หากเราได้ฟังการนำเสนอบ่อยๆ โดยเฉพาะงานนำเสนอออกแนววิชาการนิดๆ หรือผลการศึกษาโครงการต่างๆ ของภาครัฐ

อิงเชื่อว่า แค่เห็นผู้นำเสนอเดินขึ้นเวทีมา คุณก็คงพอเดาออกว่าเขาเหล่านั้นจะเริ่มพูดคำแรก ประโยคแรก หรือแม้แต่ช่วงไม่กี่นาทีแรกในการนำเสนอว่ายังไงบ้าง

คำถาม คือ เรามีทางเลือกอื่นๆ ในการเริ่มการนำเสนอ นอกจากการสวัสดี แนะนำตัวเรา แนะนำหัวข้อที่จะพูดถึง บ้างไหม?

...

อิงว่า เรามีทางเลือกนะคะ มาขยายความและแลกเปลี่ยนความเห็นในโพสต์นี้กันค่ะ

More...

การเริ่มนำเสนอที่พบได้ทั่วไป

ผู้นำเสนอ 1: "สวัสดีค่ะ ขอบคุณทุกท่านที่มาร่วมรับฟังการนำเสนอในวันนี้ เนื้อหาที่จะนำเสนอเป็นการผลศึกษาการขับเคลื่อนแผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมของประเทศ โดยหัวข้อที่จะนำเสนอประกอบด้วย..."

ผู้นำเสนอ 2: "สวัสดีครับ วันนี้ผมจะมาพูดเรื่องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยเศรษฐกิจหมุนเวียน คือ ..."

ผู้นำเสนอ 3: "สวัสดีค่ะ ดิฉันนางสาว ก จากกรม ข เนื้อหาในวันนี้ที่ดิฉันจะนำเสนอเป็นเรื่องความปลอดภัยของชุมชนในกรณีที่เกิดการรั่วไหลของสารเคมีจากโรงงาน อย่างที่ทุกท่านทราบดีว่าเมื่อไม่นานมานี้มีเหตุการณ์โรงงานระเบิด ทำให้ต้องอพยพผู้คนเป็นจำนวนมาก..."

การเริ่มนำเสนอตามตัวอย่างข้างต้นเป็นเรื่องปกติที่เราพบได้ทั่วไป ถามว่าแย่มั๊ย ไม่ได้แย่นะคะ ดูปกติและสุภาพเรียบร้อยดีค่ะ 

แต่เวลาในช่วงเริ่มต้นแค่ไม่กี่นาทีแรก เป็นเวลาสำคัญที่เราจะดึงดูดความสนใจของผู้ฟัง และสร้างความน่าติดตามให้กับการนำเสนอของเรา 

การเริ่มนำเสนอแบบปกตินั้นทำให้เราไม่ได้ใช้ประโยชน์จากเนื้อหาของเราในการดึงดูดความสนใจจากผู้ฟังค่ะ

มาลองดูทางเลือกอื่นกันค่ะ

3 ทางเลือกในการเริ่มนำเสนอ (ให้คนเงยหน้าขึ้นมาฟัง)

ในบรรดา platform เรียนออนไลน์ทั้งหลาย อิงชอบ linkedin learning ที่สุดค่ะ นอกจากเนื้อหาที่ดีและการผลิตสื่อการสอนที่ดีแล้ว ผู้สอนใน linkedin learning จะทำอย่างนึงคล้ายๆ กันค่ะ (ไม่แน่ใจว่าเป็น format บังคับของ platform หรือเปล่า) และอิงว่ามัน work มากๆ นั่นคือ ในการเริ่มคลิปแรก ผู้สอนจะไม่ได้เริ่มจากการแนะนำตัวเองค่ะ แต่เริ่มจากเรื่องเล่าบ้าง สรุปสิ่งที่เราจะได้จากการเรียนรู้บ้าง หรือเริ่มจากคำถามฉุกคิดก็มีค่ะ แล้วค่อยแนะนำตัว แค่คลิปแรกเราก็พอจะรู้แล้วค่ะว่าจะไปต่อหรือพอเท่านี้ เรียกว่าให้ข้อมูลเพียงพอที่จะตัดสินใจได้เลยทีเดียว

เช่นเดียวกันค่ะ ทางเลือกในการเริ่มนำเสนอมีหลากหลายค่ะ สิ่งสำคัญ คือ การดึงความสนใจของผู้ฟังจากสิ่งอื่นๆ ให้มาอยู่ที่การนำเสนอของเรา เมื่อลองสรุปแนวทางยอดนิยมของ linkedin learning อิงพบว่ามีอยู่ 3 แนวทางที่ได้รับความนิยมมาก คือ 1) เริ่มด้วยบทสรุป 2) เริ่มด้วยคำถาม และ 3) เริ่มด้วยเรื่องเล่า ซึ่งเราสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการเริ่มนำเสนอของเราได้ด้วยเช่นกัน

