"โครงการของเราได้รับการสนับสนุนเงินทุนจำนวน 3,912,257 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 116,976,484 บาท"

เมื่อเทียบกับ

"โครงการของเราได้รับการสนับสนุนเงินทุนจำนวน 3.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 117 ล้านบาท" 

คุณว่าผู้ฟังจะจำตัวเลขไหนได้...

ระหว่าง 3,912,257 หรือ 3.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ?

ระหว่าง 116,976,484 บาท หรือ 117 ล้านบาท?

แล้วคุณเองหล่ะ

...จะนำเสนอตัวเลขไหนได้คล่องกว่ากัน?

More...

การ Rounding ตัวเลข หรือการปัดเศษ เป็นคณิตศาสตร์ขั้นพื้นฐานที่เราเรียนกันมาตั้งแต่สมัยเป็นเด็ก 

แต่ในการทำงาน การปัดเศษก็ขึ้นกับบริบทต่างๆ เช่น อาชีพ  การนำตัวเลขไปใช้ต่อ และระดับความถูกต้องที่ต้องการ เป็นต้น 

ตัวอย่างเช่น ตัวเลขรายรับรายจ่ายทางบัญชีควรเป็นตัวเลขจริง ขณะที่จำนวนผู้เข้าชมงานที่ระบุไว้ในสื่อทางการตลาดอาจไม่ต้องเป๊ะขนาดนั้น (มีผู้เข้าชมงานหนังสือในช่วงวันหยุดยาวนี้ มากกว่า 30,000 คน เมื่อเทียบกับ มีผู้เข้าชมงานหนังสือในช่วงวันหยุดยาวนี้ 32,341 คน)

การปัดเศษ (Rounding) ในงานนำเสนอ 

แล้วในการนำเสนอหล่ะ ตัวเลขต้องเป๊ะขนาดไหน?

แน่นอนค่ะว่าไม่มีคำตอบตายตัว ขึ้นกับบริบทและการนำไปใช้ของเรา ซึ่งอิงเชื่อว่าหากเราไม่แค่ copy and paste หรือแค่พิมพ์ตัวเลขไปโดยอัตโนมัติ แต่หยุดซักนิด... และลองตั้งคำถามกับตัวเองว่า "เราจำเป็นต้องนำเสนอตัวเลขจริง หรือสามารถปัดเศษให้เลขกลมๆ ได้?" เราน่าจะมีคำตอบให้กับตัวเองได้

สำหรับแนวทางการพิจารณาคร่าวๆ ลองดูตาม list นี้ได้ค่ะ

ตัวเลขจริง

  • ผู้ฟังคาดหวังตัวเลขจริง เช่น การนำเสนอผลประกอบการทางบัญชีให้กับผู้บริหาร เป็นต้น
  • ผู้ฟังจะนำตัวเลขจริงนั้นไปคำนวณต่อ
  • ต้องการเพิ่มความน่าเชื่อถือของข้อมูลด้วยตัวเลขจริ

ตัวเลขปัดเศษ

  • ผู้ฟังไม่ต้องนำตัวเลขไปใช้ต่อโดยตรง
  • การปัดเศษ ทำให้เกิดค่า error ที่ยอมรับได้ และไม่ส่งผลกระทบต่อการรับรู้หรือการตัดสินใจของผู้ฟัง

เทคนิค Variable Rounding

โดยปกติแล้วเราจะปัดเศษโดย ต่ำว่า 5 ปัดลง เท่ากับหรือมากกว่า 5 ปัดขึ้น แต่คำถามน่าคิด คือ หากตัวเลขมีจำนวนหลายหลัก เราควรปัดเศษไปจนถึงหลักไหน และถ้ามีตัวเลขที่หลักไม่เท่ากันในชุดข้อมูล เราควรปัดเศษทุกชุดข้อมูลให้เท่ากันหรือไม่ (เช่น ปัดเศษหลักพัน ก็หลักพันหมดทุกชุด)

