การอ่านหนังสือเป็นความสุขราคาประหยัด

ที่พาเราท่องโลกกว้าง...

พาเราสำรวจความรู้สึกตัวเอง...

และเพิ่มพูนความรู้ให้กับเรา

แต่ไม่น่าเชื่อว่า... 

คนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์จากการอ่านเพียงไม่ถึงครึ่งที่ควรได้

เพราะอ่านหนังสือไม่เป็น

ไม่ใช่อ่านไม่ออก... แต่อ่านไม่เป็น

นั่นคือสิ่งที่ซ่อนอยู่ในหนังสือเล่มนี้ค่ะ

'ความลับที่คนอ่านหนังสือเท่านั้นจะรู้'

More...

เกี่ยวกับผู้เขียน

ศาสตราจารย์ ทาคาชิ ไซโต จบปริญญาเอกด้านการศึกษา สอนอยู่คณะอักษรศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเมจิ มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการศึกษาทฤษฎีกายภาพ และการสื่อสาร มีผลงานการเขียนจำนวนมาก (ทั้งหนังสือคลังศัพท์ และเทคนิคด้านการสื่อสาร) 

หนังสือนี้น่าจะเหมาะกับใคร

ใครๆ ก็เรียนรู้เรื่องการหนังสือได้ ดังนั้นหนังสือน่าจะเหมาะกับทุกวัย (ที่อ่านหนังสือออก) แต่อิงว่าคนที่น่าจะได้ประโยชน์จากหนังสือเล่มนี้มากๆ เลยมีอยู่ 2 กลุ่มค่ะ

  • น้องๆ นักเรียนนักศึกษา: การอ่านหนังสือเป็นเหมือนยาขมสำหรับเด็กๆ ส่วนใหญ่ ที่อยากใช้เวลาไปกับการเล่นมากกว่า เทคนิคการอ่านในเล่มน่าจะช่วยน้องๆ (จะบอกว่าหลานๆ ก็เกรงใจตัวเองค่ะ) ให้การอ่านหนังสือเป็นเรื่องสนุกขึ้นและใช้เวลาน้อยลงในการทำความเข้าใจกับเรื่องยากๆ รวมถึงช่วยให้เราจำสิ่งสำคัญจากในหนังสือได้ดีขึ้น
  • น้องๆ ที่เพิ่งเริ่มทำงาน: เป็นความเข้าใจผิดของเด็กๆ ที่คิดว่าเรียนจบแล้วไม่ต้องอ่านหนังสือ แต่ความเป็นจริง คือ เมื่อทำงานแล้ว หากอยากจะก้าวหน้าไปอย่างที่เราฝัน น้องๆ ต้องอ่านหนังสือมากกว่าสมัยเรียนเยอะมากและหลากหลายกว่าด้วย ดังนั้นหากฝึกการใช้ความคิดวิเคราะห์เพื่อให้การอ่านนั้นลึกซึ้งขึ้น นอกจากจะอ่านหนังสือได้สนุกแล้ว ยังช่วยให้ฝึกทักษะในการคิดเพื่อเอามาใช้ในการทำงานอีกด้วย

หนังสือเขียนเกี่ยวกับอะไรบ้าง

ในยุคสมัยนี้ที่ความรู้มีอยู่ทั่วไปหมด แค่ปลายนิ้วคลิก ความรู้ก็มาปรากฏบนหน้าจอ

แล้วอย่างนี้เรายังจำเป็นต้องอ่านหนังสืออยู่หรือเปล่า?

การอ่าน blog หรืออ่านข่าวทางอินเตอร์เน็ตแตกต่างอย่างไรกับการอ่านหนังสือ

อาจารย์ไซโตจะพาเราไปไขข้อข้องใจเหล่านี้ พร้อมทั้งขยายความให้เราฟังว่า 'ความลับ' ที่คนอ่านหนังสือเท่านั้นจะรู้ คืออะไร?

หนังสือมีทั้งหมด 8 บท (รวมบทนำ) แต่ละบทไม่ยาวมาก สามารถอ่านแบบแยกกันได้ (แต่แนะนำให้อ่านต่อกันไปจะดีกว่า) มาดูกันค่ะว่าในแต่ละบทมีอะไรรอให้เราค้นพบบ้าง

