มาแล้วค่ะ รีวิวหนังสือเล่มแรกของปี 2022

เล่มนี้อิงซื้อไว้ตั้งแต่ปีที่แล้ว

ว่าจะอ่านๆ ก็ไม่ได้หยิบมาอ่านซะที

จนอิงเริ่มภารกิจทะลายกองดอง (ภารกิจสำคัญประจำปีนี้)

ก็เลยหยิบออกมาเป็นเล่มแรกๆ เลยค่ะ

พอเริ่มอ่านไปหน่อย…

อือม…

ของเขาดีจริง…

นานแล้ว… ที่ไม่ได้เจอหนังสือดีๆ เกี่ยวกับการนำเสนอ

มาค่ะ ตามมาดูรีวิวป้ายยากันค่ะ

More...

เกี่ยวกับผู้เขียน

สารภาพตามตรง อิงไม่รู้จักผู้เขียนมาก่อน แต่ซื้อเพราะเป็นหนังสือเกี่ยวกับการนำเสนอ มาทำความรู้จักผู้เขียนไปด้วยกันค่ะ

Janie Kurnoff และ Lee Lazarus สองสาวช่วยกันเขียนหนังสือเล่มนี้ ไม่ได้เป็นพี่น้องกัน แต่เติบโตมาจาก Silicon Valley ด้วยกัน และถูกคอจนมาเปิดบริษัท The Presentation Company ด้วยกัน ฟังจากชื่อบริษัทก็พอจะเดาออกว่าเธอสองคนอยู่ในวงการการนำเสนอนี่เอง บริษัทของเธอรับฝึกอบรมให้กับทีมของบริษัทต่างๆ เช่น Facebook, Nestle และ Marriott เป็นต้น แถมยังบอกว่า workshop ที่บริษัทจัดให้ ได้รับรางวัลมาแล้ว

หนังสือนี้น่าจะเหมาะกับใคร

หนังสือเล่มนี้ถือว่าอ่านค่อนข้างง่าย ไม่ได้เน้นเนื้อหาด้านเทคนิค หรือต้องมีความรู้เฉพาะด้านมาก่อนถึงจะอ่านรู้เรื่อง อาจพูดได้ว่าเหมาะกับบุคคลทั่วไป (กลุ่มผู้อ่านกว้างมาก) แต่คงมีแค่คนเฉพาะกลุ่มที่จะซื้อหนังสือเล่มนี้มาอ่าน

ดังนั้นอิงว่าหนังสือเล่มนี้น่าจะเป็นประโยชน์อย่างมากกับคน 2 กลุ่มหลักๆ ค่ะ 

  • ผู้ที่ต้องการพัฒนาการนำเสนอของตัวเอง: หนังสือเล่มนี้ตอบโจทย์ผู้อ่านกลุ่มนี้อย่างมาก ในส่วนของการสร้างความน่าสนใจให้กับการนำเสนอด้วยการเรียบเรียงสไลด์ตามรูปแบบการเล่าเรื่อง และสิ่งที่แถมมา (อิงไม่ได้คิดมาก่อนว่าจะมี) คือ การออกแบบสไลด์ให้น่าดึงดูดใจ แถมมีแบบ before and after ชี้กันให้เห็นๆ ว่าจุดไหนปรับปรุงได้ 
  • ผู้ที่สนใจเรื่อง Storytelling และมองหาแนวทางที่เอาไปปฏิบัติได้จริง: อิงมีหนังสือเกี่ยวกับ storytelling จำนวนพอสมควรในตู้หนังสือ อ่านผ่านตามาก็หลายเล่มอยู่ ปัญหาส่วนใหญ่ คือ อิงว่าวิธีการในหนังสือมันค่อนข้าง abstract ไปนิดนึง แต่เนื้อหาใน everyday business storytelling ถือว่าผิดคาดมาก เพราะมีแนวทางค่อนข้างชัดเจน และเอาไปประยุกต์ใช้ได้ค่อนข้างครอบคลุม อิงเชื่อว่าผู้ที่สนใจเรื่อง storytelling และมองหาแนวทางที่จะเอาไปใช้ในชีวิตการทำงาน จะได้ประโยชน์จากหนังสือเล่มนี้มากค่ะ

