ช่วงเวลาแห่งการสัมมนาเริ่มตั้งแต่ต้นเดือนกันเลยค่ะ

ฟังติดๆ กันหลายๆ งาน...

อิงก็อดคิดไม่ได้ว่า...

การนำเสนอเชิงวิชาการนั้น สำคัญ น่าสนใจ และมีประโยชน์

แต่... มันไม่ค่อยน่าติดตาม

สไลด์อาจเป็นส่วนหนึ่ง

(แต่... สไลด์ที่ออกแบบมาดี น่าสนใจ ก็มีเยอะขึ้นมาก)

วันนี้อิงขอตั้งข้อสังเกตว่า...

สิ่งสำคัญที่ขาดหายไปในการนำเสนอเชิงวิชาการ

คือ...

"การดึงความสนใจจากผู้ฟัง" ค่ะ

มาขยายความและแลกเปลี่ยนความเห็นกันค่ะ

More...

ลองหลับตานึกถึงบรรยากาศเก่าๆ ที่คุณไปนั่งฟังการประชุมหรือการสัมมนา ที่นำเสนอข้อมูลโครงการ ผลสรุปจากการดำเนินงาน นโยบายและแผนของภาครัฐ ทิศทางการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ต่างๆ และอื่นๆ 

คุณยังจำความรู้สึกตอนฟังได้มั๊ยคะ ว่าเป็นอย่างไร?

สำหรับอิง ส่วนใหญ่แล้ว ถ้าตัดสินใจไปฟัง เพราะอยากรู้เรื่องนั้นๆ จริงๆ หรืออยากติดตามความก้าวหน้าในประเด็นนั้นๆ ว่าทำกันไปถึงไหนแล้ว 

แต่สิ่งที่มักเกิดขึ้น คือ ฟังไปได้สักพัก มันจะเริ่มเบื่อๆ นิดนึง อาจมีบ้างที่เริ่มง่วง แต่ที่เขวหยิบโทรศัพท์มานั่งดูโน่นดูนี่ก็มีบ่อยเหมือนกัน สลับกับหันไปตั้งใจฟังการนำเสนอเป็นระยะ และเมื่ออิงสังเกตคนรอบข้าง พบว่าส่วนใหญ่จะมีปฏิกิริยาคล้ายๆ กัน

ทำไมเราถึงฟังการนำเสนอเชิงวิชาการได้ไม่ทน?

จากประสบการณ์ส่วนตัว อิงลองวิเคราะห์ดู สรุปได้สาเหตุประมาณนี้ค่ะ 

  • เนื้อหาไม่โลดโผน เรียบๆ เรื่อยๆ การนำเสนอเชิงวิชาการส่วนใหญ่ที่ฟังมาจะเป็นประมาณนี้เกือบทั้งนั้น 
  • รายละเอียดเยอะ ทำให้ผู้นำเสนอมุ่งความสนใจไปที่การอธิบายรายละเอียดต่างๆ 
  • เป็นการสื่อสารทางเดียว ขาดปฏิสัมพันธ์กับผู้ฟัง โดยส่วนใหญ่การนำเสนอเชิงวิชาการจะออกแนวบรรยายสักประมาณ 15 นาที ถึง 1 ชั่วโมง และเป็นการเน้นการให้ข้อมูลแบบยาวๆ ไป ถ้าผู้ฟังมีข้อสงสัย รอเก็บไว้ถามเมื่อพูดเสร็จหรือในช่วง Q&A
  • ผู้นำเสนอมักเป็นผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ที่รับผิดชอบงานนั้นๆ (เป็นกึ่งๆ นักวิชาการนั่นเอง) มักใช้น้ำเสียงราบเรียบในการนำเสนอ (อาจเกี่ยวกับข้อ 1 ด้วย) พูดไปเรื่อยๆ ไม่มีการหยุดเพื่อเน้นสิ่งสำคัญ หรือใช้น้ำเสียงเพื่อดึงดูดความสนใจ
  • ผู้นำเสนอมีหน้าที่มานำเสนอ (แต่อาจไม่ได้มาพร้อมกับความคาดหวังให้ผู้ฟังได้นำสิ่งที่นำเสนอกลับไป) ข้อนี้อาจดูแรง แต่เป็นความจริงที่พบเจอ คือ ผู้นำเสนอแต่ละคนมีความตั้งใจไม่เท่ากัน บางคนตั้งใจมากเตรียมตัวมาดี หากเจอแบบนี้ ถือว่าวันนั้นทำบุญมาดีค่ะ แต่หากวันไหนโชคไม่ค่อยดี จะเจอผู้นำเสนอที่มานำเสนอตามหน้าที่ พูดตามสไลด์ที่ให้น้องๆ เตรียมให้ โดยไม่ได้วิเคราะห์ผู้ฟังมาก่อน ฟังแล้วก็จะงงๆ ว่าเขาอยากให้เรารู้อะไร สักพักก็จะถอดใจเลิกฟัง

ลองคิดกลับกัน

ถ้าเราต้องเป็นผู้นำเสนอเชิงวิชาการบ้างหล่ะ.... เราจะปรับปรุงอย่างไรได้บ้าง?

