คำคมข้างบน คือ ยันต์กันหลงสำหรับการออกแบบสไลด์ ที่อิงได้มาจากหนังสือเรื่อง Slide:ology (อ่านรีวิวได้ที่นี่

แน่นอนค่ะว่าความสวยเป็นเรื่อง นานาจิตตัง สิ่งที่เราว่าสวยคนอื่นอาจว่าไม่สวยก็ได้ แต่ถ้าเรายึดหลักที่ว่านี้ อย่างน้อยเราก็สามารถตัดสิ่งรกรุงรังออกจากสไลด์เราได้ ทำให้สไลด์เรามองดูแล้วสบายตาขึ้น...

ว่าแต่ เจ้า “Decoration” หรือแปลง่ายๆ ว่า การตกแต่งสไลด์ คือ อะไร แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเรากำลังตกแต่งสไลด์แทนที่จะออกแบบสไลด์

มาลองวิเคราะห์ไปด้วยกันค่ะ

More...

ในความเห็นของอิง การแยก Decoration ออกจาก Design ก็คือ การถามตัวเองว่าสิ่งนั้นๆ หรือองค์ประกอบนั้นๆ ที่อยู่ในสไลด์นั้นสื่อความสิ่งที่จำเป็นและเป็นสิ่งที่เราต้องการสื่อหรือไม่ หากไม่ใช่ ถือว่าเป็น Decoration ค่ะ (บางครั้ง Decoration ก็พอหยวนๆ กันได้ ถ้าไม่มากนักค่ะ หรือ ถ้าทำให้สไลด์เราสวยขึ้นแบบมีนัยสำคัญ)

ถ้าใช้เกณฑ์นี้ในการแยก Decoration ออกจาก Design สิ่งที่ควรได้รับการพิจารณาว่าจำเป็นหรือเปล่าในบริบทที่เราต้องการ คือ

#1 Template

emplate ที่โปรแกรม PowerPoint ให้มา หรือที่เราไปหา Download มานั้น มีการใช้องค์ประกอบต่างๆ มาทำให้สไลด์ดูสวยงาม (ตัวอย่างในรูป A) แต่ก็แลกมาด้วยพื้นที่ว่างที่น้อยลงจนบางครั้งเนื้อหาของเราก็ทับไปบนตัว Template ทำให้ดูขัดตา

ที่สำคัญ คือ เราควรถามตัวเองก่อนนำ Template มาใช้ ว่ารายละเอียดต่างๆ ใน Template นั้น จำเป็นหรือต้องใช้สื่อความในสิ่งที่เราต้องการหรือไม่ 

ซึ่ง... ส่วนมากแล้ว คำตอบ คือ ไม่ค่ะ...

โดยส่วนตัว อิงไม่แนะนำให้ใช้ Template ค่ะ แต่ก็มีกรณีที่เราหลีกเลี่ยงได้ลำบาก เช่น Template ของบริษัท หรือในบางกรณี เราอาจเจอ Template ที่ใช่และเหมาะกับเรื่องราวที่เราต้องการนำเสนอก็ได้

คำเตือน คือ โปรดใช้วิจารณญาณในการเลือกใช้

#2 Slide Background

หลังๆ นี้ การใช้รูปภาพเป็น Slide Background ได้รับความนิยมมากขึ้น อย่างไรก็ตามข้อควรระวัง คือ เนื้อหาในส่วนที่เป็นตัวหนังสือหรือกราฟฟิกอื่นต้องไม่มากจนเกินไป (ข้อความไม่ควรจะเกินหนึ่งประโยคด้วยซ้ำ) เพราะหากมีเนื้อหามากเกินไป จะทำให้ Slide Background กลายเป็นส่วนเกินที่รบกวนสายตาผู้ฟัง (ตัวอย่างในรูป B) 

คำเตือน โปรดใช้ด้วยความระมัดระวัง อย่าให้ Slide Background และเนื้อหาแย่งกันเด่น

#3 รูปภาพและกราฟฟิกที่ไม่สื่อความ

เขาบอกกันว่าสไลด์ไม่ควรมีแต่ตัวหนังสือกับ Bullet Points เราเลยคิดว่าไหนๆ สไลด์ก็มีที่ว่างอยู่ เดี๋ยวเอารูปภาพหรือรูปกราฟฟิกมาใส่ดีกว่า 

...