หนังสือเขียนเกี่ยวกับอะไรบ้าง

หนังสือแบ่งออกเป็น 6 ส่วนหลักๆ รวม 22 บท (ไม่รวมบทนำและบทส่งท้าย) กับความหนาเกือบ 300 หน้า ถือว่าแบ่งบทค่อนข้างยิบย่อย แต่ก็ช่วยให้อ่านง่ายขึ้น แบบจบในตอน บางบทมีไม่กี่หน้าเองค่ะ อ่านเพลินๆ เงยหน้ามาทีก็ได้ 2-3 บทแล้ว 

มาดูกันค่ะว่าแต่ละส่วนพูดถึงอะไรกันบ้าง

#ส่วนที่ 1 Once and for all - Let’s Unfluff the Reputation of Business Storytelling

ในส่วนนี้มี 2 บท คือ 

บทที่ 1: Meet the brain scientists

บทที่ 2: Data (yes, sometimes overused) is not the villain.

เนื้อหาในส่วนนี้ทั้ง 2 บท ถือเป็นการเกริ่นนำ (และพยาม convince เราถึงเรื่องประโยชน์ของการเล่าเรื่อง และการใช้ visual ในการเล่าเรื่อง) ถ้าขี้เกียจอ่านจริงๆ แล้วเชื่อในเรื่องการเล่าเรื่องอยู่แล้ว อาจอ่านข้ามๆ ไปได้ค่ะ

#ส่วนที่ 2  Ok, I’m in - How Do I get Started with Business Storytelling?

ในส่วนนี้มี 4 บท คือ

บทที่ 3: The four signposts

บทที่ 4: The why, what and how of business storytelling

บทที่ 5: Your big idea

บทที่ 6: Putting it all together: Sample story

เนื้อหาในส่วนนี้ คือ ส่วนที่สำคัญที่สุดของหนังสือค่ะ เป็นพื้นฐานและแนวทางการเล่าเรื่องที่ผู้เขียนใช้ (แอบกระซิบว่าเอาไปใช้ได้จริงค่ะ) 

เริ่มจาก four signposts ที่เป็นเหมือนป้ายนำทางเรา ประกอบด้วย setting, characters, conflict และ resolution (ไม่ต้องท่องก็ได้ค่ะ มันจะปรากฏขึ้นซ้ำๆ จนเราจำได้เอง) รูปแบบของเรื่องเล่าแบบนี้จะคล้ายๆ กับ man-in-hole (อ่านได้ในโพสต์นี้) ที่เป็นพล็อตสุดฮิตและถูกนำไปใช้บ่อยมาก แต่ผู้เขียนถอด man-in-hole ออกมาเป็นองค์ประกอบย่อยๆ ได้อย่างน่าสนใจ 

จากนั้นจึงนำป้ายบอกทางทั้ง 4 ของเรา มาเชื่อมกับ why, what และ how ซึ่งเป็นหัวใจของการเล่าเรื่องเชิงธุรกิจ (หากใครเคยอ่าน start with why ของ Simon Sinek) จะรู้จัก 3 คำถามนี้เป็นอย่างดี 

แล้วก็ได้เวลาขององค์ประกอบสุดท้าย ที่เป็นหัวใจของการนำเสนอ นั่นคือ big idea หรือ key message ของเรานั่นเอง สำคัญขนาดที่ผู้เขียนแนะว่าหากไม่มี big idea ก็ไม่ต้องลำบากนำเสนอค่ะ 

เนื้อหาที่ว่ามาทั้งหมดนี้ มาพร้อมตัวอย่างประกอบที่ดูจับต้องได้จริง (แถมสไลด์สวยอีกต่างหาก) ซึ่งช่วยสร้างความเข้าใจและชี้ให้เห็นว่าเวลานำไปใช้จริงจะออกมาในรูปแบบไหน

#ส่วนที่ 3 Thanks, got the basics. What Else Can Help me?

