คุณว่า... ในการเตรียมการนำเสนอ

ควรเริ่มต้นจากอะไร?

วัตถุประสงค์ของงาน...

สิ่งที่เรารู้และอยากพูด...

สิ่งที่คนฟังอยากรู้...

สิ่งที่ผู้จัดอยากบอก....

ถ้าให้อิงเรียงตามลำดับปกติที่ใช้ในการเตรียมตัว

อิงจะเรียงอย่างนี้ค่ะ

ใช้วัตถุประสงค์และสิ่งที่ผู้จัดอยากบอกเป็นกรอบของเนื้อหา

และใช้สิ่งที่คนฟังอยากรู้เป็นตัวตั้งต้น

เพื่อมาจับคู่กับสิ่งที่เรารู้และอยากพูด

ใน 4 สิ่งข้างบน มี 3 อย่างที่เรารู้แน่นอน

แต่มีอย่างนึงค่ะ ที่เราต้องค้นหา... 

นั่นคือ สิ่งที่คนฟังอยากรู้...

มาดูวิธีเจาะลึกผู้ฟัง เพื่อหาสิ่งที่เขาอยากรู้กันค่ะ

แล้ว...การเตรียมการนำเสนอของเราจะง่ายขึ้นเยอะเลยค่ะ

More...

เรื่องพื้นฐานเกี่ยวกับผู้ฟังที่เราควรรู้

การที่เราจะออกแบบการนำเสนอของเราให้ตรงใจผู้ฟัง เราต้องรู้จักเขาก่อน (รู้เขารู้เรา) เรื่องพื้นฐานที่เราควรรู้เกี่ยวกับผู้ฟัง ประกอบด้วย

  • ผู้ฟังคือใคร
  • ผู้ฟังที่สำคัญคือใคร (เราอาจมีกลุ่มผู้ฟังที่หลากหลาย แต่ใครเป็นกลุ่มที่สำคัญที่สุด เช่น ผู้ฟังที่จะนำคำแนะนำจากการศึกษาของเราไปปรับใช้กับการจัดทำนโยบายของเขา ผู้ที่มีสิทธิ์ตัดสินใจ เป็นต้น)
  • เขามีปัญหาเรื่องอะไร (ที่เกี่ยวกับสิ่งที่เรานำเสนอ)
  • เราจะช่วยเขาแก้ปัญหาได้อย่างไร
  • เขารู้อะไรเกี่ยวกับเรื่องที่เราจะนำเสนอบ้าง
  • หลังการนำเสนอ เราอยากให้เขารู้/คิด/ทำอะไร?

3 วิธี เจาะลึกผู้ฟัง 

หากเป็นการนำเสนอให้ผู้ฟังในองค์กรของเรา เรามักจะรู้จักผู้ฟังค่อนข้างดีอยู่แล้ว (อาจรู้ลึกไปถึงระดับความหวานของชานมไข่มุกเลยทีเดียว) หรือถ้าไม่รู้จักเป็นการส่วนตัวก็พอจะสืบข้อมูลได้ไม่ยาก 

แต่ถ้าเป็นการนำเสนอให้ผู้ฟังนอกองค์กรของเรา การหาข้อมูลเกี่ยวกับผู้ฟังเป็นสิ่งที่บางครั้งก็ง่ายบางครั้งก็ยาก เพราะโจทย์ที่ผู้นำเสนอได้มาส่วนใหญ่ จะบอกแค่ว่าอยากให้พูดเรื่องอะไร หรือระบุหัวข้อมาให้ น้อยครั้งมากค่ะที่จะมาพร้อมกับรายละเอียดของผู้ฟัง แต่เราก็สามารถหาข้อมูลเองได้ค่ะ มีอยู่ 3 วิธีที่อิงใช้บ่อย คือ

#1 ถามผู้จัดงาน

ถึงผู้จัดไม่ได้บอกรายละเอียดผู้ฟังมาให้ในตอนแรก แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่มีข้อมูลผู้ฟัง โดยส่วนมากแล้วผู้จัดงานจะมีข้อมูลผู้ฟังแบบละเอียด มีกี่คน มีใครบ้าง ทำงานอะไร ทำงานที่ไหน เพราะส่วนใหญ่ต้องมีการลงทะเบียนกันก่อน 

ดังนั้นถึงผู้จัดไม่ได้บอก อย่าลืมถามเขานะคะ

#2 แกะเอาจากโปสเตอร์ของงาน

โปเตอร์หรือแผ่นพับของงานสัมมนา/ฝึกอบรมต่างๆ โดยปกติผู้จัดจะบอกวัตถุประสงค์ กลุ่มผู้ฟัง สิ่งที่ผู้ฟังจะได้ ที่มาที่ไปของงานไว้ในโปสเตอร์หรือแผ่นพับของงาน 

หน้าที่ของเราก็ค่อยๆ แกะความคาดหวังของผู้ฟังจากโปสเตอร์หรือแผ่นพับนั้นค่ะ (ผู้ฟังก่อนที่จะลงทะเบียน เขาก็จะอ่านรายละเอียดของงานว่าเหมาะกับความคาดหวังของเขาหรือเปล่า ดังนั้นพออนุมานได้ค่ะ ว่าผู้ฟังที่ลงทะเบียนก็จะคาดหวังสิ่งที่เขียนไว้บนโปสเตอร์หรือแผ่นพับนั้น)

#3 คาดการณ์จากประสบการณ์ของเรา

วิธีที่ 3 ถือเป็นส่วนเสริมค่ะ หากเราเคยพูดในหัวข้อที่ต้องนำเสนอมาบ้าง เราจะพอคุ้นชินกับกลุ่มผู้ฟังของเรา พอจะคาดเดาได้ว่าผู้ฟังรู้เรื่องมากน้อยแค่ไหน (ตรงไหนที่เราไม่ต้องลงรายละเอียดมาก ตรงไหนที่ต้องอธิบายเพิ่ม) ผู้ฟังสนใจเรื่องอะไร (เรื่องไหนเป็น hot issue ของผู้ฟังกลุ่มนี้) ข้อมูลที่เราเรียนรู้จากประสบการณ์ในอดีตจะช่วยให้เราเตรียมการนำเสนอได้ดีขึ้นค่ะ 

คำถามชวนคิด

คุณรู้จักผู้ฟังของคุณดีแค่ไหน?

ในการนำเสนอครั้งต่อไป คุณจะหาข้อมูลผู้ฟังได้จากไหน?

Ing

วิศวกรสิ่งแวดล้อมที่หันมาทำงานบริหารโครงการ แต่สนใจเรื่องการนำเสนอมาก
จนอยากจะแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้มาตลอดหลายปี (ไม่กล้าบอกปี เดี๋ยวรู้อายุ) ให้กับผู้อ่านที่น่ารักทุกคน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked

{"email":"Email address invalid","url":"Website address invalid","required":"Required field missing"}

โพสต์อื่นๆ ที่คุณอาจสนใจ

รีวิวหนังสือ (น่าอ่าน): Storytelling with you
รู้ลึก vs รู้แค่ผิวๆ
5 เรื่องสำคัญ ในการออกแบบโปสเตอร์นำเสนอ