ทำงานเหนื่อยมากกกก....

อิงเชื่อว่านี่เป็นคำบ่นติดปากของผู้อ่านหลายคน

ดังนั้นบ้างก็เลือกฝังตัวอยู่กับบ้านในวันหยุด

บ้างก็ไปนอนนวดสปาให้ผ่อนคลาย

บ้างก็ออกไปนอนโรงแรมริมทะเล

บ้างก็ขึ้นเขาไปรับไอเย็น

...

แต่เคยสังเกตมั๊ยคะ

การพักผ่อนที่เราคาดว่าจะช่วยให้เราหายเหนื่อย

บางครั้งมันกลับไม่ได้ผลซะงั้น

เผลอๆ เหนื่อยหนักกว่าเดิม...

เขาว่ากันว่า... สมองกับร่างกายส่งผลต่อกัน

พักร่างกายไม่พักสมอง...ยังไงก็ไม่หายเหนื่อย

อือม...

แล้วทำอย่างไรถึงจะหายเหนื่อยจริงๆ

หรือว่า...หนังสือเล่มนี้จะมีคำตอบ

มาดูรีวิวพร้อมสปอยล์เล็กน้อยกันค่ะ

More...

ก่อนเข้าเรื่องค่ะ เมื่อปลายมกราคม อิงเพิ่งรีวิวหนังสือไป 2 เล่มติด ไม่คิดว่าจะรีวิวเล่มที่ 3 เร็วขนาดนี้ แต่จากที่หยิบหนังสือมากะเปิดผ่านๆ เพราะรู้สึกเหมือนตัวเองพักผ่อนไม่พอ หัวมันอึนๆ ไม่สดชื่นเท่าที่ควร กลายเป็นอ่านตั้งแต่ต้นจนจบอย่างรวดเร็ว (ประมาณ 2 ชั่วโมง) แถมน่าติดตามแบบไม่น่าเบื่อเลย ผิดคาดมากค่ะ เนื้อหาก็แตกต่างจากที่คิดไว้มาก เลยรีบลัดคิวมารีวิวซะเลย เผื่อผู้อ่านท่านใดกำลังเจอปัญหาความเหนื่อยล้า จะได้ลองไปเปิดอ่านดูค่ะ

เกี่ยวกับผู้เขียน

คุณคุงายะ อากิระ เป็นแพทย์ที่ได้รับใบประกอบวิชาชีพทั้งที่ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา คุณคุงายะจบเฉพาะทางด้านประสาทจิตวิทยาจากโรงเรียนแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยเยล (Yale) นั่นทำให้พื้นหลังของเรื่องเล่าในหนังสือเกิดขึ้นโดยมีนักวิจัยและศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเยลเป็นตัวดำเนินเรื่อง 

คุณคุงายะเปิดคลินิกรักษาผู้ป่วย ในเมืองลอสแองเจลิส แน่นอนค่ะ การจดจ่อ หรือ mindfulness เป็นหนึ่งในทางเลือกสมัยใหม่ที่ใช้ร่วมในการบำบัดอาการทางจิตเวช

หนังสือนี้น่าจะเหมาะกับใคร

เรื่อง Mindfulness (หรือการจดจ่อ หรือการสร้างสมาธิสำหรับชาวพุทธอย่างเรา) เป็นเรื่องที่มีประโยชน์กับทุกคน แต่ความจริง คือ ไม่ใช่ทุกคนจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ดังนั้นอาจมีแค่บางคนที่เลือกจะหยิบหนังสือเล่มนี้มาอ่าน ขณะที่บางคนคงมองข้ามไปเลย 