ในส่วนนี้มี 3 บท คือ

บทที่ 7: Push your story forward with active headlines

บทที่ 8: A simple path to building your big idea

บทที่ 9: Five well-tested Ways to visualize your story

เนื้อหาในส่วนนี้เป็นส่วนเสริมจากองค์ประกอบหลักที่เรียนรู้มาในส่วนที่ 2 ที่จะทำให้การเล่าเรื่องของเรามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยประกอบด้วยการใช้ title ในรูปแบบ headlines (อ่านเพิ่มเรื่องการเปลี่ยน title ให้เป็น headlines ได้ในโพสต์นี้) และไอเดียในการสร้าง/หา big idea ของเรา 

ส่วนในบทที่ 9 อธิบายถึงเครื่องมือในการสร้าง visual พร้อมโชว์ตัวอย่างการ makeover สไลด์ ซึ่งดูดีและทำได้จริงโดยไม่ต้องเป็นเซียน PowerPoint ค่ะ

#ส่วนที่ 4 Let’s see the magic! How Does Storytelling Show Up in Everyday Business?

ในส่วนนี้มี 4 บท คือ

บทที่ 10: Making a recommendation

บทที่ 11: Providing an update

บทที่ 12: Crafting an e-mail

บทที่ 13: Creating a one-pager

เนื้อหาในส่วนนี้ จะนำแนวทางที่เราเรียนรู้ในส่วนที่ 2 มาประยุกต์ใช้กับการนำเสนอในเส้นเรื่องต่างๆ เช่น การให้คำแนะนำ และการเล่าความก้าวหน้าในการดำเนินงาน รวมไปถึงการนำไปประยุกต์ใช้กับการสื่อสารในรูปแบบอื่น คือ e-mail กับ รายงานสรุปแบบหน้าเดียว ถือว่าน่าสนใจและสร้างประโยชน์จากสิ่งที่เรียนรู้ได้ดีค่ะ 

(ในส่วนนี้ อิงชอบบทที่ 11 เป็นพิเศษ เพราะค่อนข้างตรงกับงานที่ต้อง Update ความก้าวหน้าเป็นประจำ)

#ส่วนที่ 5 But wait! How Do I Flex My Story?

ในส่วนนี้มี 6 บท คือ

บทที่ 14: Audience is everything: a manifesto

บทที่ 15: You’ve got five minutes with an executive… Go!

บทที่ 16: Your audience is diverse… How can you please everyone?

บทที่ 17: You’re told “only three to five slides”

บทที่ 18: Team presentations: who does what?

บทที่ 19: When your audience is virtual

เนื้อหาในส่วนนี้ จะเป็นการประยุกต์ใช้วิธีการเล่าเรื่องของเราในสถานการณ์ต่างๆ โดยมีหัวใจสำคัญ คือ ต้องทำความเข้าใจผู้ฟังของเราซะก่อน จากนั้นผู้เขียนแชร์แนวทางในการปรับการเล่าเรื่องให้กับผู้บริหารที่มีเวลาน้อย กลุ่มผู้ฟังที่หลากหลาย และการรวบสไลด์หากถูกจำกัดจำนวนสไลด์

บทที่ 18 ก็น่าสนใจและแปลกใหม่ทีเดียว เพราะปกติไม่ค่อยมีใครพูดถึงการนำเสนอแบบเป็นทีมที่ต้องใช้ผู้นำเสนอหลายคน (ซึ่งเป็นกรณีที่น่าจะเจอกันบ่อยในองค์กร) คำแนะนำในหนังสือก็ไม่ซับซ้อน แถมมาพร้อมตัวอย่างให้เห็นภาพอีกต่างหาก

