สไลด์ที่ดีควรช่วยเสริมสิ่งที่ผู้นำเสนอต้องการสื่อ
และควรช่วยให้ผู้ฟังเข้าใจง่ายขึ้น
... ไม่ใช่ยากขึ้น
นอกจากนี้สไลด์ที่ดีต้องไม่เพิ่มภาระให้กับผู้ฟัง
สไลด์ที่เต็มไปด้วยตัวหนังสือ
แล้วให้ผู้ฟังไล่อ่านเอาเอง
สไลด์ที่ทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นมาพร้อมกัน
แล้วให้ผู้ฟังคาดเดาว่าควรดูตรงไหนก่อน
สไลด์ที่ดูแล้วไม่มีจุดสนใจ
แล้วให้ผู้ฟังคาดเดาเอาเองว่าตรงไหนสำคัญ
....
คำถาม คือ แล้วสไลด์ของเราเพิ่มหรือลดภาระให้กับผู้ฟัง?
...
สิ่งหนึ่งเลยที่ผู้ออกแบบสไลด์ทำได้ง่ายมาก
แค่คลิกเมาส์ไม่กี่ที คือ
... การเน้นสิ่งสำคัญ
เพื่อให้ผู้ฟังแค่กวาดตามองก็รู้ว่าตรงไหนสำคัญ
มาดูเทคนิคง่ายๆ เป็นที่นิยมใช้และให้ผลลัพธ์ดีเยี่ยมกันค่ะ
More...
การเน้นสิ่งสำคัญทำได้หลากหลายรูปแบบ โดยเน้นการสร้างความแตกต่าง (Contrast) เป็นหลัก แต่เทคนิคที่อิงว่าทำได้ง่ายและคนนิยมใช้มีอยู่ 3 เทคนิค ดังนี้
#1 ใช้ขนาดที่แตกต่างเน้นสิ่งสำคัญ
ขนาดที่ใหญ่ขึ้นจะดึงดูดสายตาได้เป็นอย่างดี และเรามักตีความว่าอะไรที่ใหญ่กว่าจะสำคัญกว่า ดังนั้นการใช้ขนาดที่แตกต่าง (ใหญ่ขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ) จะเป็นการเน้นสิ่งสำคัญได้เป็นอย่างดี ตัวอย่างดังแสดงในรูป A
#2 ใช้สีที่แตกต่างเน้นสิ่งสำคัญ
สีที่แตกต่างไปจากสิ่งรอบข้างดึงสายตาได้ดีไม่แพ้ขนาดที่ใหญ่ขึ้นเลยค่ะ ข้อควรระวังในการใช้สีที่แตกต่าง คือ ควรเลือกสีที่แตกต่างจริงๆ และควรเป็นสีที่โดดเด่นขึ้น (ตัวอย่างในรูป B) ไม่ใช่โดดเด่นน้อยลง
#3 ใช้ความเข้มที่แตกต่างเน้นสิ่งสำคัญ
หากเราไม่อยากใช้สีที่แตกต่างออกไป (อาจจะคุมโทนสีในสไลด์ หรือใช้เป็นสีโมโนโทน) เรายังมีอีกทางเลือกนึง คือ ใช้สีเดิมแต่มีความเข้มแตกต่างออกไป (ส่วนใหญ่นิยมใช้สีที่เข้มกว่าเน้นสิ่งที่สำคัญกว่า) ตัวอย่างในรูป C
แต่วิธีนี้จะมีข้อจำกัดอยู่บ้าง หากตัวหนังสือหรือกราฟฟิกที่เป็นสีพื้นมีความเข้มอยู่พอสมควรแล้ว เมื่อเพิ่มความเข้มของสิ่งที่เราต้องการเน้น อาจเห็นไม่ชัด
นอกจากนี้เราสามารถผสมผสานเทคนิคที่ 1 กับเทคนิคที่ 2 และ 3 ได้ ดังแสดงในรูป D
คำถามชวนคิด
สไลด์ของคุณเพิ่มหรือลดภาระให้กับผู้ฟัง