แนวคิดถูกค่ะ แต่เวลาทำจริง เหมือนเดิมค่ะ ต้องถามตัวเองก่อนว่า รูปภาพหรือกราฟฟิกนั้นจำเป็นหรือใช้สื่อความในสิ่งที่เราต้องการหรือไม่

เกือบทุกครั้งเวลาไปฟังสัมมนา อิงมักเห็นสไลด์ที่มีรูปภาพหรือกราฟฟิกที่ไม่น่าจะเกี่ยวกับเนื้อหาที่นำเสนอ หรือถูกนำมาแปะไว้แต่ไม่ได้รับการกล่าวถึงแต่อย่างไรว่ารูปภาพนั้น คือ อะไร เกี่ยวข้องกับเนื้อหาอย่างไร (ตัวอย่างในรูป C) นั่นทำให้สไลด์เราดูรกขึ้นโดยไม่จำเป็นค่ะ

คำเตือน รูปและกราฟฟิกที่ไม่สื่อความ เท่ากับ สิ่งที่ไม่จำเป็นในสไลด์

#4 การใช้สีที่ไม่สื่อความ

สีมีประโยชน์มากในการนำเสนอ ทั้งใช้เพิ่มความน่าสนใจของสไลด์ ใช้นำสายตา ใช้แสดงสิ่งที่ต้องการเน้นย้ำ และอื่นๆ อีกหลายข้อ

สไลด์ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากสี ถือว่าน่าเสียดาย

แต่... สไลด์ที่ใช้สีโดยไม่ได้กำหนดความหมายให้กับสีนั้น นอกจากจะทำไม่ช่วยสื่อความแล้ว อาจทำให้ผู้ฟังสับสนอีกต่างหาก

ตัวอย่างในรูป D ใช้สีที่แตกต่างกันไปในแต่ละบรรทัด ทำให้ผู้ฟังอาจสงสัยว่าสีแต่ละสีสื่อถึงอะไรเป็นพิเศษหรือเปล่า

อีกสิ่งหนึ่งที่พบบ่อย คือ การใช้สีในชุดสไลด์ไม่สอดคล้องกัน เช่น สีแดงใช้เน้นย้ำข้อความความที่สำคัญ หรือชี้สิ่งสำคัญในสไลด์นึง แต่อีกสไลด์นึงกลับใช้เป็นสีของตัวหนังสือที่เป็นคำพูดยาวๆ ที่เราคัดลอกมา แทนที่จะใช้เน้นย้ำเฉพาะจุดสำคัญ เป็นต้น

คำเตือน อย่าใช้สีมากเกินไปจนไม่สื่อความ และอย่าลืมกำหนดความหมายให้สีและใช้อย่างสอดคล้องกันทั้งการนำเสนอ

คำถามชวนคิด

คุณว่าสไลด์ที่คุณทำเมื่อครั้งที่แล้ว มีส่วนที่ใช้ตกแต่งแทนที่จะใช้สื่อความอยู่บ้างหรือเปล่า แล้วจะปรับปรุงให้ดีขึ้นได้อย่างไร

Ing

วิศวกรสิ่งแวดล้อมที่หันมาทำงานบริหารโครงการ แต่สนใจเรื่องการนำเสนอมาก
จนอยากจะแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้มาตลอดหลายปี (ไม่กล้าบอกปี เดี๋ยวรู้อายุ) ให้กับผู้อ่านที่น่ารักทุกคน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked

{"email":"Email address invalid","url":"Website address invalid","required":"Required field missing"}

โพสต์อื่นๆ ที่คุณอาจสนใจ

รีวิวหนังสือ (น่าอ่าน): Storytelling with you
รู้ลึก vs รู้แค่ผิวๆ
5 เรื่องสำคัญ ในการออกแบบโปสเตอร์นำเสนอ