บทนำ ทำไมเราจึงต้องอ่านหนังสือในยุคสมัยนี้

ในบทนี้อาจารย์ไซโตให้เหตุผลว่าทำไมเราจึงต้อง (ไม่ใช่แค่ควร) อ่านหนังสือในยุคนี้ 

การอ่านหนังสือในยุคนี้คู่แข่งเยอะมาก ไม่ใช่แค่ทีวี วิทยุ เหมือนเมื่อสัก 20 ปีก่อน แต่เป็นการชอปปิ้งออนไลน์ อ่าน blog ฟัง podcast ดู youtube และ netflix แค่นี้ก็ไม่ต้องนอนแล้วค่ะ เวลาอ่านหนังสือจึงลดน้อยถอยลง

นอกจากนี้คนส่วนหนึ่งยังเข้าใจว่าการอ่านเนื้อหาใน internet สั้นๆ ก็เหมือนการอ่านหนังสือ ซึ่งอาจารย์ไซโตอธิบายไว้ได้ดีมากค่ะ ว่าทำไมถึงไม่เหมือนกัน และแทนกันไม่ได้

บทที่ 1 ความหมายของ "ความลึกซึ้ง" ที่มีแต่คนอ่านหนังสือเท่านั้นสามารถเข้าถึงได้

บทนี้น่าจะเป็นบทที่อิงชอบที่สุดในหนังสือ เป็นบทที่ทำให้ฉุกคิดว่าก่อนหน้านี้เราอ่านหนังสือยังไงนะ ลึกซึ้งหรือเปล่า 

อาจารย์ไซโตบอกว่า "ในการพัฒนาตัวเองให้เป็นคนละเอียดลึกซึ้ง ไม่มีสิ่งใดเหมาะสมไปกว่าการอ่านหนังสือ" แต่ถึงอย่างนั้นหากคุณขาดความกระหายในการเรียนรู้ คุณก็จะไม่สนุกกับการอ่านหนังสือ ไม่ท้าทายตัวเองให้คิดวิเคราะห์ให้เกิด 'ความลึกซึ้ง' ที่ได้จากการอ่าน

ดังนั้นคุณเลือกได้ค่ะ ว่าจะใช้เวลาเพื่อแค่อ่านให้จบเล่ม แต่ไม่เกิดประโยชน์อะไร (นี่คือการเสียเวลาแบบสุดๆ) หรือจะใช้เวลาในการลับสมองกับหนังสือที่เราอ่าน เพื่อเพิ่มความลึกซึ้งที่ได้จากการอ่าน

บทที่ 2 ในเมื่อมีทั้งการอ่านที่ทำให้คนเราละเอียดลึกซึ้งขึ้นและทำให้ตื้นเขินลง ควรจะอ่านอะไรและอ่านอย่างไรดี

คำแนะนำในบทนี้น่าสนใจและน่าลองเอาไปใช้ค่ะ เช่น การเลือกหนังสือมาอ่าน (หากผู้เขียนเปี่ยมด้วยปัญญา ก็มีแนวโน้มที่ผู้อ่านอย่างเราจะพิจารณาและวิเคราะห์หนังสือนั้นแล้วเกิดการพัฒนาทักษะทางด้านปัญญาเช่นกัน) และการรู้จักผู้เขียนเพื่อสังเกตทัศนคติและอคติหรือความลำเอียง (bias) ในหนังสือนั้นๆ เป็นต้น 

สิ่งหนึ่งที่อิงว่าเอาไปใช้ได้จริงและมีประโยชน์ คือ การรู้จักนักเขียน แนะนำเลยค่ะว่าในหนังสือจะมีประวัตินักเขียนซึ่งปกติคนส่วนใหญ่จะอ่านผ่านๆ หรือไม่อ่านเลย แต่การรู้ว่านักเขียนเป็นใคร มีประสบการณ์อย่างไร จะช่วยให้เราเข้าใจมุมมองของผู้เขียนได้ดีขึ้น

บทที่ 3 วิธีอ่านหนังสือเพิ่มพลังความคิดให้ล้ำลึกขึ้น

อ่านไปคิดไป เป็นวิธีที่เพิ่มพลังความคิดได้ดีที่สุดค่ะ การคิดวิเคราะห์ ตั้งคำถามเกี่ยวกับพฤติกรรมของตัวละครหรือข้อความ/ความคิดของผู้เขียน จะทำให้เราอ่านหนังสือได้สนุกขึ้น และทำให้เราอ่านหนังสือได้ลึกซึ้งขึ้นด้วย 