ส่วนบทที่ 19 นั้น สอดคล้องกับสถานการณ์ของเราในยุค WFH กันมากค่ะ วิธีการที่ผู้เขียนแนะนำหลายคนอาจใช้อยู่แล้ว แต่อิงเชื่อว่าหลายข้อก็อาจยังไม่เคยลองใช้ (น่าลองนะคะ) ถือเป็นอีกบทที่คุ้มค่าน่าอ่านค่ะ

#ส่วนที่ 6 All together now: Building a Common Language of Storytelling

ในส่วนนี้มี 3 บท คือ

บทที่ 20: Fostering a culture of story coaches

บทที่ 21: Five ways managers can reinforce storytelling

บทที่ 22: Ready, set, coach! Five tips for peer-to-peer story coaching

เนื้อหาในส่วนนี้ค่อนข้างสั้น และเป็นไปตามชื่อบทเลยค่ะ คือ เน้นการเผยแพร่ storytelling ออกไปให้กับคนอื่นๆ ในองค์กร ทั้งน้องๆ ในทีม และเพื่อนร่วมงาน

ความคิดเห็นของฉัน

อย่างแรกเลย อิงชอบหนังสือเล่มนี้ค่ะ ถูกใจจนต้องเอาไปเรียงไว้ในชั้นเดียวกับหนังสือด้านการนำเสนอของกูรูคนอื่นๆ อย่าง Slideology ของ Nancy Duarte และ Presentation Zen ของ Garr Reynold นานมากแล้วค่ะ ที่ไม่ได้อ่านหนังสือด้านการนำเสนอที่ดีและเอาไปใช้ได้จริง

หนังสือค่อยๆ จูงเราไป ตั้งแต่ปูเรื่องเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ด้านสมองและการรับรู้ ไปจนถึงแนวทางการเล่าเรื่อง และการนำไปใช้ในเหตุการณ์ต่างๆ (ไม่ได้จำกัดแค่การนำเสนอ รวมถึงการเขียนรายงานและ email ด้วย ส่วนการนำเสนอก็มีหลากหลายสถานการณ์ เช่น การนำเสนอให้ผู้บริหารที่เวลาน้อย และการนำเสนอกับทีมที่ต้องการรายละเอียดเยอะ) ถึงแม้จะมีจำนวนบทค่อนข้างมาก แต่แนวทางการเล่าเรื่องยังคงมีองค์ประกอบเหมือนเดิม เพียงแต่เน้นแต่ละจุดแตกต่างกันไป ทำให้พออ่านไปเรื่อยๆ เราจะคุ้นชินกับองค์ประกอบการเล่าเรื่องมากยิ่งขึ้น (ไม่ต้องท่องจำ ก็จะซึมซับได้เอง)

อีกสิ่งหนึ่งที่อิงชอบมากในหนังสือเล่มนี้ คือ การนำเสนอสไลด์ในรูปแบบ before and after (เป็นรูปแบบที่นิยมมากในหนังสือการนำเสนอภาษาญี่ปุ่น) ทำให้เราเห็นแนวทางว่าสไลด์ที่เราคุ้นชินกันทั่วไป (bullet points และเต็มไปด้วยตัวหนังสือ) จะเปลี่ยนเป็นสไลด์ที่หน้าตาทันสมัยขึ้น และสื่อความได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้อย่างไร เรียกว่า ได้ไอเดียกันไปอีกชุดใหญ่เลย

สำหรับสิ่งที่อิงชอบค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับเนื้อหาส่วนอื่น คือ เนื้อหาในส่วนที่ 6 ที่แอบง่วงนิดหน่อย และคนที่ทำงานแบบ freelance หรือมีวัฒนธรรมองค์กรเป็นแบบรวมกันหลวมๆ อาจจะอ่านแล้วไม่ค่อยอินเท่าไหร่ค่ะ

จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้ คือ

  • เนื้อหาถูกเรียบเรียงมาดี อ่านง่าย
  • มีตัวอย่าง before and after แสดงการนำแนวทางการเล่าเรื่องไปใช้ในสไลด์จริง 
  • ตัวอย่างสไลด์ออกแบบมาอย่างสวยงาม ดูเป็นแนวทางการออกแบบได้เลยค่ะ
  •  แนวทาง storytelling ในหนังสือเอาไปประยุกต์ใช้ได้ง่ายๆ แบบจับต้องได้ ใช้ได้จริง

แล้วควรซื้อหรือไม่?

