อิงชอบเวลาไปฟังสัมมนาแบบเห็นหน้าเห็นตากันในห้องมากกว่าฟังสัมมนาออนไลน์

ถึงแม้ว่าการนั่งฟังแบบออนไลน์จะเห็นสไลด์ชัดๆ ตรงหน้า

แถมนั่งท่าสบายๆ ไม่ต้องเก๊กท่าตั้งใจ

แต่... การฟังสัมมนาออนไลน์มันขาดสิ่งที่น่าสนใจมาก... ไปอย่างนึงค่ะ

นั่นคือ การได้เห็นพฤติกรรมและท่าทางของผู้นำเสนอ...

ซึ่งนอกจากจะเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสื่อสารแล้ว...

เรายังสามารถเรียนรู้และนำมาปรับปรุงการนำเสนอของเราได้อีกด้วย

ผู้นำเสนอหลายคนแสดงท่าทางบางอย่างออกมาอย่างไม่ตั้งใจ

รวมถึงพฤติกรรมแปลกๆ ก็เห็นกันบ่อย

เขาว่ามองละครแล้วย้อนดูตัว

แต่โพสต์นี้... เราจะดูการนำเสนอของคนอื่นแล้วย้อนดูตัวกันค่ะ

อิงลองรวบรวมพฤติกรรมและท่าทางที่ควรหลีกเลี่ยงในระหว่างอยู่บนเวทีการนำเสนอมาให้เราลองทบทวนกันดูค่ะ

More...

(หมายเหตุ: บทความนี้มาจากการสังเกตเท่าที่เห็นมาและความคิดเห็นส่วนตัวผสมกับที่อ่านเจอในหนังสือหลายเล่ม ผู้อ่านบางท่านอาจเห็นไม่ตรงกัน ขอให้ถือเป็นการแลกเปลี่ยนมุมมองกันนะคะ) 

เนื่องจากพฤติกรรมและท่าทางที่อิงสังเกตมาได้มีหลากหลายทีเดียว เลยจับเป็นกลุ่มเพื่อให้ง่ายต่อการอ่านดังนี้ค่ะ

กลุ่มพฤติกรรมและท่าทางที่แสดงความไม่มั่นใจ

พฤติกรรมและท่าทางที่แสดงความไม่มั่นใจ หลายกรณีอาจเกิดจากความตื่นเต้นของผู้นำเสนอเอง ขณะที่หลายกรณีก็เกิดจากความไม่มั่นใจในการนำเสนอเนื้อหา กลัวว่าเราจะรู้น้อยกว่าคนฟัง กลัวว่าเนื้อหาจะไม่ดีพอ กลัวว่าคนฟังจะไม่เข้าใจ และอีกหลายๆ ความกลัว แต่ก็มีหลายกรณีค่ะที่เป็นการแสดงท่าทางออกมาโดยไม่ได้ตั้งใจ แล้วผู้ฟังตีความไปเองว่าผู้นำเสนอไม่มั่นใจ ลองดูค่ะว่าเราคุ้นๆ ข้อไหนบ้าง