สิ่งนึงที่อิงคิดว่า เราน่าจะต้องเพิ่มเข้าไปในการนำเสนอของเรา คือ เพิ่มการดึงดูดความสนใจของผู้ฟัง ในเบื้องต้นอิงว่ามี 3 สิ่งที่เราสามารถปรับปรุงได้ทันที (เอาไปใช้ในการนำเสนอครั้งต่อไปได้พอดี)

#1 การใช้คำถาม

การใช้คำถามเป็นการดึงความสนใจของผู้ฟังได้ดีที่สุด คำถามเป็นสิ่งที่สื่อให้ผู้ฟังรู้ว่าเรากำลังคุยกันอยู่นะ แต่การถามคำถามก็มีเทคนิคค่ะ ที่อิงใช้บ่อยๆ ก็คือ

  • ถามคำถามตั้งแต่ช่วงต้นๆ ยิ่งเปิดด้วยคำถามก็ยิ่งดี เป็นการดึงความสนใจของผู้ฟังตั้งแต่เขายังไม่มีสมาธิมากนัก เหมือนเป็นการบอกใบ้ผู้ฟังว่าเราจะเริ่มแล้วนะจ๊ะ 
  • เลือกคำถามที่ชวนให้คิดต่อ (แต่ไม่ง่ายเกินไปและยากเกินไป) ที่สำคัญเลย คือ อย่ายากเกินไป เพราะจะไม่มีคนตอบค่ะ 
  • เลือกคำถามที่สามารถให้ผู้ฟังยกมือแทนการตอบได้ เผื่อไม่มีผู้ตอบ เราจะได้ให้เขามีส่วนร่วมแทนด้วยการยกมือได้
  • ที่สำคัญ คำถามนั้นควรเกี่ยวกับเนื้อหาที่เราจะพูดด้วยนะคะ

เมื่อบรรยายไปสักพัก อาจแทรกคำถามเข้าไปเป็นระยะ นอกจากจะช่วยตรวจสอบความเข้าใจแล้ว ผู้ฟังจะได้ตื่นตัว หรือถูกดึงให้กลับมาสนใจผู้นำเสนออีกครั้ง

#2 การใช้น้ำเสียง

เนื่องด้วยความเป็นกึ่งๆ นักวิชาการ ผู้นำเสนอจึงมีน้ำเสียงที่เคร่งขรึม จริงจัง และราบเรียบไปสักหน่อย ทำให้เนื้อหาที่เต็มไปด้วยข้อมูล ยิ่งมีความราบเรียบเข้าไปใหญ่ 

ลองปรับมาใช้น้ำเสียงเหมือนเราเล่าเรื่องให้เพื่อนฟัง ที่มันจะมีการใช้เสียงสูงบ้าง ต่ำบ้าง เพื่อให้ได้อรรถรส หยุดพูดนิดนึง (ตอนที่จะพูดอะไรสำคัญๆ) คนจะได้เอ๊ะ... แล้วรอฟังเราพูดต่อ

#3 การใช้เรื่องเล่า

ถึงเนื้อหาจะเต็มไปด้วยข้อมูล เราก็ใส่เรื่องเล่าเข้าไปได้ค่ะ เรื่องเล่าเปรียบเสมือนอาวุธลับที่จะทำให้การนำเสนอของเราน่าสนใจและน่าจดจำมากขึ้น 

ตัวอย่างสดๆ ร้อนๆ ค่ะ อิงฟังคอร์สออนไลน์เรื่อง Data Analytics สอนโดยทีมงานของ Google ในคลิปนึงที่แนะนำว่าการวิเคราะห์ข้อมูลคืออะไร ผู้บรรยายเล่าเรื่องข้อมูลการนอนของตัวเอง เมื่อเข้านอนห้าทุ่ม ตื่นหกโมงครึ่ง รวมเวลานอน 7 ชั่วโมงครึ่ง เป็นระยะเวลาการนอนที่ตัวเขาเองรู้สึกว่าตื่นมาแล้วสดชื่นที่สุด และการตื่นตอนเช้าสักหกโมงครึ่ง เป็นช่วงเวลาที่เขาเองรู้สึกมีประสิทธิภาพสูงสุด พ่อหนุ่มของเราสรุปว่าการสังเกตข้อมูลการนอนและวิเคราะห์ผล เป็นการสะท้อนการหารูปแบบและความสัมพันธ์อย่างง่ายของชุดข้อมูล ซึ่งเป็นงานที่นักวิเคราะห์ข้อมูลทำอยู่เป็นประจำนั่นเอง

พอฟังคลิปนี้จบ อิงว่าที่อิงจำได้ก็มีแค่เรื่องนี้แหละค่ะ แต่สิ่งนี้คือหัวใจของเรื่องที่เขาอยากสื่อออกมา เราเองก็สามารถนำเรื่องเล่ามาป็นเทคนิคนึงในการดึงดูดความสนใจ (และช่วยในการจดจำข้อมูล) ของผู้ฟังได้ไม่ยากเลยค่ะ

คำถามชวนคิด

คุณว่าการนำเสนอครั้งล่าสุดของคุณ ผู้ฟังมีปฏิกิริยาอย่างไร?

แล้วหากคุณอยากจะดึงดูดความสนใจของผู้ฟังให้มากขึ้น คุณจะนำเทคนิคข้อใดไปปรับใช้ได้บ้าง??

Ing

วิศวกรสิ่งแวดล้อมที่หันมาทำงานบริหารโครงการ แต่สนใจเรื่องการนำเสนอมาก
จนอยากจะแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้มาตลอดหลายปี (ไม่กล้าบอกปี เดี๋ยวรู้อายุ) ให้กับผู้อ่านที่น่ารักทุกคน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked

{"email":"Email address invalid","url":"Website address invalid","required":"Required field missing"}

โพสต์อื่นๆ ที่คุณอาจสนใจ

รีวิวหนังสือ (น่าอ่าน): Storytelling with you
รู้ลึก vs รู้แค่ผิวๆ
5 เรื่องสำคัญ ในการออกแบบโปสเตอร์นำเสนอ