เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

อิงสอนคลาสประจำที่สอนทุกปีให้กับน้องๆ นักศึกษาป.โท

แต่ปีนี้พิเศษหน่อยค่ะ ได้สอนออนไลน์

ปัญหาที่ตามมา คือ การสอนคลาสนี้เน้นการทำกิจกรรม

เนื้อหาครึ่งนึง กิจกรรมครึ่งนึง

พอต้องสอนออนไลน์เลยต้องปรับรูปแบบกัน

เปลี่ยนจากเนื้อหาปกติ...

เอามาใส่เรื่องเล่าแทน...

อิงว่าแนวทางนี้น่าสนใจเลยค่ะ 

เลยมาบันทึกไว้ เผื่อผู้อ่านจะได้นำไปประยุกต์ใช้ต่อค่ะ

More...

แรงบันดาลใจ

ขอให้เครดิตกับหนังสือ ศาสตร์ของสมองที่รู้จักหยุดพัก (อ่านรีวิวได้ที่นี่) ที่เนื้อหา 90% เป็นเรื่องเล่า ที่ใช้ถ่ายทอดทั้งแนวคิด ความรู้ วิธีการ และการประยุกต์ใช้ แบบรวดเดียวจบได้อย่างน่าติดตาม

ถึงแม้ว่าในการนำเสนอปกติ อิงจะมีเส้นเรื่องอยู่แล้ว แต่นี่เป็นครั้งแรกที่สอนแบบใช้เรื่องเล่า (มีตัวละคร) ประกอบการนำเสนอแบบเต็มรูปแบบ

ผลตอบรับ

ก่อนที่จะไปดูว่าอิงออกแบบสไลด์การนำเสนออย่างไร และมีแนวคิดในการวางเรื่องเล่าอย่างไร ขอจูงใจด้วยผลตอบรับจากผู้เรียนกันก่อนค่ะ

ผู้เรียนส่วนใหญ่ให้ข้อคิดเห็นว่า การเล่าเรื่องทำให้ผู้เรียนเข้าใจและเห็นภาพได้ง่ายขึ้น ที่สำคัญ คือ ทำให้เนื้อหาน่าติดตามและไม่น่าเบื่อ ซึ่งอิงว่าเป็นการแก้จุดอ่อนของการสอน (และการนำเสนอ) แบบออนไลน์ได้เป็นอย่างดี 

