ในหนังสือด้านการนำเสนอ มักมีคำแนะนำให้เราใช้ภาษากายประกอบการนำเสนอด้วย ไล่ไปตั้งแต่คำแนะนำในการยืน การเดิน การใช้สายตา และการใช้มือ

คำแนะนำเหล่านี้ส่วนใหญ่มาจากประสบการณ์ของผู้เขียนหนังสือที่มักเป็นกูรูหรือโค้ชด้านการนำเสนอ แต่อิงไม่ค่อยเห็นใครยกงานวิจัยขึ้นมาประกอบ

More...

จนเมื่อเร็วๆ นี้ อิงอ่านบทความจาก HBR ว่าด้วยการทดลองหนึ่งของ Professor Joep Cornelissen จาก Erasmus University ที่ออกแบบให้นักลงทุนผู้มากประสบการณ์เลือกว่าสนใจจะลงทุนกับผู้ประกอบการหรือไม่ โดยที่นักลงทุนผู้ร่วมการทดลองจะได้รับฟังวีดีโอเวอร์ชั่นใดเวอร์ชั่นหนึ่ง ใน 4 เวอร์ชั่นนี้ด้วยกัน 1) ใช้การเปรียบเปรย 2) ใช้มือประกอบการอธิบายบ่อยๆ 3) ใช้ทั้งการเปรียบเปรยและมือประกอบการอธิบาย และ 4) ไม่ใช้อะไรเลย

ปรากฏว่านักลงทุนที่ได้รับฟังวีดีโอเวอร์ชั่นที่ใช้มือประกอบการอธิบายบ่อยๆ สนใจที่จะลงทุนมากกว่าค่าเฉลี่ยอยู่ถึง 12% เลยทีเดียว

(หากสนใจอ่านบทความฉบับเต็ม คลิกได้ที่นี้ค่ะ)

ผู้ทดลองสรุปการแปลผลอย่างง่าย คือ เมื่อคุณต้อง Pitch งาน การใช้ท่าทางประกอบสำคัญกว่าคำพูด

ถึงแม้ว่าการนำเสนอของเราอาจไม่เข้มข้นเท่าการ Pitch งานหลักหลายล้าน อิงคิดว่าการใช้ภาษากายประกอบการนำเสนอเป็นคำแนะนำที่ควรฝึกและนำไปใช้อย่างสม่ำเสมอค่ะ มาดูกันค่ะว่า การใช้ภาษากายเบื้องต้น (101) ในการนำเสนอ มีอะไรบ้าง

การยืน

  • แนะนำว่าถ้าเลือกได้ (โดยไม่ลำบากเกินไป) เราควรยืนนำเสนอ มากกว่านั่งนำเสนอค่ะ
  • กางขาให้ระยะเหมาะสม (ประมาณสะโพก) อย่าแคบไป (ดูหนีบ) อย่ากว้างไป (ดูจังก้าเกินไป)
  • ยืนตัวตรง อกผาย ไหล่ผึ่ง อย่ายืนหงิกๆ งอๆ (ซึ่งเป็นภาษากายที่สะท้อนความไม่มั่นใจ)
  • วางแขนไว้ข้างตัว (อย่าเกร็ง ปล่อยแขนตามสบาย) ยืนให้มั่นคง อย่าพูดไปโยกตัวไป
  • ไม่ควรยืนพูดโดยเอามือไพล่หลัง หรือเอามือซุกเข้าไปในกระเป๋ากางเกง
  • หาฐานที่มั่นในการยืน (หากทำได้ควรอยู่กึ่งกลางเวที หรือห้อง)

การเดิน

  • เดินอย่างมีจุดมุ่งหมาย
  •  เดินให้สง่างาม อย่าเดินกระย่องกระแย่ง
  • อย่าเดินไปเดินมาตลอดเวลา 
  • เมื่อเดินเสร็จแล้ว (เช่น เดินไปถามคำถามผู้ฟังด้านซ้ายมือ) กลับมาที่ฐาน
  • อ่านเทคนิคเพิ่มเติมเรื่องการเดินได้ในโพสต์นี้ค่ะ (คลิกที่นี่)

