แค่คำโปรยนี้ก็ดึงดูดใจให้อยากหยิบหนังสือเล่มนี้มาอ่านแล้วค่ะ

แถมยังตั้งชื่อหนังสือได้โดนใจมาก...

'วิชาวางแผนการทำงาน สิ่งสำคัญที่ไม่มีใครเคยสอน'

กระแทกใจคนทำงานแบบเต็มๆ 

ลองนึกถึงวันแรกๆ ที่เราเริ่มทำงาน เราคงอยากให้มีใครสักคนจูงมือเราให้ผ่านช่วงมือใหม่เร็วๆ จะได้กลายเป็นมือโปรซะที

ดังนั้น...ไม่พลาดแน่นอนค่ะ

น่าอ่านซะขนาดนี้ ต้องจับมารีวิวซะเลย...

แอบสปอยล์ค่ะ หากไม่เคยทำงาน อาจอ่านแล้วงงค่ะ หนังสืออ่านไม่ง่ายสำหรับคนที่ไม่มีประสบการณ์การทำงาน

More...

เกี่ยวกับผู้เขียน

มานาบุ มิซุโนะ เป็นครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ชื่อดังผู้ออกแบบคุมะมง...

คุณมิซุโนะ ยังมีส่วนร่วมในอีกหลายๆ โปรเจ็กต์และแคมเปญ เช่น Tokyo Midtown เป็นต้น ในหนังสือจึงมีตัวอย่างการคิดงานต่างๆ ที่แกทำสอดแทรกอยู่เป็นระยะ แต่ที่ popular ที่สุด ก็คือ คุมะมง หมีสีดำแก้มแดงสัญลักษณ์ของเมืองคุมาโมโตะที่โด่งดังนั่นเอง 

แล้วในที่สุดเราก็ได้รู้ความลับว่า... คุมะมงถูกออกแบบตอนคุณมิซุโนะยังใส่ชุดนอนอยู่เลย

หนังสือนี้น่าจะเหมาะกับใคร

แน่นอนว่าจากชื่อเรื่องกลุ่มเป้าหมายหลักน่าจะเป็นคนทำงาน ในความเห็นของอิงคนทำงานก็ยังแบ่งเป็นกลุ่มย่อยที่ได้ประโยชน์จากหนังสือเล่มนี้ต่างกัน ดังนี้

  • คนที่ทำงานมานานพอสมควรแต่ยังอยากพัฒนาตัวเองอยู่: อิงว่าคนกลุ่มนี้น่าจะอ่านหนังสือเล่มนี้ได้อย่างเห็นภาพมากที่สุด เพราะสามารถเอาสิ่งต่างๆ ที่ตัวเองเจอมาคิดเปรียบเทียบเพื่อให้เกิดการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้ แต่... ประโยชน์ที่ได้รับจะมากหรือน้อยขึ้นกับว่าจะเอาสิ่งที่เรียนรู้ไปปรับใช้เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพได้หรือไม่ (บางทีไม้แก่ก็ดัดยากค่ะ)
  • คนที่เพิ่งเริ่มทำงานได้ไม่นาน: ถึงแม้ว่าคนกลุ่มนี้อาจจะไม่อินกับหนังสือมากเท่าคนกลุ่มที่ทำงานมานาน แต่ถ้าได้คิดตามและเอาไปปรับใช้ น่าจะเป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์เต็มๆ เลยค่ะ เพราะ อายุงานยังอีกยาวนาน ยังมีโอกาสได้ทดลองสิ่งใหม่ๆ อีกเยอะ (และไม้อ่อนน่าจะดัดได้ง่ายกว่า)
  • คนที่กำลังจะเริ่มทำงาน: ถ้าดูจากชื่อหนังสือคนกลุ่มนี้น่าจะเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก แต่ความเป็นจริง คือ คนกลุ่มนี้ยังขาดประสบการณ์ทำงานจริง การตีความในสิ่งที่คุณมิซุโนะเขียนไว้อาจทำได้ในมุมจำกัด แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ไว้ค่อยมาอ่านซ้ำตอนทำงานไปซักพักก็ได้ค่ะ