แนวคิดในการวางพล็อตเรื่อง

  • พล็อตเรื่อง: อิงเลือกใช้พล็อตยอดนิยม man-in-hole (อ่านรายละเอียดเพิ่มได้ที่นี่) นั่นคือ ตัวเอกจะเผชิญปัญหาต่างๆ ที่ต้องแก้ไข (เปรียบได้กับการตกหลุม) แล้วค่อยๆ แก้ไขปัญหา (ปีนขึ้นจากหลุม) โดยในบริบทนี้ คือ ค่อยๆ ทำความเข้าใจกับเนื้อหาที่สอนและแก้ปัญหาที่กำหนดให้
  • แบ่งเนื้อหาเป็นตอน: เนื่องจากเนื้อหาในการสอน 3 ชั่วโมง มีรายละเอียดเยอะพอสมควร ดังนั้นจึงแบ่งเนื้อหาออกเป็นตอนๆ โดยเนื้อหาเป็นแบบจบในตอน แต่มีความเชื่อมโยงไปยังตอนต่อไป
  • ลำดับการนำเสนอ: เนื้อหาของอิงมี 5 ตอน เรียงลำดับการนำเสนอไปตั้งแต่ปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในสำหรับการพัฒนาโครงการอย่างยั่งยืน และภาพขยายของโครงการไปยังระบบนิเวศและสังคมที่ใหญ่ขึ้น
  • การวางตัวละคร: พื้นฐานสำคัญอย่างหนึ่งของการเล่าเรื่อง คือ ตัวละคร โดยอิงเลือกที่จะใช้ตัวละครที่มีพื้นฐานใกล้เคียงกับนักศึกษา คือ เพิ่งจบมาได้ไม่นาน ทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกับนักศึกษา พบเจอปัญหาที่นักศึกษาบางคนอาจเคยเจอมาก่อน และมีความจำเป็นต้องเรียนรู้เรื่องต่างๆ เป็นต้น
  • การเล่าเรื่องตัวละคร: เราต้องกำหนดพื้นหลังสั้นๆ ของตัวละครและเล่าให้นักศึกษาฟังด้วย  เพื่อให้ผู้ฟังรู้สึกเชื่อมโยงและเอาใจช่วยตัวละคร (ติดตามเนื้อหา ไม่เบื่อไปซะก่อน)
  • พฤติกรรมที่ดูสมจริง: พฤติกรรมของตัวละครควรดูสมจริง เช่น เมื่อไม่รู้ก็ google เพื่อหาข้อมูล เป็นต้น
  • สอดแทรกกิจกรรม: ในระหว่างการเล่าเรื่อง มีการสอดแทรกกิจกรรมเป็นระยะ เช่น เมื่อตัวละคร google หาข้อมูล ก็ให้นักศึกษาช่วยกันเป็น google ในการให้คำตอบ (ตัวอย่างในรูป A) หรือเมื่อมีการถามข้อคิดเห็นระหว่างตัวละคร ก็เป็นโอกาสที่จะให้นักศึกษาช่วยกันคิดและตอบได้ (คำถามจะเป็นในลักษณะที่ว่า หากเขาเป็นตัวละครนั้นจะแก้ปัญหาอย่างไร หรือ คิดอย่างไร) 

แนวทางในการออกแบบสไลด์

  • รูปตัวละคร: สิ่งที่จะทำให้ผู้ฟังเชื่อมโยงกับตัวละครของเราได้ง่ายขึ้น คือ ต้องให้เขาเห็นหน้าตาของตัวละครของเรา รูปที่เลือกมาใช้ควรมีหลายอริยบทหน่อยค่ะ รูปของตัวละครรวมทั้งการแต่งกายควรสะท้อนภาพลักษณ์ของตัวละครนั้นๆ เช่น ปอนด์ ตัวเดินเรื่องของอิง เป็นเด็กหนุ่มอายุประมาณ 26-27 ปี ทำธุรกิจ ดังนั้นรูปที่เลือกมาจะเป็นเด็กหนุ่ม (หน้าตาดีและดูกวนนิดๆ) ใส่สูท มีรูปคุยโทรศัพท์ และใช้งาน tablet เป็นต้น (ตัวอย่างในรูป B)
  • รูปสื่อถึงสถานการณ์: เนื่องจากตัวละครของเราอาจมีรูปไม่เยอะ เราสามารถใช้รูปที่สื่อถึงสถานการณ์แทนได้ เช่น รูปในห้องประชุม รูปที่มีการถกเถียงกัน เป็นต้น Tips อย่างนึง ที่อิงใช้ คือ เลือกรูปที่เห็นหน้าไม่ชัด และรูปที่เป็นเงาสำหรับตัวละครตัวอื่น (ตัวอย่างในรูป C)
  • ใช้รูปเต็มสไลด์: การใช้รูปเต็มสไลด์จะทำให้ผู้ฟังรู้สึกเหมือนกำลังดูหนังมากกว่าฟัง lecture
  • ใช้ไอคอนช่วย: อิงชอบใช้ไอคอนค่ะ อย่าลืมเลือกรูปไอคอนที่สอดคล้องกับสิ่งที่เรากำลังสื่อ (ดูโพสต์เพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้ไอคอนได้ที่นี่)
  • ใช้สีพื้นของสไลด์ช่วยในการ guide ผู้ฟัง: ในสไลด์ปกติพื้นสไลด์จะเป็นสีขาว (หรือรูปเต็มสไลด์) แต่หากเป็นสไลด์คำถาม อิงจะใช้สีพื้นเป็นสีเทา ตัวอย่างในรูป D เพื่อเป็นการให้สัญญาณนักศึกษาว่าได้เวลาตอบคำถามแล้วนะ
  • เตรียมสไลด์สำหรับข้อคิดเห็น: ผู้เรียนผู้สอนไม่ได้เจอกัน การเขียนข้อคิดเห็นจากผู้เรียนอาจทำได้ยาก อิงเลยเตรียมสไลด์ที่มี text box รอไว้แล้ว แค่ปิดมุมมองการนำเสนอ (slide show) แล้วเข้าสู่โหมดการแก้ไขสไลด์ ก็สามารถพิมพ์ข้อคิดเห็นลงใน text box ได้เลย ไม่ต้องไป insert ใหม่ให้วุ่นวาย ทำให้การสอน smooth ขึ้นค่ะ

