“มันต้องนำเสนอแบบ Storytelling”

ไม่ใช่แค่นำเสนอ Presentation ดาดๆ

มันต้องมีเรื่องราวด้วย”

อิงเชื่อว่า ทุกวันนี้…

เราต้องเคยถูกใครบางคนหรือหนังสือบางเล่ม

หล่นคำว่า Storytelling ใส่หัวเราบ้าง

ฟังดูเหมือนง่าย

เพราะเขาว่ากันว่าเราฟังนิทานก่อนนอนมาแต่เด็ก

โตมา… เราก็ติดหนัง ติดซีรี่ย์

เรียกได้ว่า มี Story อยู่รอบตัว

แต่…

มันกลับไม่ง่ายเลย

ที่จะเอาเจ้า Story ที่ว่า…

ใส่ไปในการนำเสนอที่แสนจะจริงจังของเรา

ถ้ามีแนวทางให้ก็คงจะดีไม่น้อย

...

ได้ค่ะ… แต่ไม่ใช่แค่แนวทาง…

โพสต์นี้เรามาดู…

แผนที่นำทาง (Roadmap) ในการใส่เรื่องเล่าในการนำเสนอกันค่ะ

More...

พล็อตยอดนิยมในการเล่าเรื่อง

หากเราเป็นคอหนัง คอซีรี่ย์ เราจะรู้ว่าพล็อตยอดนิยม จะเริ่มจากตัวเอกของเราจะใช้ชีวิตปกติ (เช่น ในมัธยมซอมบี้ ซีรี่ย์ดังของ Netflix ที่เด็กๆ ลั้นลา ลั้นลา ไปโรงเรียน) จากนั้นก็ต้องมีเหตุการณ์เข้ามาให้ต้องดิ้นรนกัน (อยู่ดีๆ เพื่อนนักเรียนก็มาไล่กัดกระชากเนื้อกัน ตกตึกยังไงก็ไม่ตาย ตามมาจิ้มตากันอีก ) จนเข้าตาจนจริงๆ ถึงจะพลิกฟื้นกลับมาได้ (หลังจากหนีหัวซุกหัวซุนมา 8 EP. ตัวเอกกลุ่มนึงรอดตายไปยังค่ายอพยพ ส่วนตัวเอกส่วนน้อยหายไปไม่รู้ชะตากรรม รอเฉลยใน Season 2) พล็อตแบบนี้ เรียกรวมๆ ว่า man-in-hole (อ่านรายละเอียดได้ในโพสต์นี้) ซึ่งเป็นพล็อตพื้นฐานที่ถูกหยิบเอาไปใช้บ่อยๆ

หากถ้าจะโยงมายังโลกของการทำงาน คุณ Babara Minto ผู้เขียนหนังสือ The Pyramid Principle ที่เป็นหนังสือระดับตำนานในวงอาชีพที่ปรึกษาด้านการจัดการ (Management Consultant) สรุปโครงสร้างการเล่าเรื่องนี้เป็น 3 ตอน คือ 

  1. Situation (เล่าบริบท หรือเกริ่นนำ) 
  2. Complication (เล่าความซับซ้อน หรือปัญหา) และ
  3. Solution (ทางรอด หรือทางแก้ปัญหา) ส่วนการเรียงลำดับ 3 ท่อนนี้ ก็แล้วแต่สถานการณ์ของเรานั่นเอง

ปัญหาในการใส่เรื่องเล่าในการนำเสนอ

ปัญหาที่อิงพบ คือ ไม่ว่าจะเป็น Man-in-hole หรือ Situation-Complication-Solution พอจะนำมาปรับใช้กับการนำเสนอ มันต้องใช้จินตนาการช่วย ทำให้ผู้นำเสนอบางคนสับสนในการนำไปใช้ ไม่รู้ว่าจะเรียงลำดับยังไงให้เข้ากับเรื่องราวของตนเอง 

จนเมื่อไม่นานมานี้ อิงอ่านเจอแนวทางการใส่เรื่องเล่าเข้ามาในการนำเสนอ ที่อิงว่ามัน work แล้วเอาไปใช้ได้จริง ช่วยลดความมึนงง เลยอยากเอามาขยายความต่อให้ผู้อ่านฟัง หากใครต้องการอ่านแบบละเอียดยิบ สามารถตามไปอ่านได้ใน Everyday Business Storytelling ได้เลยค่ะ (คลิกเพื่ออ่านรีวิว) 

มาค่ะ มาดูรายละเอียดกัน

Roadmap สำหรับใส่เรื่องเล่าในการนำเสนอ

ในหนังสือ Everyday Business Storytelling ผู้แต่งแนะนำแนวทางการใส่เรื่องเล่าในการนำเสนอออกมาเป็น Roadmap ง่ายๆ ในรูป A

Roadmap ประกอบด้วย 3 กลุ่มหลัก คือ Why (ทำไม) What (อะไร) และ How (อย่างไร) มาดูองค์ประกอบของแต่ละกลุ่มกันค่ะ

Why (ทำไม) 

