation

แต่การใช้ Animation โดยพร่ำเพรื่อก็อาจสร้างปัญหาและทำให้ผู้ฟังปวดตาและปวดหัวได้ 

หากไม่ได้มีวัตถุประสงค์พิเศษในการใช้ Animation เพียงแต่ต้องการให้องค์ประกอบของสไลด์แสดงขึ้นมาในลำดับที่ต้องการ อิงมีคำแนะนำเบื้องต้นในการเลือกและตั้งค่า Animation ดังนี้ค่ะ

  • เลือกใช้ Animation ที่เรียบง่ายและ ไม่ฉวัดเฉวียน เช่น dissolved in หรือ fade เป็นต้น
  • หากไม่มีเวลาในการปรับแต่ง Animation ควรหลีกเลี่ยงการใช้ Animation ทีมีทิศทาง เช่น wipe หรือ strips เป็นต้น เพราะทิศทางการแสดงองค์ประกอบอาจขัดกับทิศทางปกติที่เราคุ้นชิน เช่น การแสดงตัวอักษรจากด้านล่างขึ้นข้างบน เป็นต้น
  • เลือกว่าจะให้ องค์ประกอบนั้น ปรากฏขึ้นแบบ on click หรือ with previous หรือ after previous โดยปรับแต่งให้สอดคล้องกับลำดับการนำเสนอของเรา
  • หากต้องการลดความสำคัญของสื่งที่เราพูดไปแล้ว สามารถปรับแต่งให้องค์ประกอบนั้น เปลี่ยนสี หรือ หายไป เมื่อแสดง animation นั้นเสร็จ (หรือเมื่อคลิกเมาส์ครั้งต่อไปได้)
  • หากไม่มีวัตถุประสงค์เฉพาะ อย่างใช้เสียงประกอบ

คำถามชวนคิด

การนำเสนอครั้งก่อนๆ ของคุณ ได้ใช้ประโยชน์จาก Animation แล้วหรือยัง?

สำหรับในการนำเสนอครั้งหน้า อย่าลืมใช้ Animation ช่วยให้คุณควบคุมการนำเสนอและความสนใจของผู้ฟังให้มีประสิทธิภาพขึ้น!

Ing

วิศวกรสิ่งแวดล้อมที่หันมาทำงานบริหารโครงการ แต่สนใจเรื่องการนำเสนอมาก
จนอยากจะแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้มาตลอดหลายปี (ไม่กล้าบอกปี เดี๋ยวรู้อายุ) ให้กับผู้อ่านที่น่ารักทุกคน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked

{"email":"Email address invalid","url":"Website address invalid","required":"Required field missing"}

โพสต์อื่นๆ ที่คุณอาจสนใจ

รีวิวหนังสือ (น่าอ่าน): Storytelling with you
รู้ลึก vs รู้แค่ผิวๆ
5 เรื่องสำคัญ ในการออกแบบโปสเตอร์นำเสนอ