สมมุติว่าเรามีข้อมูลยอดขายผลิตภัณฑ์ ดังนี้

สมมุติว่าเรามีข้อมูลยอดขายผลิตภัณฑ์ ดังนี้

A    384,290 บาท

B    264,810 บาท

C    77,230 บาท

D    1,092,800 บาท

E    9,140 บาท

เราควรปัดเศษถึงหลักอะไร และควรปัดเศษให้เท่ากันหมดหรือไม่

หากเราปัดเศษที่หลักร้อย จะได้

A    384,300 บาท

B    264,800 บาท

C    77,200 บาท

D    1,092,800 บาท

E    9,100 บาท

คำถาม คือ ปัดแล้วเหมือนไม่ปัดหรือเปล่า?

ถ้าเราปัดเศษที่หลักพัน จะได้

A    384,000 บาท หรือ 384 พันบาท

B    265,000 บาท หรือ 265 พันบาท

C    77,000 บาท หรือ 77 พันบาท

D    1,093,000 บาท หรือ 1,093 พันบาท

E    9,000 บาท หรือ  9 พันบาท

อือม... ดูตัดสินใจลำบากนะคะ

เทคนิคนึงที่อิงว่าน่าสนใจ คือ variable rounding  นั่นคือ การปัดเศษของแต่ละข้อมูลที่อาจไม่ได้ปัดที่หลักเดียวกัน แต่ใช้การควบคุม % error แทน 

ถ้าเราปัดเศษที่หลักพัน จะได้

A    384,000 บาท มีค่า error เท่ากับ 0.07%

B    265,000 บาท มีค่า error เท่ากับ 0.08%

C    77,000 บาท มีค่า error เท่ากับ 0.25%

D    1,093,000 บาท มีค่า error เท่ากับ 0.02%

E    9,000 บาท มีค่า error เท่ากับ 1.1%

จะเห็นว่ามีค่า error ที่กระโดด 2 ตัว คือ C และ E หากเราลองปรับใหม่เป็น 

A    384,000 บาท หรือ 384 พันบาท มีค่า error เท่ากับ 0.07%

B    265,000 บาท หรือ 265 พันบาท มีค่า error เท่ากับ 0.08%

C    77,200 บาท หรือ 77.2 พันบาท มีค่า error เท่ากับ 0%

D    1,093,000 บาท หรือ 1,093 พันบาท มีค่า error เท่ากับ 0.02%

E    9,100 บาท หรือ 9.1 พันบาท มีค่า error เท่ากับ 0%

จะเห็นว่าการปัดเศษที่ไม่เท่ากันในแต่ละชุดข้อมูลจะให้ค่า error ที่ใกล้เคียงกันมากกว่า 

อิงว่าวิธีนี้น่าสนใจและน่านำปรับใช้ทีเดียวค่ะ เพราะระดับของ error ไม่โดดกันจนเกินไป แต่แน่นอนค่ะว่าก็ใช้เวลามากกว่าเช่นกันในการหาจุดที่เหมาะสมในการปัดเศษของข้อมูลแต่ละชุด

คำถามชวนคิด

คุณคิดว่าเทคนิค variable rounding จะสามารถนำไปปรับใช้กับการนำเสนอของคุณได้หรือไม่?

Ing

วิศวกรสิ่งแวดล้อมที่หันมาทำงานบริหารโครงการ แต่สนใจเรื่องการนำเสนอมาก
จนอยากจะแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้มาตลอดหลายปี (ไม่กล้าบอกปี เดี๋ยวรู้อายุ) ให้กับผู้อ่านที่น่ารักทุกคน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked

{"email":"Email address invalid","url":"Website address invalid","required":"Required field missing"}

โพสต์อื่นๆ ที่คุณอาจสนใจ

รีวิวหนังสือ (น่าอ่าน): Storytelling with you
รู้ลึก vs รู้แค่ผิวๆ
5 เรื่องสำคัญ ในการออกแบบโปสเตอร์นำเสนอ