อิงเป็นแฟนตัวยงของการเรียนออนไลน์
เริ่มเรียนมาตั้งแต่คอร์สออนไลน์ต่างๆ ยังไม่บูมขนาดนี้
ช่วงปีสองปีนี้ยิ่งพิเศษใหญ่
เพราะมีคอร์สออนไลน์จำนวนมากให้เลือกเรียน
อิงพบว่าการออกแบบคอร์สออนไลน์ส่งเสริมการเรียนรู้แตกต่างกัน (ความเข้าใจ ความอยากเรียน ความรู้ที่ติดหัวไป เป็นต้น)
โพสต์นี้อิงขอสรุปรูปแบบต่างๆ พร้อมความคิดเห็นส่วนตัว ว่าแต่ละแบบมีข้อดีข้อด้อยอย่างไร?
มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันค่ะ
More...
#1 คอร์สแบบ on-demand (คลิปที่อัดไว้แล้ว เรียนเมื่อมีเวลาเรียน)
คอร์สแบบ on-demand น่าจะเป็นรูปแบบคอร์สที่แพร่หลายมากที่สุด มี online learning platform ใหญ่ๆ ให้เราเลือกใช้มากมาย ตัวอย่างเช่น
- Coursera: Online platform ยอดนิยมที่มีผู้สอนจากมหาวิทยาลัยดังๆ และบริษัทใหญ่ๆ เช่น Google มาเปิดคอร์สให้เรียนฟรี (อยากได้ certificate ต้องเสียตังเพิ่มจ้า)
- Edx: คล้ายกับ Coursera แต่เนื้อหาจะออกวิชาการกว่า
- Udemy: คอร์สที่เปิดเน้นการพัฒนาทักษะด้านต่างๆ รวมทั้งงานอดิเรกทั้งหลายด้วย (มีให้เรียนฟรีแต่เป็นคอร์สสั้นๆ และมีให้เลือกน้อย ส่วนใหญ่เสียตังค่ะ แต่ไม่แพงมาก หากรอจังหวะลดราคา หาซื้อได้ในราคา 300-350 บาท)
- Linkedin Learning: เป็นแพลทฟอร์มเรียนออนไลน์ของ Linkedin ที่เหมาะกับคนทำงานมาก ทั้ง soft skills ด้านการนำเสนอ การสื่อสาร จนถึงที่ hardcore ขึ้นมาหน่อย อย่างการเขียน program
- Data Camp: เป็น online platform ที่เฉพาะเจาะจงไปสำหรับงานด้านข้อมูล ที่พิเศษกว่า online platform อื่นๆ ข้างบน คือ มีแบบฝึกหัดให้ทำเพื่อเก็บค่า XP กันด้วย ถ้าสนใจงานด้าน Data ขอบอกว่า Data Camp คือ ของจริงค่ะ
- SkillLane: online learning platform ของไทยที่ได้รับความนิยมสูงเช่นกัน มีคอร์สฟรีบ้าง แต่ส่วนใหญ่ต้องจ่ายเงินซื้อคอร์ส
- SET e-learning: online learning platform ของตลาดหลักทรัพย์ที่เปิดให้เรียนฟรี มีทั้งคอร์สที่เกี่ยวกับการวิเคราะห์หุ้น และคอร์สที่เสริมสร้างทักษะด้านอื่นๆ ด้วย Cariber: ค่อนข้างแตกต่างจาก online learning platform อื่นๆ ของไทย จุดเด่นเลยน่าจะเป็นผู้สอนถือว่าเป็นตัวจริงในวงการนั้นๆ บางคอร์สเหมือนนั่งคุยกับเพื่อนกับพี่ ฟังเพลินมากค่ะ
- Private platform: ผู้สอนหลายคนเลือกเปิดคอร์สเองด้วยการเขียนโปรแกรมบน WordPress หรือเช่าระบบของ Teachable หรือเจ้าอื่นๆ มาใช้ ส่วนใหญ่จะเป็นคอร์สเฉพาะด้าน (Skilldee ของเราก็ใช้วิธีนี้ค่ะ เราเช่าระบบของ Podia)
- เรียนใน FB กลุ่มปิด: หลังๆ มีผู้สอนอัดคลิปแล้วเปิดให้เรียนใน FB กลุ่มปิดค่อนข้างเยอะค่ะ หากปิดคลิปแล้วเปิดใหม่ ระบบจะไม่จำว่าเราเรียนถึงไหนแล้ว ต้องจำเอาเองค่ะ
(หมายเหตุ: โดยส่วนตัว ถ้า platform ของไทย อิงชอบ SET กับ Cariber ค่ะ)
ข้อดี
- เรียนเวลาไหนก็ได้ ขึ้นกับความสะดวกของเรา
