ครั้งแรกที่อิงต้องออกไปนำเสนอด้วยตัวเอง ขนาดผู้ฟังไม่เยอะมาก แค่ไม่กี่สิบคน ยังเน่าเลยค่ะ พูดไม่ทันจบประโยค เสียงก็หายไปในคอ มีแต่ปากพงาบพงาบอยู่

ไม่ใช่แค่สภาพคนนำเสนอที่ดูทุลักทุเล ตัวสไลด์เองก็ไม่ค่อยน่าดู (พอย้อนกลับไปดู มันน่าอายจัง)

ส่วนเรื่องคนฟังเป็นใคร คิดอะไร อยากรู้อะไร ยิ่งไม่ต้องพูดถึง ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเราต้องรู้จักคนฟังด้วยหรอ?

อันจะหาหนังสืออ่าน ก็หาได้ยากเหลือเกิน ที่พอหาได้ก็ต้องสั่งจาก Amazon มา หนังสือภาษาไทยมีแค่ไม่กี่เล่มเท่านั้นเอง 

แต่ยุคสมัยเปลี่ยนไปแล้วค่ะ เดี๋ยวนี้หนังสือมีให้อ่านมากมาย หนังสือภาษาไทย หนังสือภาษาอังกฤษ รวมถึงหนังสือไทยที่แปลภาษาอังกฤษมา... 

ปีนี้จะทยอยรีวิวมาให้อ่านกันค่ะ

มาเริ่มเล่มแรกของปี 2020 กันค่ะ...

"100 Things Every Presenter Needs to Know about People" หรือชื่อภาษาไทย คือ "ไม่ใช่แค่พรีเซนต์ได้ แต่พรีเซนต์โดน"

More...

หนังสือเขียนเกี่ยวกับอะไรบ้าง

สิ่งที่แตกต่างระหว่างหนังสือเล่มนี้กับหนังสือการนำเสนอเล่มอื่นๆ คือ เนื้อหาในเล่มเรียบเรียงโดยใช้คนฟังเป็นศูนย์กลาง โดยแบ่งออกเป็น 10 ส่วนใหญ่ๆ ในแต่ละส่วนจะมีบทย่อยๆ และจะมี Takeaway หรือบทสรุปให้ในแต่ละบทด้วย

มาดูเนื้อหาในแต่ละส่วนกันค่ะ

#1 How people think and learn

เนื้อหาส่วนนี้ช่วยให้เราเข้าใจมากขึ้นว่าคนมีวิธีคิดอย่างไร กรองข้อมูลอย่างไร และเรียนรู้จากข้อมูลได้อย่างไร 

ดูเผินๆ เราอาจรู้สึกว่าเนื้อหาส่วนนี้ไม่เห็นเกี่ยวข้องกับการนำเสนอ แต่ที่จริงแล้วหากเราต้องการให้ผู้ฟังเข้าใจสิ่งที่เรานำเสนอ แล้วคิด/ทำอย่างที่เราอยากให้เป็น เราต้องเข้าใจพื้นฐานการคิดและการเรียนรู้ในส่วนนี้ด้วย

ข้อแนะนำในการนำเสนอที่เรามักได้ยินกัน เช่น การนำเสนอของเราควรเป็นการเล่าเรื่องราว ตัวอย่างจะช่วยให้ผู้ฟังเห็นภาพและคิดตามได้ง่ายขึ้น ในแต่ละสไลด์ควรมีแค่ไอเดียหรือประเด็นหลักเพียงหนึ่งเดียว และผู้คนมักจำสิ่งต่างๆ ได้แค่ 3-5 ข้อ เป็นต้น แต่เราอาจไม่รู้ที่มาที่ไป เนื้อหาในส่วนนี้จะเล่าถึงเบื้องหลังของข้อแนะนำเหล่านี้ค่ะ 