เวลาอ่านหนังสือเราไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับสิ่งที่ผู้เขียนเขียนนะคะ ถึงแม้ว่าจะเป็นงานเขียนเชิงวิทยาศาสตร์หรืองานเขียนเชิงวิชาการที่อ้างอิงจากงานทดลองต่างๆ ย่อมต้องมี "อคติ" ของผู้เขียนเข้าไปเจือเปนอยู่บ้าง (มากบ้างน้อยบ้าง) ซึ่ง "อคติ" นั้นๆ ก็มาจากประสบการณ์บวกสิ่งที่เรียนรู้ ซึ่งแต่ละบุคคลย่อมต่างกันไปค่ะ (เมื่อก่อนอิงอ่านหนังสือแบบไม่ค่อยฉลาด คือ อ่านแล้วเชื่อไปหมด ไร้เดียงสามากค่ะ - รู้แล้วไม่ต้องทำตามนะคะ)

ตบท้ายบทด้วย 10 ผลงานชื่อดังที่ช่วยเพิ่มพลังความคิดให้คุณได้

บทที่ 4 วิธีอ่านหนังสือเพิ่มความรู้ให้ล้ำลึกขึ้น

ในบทนี้อาจารย์ไซโตแนะนำให้เราอ่านหนังสือที่นอกเหนือจากสิ่งที่เราทำหรือความถนัดของเรา และการที่เราจะมีความรู้ให้ล้ำลึกขึ้น คือ ต้องอ่านในเรื่องเดียวกันนั้นให้ได้อย่างน้อย 5 เล่ม 

อันนี้ confirm ว่าจริงค่ะ เวลาเราเริ่มศึกษาเรื่องอะไรใหม่ๆ จะเตาะแตะมาก แต่พออ่านไปเรื่อยๆ เราจะมีความรู้สะสมที่เพิ่มขึ้น ทำให้การอ่านหนังสือเล่มต่อไปง่ายขึ้น และเมื่อเราศึกษาและอ่านหนังสือที่เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ ในจำนวนมากที่พอ เราจะกลายเป็นผู้(พอจะ)รู้ในเรื่องนั้น และเมื่อลงมือปฏิบัติไปด้วย หาความรู้เพิ่มไปด้วย เราจะเข้าสู่เส้นทางของการเป็นผู้รู้ค่ะ

สำหรับน้องๆ สายวิศวกรรม อิงแนะนำว่าควรขยายตัวเองไปเรียนรู้เรื่อง design thinking ด้วยค่ะ เพราะจะช่วยเสริมทักษะ critical thinking ที่มักเป็นทักษะเด่นที่ถูกหล่อหลอมมาของชาววิศวะทั้งหลายได้เป็นอย่างดี

ตบท้ายบทด้วย 10 ผลงานชื่อดังที่นำเสนอความรู้ที่จำเป็นต่อยุคปัจจุบัน

บทที่ 5 วิธีอ่านหนังสือให้มีวิสัยทัศน์ล้ำลึกขึ้น

บทนี้สั้นมากค่ะ แล้วก็เป็นบทที่อิงไม่ค่อยอินเท่าไร แต่พอจะจำเรื่องอีดิปุสที่อาจารย์ไซโตเล่าได้ค่ะ เป็นผลพวงของการอ่านต่วยตูนสมัยเป็นเด็กนั่นเองค่ะ

ตบท้ายด้วย 4 ผลงานชื่อดังที่ทำให้สัมผัสถึงความละเอียดอ่อนของชีวิต

บทที่ 6 วิธีอ่านหนังสือให้ชีวิตล้ำลึกขึ้น

บทนี้ก็สั้นอีกเช่นกันค่ะ หนังสือหลายเล่มที่ถูกยกตัวอย่างในบทนี้ช่วยให้เราฉุกคิดและครุ่นคิดถึงความหมายของชีวิต อิงว่าเลือกมาได้ดีค่ะ แค่ไม่กี่หน้าที่อ่านแต่สามารถทำให้เห็นภาพอย่างชัดเจน ถึงกับหยุดอ่านไปแว๊บนึงแล้วนั่งคิดว่าอือม... ทุกวันนี้เราใช้ชีวิตยังไงนะ

ตบท้ายด้วย 6 ผลงานชื่อดังที่ทำให้ชีวิตล้ำลึกขึ้น

บทที่ 7 วิธีอ่านหนังสือที่อ่านยาก

ขั้นแรก คือ ต้องกล้าที่จะเลือกหนังสือ (ที่อ่านยาก) นั้นมาอ่าน อาจารย์ไซโตบอกว่า "การเขียนหนังสือชั้นเลิศจำเป็นต้องใช้ความสามารถ แต่สำหรับการอ่านบอกเลยว่าไม่จำเป็น" 

อือม... อิงว่าก็ไม่ซะทีเดียว เพราะผลของการอ่านหนังสือของแต่ละคนไม่เท่ากัน เราอาจไม่ต้องใช้ความสามารถในการอ่านให้จบ แต่ในการอ่านให้ลึกซึ้งนั้นน่าจะต้องใช้ความสามารถอยู่พอสมควร