อิงคิดว่าคนที่น่าจะได้ประโยชน์จากการอ่านหนังสือเล่มนี้มากกว่าเพื่อนคือ

  • คนที่สะสมความเครียดและเหนื่อยอ่อนตลอดเวลา (หรือเกือบตลอดเวลา): หลายคนประสบปัญหาเหนื่อยอ่อนตลอดเวลา ถึงหลังเลิกงานหรือวันหยุดได้พัก แต่รู้สึกไม่หายเหนื่อย มันเหมือนมีอะไรอยู่บนบ่าและหัวหนัก สมองไม่แจ่มใส คิ้วขมวดตลอด การฟื้นพลังต้องอาศัยทั้งการพักผ่อนร่างกาย สมอง และจิตใจ อิงเชื่อว่าเนื้อหาในหนังสือน่าจะมีประโยชน์กับคนกลุ่มนี้มาก ไม่ใช่แค่วิธีปฏิบัติ แต่เป็นการจูงใจให้ลงมือทำด้วยค่ะ
  • คนที่อยากเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน: ไม่น่าเชื่อว่า mindfulness สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้ แต่อิงพบว่าจริงค่ะ การขาดสมาธิในการทำงาน การไม่จดจ่อกับสิ่งตรงหน้า สามารถทำลายประสิทธิภาพการทำงานได้อย่างแนบเนียน เราจะเหมือนคนยุ่ง คือ ทำโน่นทำนี่ตลอด แต่มันไม่เสร็จซะที สมองก็ล้าด้วย ลองเปิดใจฝึกปฏิบัติเหมือนที่ในหนังสือแนะนำ แล้วสังเกตการเปลี่ยนแปลงของตัวเองดูค่ะ
  • คนที่สนใจเรื่อง Mindfulness: หลายคนสนใจเรื่อง mindfulness อยากเอามาใช้ในชีวิตประจำวัน แต่หาหนังสืออ่านยาก ที่มีในท้องตลาดจะออกแนวสอนการทำสมาธิหรือการทำวิปัสสนาซะมากกว่า ทำให้หลายคนดูว่ามันจริงจังเกินไป ไม่กล้าหยิบมาอ่าน แนะนำเลยค่ะ เริ่มต้นกับเล่มนี้ได้  ง่ายและทำตามได้ไม่ยาก 

หนังสือเขียนเกี่ยวกับอะไรบ้าง

หนังสือเขียนเกี่ยวกับ Mindfulness... นั่นเป็นสิ่งที่อิงค้นพบและแปลกใจมาก (เพราะชื่อหนังสือไม่ได้สื่อไปทางนั้น หรืออิงตีความไม่ถูกเอง) อันที่จริงเรื่อง Mindfulness ถือเป็นเรื่องที่ได้รับความนิยมสูงในโลกตะวันตก มักแทรกอยู่ในคำแนะนำสำหรับผู้ที่รู้สึก burnout (หมดไฟ) หรืออยากเพิ่มประสิทธิภาพ (productivity) 

อิงเองก็สนใจเรื่อง mindfulness มานาน แต่ไม่เคยได้เริ่มอย่างจริงจัง เพราะ หนึ่งไม่ค่อยแน่ใจว่าจะช่วยได้จริงหรือเปล่า และสองยังไม่เจอหนังสือเหมาะๆ ที่พูดถึง mindfulness ในแบบที่อยากอ่าน 

Mindfulness ในภาษาไทยใช้คำว่า การจดจ่อ หรือการสร้างสมาธิ ซึ่งทั้งสองคำนี้อิงเชื่อว่าคนไทยที่นับถือศาสนาพุทธต้องเคยผ่านการทำสมาธิมาบ้าง แต่พอต้องอธิบายความกันจริงๆ มันลำบากที่จะอธิบายให้ครอบคลุม แต่คุณคุงายะอธิบายไว้ได้ดีมากค่ะ 