หากคุณมีเวลาอ่านจำกัดและอยากข้ามส่วนนี้ไป อิงแนะนำว่าอย่างน้อยอ่านบทสรุปของแต่ละบทอย่อยแทนที่จะข้ามไปเฉยๆ เราจะได้รู้จักวิธีคิดของผู้ฟังดีขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เราออกแบบโครงสร้างของเนื้อหาการนำเสนอได้ดีขึ้น (จะช่วยแก้ปัญหาสำหรับคนที่พูดวนไปวนมาได้)

#2 How to grab and hold people's attention

ไม่มีผู้นำเสนอคนไหนที่อยากถูกเมินจากผู้ฟัง การเห็นผู้ฟังนั่งจิ้มโทรศัพท์ หรือเหม่อมองไปรอบๆ พูดตรงๆ ค่ะ ผู้นำเสนอเห็นแล้วมันใจแป้ว พลังที่อยากนำเสนอก็จะหดลดน้อยลง

ดังนั้นเนื้อหาในส่วนนี้ถึงจะมีแค่ไม่กี่บท แต่สำคัญมาก และนำไปประยุกต์ใช้ได้ดีเลยค่ะ ที่อิงชอบมาก คือ ผู้ฟังจะคงความสนใจไว้ได้แค่ 7 - 10 นาที ดังนั้นผู้นำเสนอควรออกแบบให้มีการเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอทุกๆ 10 นาที เช่น เปลี่ยนไปถามคำถาม เล่าเรื่อง และเปลี่ยนหัวข้อ เป็นต้น เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยอีกข้อที่น่าสนใจ คือ อย่าโชว์รูปอาหารเมื่อต้องนำเสนอใกล้เวลากินข้า

#3 How to motivate people to take action

สิ่งที่ผู้นำเสนอทุกคนต้องการ คือ การที่ผู้ฟังย้ายจากจุด A (สภาพเริ่มต้นก่อนนำเสนอ) ไปยังจุด B (สิ่งที่คาดหวังให้ผู้ฟังคิด/ทำหลังจากนำเสนอแล้ว) 

เนื้อหาในส่วนนี้พยายามเพิ่มความสำเร็จในการย้ายผู้ฟังไปยังจุด B บางอย่างดูเล็กๆ น้อยๆ เช่น การนำเสนอ Outline หรือ Agenda ให้กับผู้ฟังก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ผู้ฟังเห็นภาพรวม และความก้าวหน้าของการนำเสนอ (รวมถึงความเข้าใจของตัวผู้ฟังเองว่าใกล้ไปถึงจุด B ที่ผู้นำเสนอออกแบบไว้แค่ไหนแล้ว) 

คำเตือนสำหรับส่วนนี้ที่อิงคิดว่าน่าสนใจ คือ อย่าพยายามเปลี่ยนโลกด้วยการนำเสนอของเรา เพราะเรื่องมันยากเกินไปและซับซ้อนเกินไปกว่าที่ผู้ฟังจะรับได้ แต่เราควรมุ่งไปที่ความคิด/การกระทำ (จุด B) ที่ไม่ห่างจากสิ่งที่ผู้ฟังเป็นอยู่มากเกินไป (จุด A)

#4 How people listen and see

มาแล้วค่ะ เนื้อหาที่ดูเกี่ยวกับการนำเสนอและสไลด์แบบตรงๆ (ไม่อ้อมเหมือนเนื้อหาก่อนหน้านี้) เปิดเรื่องมาก็เป็นข้อแนะนำที่ตรงประเด็นเลยค่ะ "Presentations are performances" นั่นหมายความว่า เราต้องคิดทุกซ็อตคะ ในหนังสือชื่อดังของ Stephen R. Covey เรื่อง "7 Habits of highly effective people" บอกว่าหนึ่งอุปนิสัยสำคัญที่จะช่วยให้เรามีประสิทธิภาพมากขึ้น คือ Begin with the end in mind สิ่งต่างๆ เกิดขึ้น 2 ครั้ง คือ หนึ่งเกิดขึ้นในความคิดเรา กับสองเกิดขึ้นจริง หากเราอยากนำเสนอให้ได้ดี เราต้องเห็นภาพตัวเองนำเสนอได้ดีก่อน เหมือนกับที่เรานั่งดูโชว์ที่เจ๋งๆ นั่นเอง