ตบท้ายด้วย 10 ผลงานชื่อดังที่แม้จะอ่านยากแต่ก็อมตินิรันด์กาล จนอยากให้ลองอ่านดู

ความคิดเห็นของฉัน

อิงรักการอ่านหนังสือแล้วก็ชอบซื้อหนังสือด้วย พอเห็นชื่อหนังสือเล่มนี้ก็สังซื้อทันทีแบบไม่ต้องไปเปิดอ่านก่อน

หนังสือเล่มนี้อ่านแป๊บเดียวก็จบค่ะ อ่านแล้วดีต่อใจ อมยิ้มเป็นระยะ ทำให้เงินในกระเป๋าสั่นพั่บๆ อยากจะโบยบินออกไปเปลี่ยนเป็นหนังสือกลับมา (ว่าแล้วก็อดใจไม่อยู่ เปลี่ยนเป็นหนังสือประวัติศาสตร์ 2 เล่ม เพื่อเพิ่มความกว้างให้กับการอ่านของเรา)

จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้ คือ

  • อ่านแล้วทำให้รู้สึกอยากอ่านหนังสือเล่มอื่น (รักข้อนี้ที่สุด)
  • อ่านแล้วทำให้ฉุกคิดว่าก่อนหน้านี้เราอ่านหนังสืออย่างไร ตื้นเขินหรือลึกซึ้ง
  • อ่านแล้วทำให้อ่านหนังสือสนุกขึ้น
  • อ่านแล้วทำให้หวังได้ว่าเราน่าจะอ่านหนังสืออย่างฉลาดขึ้นได้
  • อ่านแล้วทำให้หวังได้ว่าเราจะเพิ่มประสิทธิภาพในการอ่านได้มากขึ้น

เนื่องจากตัวอย่างหนังสือที่อาจารย์ไซโตยกมาเล่าเป็นหนังสือญี่ปุ่นซะส่วนใหญ่ เลยอาจทำให้ความอินไปกับเนื้อหาลดน้อยลง และหนังสือแนะนำที่ใส่ไว้ท้ายบทเพื่อให้อ่านต่อก็น่าจะหาอ่านยากอยู่ค่ะ ประโยชน์ตรงนี้อาจน้อยไปหน่อยสำหรับผู้อ่านชาวไทยอย่างเรา

แต่ที่แน่ๆ อิงว่าอ่านแล้วทำให้เรามีเหตุผลดีๆ ให้กับกระเป๋าตังของเราในการจ่ายเงินซื้อหนังสือเล่มต่อไป (เหตุผลดีๆ ของนักสะสมอย่างเราค่ะ)

โดยสรุปแล้วอิงอยากแนะนำให้อ่านนะคะ ถึงแม้ว่าแก่นหลักๆ ของความลับทั้งหมด คือ การอ่านแล้วคิดวิเคราะห์ขณะอ่าน เพื่อตั้งคำถามฉุกคิดให้ตัวเราเอง แต่ขณะที่อ่านหนังสือเราก็จะถูกฝึกให้วิเคราะห์ไปด้วยเป็นระยะ ถือเป็นแบบฝึกหัดฉบับเริ่มต้น น่าเสียดายที่อาจารย์ไซโตน่าจะลงลึกเรื่องการวิเคราะห์และตั้งคำถามอีกสักนิด แต่ก็พอได้แนวทางอยู่ค่ะ

คำถามชวนคิด

คุณว่าคุณอ่านหนังสืออย่างลึกซึ้งหรือตื้นเขิน?

ถ้าคุณอยากอ่านหนังสือให้ลึกซึ้งขึ้น คุณต้องทำอย่างไร?

Ing

วิศวกรสิ่งแวดล้อมที่หันมาทำงานบริหารโครงการ แต่สนใจเรื่องการนำเสนอมาก
จนอยากจะแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้มาตลอดหลายปี (ไม่กล้าบอกปี เดี๋ยวรู้อายุ) ให้กับผู้อ่านที่น่ารักทุกคน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked

  1. ขอบคุณสำหรับการแบ่งปันครับ ขอให้มีชีวิตที่ดีและมีความสุขนะครับผม

{"email":"Email address invalid","url":"Website address invalid","required":"Required field missing"}

โพสต์อื่นๆ ที่คุณอาจสนใจ

รีวิวหนังสือ (น่าอ่าน): Storytelling with you
รีวิวหนังสือ (น่าอ่าน): Everyday Business Storytelling
รีวิวคอร์สออกแบบสไลด์สไตล์คนงานยุ่ง