มาดูตัวอย่างกันค่ะ

#1 เริ่มด้วยบทสรุป

การเริ่มต้นด้วยบทสรุปอาจดูเสี่ยงที่จะทำให้ผู้ฟังเลิกสนใจการนำเสนอของเรา (คล้ายกับการสปอยล์หนัง) แต่อิงว่ามีการนำเสนออยู่แบบนึงที่การเริ่มต้นด้วยบทสรุปจะทำให้ผู้ฟังเงยหน้าขึ้นมามองแน่นอน นั่นคือการนำเสนอที่บทสรุปอาจไม่ตรงกับความคาดหวังของผู้ฟัง (หา… อะไรนะ ผู้ฟังจะคิดแบบนี้ในใจค่ะ) นอกจากนี้การนำเสนออีกแบบที่เหมาะกับการเริ่มต้นด้วยบทสรุป คือ การนำเสนอที่เราต้องการให้ผู้ฟังเห็นภาพรวมก่อนที่จะเจาะลงไปในรายละเอียดแต่ละเรื่องค่ะ

ตัวอย่าง

ผู้นำเสนอ 1: "สวัสดีค่ะ เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ประเทศไทยประสบปัญหาเรื่องน้ำในแม่น้ำเน่าเสีย ภาพคลองที่มองแล้วไม่แน่ใจว่าเป็นกองขยะลอยน้ำหรือคลองสาธารณะเป็นสิ่งที่เราเห็นกันจนชินตา (ฉายภาพในสไลด์ประกอบ) แต่หลังจากเราใช้แผนการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง คุณภาพน้ำในแม่น้ำของเราดีขึ้นมากกว่า 25% แต่... เรายังคงมีปัญหาอื่นๆ ที่รุมเร้า ทั้งปัญหาเรื่องขยะที่มีขยะตกค้างเพิ่มขึ้นมากกว่า 20% และปัญหาใกล้ตัว ฝุ่น PM2.5 ที่เพิ่มขึ้นจนถึงขั้นวิกฤตในบางช่วง (ฉายภาพสไลด์ประกอบ) หลายท่านคงสงสัยว่าที่ดีขึ้นนั้นดีขึ้นอย่างไร และที่แย่ลงมันคือตรงไหน มาดูรายละเอียดในประเด็นต่างๆ เหล่านี้กันค่ะ โดยหัวข้อที่จะนำเสนอในวันนี้ประกอบด้วย ..."

Tips เพิ่มเติม

เราไม่จำเป็นต้องพูดถึงทุกบทสรุปในการเริ่มการนำเสนอ ให้เลือกมาแค่บางเรื่องก็ได้ค่ะ ยิ่งหากมีเรื่องที่คนไม่คาดถึง นั่นยิ่งเข้าทางเลยค่ะ

#2 เริ่มด้วยคำถาม

การเริ่มต้นด้วยคำถามที่เชื่อมโยงไปยังเรื่องที่จะนำเสนอเป็นวิธีที่นำไปใช้ได้ง่าย ไม่ต้องคิด script นาน แถมยังได้ประโยชน์ในการสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้ฟังด้วยค่ะ ยิ่งถ้าเป็นการนำเสนอช่วงบ่ายถือเป็นตัวช่วยแก้ง่วงได้อย่างดีเลยค่ะ 

ตัวอย่าง

ผู้นำเสนอ 2: "ใครเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือใหม่ใน 1 ปีนี้บ้างครับ (ถามให้ยกมือ) แล้วใครเปลี่ยนมานานเกิน 1 ปีบ้างครับ (ถามให้ยกมือ)" 

ผู้นำเสนอ 2: "แล้วเราทำยังไงกับโทรศัพท์มือถือเก่าครับ (ถามเพื่อให้ช่วยออกความเห็น)"

ผู้นำเสนอ 2: "ปัญหาที่คล้ายกัน คือ ถ้าไม่ขายต่อไป ก็จะเก็บไว้ เมื่อวานผมลองนับเครื่องเก่าที่คนในบ้านเก็บไว้ ได้เท่านี้ครับ (เอามือถือเก่าออกมาวางกองไว้ และนับ)" 

ผู้นำเสนอ 2: "ทุกวันนี้เราอยากขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน แต่แค่มองไปรอบๆ ตัวเรา ก็จะเจอประเด็นมากมายที่นำไปสู่คำถามว่าแล้วเราจะต้องขับเคลื่อนอย่างไร มือถือแก่ที่กองอยู่นี้เป็นแค่ปัญหานึงเท่านั้น เรามาดูภาพรวมทั้งระบบกันครับ" 