หากเราอยากให้การนำเสนอของเราออกมาได้ดีเหมือนที่เราหวังไว้ เราต้องคิดและออกแบบทุกๆ อย่างที่ผู้ฟังจะได้รับ เนื้อหาในส่วนนี้พูดถึงทั้งตัวสไลด์เอง การเลือกใช้ Font ข้อควรระวังในการใช้สี และเรื่องของการใช้สีสำหรับผู้ฟังที่ตาบอดสี (เรื่องนี้เมืองนอกให้ความสำคัญมาก หนังสือที่อิงอ่านหลายๆ เล่ม เน้นเรื่องนี้มาก) นอกจากนี้ทั้งตำแหน่งการยืนและการเดินก็ส่งผลต่อผู้ฟัง เช่น ตัวหนังสือภาษาไทยอ่านจากซ้ายไปขวา เราควรยืนอยู่ด้านซ้ายของจอที่เป็นจุดเริ่มต้นประโยคมากกว่าด้านขวา (ในมุมมองของผู้ฟัง) เป็นต้น

#5 How people react to the environment

สิ่งแวดล้อมส่งผลกับผู้ฟัง แล้วเราควรจัดการอย่างไรเพื่อให้ผู้ฟังสนใจในการนำเสนอมากขึ้น เนื้อหาในส่วนนี้ให้ Tips ดีๆ หลายข้อที่เราเอาไปใช้ได้ทันที เช่น ขนาดของห้องควรเหมาะสมกับผู้ฟัง เพราะหากห้องใหญ่เกินไป ขณะที่คนฟังมีอยู่แค่ไม่ถึงครึ่งห้อง จะทำให้พลังโดยรวมของการนำเสนอน้อยลง ห้องไม่ควรมืดเกินไปเดี๋ยวคนจะหลับ การจัดเก้าอี้และโต๊ะในห้องควรเหมาะกับรูปแบบการนำเสนอของเรา และที่สำคัญ อย่าลืมแนะนำให้ผู้ฟังนำเสื้อหนาวมาด้วย (อันนี้เจอกับตัวเองบ่อยๆ ค่ะ หากลืมเอาเสื้อหนาวไป แล้วแอร์เย็นเกิน มันมัวแต่สั่นกับปวดหลังแทนที่จะตั้งใจฟังค่ะ)

#6 How people react emotionally

นี่คือสิ่งที่ผู้นำเสนอ โดยเฉพาะวิศวกรมักหลงลืมไป โดยเน้นแต่ข้อมูลและข้อเท็จจริง แต่สิ่งที่มีส่วนอย่างมากในการขับเคลื่อนผู้ฟังให้คิด/ทำสิ่งที่ผู้นำเสนออยากให้ทำ คือ เรื่องของอารมณ์ความรู้สึก 

เนื้อหาในส่วนนี้จะเน้นย้ำให้เราอย่าลืมที่จะแทรกเรื่องราวและคำนึงถึงเรื่องของอารมณ์และความรู้สึกในระหว่างการออกแบบการนำเสนอของเรา                                                                                                                            

#7 How people react to you

เนื้อหาในส่วนนี้ไม่ค่อยได้เห็นในหนังสือเล่มอื่นๆ ทั้งการยืน ท่าทางของผู้นำเสนอ และการแต่งตัว โดยทั้งหมดนี้ต้องการเพียงอย่างเดียว คือ ผู้นำเสนอต้องแสดงความเป็นผู้นำในห้อง (รวมถึงเป็นผู้รู้ในเรื่องนั้นๆ)