การใช้สายตา

  • อย่ากลัวที่จะสบตากับผู้ฟัง (อย่าก้มหน้าก้มตาพูด หรือมองสไลด์ตลอดเวลา)
  • อย่าจ้องมองผู้ฟังคนใดคนหนึ่งเป็นเวลานาน
  • หากผู้ฟังจำนวนมากกว่า 30 คน ให้จินตนาการผู้ฟังออกเป็น 9 กลุ่ม (คิดเป็นตารางสี่เหลี่ยมในใจ) แล้วมองทีละกลุ่ม กลุ่มละประมาณ 3 วินาที
  • หากผู้ฟังจำนวนน้อยกว่า 30 คน สามารถมองไปที่แต่ละคนแบบสั้นๆ ได้ (ประมาณ 1 วินาที) หรือกวาดตาช้าๆ ให้ผ่านแต่ละกลุ่มได้

การใช้มือ

  • อย่ากลัวที่จะใช้มือประกอบท่าทาง
  • ใช้มือประกอบอย่างมีจุดมุ่งหมาย อย่าโบกไปโบกมา หรือหมุนแขน (แบบท่าเป่ายิ้งฉุบ) บ่อยจนเกินงาม
  • ให้คิดเสมือนว่ามีวงกลมอยู่ตรงช่วงระหว่างหน้าอกกับพุงของเรา แล้วใช้มือประกอบอยู่ในพื้นที่วงกลมนั้น (ไว้มีเวลามาขยายความเป็นอีกโพสต์นึงค่ะ)
  • ใช้มือช่วยนับเลข โดยเฉพาะเมื่อพูดถึงประเด็นสำคัญ เช่น มี 3 ประเด็น หนึ่ง คือ (ให้ชูมือเป็นตัวเลขให้ดูด้วย เพื่อดึงดูดสายตาผู้ฟัง)

การแสดงออกทางใบหน้า

  • เลือกการแสดงออกทางใบหน้าให้เหมาะกับเนื้อหา (เนื้อหาเศร้ามาก แต่ผู้นำเสนอยิ้มแฉ่งตลอดเวลา เพราะอ่านเจอมาว่าควร "ยิ้ม" เวลานำเสนอ)
  • หากเลือกที่จะยิ้ม ไม่ต้องยิ้มแฉ่งตลอดเวลา สลับกับอมยิ้มหรือยิ้มบางๆ บ้างได้ค่ะ
  • ระวังอย่าเล่นใหญ่เกินไประดับรัชดาลัยเธียร์เตอร์ (แสดงออกทางสีหน้า ราวกับเล่นละครเวที เพราะกลัวส่งพลังไปไม่ถึงด้านหลัง - อาจเหมาะกับบางสถานการณ์เท่านั้น โปรดใช้วิจารณญาณในการเลือกใช้)

คำถามชวนคิด

การนำเสนอครั้งล่าสุดของคุณใช้ภาษากายบ้างหรือไม่?

หากคุณจะเพิ่มเติมการใช้ภาษากายในการนำเสนอครั้งหน้าของคุณ ต้องทำอย่างไรบ้าง?

Ing

วิศวกรสิ่งแวดล้อมที่หันมาทำงานบริหารโครงการ แต่สนใจเรื่องการนำเสนอมาก
จนอยากจะแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้มาตลอดหลายปี (ไม่กล้าบอกปี เดี๋ยวรู้อายุ) ให้กับผู้อ่านที่น่ารักทุกคน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked

{"email":"Email address invalid","url":"Website address invalid","required":"Required field missing"}

โพสต์อื่นๆ ที่คุณอาจสนใจ

รีวิวหนังสือ (น่าอ่าน): Storytelling with you
รู้ลึก vs รู้แค่ผิวๆ
5 เรื่องสำคัญ ในการออกแบบโปสเตอร์นำเสนอ