ข้อได้เปรียบของการใช้เรื่องเล่าในการสอน

  • ไม่น่าเบื่อ: คนมีแนวโน้มจะชอบติดตามเรื่องราว ว่ามันจะเป็นยังไงต่อ เลยมักไม่ค่อยเบื่อกันค่ะ
  • จำได้ยาวนานกว่า: สมองคนเราจำเรื่องเล่าได้ดีกว่า ลองนึกถึงละครที่ดูเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เทียบกับเรื่องวิชาการที่เราไปฟังมา คุณว่าคุณจำเรื่องไหนได้ดีกว่ากัน ต่อให้เป็นละครเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เทียบกับเรื่องวิชาการที่ฟังมาเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว คนยังจำละครได้มากกว่าเลยค่ะ กุศโลบายในที่นี้ คือ ใช้เรื่องเล่าเป็นตัวเชื่อมโยงกับเรื่องทางวิชาการ เพื่อเพิ่มความสามารถในการจดจำของผู้ฟัง

ข้อควรระวังในการใช้เรื่องเล่าในการสอน

  • พล็อตเรื่อง: ละครหรือนิยายเองก็มีทั้งน่าเบื่อและน่าติดตาม ดังนั้นต้องออกแบบพล็อตเรื่องให้ดีค่ะ (อันนี้อิงอาจต้องฝึกเพิ่ม โดยการดูซีรี่ย์เกาหลีให้เยอะขึ้น)
  • การลำดับเรื่อง: การวางเส้นเรื่องให้เป็นเส้นตรงจะช่วยให้การเรียนรู้เป็นระบบมากขึ้น เนื่องจากเนื้อหาของเราไม่ใช่นิยายอย่างเดียว ดังนั้นหากมีการย้อนอดีตไปมาบ่อยๆ อาจงงได้ค่ะ
  • การเลือกตัวละคร: สิ่งสำคัญ คือ ตัวละครควรสัมพันธ์กับผู้ฟัง อย่าเลือกอะไรที่ไกลตัวผู้ฟังเกินไป

คำถามชวนคิด

คุณจะนำเรื่องเล่าไปประยุกต์ใช้ในการสอน (หรือการนำเสนอ) ได้อย่างไร?

Ing

วิศวกรสิ่งแวดล้อมที่หันมาทำงานบริหารโครงการ แต่สนใจเรื่องการนำเสนอมาก
จนอยากจะแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้มาตลอดหลายปี (ไม่กล้าบอกปี เดี๋ยวรู้อายุ) ให้กับผู้อ่านที่น่ารักทุกคน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked

{"email":"Email address invalid","url":"Website address invalid","required":"Required field missing"}

โพสต์อื่นๆ ที่คุณอาจสนใจ

รีวิวหนังสือ (น่าอ่าน): Storytelling with you
รู้ลึก vs รู้แค่ผิวๆ
5 เรื่องสำคัญ ในการออกแบบโปสเตอร์นำเสนอ