(สิ่งที่ต่างในฉบับภาษาอังกฤษกับภาษาไทย คือ ฉบับภาษาอังกฤษใช้รูปคนจริง ขณะที่ฉบับภาษาไทยใช้รูปวาด) 

#8 How people decide to take action

เนื้อหาในส่วนนี้ค่อนข้างซับซ้อนพอสมควร แต่เป็นสิ่งที่ผู้นำเสนอทุกคนต้องการ คือ ผู้ฟังคิด/ทำอย่างที่ผู้นำเสนอต้องการ 

ผู้เขียนมีข้อแนะนำสำหรับการโน้มน้าวการตัดสินใจของผู้ฟัง เช่น หากการนำเสนอเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ ควรจะนำผลิตภัณฑ์นั้นมาโชว์ให้เห็นตัวเป็นๆ กันด้วย เป็นต้น

#9 How to craft your presentation

ผู้นำเสนอแนะนำ 5 ขั้นตอนในการเตรียมการนำเสนอ ประกอบด้วย

  1. Do your research
  2. Craft your presentation
  3. Create the content
  4. Practice, practice, practice
  5. Perform, refine, repeat

#10 Your 90-day improvement plan

ส่วนนี้เป็นแผนสำหรับการปรับปรุงการนำเสนอของเราใน 90 วัน โดยแผนจะแบ่งเป็นช่วงๆ ทุก 10 วัน น่าสนใจค่ะ หากได้ลองทำตาม การนำเสนอจะปรับปรุงขึ้นได้อย่างแน่นอน (แต่จะได้มากหรือน้อย ขึ้นกับความตั้งใจในการปรับปรุงของเราด้วยค่ะ)

ความคิดเห็นของฉัน

สำหรับอิง หนังสือเล่มนี้น่าสนใจและแปลกว่าเล่มอื่น อาจไม่เหมาะที่จะเป็นหนังสือเล่มแรก สำหรับ Beginner แต่เหมาะสำหรับผู้ที่คิดว่าอยากปรับปรุงการนำเสนอให้เด่นขึ้นกว่าคนอื่น เพราะเนื้อหาหลายส่วนในหนังสือเล่มนี้ ไม่มีในเล่มอื่นค่ะ ทั้งการอธิบายแบบถึงแก่นในเรื่องของจิตวิทยา (ฉากหลังของข้อแนะนำต่างๆ) และ Tips หลายๆ ข้อที่นำไปใช้ได้ทันที 

หนังสือเล่มนี้มีแปลเป็นภาษาไทยด้วยนะคะ สิ่งที่ต่างกันหน่อย คือ เวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ สี่สีพร้อมรูปประกอบแบบจัดเต็ม ขณะที่เวอร์ชั่นภาษาไทย จะใช้รูปวาดเป็นหลักและรูปน้อยกว่า แต่เนื้อหายังคงครบถ้วนเหมือนกันค่ะ 

(ภาษาอังกฤษมี 2nd edition ออกมาเมื่อปี 2018 แต่เล่มที่อิงรีวิวเป็น 1st edition)

Ing

วิศวกรสิ่งแวดล้อมที่หันมาทำงานบริหารโครงการ แต่สนใจเรื่องการนำเสนอมาก
จนอยากจะแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้มาตลอดหลายปี (ไม่กล้าบอกปี เดี๋ยวรู้อายุ) ให้กับผู้อ่านที่น่ารักทุกคน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked

  1. ขอบคุณสำหรับการสรุปเนื้อหาที่ทำให้เข้าใจแต่ละบทของหนังสือค่ะ

{"email":"Email address invalid","url":"Website address invalid","required":"Required field missing"}

โพสต์อื่นๆ ที่คุณอาจสนใจ

รีวิวหนังสือ (น่าอ่าน): Storytelling with you
รู้ลึก vs รู้แค่ผิวๆ
5 เรื่องสำคัญ ในการออกแบบโปสเตอร์นำเสนอ