หนังสือเขียนเกี่ยวกับอะไรบ้าง

หนังสือเขียนเกี่ยวกับการทำงานแบบเน้นๆ แค่ดูหน้าปกก็รู้แล้วว่าคนทำงานต้องโลดโผนขนาดไหน (อิงชอบคุณคนที่ถือถัง 2 ใบ เหยียบอยู่อีก 2 ใบ ชีวิตจริงของคนที่ต้องจัดลำดับความสำคัญ (prioritize) ของงานเลยค่ะ)

เนื้อหาในหนังสือเป็นการผสมผสานระหว่าง project management, time management และประสบการณ์ของคุณมิซุโนะ โดยมีทั้งหมด 5 บท บวกบทนำและบทส่งท้าย 

บทนำ ทั้งที่เป็นสิ่งสำคัญที่สุด แต่กลับไม่มี "ตำราสอนการวางแผนการทำงาน"

อิงเห็นด้วยกับชื่อบทนะคะ ว่าการวางแผนการทำงานนั้นสำคัญแต่ไม่ค่อยมีใครเขียนหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้เท่าไหร่ 

ว่าแต่การวางแผนการทำงานนั้นคืออะไร

คุณมิซุโนะเปิดขึ้นมาว่า "การวางแผนการทำงาน คือ การทำให้เป็นรูทีน" ซึ่งตรงนี้แกเองมองว่าเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและทำให้ชีวิตของเราสบายขึ้น

ตอนที่อ่านครั้งแรกอาจดูขัดๆ นิดนึง ว่างานของเรามันเป็นรูทีนได้จริงหรอ อิงว่ามันขึ้นกับการหา pattern หรือรูปแบบของงานของเรา ซึ่งเราต้องวิเคราะห์และกำหนดรูทีนที่เหมาะกับงานของเราขึ้นม

บทที่ 1 การวางแผนการทำงานเริ่มต้นจากการกำหนด "จุดหมายปลายทาง"

หากเราทำงานโดยไม่มีภาพของงานที่เสร็จแล้วที่เปรียบเสมือนจุดหมายปลายทางของเรา คงยากที่เราจะทำงานนั้นให้สำเร็จไปได้ พออ่านบทนี้แล้วทำให้อิงนึกถึงคำที่คุณ Stephen R. Covey (นักเขียนชื่อดัง) กล่าวไว้ว่า ภาพความสำเร็จจะเกิดขึ้น 2 ครั้ง ครั้งแรกในใจเรา ครั้งที่สองคือเกิดขึ้นจริง 

อิงชอบตรงที่คุณมิซุโนะบอกให้เราถามตัวเองว่าจุดหมายปลายทางของเรานั้น ใช่แบบนั้นจริงๆ หรอ? ไม่มีวิธีที่ดีกว่านี้หรือ? ช่วยให้เราฉุกคิดก่อนจะลงมือทำจริงได้ดีเลยค่ะ

บทที่ 2 เพื่อการวางแผนการทำงานที่ดีที่สุด จงวาด "แผนที่ไปจนถึงจุดหมายปลายทาง"

ในบทนี้คุณมิซุโนะเน้นย้ำความสำคัญของการทำให้งานของเราเป็นงาน 'รูทีน' รวมถึงวิธีการออกแบบรูทีนของเรา เช่น กำหนดต้นแบบ เพิ่มความยืดหยุ่น ลดตัวเลือกให้น้อยลง เป็นต้น

บทนี้สนุกดีค่ะ แนะนำให้อ่านดีๆ เนื้อหาผสมทั้งในส่วนของการบริหารโครงการและเทคนิคการทำงาน เช่น การหาข้อมูลให้มากพอ เพื่อให้เราพร้อมสำหรับการทำงาน เป็นต้น

