อิงเชื่อว่าคุณต้องเคยได้ยินคนเชียร์ให้ "คิดนอกกรอบ"

เขาว่ากันว่า "หากจะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ อย่าไปติดกับกรอบเดิมๆ"

อ้าว...

ถ้างั้นถ้าเราคิดมีกรอบ (framework) เราก็ล้าหลังหล่ะสิ?

การคิดแบบมีกรอบจะกลายเป็นกบในกะลาครอบหรือเปล่า?

น่าคิดจริงๆ 

มาชวนคิดกันเบาๆ เรื่องกรอบกันค่ะ

คิดธรรมดาจะไม่นอกกรอบ 

ดังนั้นเราจะมาเปรียบวิธีคิดกับวิทยายุทธในหนังจีนกำลังภายในกันค่ะ 

More...

ในยุทธจักรกำลังภายใน สุดยอดฝีมือหลายๆ คนไร้เทียมทานเพราะ "ไร้กระบวนท่า" หมายความว่าไม่มีกระบวนท่าต่างๆ มาเป็นกรอบและลำดับขั้นตอนในการใช้ออก อาศัยแก่นและความเข้าใจในฝีมือของตัวเองพลิกแพลงตามคู่ต่อสู้และสถานการณ์ ทั้งเก้ากระบี่เดียวดาย (ที่เหล่งฮู้ชงเรียน) หรือฝ่ามือไท้เก็กที่เตียซำฮงสอนให้เตียบ่อกี้ (ด้วยวลีเด็ดที่เตียบ่อกี้ตอบหลังเรียนเสร็จว่าลืมเลือนได้หลายส่วนแล้ว) ล้วนแต่ก้าวข้ามกรอบของวิทยายุทธ์แบบเดิมๆ

หากเทียบเป็นลำดับขั้นตอนของการคิดกับการฝึกฝีมือ อิงว่าน่าจะเปรียบเปรยได้ประมาณนี้

ไม่รู้วิธีคิด = มวยวัด

หากเราไม่เคยเรียนรู้วิธีคิด อาศัยแต่บุญแต่กรรมของตัวเอง อาจโชคดีที่คิดได้หลายแง่มุมหรือรอบด้านในบางเรื่อง เปรียบเหมือนกับมวยวัด ต่อยเตะมั่วๆ ออกไป บางคน (น้อยมาก) มีทักษะที่ดีก็อาจเก่งขึ้นมาได้ (แต่เหนื่อย)

คิดแบบมีกรอบ = เรียนเคล็ดวิชาต่างๆ จากอาจารย์หรือกำแพงถ้ำ

หากเราคิดแบบมีกรอบโดยใช้เครื่องมือต่างๆ เช่น SWOT (จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรค) การวิเคราะห์ปัจจัยภายนอกและภายใน การใช้ five forces model เป็นต้น เครื่องมือต่างๆ เหล่านี้หากเลือกใช้ให้ถูกกับสถานการณ์ก็จะช่วยตีกรอบความคิดเราลงมาได้ ประหยัดเวลาและคิดได้รอบคอบขึ้น เปรียบเสมือนเรารู้ว่าเมื่อต้องเจอคู่ต่อสู้ใช้กระบวนท่านี้ เราควรตอบโต้อย่างไร

คิดแบบนอกกรอบ = ไร้กระบวนท่า

การคิดลักษณะนี้เป็นการหาไอเดีย ประเด็น แนวทางการดำเนินงานใหม่ๆ โดยออกจากแนวทางเดิมๆ วิธีเดิมๆ ที่เราเคยใช้ แต่การจะคิดนอกกรอบได้ เราก็ต้องรู้ก่อนว่ากรอบนั้นคืออะไร เหมือนกับการสู่จุดสูงสุดของวิชาที่ไร้กระบวนท่าได้ ก็ต้องผ่านการเรียนรู้ให้ถึงแก่น รู้จักการปรับใช้ ไม่เช่นนั้นก็อาจไม่ต่างกับมวยวัด

นอกจากนี้การคิดนอกกรอบต้องอาศัยการฝึกฝน เพื่อนำความคิดนั้นไปสู่ความจริง ไม่ใช่นั้นอาจเป็นเพียงความเพ้อเจ้อค่ะ

คิดแบบมีกรอบดีหรือไม่?

อิงเชื่อว่าการคิดแบบมีกรอบเป็นสิ่งพื้นฐานที่ทุกคนควรเรียนรู้ก่อนจะไปต่อยอดเป็นการคิดนอกกรอบ เพราะอย่างที่บอกหากเราไมรู้ว่ากรอบคืออะไร แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเรายังอยู่ในกรอบหรือคิดนอกกรอบไปแล้ว

เวลาไปสอนน้องๆ เรื่องการออกแบบการนำเสนอ ปัญหานึงที่พบบ่อย คือ น้องๆ รู้สึกว่าเขานำเสนอวนไปวนมา ทำให้ผู้ฟังไม่เข้าใจ 

กรอบความคิด คือ ทางแก้ปัญหาเรื่องนี้เลยค่ะ

อิงอยากเชิญชวนให้ทุกคนสละเวลาศึกษาวิธีคิดแบบต่างๆ รวมถึงเครื่องมือที่ใช้ในการคิดและวิเคราะห์ที่เหมาะสมกับงานของเรา 

แน่นอนค่ะว่าเราเป็นคนมีความคิด แต่เราคิดเป็นระบบดีพอหรือยัง ต้องลองถามตัวเราเองดูค่ะ

การเรียนรู้เกี่ยวกับกรอบความคิด เป็นการจัดระบบความคิดของเราได้ หนังสือเกี่ยวกับการคิดดีๆ มีหลายเล่มเลยค่ะ หากอยากเริ่มต้น ให้ลองค้นหากหนังสือของ Dr. Edward de Bono มาอ่านค่ะ ช่วยพัฒนาทักษะการคิดแบบมีกรอบของเราได้อย่างแน่นอน (แล้วค่อยขยับไปคิดนอกกรอบกันนะคะ)

คำถามชวนคิด

เวลาคุณคิดแก้ปัญหา คุณว่าคุณคิดเป็นระบบแล้วหรือยัง?

เวลาคุณเตรียมเนื้อหานำเสนอ คุณว่าคุณคิดได้อย่างเป็นระบบและวางกรอบการนำเสนอของคุณได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้วหรือยัง?

Ing

วิศวกรสิ่งแวดล้อมที่หันมาทำงานบริหารโครงการ แต่สนใจเรื่องการนำเสนอมาก
จนอยากจะแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้มาตลอดหลายปี (ไม่กล้าบอกปี เดี๋ยวรู้อายุ) ให้กับผู้อ่านที่น่ารักทุกคน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked

{"email":"Email address invalid","url":"Website address invalid","required":"Required field missing"}

โพสต์อื่นๆ ที่คุณอาจสนใจ

รีวิวหนังสือ (น่าอ่าน): Storytelling with you
รู้ลึก vs รู้แค่ผิวๆ
5 เรื่องสำคัญ ในการออกแบบโปสเตอร์นำเสนอ