ในหนังสือแบ่งออกเป็น 4 ส่วนหลัก คือ

#1 ภาคทฤษฎีและสรุป 7 วิธีพักสมองที่ช่วยขจัดความเหนื่อยล้าได้เป็นปลิดทิ้ง

เนื้อหาในส่วนนี้ประกอบด้วย บทนำที่ประกอบด้วยเนื้อหาด้านวิชาการที่อธิบายด้วยภาษาที่เรียบง่ายว่าทำไมสมองถึงเหนื่อย และทำไมถึงเราไม่ได้ทำอะไร (เช่น นั่งเหม่อลอย) สมองยิ่งเหนื่อยหนัก จากนั้นจึงเป็น 7 วิธีพักสมองที่ช่วยขจัดความเหนื่อยล้าได้เป็นปลิดทิ้ง (หน้า 24 ถึง 37) หากคุณชอบอ่านสรุป ตรงมาที่ส่วนนี้ได้เลยค่ะ ทั้งบทสรุปอย่างย่อ (แต่ได้ใจความ) พร้อมรูปประกอบ นอกจากนี้เนื้อหาในสรุป 14 หน้านี้ เปรียบเสมือนบันทึกช่วยจำให้เรากลับมาเปิดและฝึกปฏิบัติตามไปได้

7 วิธีพักสมอง มีอะไรบ้าง 

  1. 1
    สิ่งที่ควรทำไว้ ก่อนเวลาที่สมองเหนื่อย -> ใช้วิธีหายใจแบบจดจ่อ
  2. 2
    วิธีปฏิบัติเมื่อรู้ตัวว่ากำลังคิดฟุ้งซ่าน -> เทคนิคจดจ่อขณะเคลื่อนไหว
  3. 3
    วิธีปฏิบัติเมื่อเครียดจนส่งผลเสียต่อสุขภาพ -> เทคนิคพักหายใจหายคอ
  4. 4
    เวลาที่อยากเลิกคิดอะไรซ้ำๆ ซากๆ -> วิธีจัดการกับลิงในสมอง
  5. 5
    เวลารู้สึกโกรธ -> เทคนิค RAIN
  6. 6
    เวลาที่คิดลบกับคนอื่น -> ใช้วิธีแผ่เมตตา (ใช่ค่ะ แผ่เมตตา ไม่ได้วิ่งไปตบคนอื่น)
  7. 7
    เวลาร่างกายอ่อนเพลียหรือมีอาการเจ็บปวด -> วิธีสแกนร่างกาย

#2 ชั่วขณะแห่งการจดจ่อ เรื่องราวของ "วิธีพักสมองชั้นยอด"

เรื่องของ นัตสึ นักวิจัยที่จบปริญญาเอกด้านประสาทวิทยา ที่ดั้นด้นจากญี่ปุ่นมาทำวิจัยที่มหาวิทยาลัยเยล เพื่อตามความฝันที่จะเป็นนักวิจัยระดับโลก แต่กลับต้องสติแตกกลางห้อง Lab เพราะงานวิจัยล่มไม่เป็นท่า จะกลับญี่ปุ่นก็อายคนอื่น เลยต้องบากหน้าไปช่วยลุงของตัวเองบริหารร้านเบเกิล ที่ชื่อ โมเมนต์ (Moment) 

แต่... เหมือนหนีเสือปะจระเข้ ร้านเบเกิลกลับใกล้เจ๊ง แถมเต็มไปด้วยพนักงานที่ขาดความกระตือรือร้น ทำหน้าบูดบึ้งใส่ลูกค้า จนเธอสติแตกกลางร้านอีกรอบ

สุดท้ายนัตสึกระเซอะกระเซิง พาตัวเองกลับมาหา โยดา (ศาสตราจารย์โกลฟ) ประจำห้องวิจัยที่อยู่เหมือนถูกลืมในห้องใต้ดิน ผู้ที่เธอสะบัดก้นหนีไป Lab อื่น เพราะ โยดาที่ก่อนหน้านี้ผลิตงานวิจัยสมัยใหม่มากมายกลับหันมาทุ่มเทให้กับการจดจ่อ (Mindfulness) ที่นัตสึมองดูแล้วเหมือนกับการทำสมาธิในศาสนาพุทธ ซึ่งเป็นปมนึงของเธอมาตั้งแต่เด็ก 