แต่อิงไม่ค่อยเห็นด้วยอยู่ตรงนึง ที่แกบอกว่า ห้ามตั้งเป้าหมายว่าต้องทำให้ได้ 'สุดยอด' อิงว่าถ้าเราไม่ตั้งเป้าหมายให้สูงเราก็จะป้อกแป้กได้แค่นั้นค่ะ

บทที่ 3 จงมุ่งหน้าไปยังจุดหมายปลายทางด้วยระยะทางที่สั้นที่สุด - ว่าด้วยเรื่องของเวลาและประสิทธิภาพ

นื้อหาในบทนี้จะเน้นเรื่องการจัดการเวลาเป็นหลัก โดยแกเปรียบเทียบ slot เวลา เป็น กล่องเวลา แล้วเราก็เอาเจ้ากล่องเวลามาใส่งานของเราค่ะ 

โดยวิธีทำตารางแผนการทำงานที่คุณมิซุโนะแนะนำ คือ 

  1. 1
    เขียนรายการ "สิ่งที่ต้องทำ" ออกมา
  2. 2
    ตรวจสอบเส้นตายและเส้นตายล่วงหน้า (เส้นตายสำหรับตัวเราที่กำหนดให้ถึงก่อนเส้นตายจริง)
  3. 3
    กำหนดระยะเวลาสำหรับสิ่งทึ่ต้องทำ
  4. 4
    เอาสิ่งที่ต้องทำใส่ลงในกล่องเวลา

บทที่ 4 วางแผนการทำงานเพื่อ "สร้างที่ว่าง" ในสมอง

เวลาทุกอย่างมันปะดังเข้ามา เรามักบอกว่ามันแน่นไปหมดทั้งหัวก็แน่น มือก็เป็นระวิง ดังนั้นหัวใจสำคัญของบทนี้ คือ การสร้างพื้นที่ว่าง ซึ่งเป็นผลมาจากการวางแผนที่ดี ในบทนี้ก็อิงกับหลักการบริหารเวลาอีกเช่นกัน ทั้งเรื่องการจดจ่อเพียงเรื่องเดียว (ความเชื่อเรื่อง multi-task ว่าเป็นเครื่องมือสร้างประสิทธิภาพเป็นความเชื่อที่ผิดนะคะ) การสร้างสภาพแวดล้อม การมอบหมายให้คนอื่นสานต่อสิ่งที่เราเริ่มไว้ เป็นต้น

สรุปง่ายๆ ทำหัวให้ว่าง เวลามีงานเข้ามาจะได้มีพื้นทีสมองมากพอที่จะนำไปคิดงานนั้นๆ

บทที่ 5 ทำงานเป็นทีมจนกว่าจะถึงที่หมาย

การทำงานเป็นทีมเป็นสิ่งที่จำเป็นในยุคนี้ ไม่ใช่แค่ทางเลือกอย่างสมัยก่อน ดังนั้นการวางแผนการทำงานต้องนำตัวแปรเรื่องทีมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย หัวใจสำคัญที่คุณมิซุโนะเน้น คือ เราต้องทำให้ทุคนในทีมเดินหน้าไปทิศทางเดียวกัน ดังนั้นในบทนี้จะพูดถึงเทคนิคและวิธีการที่สนับสนุนแนวคิดนี้เป็นหลัก เช่น การสื่อสาร การสร้างความรู้สึกให้เป็นพวกเดียวกัน เป็นต้น

บทส่งท้าย งานของคุณจะสร้างความสุขให้กับผู้อื่น

ก่อนจากกัน คุณมิซุโนะย้ำกันในบทส่งท้ายอีกครั้งว่า 'จินตนาการ' สำคัญกับการวางแผนงานและผลสำเร็จของงานเป็นอย่างยิ่ง