Tips เพิ่มเติม

  • ควรคิดเผื่อไว้ด้วยค่ะว่าจะตอบสนองต่อคำตอบของผู้ฟังอย่างไร เช่น คำถามที่ให้ตอบใช่หรือไม่ใช่ หากผู้ฟังตอบว่าใช่เราจะทำอย่างไรต่อ เป็นต้น
  • หากมีคนตอบน้อย เราจะทำอย่างไรต่อ หากคำถามเรามีแค่ 2 ทางเลือก คือ ใช่ กับ ไม่ใช่ แล้วมีคนยกมือรวมกันเพียงเล็กน้อย เราสามารถถามต่อไปได้ว่าแล้วคนที่ไม่ยกมือจะแปลความหมายว่าอย่างไรดี (ถ้าออกแบบดีๆ มักจะเป็นการสร้างความบันเทิงให้กับผู้ฟังได้ขำกันเล็กน้อยก่อนเริ่มค่ะ ช่วยสร้างบรรยากาศให้เป็นกันเองขึ้นด้วย)
  • หากไม่มีใครตอบเลย เราจะทำอย่างไรต่อ

#3 เริ่มด้วยเรื่องเล่า

คนเราชอบฟังเรื่องเล่ามานานแสนนานแล้วค่ะ กูรูด้านการนำเสนอต่างยกให้เรื่องเล่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการเพิ่มเสน่ห์ของการนำเสนอของเรา ดังนั้นเราก็หยิบมาใช้ตั้งแต่ต้นซะเลยค่ะ ใช้เรื่องเล่านี่แหละในการเริ่มการนำเสนอของเรา

ตัวอย่าง

ผู้นำเสนอ 3: "เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เสียงโทรศัพท์ตั้งแต่ยังไม่เช้ามืดปลุกดิฉันขึ้นมา ใจเต้นโครมครามเลยค่ะตอนรับสาย น้องชายดิฉันโทรมาบอกว่าโรงงานแถวบ้านเขาระเบิด โรงงานไม่ได้อยู่ใกล้มาก แต่แรงระเบิดถึงกับทำให้หน้าต่างบ้านแตก แล้วตอนนี้ก็เริ่มได้กลิ่นสารเคมีแล้ว เขาโทรมาถามว่าจะเอายังไงดี ดิฉันถามรายละเอียดไปพลาง กดดูในหน้า twitter ของ 199 ว่าเป็นโรงงานอะไร พอเห็นชื่อโรงงาน ดิฉันรีบบอกให้เขาปิดบ้านแล้วขับพาครอบครัวพร้อมทั้งพ่อแม่ของเรามามาที่บ้านดิฉันทันที เช้านั้นอย่างที่ทุกท่านทราบค่ะ ความโกลาหลที่เกิดขึ้น ความหวาดกลัวการระเบิดเพิ่มเติม และผลกระทบจากควันของสารเคมีที่ถูกเผาไหม้ ทำให้ทางจังหวัดต้องสั่งอพยพผู้คนที่อยู่โดยรอบ เหตุการณ์เช่นนี้อาจเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต แล้วถ้ามันเกิดขึ้นใกล้บ้านของคุณหรือคนที่คุณรัก คุณจะต้องทำอย่างไร? ดังนั้นเราจึงต้องให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัยของชุมชน ในกรณีที่เกิดการรั่วไหลของสารเคมีไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบไหน มาดูรายละเอียดกันค่ะ”

Tips เพิ่มเติม

  • หากเป็นเรื่องจริงที่เราประสบมาเองจะดีมาก
  • เรื่องเล่าไม่ควรยาวเกินไป
  • เรื่องเล่าควรมีความเชื่อมโยงกับเนื้อหาที่เราจะนำเสนอ
  • สามารถนำหลักการ man-in-hole ไปประยุกต์ใช้ได้ค่ะ (อ่านเพิ่มเติมคลิกที่นี่)

คำถามชวนคิด

ปกติแล้วคุณเริ่มต้นการนำเสนออย่างไร?

หากคุณอยากเริ่มต้นการนำเสนอให้แปลกออกไปและน่าสนใจขึ้น คุณจะทำอย่างไรบ้าง?

Ing

วิศวกรสิ่งแวดล้อมที่หันมาทำงานบริหารโครงการ แต่สนใจเรื่องการนำเสนอมาก
จนอยากจะแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้มาตลอดหลายปี (ไม่กล้าบอกปี เดี๋ยวรู้อายุ) ให้กับผู้อ่านที่น่ารักทุกคน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked

{"email":"Email address invalid","url":"Website address invalid","required":"Required field missing"}

โพสต์อื่นๆ ที่คุณอาจสนใจ

รีวิวหนังสือ (น่าอ่าน): Storytelling with you
รู้ลึก vs รู้แค่ผิวๆ
5 เรื่องสำคัญ ในการออกแบบโปสเตอร์นำเสนอ