สิ่งหนึ่งที่อิงว่ามันสะดุดตามาก...

คือ Font ภาษาไทย และ Font ภาษาอังกฤษ

...ที่จับคู่ผิด ดูแล้วไม่เข้ากันเลย

แต่เชื่อมั๊ยคะว่า... ถึงมันจะสะดุดตาขนาดไหน

... Font ที่ดูไม่เข้ากันเลยนั้น ก็ไม่ได้รับการแก้ไข

มันถูกใช้ในงานนำเสนอ...

ในใบประกาศที่ติดอยู่ในห้องทำงาน 

ในกรณีหลัง เรายังพอปฏิเสธได้ว่าไม่ใช่ฝีมือเรา

แต่ถ้าเป็นงานนำเสนอที่เราพูดพร้อมสไลด์นั้น (ที่ไม่เข้ากัน)

คงปฏิเสธความรับผิดชอบได้ยาก

ว่าแต่... คุณว่าผู้ฟังเห็นแบบนั้นแล้ว...

จะมองเราเป็นมืออาชีพหรือมือใหม่เพิ่งหัดทำ PowerPoint เมื่อวานนี้

More...

การจับคู่ Font ผิด

การจับคู่ Font ผิด มี 2 รูปแบบ คือ

แบบที่ 1 Font สำหรับ Title ต่างจาก Font สำหรับ เนื้อหา

การใช้ Font มากกว่า 1 แบบ คือ ใช้เป็น Title 1 แบบ และใช้เป็นเนื้อหา 1 แบบ การจับคู่แบบนี้ขึ้นกับมุมมองมากกว่าที่จะมีเส้นแบ่งชัดเจนว่าจับคู่ผิด ตัวอย่างที่อิงว่าอาจจะจับคู่ไม่ค่อยเหมาะสมเท่าไหร่ แสดงในรูป A 

จากรูป A จะสังเกตได้ว่า ส่วนของ Title Font เป็น Comic Sans MS ซึ่งเป็น Font ที่ให้ความรู้สึกสบายๆ เล่นๆ ขณะที่ Contents Font เป็น Times New Roman ซึ่งดูเป็นทางการกว่ากันมาก เมื่อจับคู่กันแล้วเลยดูไม่เข้ากัน

แบบที่ 2 Font สำหรับภาษาไทย ต่างจาก Font สำหรับภาษาอังกฤษ

การใช้ Font สำหรับภาษาอังกฤษ ที่ไม่มีตัวภาษาไทย ทำให้ต้องเลือก Font สำหรับภาษาไทยอีก 1 Font มาเข้าคู่กัน ซึ่งถ้าการจับคู่นั้นไม่ผ่านการตรวจสอบความเหมาะสม จะเกิดภาพอย่างในรูป B 

เมื่อมองรูป B เราจะรู้เลยว่าเป็นการจับคู่ที่ผิด ส่วนหนึ่งเพราะภาษาไทยและภาษาอังกฤษมีโอกาสมาวางเคียงกัน ทำให้เกิดการเปรียบเทียบที่ชัดเจนมากกว่าแบบที่ 1 

ในรูป B นั้น ส่วนของ Title ภาษาไทย คือ TH Sarabun New ภาษาอังกฤษ คือ Franklin Gothic ส่วนของเนื้อหา ภาษาไทย คือ Cordia New และภาษาอังกฤษ คือ Calibri จะเห็นว่าตัวภาษาไทยและอังกฤษแตกต่างกันมากทั้งที่ขนาด Font เท่ากัน

ทำไมถึงจับคู่ Font ผิด

จากการวิเคราะห์ สาเหตุหลักน่าจะเกิดจาก

  1. 1
    ค่า Default ของ PowerPoint ที่จับคู่ Font ภาษาอังกฤษที่ไม่มีตัวภาษาไทยให้ คู่กับ Font ภาษาไทยที่ดูแตกต่างกันเกินไป
  2. 2
    ผู้ออกแบบสไลด์เห็นแล้วแต่ไม่แก้ (ไม่สนใจ และ/หรือ ไม่มีเวลา) บางคนอาจเห็นแล้วว่ามันดูไม่ค่อยเข้ากันแต่ไม่แก้ เลยได้สไลด์ที่ดูไม่โปรอย่างรูป B ที่แสดงไว้ข้างต้น
  3. 3
    ผู้ออกแบบไม่ใช้ค่า default เลือก Font เองอย่างตั้งใจ แต่อาจจับคู่ไม่เก่ง เลยไม่เหมาะกัน 
  4. 4
    เมื่อ Copy ไฟล์ไปใช้นำเสนอในเครื่องอื่น แต่เครื่องนั้นไม่มี Font ที่เราเลือกไว้ ทำให้การแสดง Font ต่างๆ เพี้ยนออกไป (แนะนำว่าถ้าใช้ Font ที่ดาวน์โหลดมาจาก internet เวลา Save อย่าลืมฝัง Font ไว้ในไฟล์ด้วยค่ะ อ่านรายละเอียดได้ที่นี่)

แนวทางในการเลือก Font

  1. 1
    หากทำได้ ควรเลือก Font ที่มีทั้งตัวภาษาไทยและอังกฤษใน Font
  2. 2
    หาก Font ภาษาอังกฤษที่เลือก ไม่มีภาษาไทย ให้เลือก Font ภาษาไทยที่มีความหนา ความสูง และระยะห่างของตัวอักษรใกล้เคียงกัน (จะได้ไม่ยุ่งยากในการมานั่งปรับทีละจุด) 

คำเตือน: หากเลือกใช้ Font ภาษาไทยและภาษาอังกฤษคนละ Font กัน ต้องระวังเวลาพิมพ์อักขระที่ทั้ง 2 ภาษามีเหมือนกัน เช่น เครื่องหมายวงเล็บ เป็นต้น (ดูตัวอย่างในรูป B)

คำถามชวนคิด

ในสไลด์ที่คุณออกแบบครั้งที่แล้ว คุณจับคู่ Font ได้เหมาะสมหรือไม่?

หากครั้งหน้า คุณต้องจับคู่ Font เอง เพื่อให้ดูแตกต่าง คุณต้องระวังเรื่องใดบ้าง?

Ing

วิศวกรสิ่งแวดล้อมที่หันมาทำงานบริหารโครงการ แต่สนใจเรื่องการนำเสนอมาก
จนอยากจะแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้มาตลอดหลายปี (ไม่กล้าบอกปี เดี๋ยวรู้อายุ) ให้กับผู้อ่านที่น่ารักทุกคน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked

{"email":"Email address invalid","url":"Website address invalid","required":"Required field missing"}

โพสต์อื่นๆ ที่คุณอาจสนใจ

รีวิวหนังสือ (น่าอ่าน): Storytelling with you
รู้ลึก vs รู้แค่ผิวๆ
5 เรื่องสำคัญ ในการออกแบบโปสเตอร์นำเสนอ