ความคิดเห็นของฉัน

ตอนที่เราเริ่มทำงานใหม่ๆ ยังทำอะไรไม่ค่อยเป็น ก็อาศัยการสอนงานจากพี่ๆ ในที่ทำงาน หากบริษัทมีระบบที่ดีก็อาจมีการสอนงานที่เป็นระบบขึ้น รวมถึงการส่งไปฝึกอบรมเป็นระยะ เมื่อผสมกับสิ่งที่ทำในแต่ละวัน และการลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ เราก็จะค่อยๆ เชี่ยวและเขี้ยวขึ้นเรื่อยๆ 

แต่ถ้าเราโชคร้ายหน่อย ก็อาจไม่มีการสอนงานอย่างที่ควรจะเป็น ก็อาศัยปากกัดตีนถีบเรียนรู้กันไป

การอ่านหนังสือถือเป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์คนอื่น ช่วยให้เราประหยัดเวลาไปได้เยอะ

สำหรับอิง หนังสือเล่มนี้ถือว่าน่าสนใจ แต่ประโยชน์ที่ได้รับขึ้นกับแต่ละบุคคล 

เมื่ออ่านหนังสือเหมือนเป็นการได้เรียนรู้วิธีการทำงานของคนอื่น แน่นอนว่าวัฒนธรรมการทำงานและบริบทที่เขาทำงานอยู่อาจจะไม่เหมือนเรา อ่านแล้วอาจจะมีโมเมนต์ที่ว่า 'เอ๊ะ ใช่หรอ' อยู่บ้าง แต่หลักการโดยทั่วไปเป็นเรื่องที่เรียนรู้และเอามาปรับใช้กับงานของเราได้ ดังนั้นความคุ้มค่าของหนังสือ ขึ้นกับว่าเราอ่านแล้วเอามาปรับใช้แค่ไหน หรือเราฉุกคิดได้แค่ไหน 

จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้ คือ

  • ผู้เขียนมีเครดิตที่ดี แค่บอกว่าเขาเป็นผู้คิด (และวาด) คุมมะมงมากับมือ ก็น่าสนใจแล้ว
  • หนังสือพูดถึงทักษะการทำงานว่าต้องวางแผนงานอย่างไรบ้าง เป็นลักษณะหนังสือที่ไม่ค่อยไม่ใครเขียนถึงค่ะ (หาอ่านยากนั่นเอง และหาดีๆ ยิ่งลำบากค่ะ)
  • คุณมิซุโนะใส่ตัวอย่างจากงานที่แกทำมาเป็นระยะ ทำให้เราเห็นภาพว่าสิ่งที่แกพูดเวลาเอาไปใช้จริงเป็นอย่างไร

หากชอบหนังสือแนวนี้ มีอีกเล่มนึงที่อิงแนะนำให้อ่านค่ะ แต่มาจากฝั่งอเมริกา ชื่อ "The McKinsey Edge" อิงเคยรีวิวไว้นานแล้ว (คลิกอ่านรีวิวได้ที่นี่) และยังคงเป็นหนึ่งในหนังสือเล่มโปรดของอิงจนถึงทุกวันนี้

คำถามชวนคิด

โดยปกติแล้ว คุณวางแผนการทำงานอย่างไร?

สิ่งที่เรียนรู้จากในหนังสือจะนำไปปรับใช้กับการทำงานของคุณได้อย่างไร?

Ing

วิศวกรสิ่งแวดล้อมที่หันมาทำงานบริหารโครงการ แต่สนใจเรื่องการนำเสนอมาก
จนอยากจะแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้มาตลอดหลายปี (ไม่กล้าบอกปี เดี๋ยวรู้อายุ) ให้กับผู้อ่านที่น่ารักทุกคน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked

{"email":"Email address invalid","url":"Website address invalid","required":"Required field missing"}

โพสต์อื่นๆ ที่คุณอาจสนใจ

รีวิวหนังสือ (น่าอ่าน): Storytelling with you
รีวิวหนังสือ (น่าอ่าน): Everyday Business Storytelling
รีวิวคอร์สออกแบบสไลด์สไตล์คนงานยุ่ง