  • มือสั่น: อิงสารภาพค่ะ ว่าการนำเสนอบนเวทีครั้งแรกๆ ของอิง มือสั่นมากจนสังเกตได้ ทั้งตื่นเต้นและไม่ค่อยมั่นใจ พอเห็นผู้นำเสนอบาคน (ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กๆ มือใหม่) มือสั่น เห็นแล้วเข้าใจถึงหัวอกน้องเขาเลยค่ะ
  • เสียงสั่น: ข้อนี้อิงก็เคยเป็นค่ะ แล้วเป็นข้อที่เราพบเจอได้บ่อยในผู้นำเสนอมือใหม่ โดยเฉพาะช่วงเริ่มต้นของการนำเสนอ (หายใจลึกๆ ช่วยได้ค่ะ)
  • เกาหัวแกรกๆ: การเกาหัวแก้เขินเวลาคุยกันพอได้อยู่ค่ะ แต่เวลานำเสนอไม่ควรยกมือขึ้นมาเกาหัวแกรกๆ นะคะ
    กอดอก: การกอดอก (อาจถือไมค์หนึ่งมือ อีกมือนึงกอดอกไว้) เป็นการห่อตัว ป้องกันตัวเอง สะท้อนถึงความไม่มั่นใจได้เช่นกันค่ะ
  • เอามือกุมไว้ด้านหน้าตลอดเวลา: Body language นึงที่แสดงถึงความด้อยกว่า/มีอำนาจน้อยกว่า คือ การเอามือประสานกุมไว้ด้านหน้าตลอด (สังเกตจากข่าว เวลาข้าราชการคุยกับรัฐมนตรีได้ค่ะ) ในการนำเสนอก็เช่นกัน การเอามือกุมไว้ตลอด สะท้อนถึงความด้อยกว่าผู้ฟัง อาจทำให้ผู้ฟังไม่มั่นใจในตัวผู้นำเสนอได้
  • หัวเราะหึๆ หลังประโยค: ผู้นำเสนอบางคนแก้เขินด้วยการหัวเราะหึๆ หลังประโยคตลอดเวลา นั่นแหละค่ะ มันสะท้อนความไม่มั่นใจออกมา
  • ทำท่าทางงวยงงอยู่ตลอด: ถึงผู้นำเสนอจะงง ก็ไม่ควรแสดงออกมาค่ะ แต่บางท่านยืนงงๆ พร้อมรำพึงให้ผู้ฟังฟังด้วยว่า เอ... ตรงนี้ผม/ดิฉันก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน
  • หันหลังให้กับผู้ฟัง (เกือบตลอดเวลา): กล่าวคือหันหน้าไปอ่านสไลด์นั่นเองค่ะ เป็นการสะท้อนบอกผู้ฟังกลายๆ ว่าผู้นำเสนอก็ไม่มั่นใจว่าในสไลด์มีอะไรบ้าง (อย่าคิดว่าพฤติกรรมนี้ไม่มีอยู่จริงค่ะ อิงเคยเจอมามากกว่า 1 ครั้ง ค่ะ)
  • ออกตัวแรง: การพูดว่า "ขอโทษที่ไม่มีเวลาเตรียมตัว" "ขออภัยที่สไลด์อาจจะดูงงๆ" "ขอโทษที่ผู้นำเสนอตัวจริงมาไม่ได้ เลยต้องมาแทน" "คิดว่าผู้ฟังคงรู้เรื่องนี้ดีกว่าผม/ดิฉัน" หรือประโยคอื่นๆ ที่บ่งบอกว่าเราไม่มีเวลาที่จะใส่ใจผู้นำเสนอ หรือเราไม่รู้เรื่องนี้ดีพอ เป็นสิ่งที่ไม่ควรพูดออกมาเป็นอย่างยิ่งค่ะ สิ่งเหล่านี้เก็บไว้ในใจก็พอ

กลุ่มพฤติกรรมและท่าทางที่แสดงความเชื่อมั่นจนเกินควร

มือใหม่มักไม่มั่นใจ แต่มือเก๋าบางครั้งก็มั่นใจเกินไปค่ะ จนทำให้ผู้ฟังตีความไปได้ว่า เอ๊ะ! ยังไงนะ จะเชื่อดี ไม่เชื่อดี (พร้อมกับหมั่นไส้เล็กน้อยด้วยค่ะ)

  • เอามือสอดกระเป๋ากางเกง: การเอามือสอดกระเป๋ากางเกง ดูเท่มากเมื่อพระเอกในซีรี่ยส์เกาหลีทำ แต่ถ้าผู้นำเสนอทำ... อาจดูเป็นการแสดงความเชื่อมั่นเกินขีดไปนิดค่ะ
  • ชี้หน้าผู้ฟัง: พูดไปอาจไม่เชื่อค่ะว่าจะมีคนทำ แต่มีจริงๆ ค่ะ ผู้นำเสนอบางคนพูดแล้วมันส์ในอารมณ์ค่ะ ยิ่งพูดยิ่งอิน อาจมีพลั้งเผลอชี้หน้าผู้ฟังได้ (ไม่ควรทำนะคะ ดูไม่สุภาพ)
  • คุยโม้: โดยปกติคนเราไม่ชอบคนขี้โม้ หากผู้นำเสนอโม้มากไปนิด อาจทำให้ผู้ฟังเกิดความหมั่นไส้ได้ค่ะ

กลุ่มพฤติกรรมและท่าทางที่สร้างความเวียนหัวให้กับผู้ฟัง

พฤติกรรมและท่าทางบางอย่างไม่ได้สร้างความ "เอ๊ะ" ในใจคนฟัง แต่สร้างความเวียนหัว (จนถึงรำคาญใจ) ให้กับผู้ฟังได้ โดยพฤติกรรมและท่าทางกลุ่มนี้มักเกิดจากการทำท่าทางบางอย่างซ้ำๆ ตลอดเวลาที่นำเสนอ 