หากคุณอยู่ในกลุ่มที่ยังไม่คิดว่าการนำเสนอมีความสำคัญกับการทำงานของคุณ อิงคิดว่าหนังสือเล่มนี้อาจช่วยเปลี่ยนความคิดคุณได้ (บ้าง) แต่ในเบื้องต้นไม่แนะนำให้ซื้อค่ะ เพราะ หนังสือราคาค่อนข้างสูงและเป็นภาษาอังกฤษ (อ่านแล้วอาจลายตา พาลไม่อ่านต่อ ทำให้ไม่คุ้มที่จะซื้อ) ลองไปดู sample ใน Amazon ดูก่อนก็ได้ค่ะ ว่าเราอยากจะอ่านแบบเอาจริงเอาจังหรือเปล่า

หากคุณอยู่ในกลุ่มที่มองหาโอกาสในการพัฒนาการนำเสนอและการเล่าเรื่องของคุณ อิงแนะนำอย่างยิ่งว่าควรอ่านหนังสือเล่มนี้ดูค่ะ (อาจต้องซื้อมาเป็นเจ้าของ เพราะไม่รู้ว่ามีให้ยืมตามห้องสมุดหรือเปล่าค่ะ) อิงเองอ่านหนังสือด้านการนำเสนอมาหลากหลายเล่ม และก็ผ่านตาเรื่องการเล่าเรื่องมาพอสมควร เล่มนี้เนื้อหาจับต้องได้ อ่านเข้าใจง่าย เอาไปใช้ได้จริง แถมการจัดวางเนื้อหาก็สวยงาม น่าอ่านอีกต่างหาก ใช้เวลาไม่นานก็อ่านจบค่ะ 

คะแนนสำหรับ Everyday Business Storytelling

อ่านเข้าใจได้ง่าย 4.5/5

ช่วยเพิ่มพูนความรู้/ทักษะ 4.5/5

ความประทับใจโดยรวม 5/5

คุ้มค่า (เงิน/เวลา) 4.5 (หักไป 0.5 สำหรับส่วนที่ 6)

หนังสือนี้เหมาะสำหรับ Beginner แต่หากจะไปทำสไลด์ตามตัวอย่างที่ให้มา ควรมีความรู้ในการออกแบบสไลด์ประมาณ Intermediate ค่ะ

คำถามชวนคิด

เรื่องเล่าเป็นส่วนหนึ่งของการนำเสนอของคุณหรือไม่?

คุณจะประยุกต์ใช้แนวทางในการเล่าเรื่องที่สอนไว้ในหนังสือกับการนำเสนอของคุณได้อย่างไร?

Ing

วิศวกรสิ่งแวดล้อมที่หันมาทำงานบริหารโครงการ แต่สนใจเรื่องการนำเสนอมาก
จนอยากจะแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้มาตลอดหลายปี (ไม่กล้าบอกปี เดี๋ยวรู้อายุ) ให้กับผู้อ่านที่น่ารักทุกคน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked

{"email":"Email address invalid","url":"Website address invalid","required":"Required field missing"}

โพสต์อื่นๆ ที่คุณอาจสนใจ

รีวิวหนังสือ (น่าอ่าน): Storytelling with you
รู้ลึก vs รู้แค่ผิวๆ
5 เรื่องสำคัญ ในการออกแบบโปสเตอร์นำเสนอ