เมื่อเห็นคำว่า Why ผู้คนส่วนใหญ่ต้องนึกถึง Start with why หนังสือขายดีของ Simon Sinek ที่ทำให้คนหันมาให้ความสำคัญกับคำว่า Why กันมากขึ้น เช่นเดียวกันค่ะ ในการนำเสนอแบบเล่าเรื่อง เราก็ต้องให้ความสำคัญกับ Why เพียงแต่ Why ของเราถูกแตกออกเป็นส่วนๆ ให้ง่ายขึ้นในการใส่เรื่องราวขึ้นไป ได้แก่

  • Setting (สภาพแวดล้อมหรือบริบท): Setting เปรียบเสมือนการปูพื้นให้กับผู้ฟังได้รู้จักฉากหลังของเรื่องเล่าของเรา สิ่งที่ผู้นำเสนอมักพลาดในการปูพื้นเรื่อง คือ เล่าเรื่องอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้อง จนทำให้สิ่งที่สำคัญหรือสิ่งที่จะเป็นประเด็นต่อไปถูกกลืนหายไป สรุป คือ เราต้องปูพื้นโดยมุ่งเน้นไปยังสิ่งสำคัญที่เราต้องการสื่อ (มาเทียบกับเรื่องมัธยมซอมบี้กันค่ะ การปูพื้น คือ ตอนต้นที่พูดถึงการ Bully ในโรงเรียน และที่มาของซอมบี้)
  • Characters (ตัวละคร): ทุกเรื่องเล่าที่ดีต้องมีตัวละคร โดยผู้เขียนแนะนำว่า 1) ใส่ชื่อให้ตัวละครของเรา เช่น สมชาย หรือ 2) ใช้ตัวละครแบบไม่มีชื่อ เช่น ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือในไทย หรือ 3) ใช้ตัวเราเป็นตัวละครในเรื่องเล่า (กลับมาดูตัวละครในเรื่องมัธยมซอมบี้กันค่ะ น้องๆ ในกลุ่มตัวเอกของเราในเรื่องมัธยมซอมบี้มีหลายคน แต่ที่เด่นๆ จะมีอยู่ 4 คน หรือแม้แต่ซอมบี้จอมตกตึกของเราก็ถือเป็นตัวละครเด่นเช่นกัน) 
  • Conflict (ข้อขัดแย้ง): ข้อขัดแย้งหรือปัญหาเป็นสิ่งที่ทำให้เรื่องเล่าของเรามีสีสันและน่าสนใจ (ใครๆ ก็อยากรู้ว่าพระเอก/นางเอกจะหนีจากฝูงซอมบี้ที่โรงเรียนได้ยังไง ลองนึกดูค่ะ ว่าเปิดเรื่องมัธยมซอมบี้มาปุ๊บ ซอมบี้บุกโรงเรียน ปรากฏว่าพระเอก/นางเอกเราเดินตัวปลิวออกจากโรงเรียนได้ทันที ไม่เจอซอมบี้สักตัว หนังจบตั้งแต่ EP.1 เลยค่ะ) 

What (อะไร)

What ในการนำเสนอ คือ Big Idea หรือ Key Message ของการนำเสนอนั่นเอง อะไร คือ สิ่งที่เราต้องการบอกผู้ฟัง ต้องการให้ผู้ฟังคิดหรือทำ หากไม่มี Key Message เราไม่ต้องนำเสนอก็ได้ค่ะ (Key Message ในเรื่องมัธยมซอมบี้ คือ เพื่อให้มีชีวิตอยู่ต่อไป เราต้องร่วมมือกันหนีตัวรอดจากพวกซอมบี้) 

How (อย่างไร)

องค์ประกอบเดียวของ How คือ Resolution หรือทางแก้ปัญหาที่เรานำเสนอให้กับผู้ฟัง นี่คือสิ่งที่เราพยามโน้มน้าวให้ผู้ฟังนำไปคิดต่อหรือนำไปทำต่อ (ในมัธยมซอมบี้ เด็กๆ ต้องเอาตัวรอด โดยการหาทางล่อซอมบี้ หนีขึ้นดาดฟัา หนีออกไปนอกโรงเรียน จนสุดท้ายหาทางไปยังศูนย์ช่วยเหลือได้)  

Roadmap คร่าวๆ ก็มีประมาณนี้ค่ะ แต่จะเอามาประยุกต์ใช้กับงานที่เราทำได้ยังไง มาตามกันต่อในโพสต์หน้าค่ะ

คำถามชวนคิด

หนังเรื่องโปรดของคุณคือเรื่องอะไร?

เมื่อเอาหนังเรื่องโปรดของคุณมาถอดภาพเข้ากับ Roadmap ของการเล่าเรื่อง จะออกมาแบบไหน?

Ing

วิศวกรสิ่งแวดล้อมที่หันมาทำงานบริหารโครงการ แต่สนใจเรื่องการนำเสนอมาก
จนอยากจะแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้มาตลอดหลายปี (ไม่กล้าบอกปี เดี๋ยวรู้อายุ) ให้กับผู้อ่านที่น่ารักทุกคน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked

{"email":"Email address invalid","url":"Website address invalid","required":"Required field missing"}

โพสต์อื่นๆ ที่คุณอาจสนใจ

รีวิวหนังสือ (น่าอ่าน): Storytelling with you
รู้ลึก vs รู้แค่ผิวๆ
5 เรื่องสำคัญ ในการออกแบบโปสเตอร์นำเสนอ