  • เดินไปเดินมาอย่างไร้จุดหมาย: การเดินช่วยดึงดูดความสนใจผู้ฟังได้เป็นอย่างดี กูรูด้านการนำเสนอต่างก็แนะนำให้ผู้นำเสนอใช้การเดินให้เป็นประโยชน์ แต่การเดินแบบนึงที่นอกจากจะไม่สร้างประโยชน์แล้ว ยังสร้างความเวียนหัวให้กับผู้ฟัง คือ การเดินไปเดินมาตลอดเวลาอย่างไร้จุดหมาย เช่น เดินไปข้างหน้า 3 ก้าว ถอยกลับมา 3 ก้าว แล้วก็เดินออกไปอีก 3 ก้าว แล้วก็ถอยกลับมาอีก เป็นต้น (บางครั้งผู้นำเสนอไม่รู้ตัวค่ะ อันนี้เคยสอบถามมาแล้ว ถึงกับงงว่า เอ๊ะ... ฉันเดินอย่างนั้นจริงหรอ)
  • เขย่าตัว/โยกตัว: ผู้นำเสนอบางคนก็พูดไปด้วยโยกตัวไปมาด้วยอยู่ตลอด แบบนี้ทำให้บุคลิกภาพเสียค่ะ (ข้อนี้ก็อาจทำไปโดยไม่รู้ตัวเช่นกันค่ะ) 
  • ใช้มือเป็นจักรผัน: การใช้มือแต่พองามเป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติ แต่การใช้มือมากเกินไป และการใช้มืออย่างรวดเร็วในท่าซ้ำๆ เป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงค่ะ ตัวอย่างเช่น สับมือลงไปตลอดเวลา หรือควงมือสองมือให้เป็นวงกลมอยู่ด้านหน้าอย่างรวดเร็วและตลอดเวลา เป็นต้น

กลุ่มพฤติกรรมและท่าทางที่อาจดูไม่เข้ากับการนำเสนอ

พฤติกรรมและท่าทางกลุ่มนี้อาจพบเจอได้ แต่ไม่บ่อย และอิงว่า (ความเห็นส่วนตัว) ผู้นำเสนอต้องมีความคิดที่ unique ใช้ได้ ถึงจะทำสิ่งเหล่านี้

  • ร้องเพลง: การร้องเพลงกับการนำเสนอมันไม่เข้ากัน โดยเฉพาะการนำเสนอที่ค่อนข้างจริงจัง อย่างการนำเสนอในเชิงธุรกิจหรืองานนำเสนอด้านวิชาการ ดังนั้นผู้นำเสนอควรหลีกเลี่ยงการร้องเพลงค่ะ เพราะอาจทำให้ดูไม่เป็นมืออาชีพ
  • อ่านตามสไลด์ทุกคำ: การอ่านสไลด์ให้ผู้ฟังฟัง สำหรับอิงถือเป็นการดูถูกคนฟังอย่างแรงว่าอ่านหนังสือไม่ออก แต่ก็มีผู้นำเสนอส่วนนึงเลือกที่จะทำแบบนี้ค่ะ อาจเป็นเพราะผู้นำเสนอไม่ได้เป็นผู้เตรียมสไลด์ หรือไม่มีความรู้เพียงพอที่จะนำเสนอได้ดีแถมไม่เตรียมตัวมาอีกต่างหาก (ขอพูดแรงนิดนึงค่ะ) 

คำถามชวนคิด

คุณเคยพบเจอพฤติกรรมและท่าทางแบบใดบ้างในการนำเสนอ?

แล้วคุณเรียนรู้อะไรได้บ้างจากพฤติกรรมและท่าทางเหล่านั้น?

Ing

วิศวกรสิ่งแวดล้อมที่หันมาทำงานบริหารโครงการ แต่สนใจเรื่องการนำเสนอมาก
จนอยากจะแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้มาตลอดหลายปี (ไม่กล้าบอกปี เดี๋ยวรู้อายุ) ให้กับผู้อ่านที่น่ารักทุกคน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked

{"email":"Email address invalid","url":"Website address invalid","required":"Required field missing"}

โพสต์อื่นๆ ที่คุณอาจสนใจ

รีวิวหนังสือ (น่าอ่าน): Storytelling with you
รู้ลึก vs รู้แค่ผิวๆ
5 เรื่องสำคัญ ในการออกแบบโปสเตอร์นำเสนอ