โยดาช่วยนัตสึฝ่าฟันปัญหาต่างๆ ผ่านไปทีละบทเรียน เพื่อเรียนรู้ mindfulness และการนำไปใช้ในชีวิตจริง เพื่อแก้ปัญหาที่ร้านโมเมนต์ และแก้ปมในอดีตของเธอ

(เนื้อหาเรียบเรียงมาดีค่ะ อ่านส่วนนี้จบอย่างรวดเร็ว แถมจำได้แม่นกว่า ส่วนที่ 1 อีก)

#3 ส่วนสรุป

ส่วนนี้สั้นมากค่ะ แค่ 3 หน้าครึ่ง คุณคุงายะเชื้อเชิญให้เรานำ mindfulness ไปใช้ในชีวิตประจำวัน ประโยคที่อิงว่าเป็นประโยคทองของส่วนนี้ คือ

คุงายะ อากิระ ผู้เขียน

การจดจ่อไม่ใช่ "ความรู้" ที่เราสามารถป้อนเข้าไปในหัวได้ แต่เป็น "ปัญญา" ที่เราจะได้รับเมื่อลงมือปฏิบัติซ้ำแล้วซ้ำเล่า

#4 ภาคผนวกพิเศษ

ในส่วนนี้เป็นคำแนะนำวิธีการพักแบบง่ายๆ ใน 5 วัน (แต่ได้พักจริงๆ ทั้งร่างกายและสมอง) 

อิงว่าเนื้อหาส่วนนี้เหมาะมากที่จะนำไปประยุกต์ใช้เวลาเราลาพักผ่อนยาวๆ เพราะในหนังสืออธิบายไว้ว่าในวันที่ 1 เราควรทำอะไรบ้าง วันที่ 2 ทำอะไรบ้าง ไล่ไปจนวันสุดท้าย ซึ่งเป็นการเตรียมตัวเพื่อให้การพักข้างหน้าดีกว่าเดิม 

ความคิดเห็นของฉัน

หนังสือเล่มนี้นอกจากตั้งชื่อได้อย่างฉลาด ยังถือว่าเกินความคาดหวังของอิงไปมาก เนื่องจากอิงสั่งซื้อเพราะชื่อหนังสือ เลยไม่รู้มาก่อนว่าข้างในเป็นอย่างไร การจัดวางเนื้อหาถือว่าทำได้ดี กลมกล่อม ระหว่างภาคทฤษฎีที่เป็นสรุป กับภาคที่เป็นนิยาย (หรือเรื่องเล่า แล้วแต่จะเรียกค่ะ) ทั้งสองส่วนเสริมกันได้อย่างน่าทึ่ง ตอนแรกที่อ่านภาคทฤษฎียังมีความงงๆ อยู่ และมันเหมือนกับการอ่านสรุปหนังสือ (ที่ปัจจุบันนิยมกันมาก) โอกาสจะจำได้เลือนลางมาก แต่เป็นการแนะนำให้เรารู้จัก mindfulness อย่างเร็ว จากนั้นจึงเป็นการดำเนินเรื่องผ่านตัวละครที่นอกจากจะนำทฤษฎีมาโลดแล่นอีกรอบ ยังเป็นการใช้เนื้อเรื่องจูงใจว่าทำไมเราจึงควรฝึกตามที่ผู้เขียนบอก ประโยชน์นั้นคืออะไร และมีงานวิจัยอะไรรองรับบ้าง 

อิงเชื่อว่าต่อให้อ่านจบไปเป็นสัปดาห์ คุณยังต้องจำเรื่องแย่ๆ ที่นัตสึต้องเจอ และวิธีแก้ปัญหาของเธอได้อย่างแน่นอน

จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้ คือ

  • คำแนะนำในหนังสืออยู่บนพื้นฐานของงานวิจัยที่หลากหลาย ไม่ใช่คำแนะนำลอยๆ 
  • การใช้เรื่องเล่าเป็นสื่อหลักในการนำเสนอน่าสนใจและน่าติดตาม
  • เพราะเป็นกึ่งๆ นิยาย เราเลยอ่านได้เร็วกว่าหนังสือปกติค่ะ (แต่อาจต้องข้ามชื่อส่วนต่างๆ ของสมองไปบ้าง)
  • เนื่องจากผู้เขียนเป็นแพทย์ที่ได้ประยุกต์ใช้เรื่อง mindfulness ในการรักษาคนไข้จริงๆ ทำให้เรื่องเล่าดูไม่เป็นนิยายเกินไป และสัมผัสได้ว่าอาการต่างๆ ที่เล่ามานั้นมีอยู่จริง
  • การวางตัวละครทำได้ดี ทำให้แต่ละคนมีลักษณะที่หลากหลายและเป็นตัวแทนของบุคคลประเภทต่างๆ ที่เราสามารถพบเจอได้อยู่เป็นประจำ เช่น คนที่มักใจลอยและสะเพร่า คนที่ไม่มั่นใจตัวเองคิดว่าตัวเองไม่ดีพอ และคนที่มักใช้คำพูดกดคนอื่นเพื่อปิดบังความอ่อนแอของตัวเอง เป็นต้น

สรุปว่า... ควรซื้อมั๊ย?

ถ้าถามว่าควรซื้อหนังสือเล่มนี้มั๊ย คุ้มหรือเปล่า 

ความคุ้มนั้นขึ้นอยู่กับว่าหนังสือเล่มนั้นให้ประโยชน์กับผู้อ่านหรือไม่ 

ความเห็นของอิง คือ ถ้าได้อ่านแล้วไม่ได้ลองทำตาม ถือว่าไม่คุ้มค่ะ (ไม่ว่าจะเป็นเวลาที่ใช้และเงินที่เสีย) 

หัวใจของหนังสือเล่มนี้ คือ การฝึกจดจ่อในรูปแบบต่างๆ ซึ่งสามารถสรุปได้ใน 14 หน้า (หน้า 24 ถึง หน้า 37) 

หากเราเชื่อในวิธีการดังกล่าวอยู่แล้ว ลองไปร้านหนังสือแล้วเปิดอ่าน แค่ใช้เวลาไม่ถึง 5 นาที เราก็เข้าใจถึงแนวทางและวิธีฝึกปฏิบัติแล้ว

แต่ถ้าเรายังไม่ค่อยแน่ใจบวกกับไม่ค่อยเชื่อเท่าไหร่ว่าทำแล้วจะได้ประโยชน์ แนะนำให้ซื้อมาอ่านหรือยืมห้องสมุดมาอ่าน เพื่อที่จะได้ใช้เวลากับส่วนที่เป็นเรื่องเล่า ซึ่งจะค่อยๆ ชี้ให้เราเห็นถึงประโยชน์ที่เกิดขึ้น (และงานวิจัยต่างๆ ที่รองรับ) ทำให้เกิดแรงจูงใจที่จะลองทำตามค่ะ

คำถามชวนคิด

คุณว่าการจดจ่อ (mindfulness) จะช่วยให้คุณแก้ไขปัญหาของคุณได้อย่างไร? 

และคุณจะเริ่มต้นนำการจดจ่อไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่าไร?

Ing

วิศวกรสิ่งแวดล้อมที่หันมาทำงานบริหารโครงการ แต่สนใจเรื่องการนำเสนอมาก
จนอยากจะแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้มาตลอดหลายปี (ไม่กล้าบอกปี เดี๋ยวรู้อายุ) ให้กับผู้อ่านที่น่ารักทุกคน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked

{"email":"Email address invalid","url":"Website address invalid","required":"Required field missing"}

โพสต์อื่นๆ ที่คุณอาจสนใจ

รีวิวหนังสือ (น่าอ่าน): Storytelling with you
รีวิวหนังสือ (น่าอ่าน): Everyday Business Storytelling
รีวิวคอร์สออกแบบสไลด์สไตล์คนงานยุ่ง