- ส่วนใหญ่แล้ว เมื่อเปิดกลับมาที่หน้า Course อีกครั้งจะกลับมายังจุดที่เราเรียนค้างไว้ (ยกเว้นกลุ่มปิดใน FB)
- เนื้อหามักได้รับการออกแบบมาเป็นคลิปสั้นๆ (แบบอัดคลิปแล้วมาฉายทั้งก้อนก็มีค่ะ แต่น้อย) ทำให้สะดวกในการค่อยๆ แบ่งเวลาเรียนไปทีละหัวข้อ
- เนื้อหาหลากหลาย เรียนกันแบบไม่จบไม่สิ้น
- ผู้สอนส่วนใหญ่จะมีความเชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ จริง
ข้อด้อย
- ผู้เรียนต้องมีวินัยในตัวเอง เพราะเรียนเมื่อไหร่ก็ได้ (แปลได้ว่าไม่เรียนก็ได้เหมือนกัน)
- บางคนเปิดคลิปแล้วก็หยุดเล่นชั่วคราวเป็นระยะ (สมาธิสั้นกว่าเรียนแบบสอนสด) สักพักก็เปลี่ยนไปทำอย่างอื่นแทน
- หากมีข้อสงสัย มีแค่บาง platform ที่เปิดโอกาสให้ถาม
#2 คอร์สแบบสอนสด
คอร์สแบบสอนกันสดๆ ผ่าน online platform ต่างๆ เช่น zoom, FB live เป็นต้น มีให้เลือกเรียนกันเยอะค่ะ ผู้สอนบางท่านก็จะอัดคลิปไว้เพื่อเอาไปใช้สำหรับ on-demand ก็มีค่ะ
ข้อดี
- หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามผู้สอนได้เลย
- มักมีสมาธิในการเรียนดีกว่า
- ไม่ต้องมีปัญหาอ่าน PowerPoint ไม่ออก เพราะหน้าสไลด์อยู่บนหน้าจอเราเลย
- จะมีวินัยในการเรียนมากขึ้น โดยเฉพาะคอร์สที่ดูซ้ำไม่ได้
ข้อด้อย
- ไม่มีปุ่ม fast forward ดังนั้นถ้าเบื่อๆ บางช่วงก็ต้องทนเอา
- ต้องใช้พลังในการตั้งใจเรียนพอสมควร โดยเฉพาะผู้ที่ร้างลาจากการเรียนไปนาน พอต้องมานั่งเรียนรวดเดียวครึ่งวันหรือวันนึง จะเหนื่อยใช้ได้เลยค่ะ
- ถ้าไม่ว่างเวลานั้น ก็จบข่าว อดเรียน หรือต้องข้ามไปบ้าง
#3 คอร์สแบบผสม
คอร์สแบบผสมทั้ง on-demand และเรียนสด ได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะนำข้อดีของอีกอย่างนึงมากลบข้อด้อยของอีกอย่างนึง (ในอนาคต Skilldee อาจปรับมาเป็นคอร์สแบบนี้บ้างค่ะ เรียนไปบางส่วนก่อน แล้วมานั่งทำ workshop ไปพร้อมกัน)
สิ่งสำคัญในการเรียนออนไลน์ให้สำเร็จ
สิ่งที่อิงคิดว่าสำคัญในการเรียนออนไลน์ให้สำเร็จและนำไปใช้ได้จริง มีดังนี้ค่ะ
- เนื้อหาของคอร์สเป็นสิ่งที่เราสนใจ: ก่อนที่จะลงเรียนคอร์สไหน ต้องคิดนิดนึงค่ะ (โดยเฉพาะถ้าต้องเสียตังซื้อ) ถ้าจะให้ดีควรเป็นสิ่งที่สนับสนุนงานที่ทำอยู่ หรือสิ่งที่เราจะมีโอกาสในการนำไปใช้ในอนาคตอันใกล้ เป็นการเพิ่มแรงจูงใจที่ให้เราเข้าเรียนค่ะ (หากเราเลือกลงคอร์สที่เราไม่สนใจ โอกาสที่เราจะเปิดขึ้นมาเรียนมีน้อยมากค่ะ ถึงแม้จะเป็นคอร์สฟรี เหมือนเราไม่เสียอะไร แต่มันจะเป็นภาระทางใจค่ะ คล้ายกับมีอะไรบางอย่างติดอยู่ในใจลึกๆ ว่าเราไม่ประสบความสำเร็จในการเรียนให้จบ)
- วินัยในการเรียน: การเรียนออนไลน์ไม่มีใครมาบังคับเรา (ยกเว้นองค์กรของคุณจะจ่ายเงินให้ หรือเป็นหลักสูตรบังคับขององค์กร) ทำให้เราต้องบังคับใจเราเองให้เปิดคอร์สนั้นๆ ขึ้นมาเรียน พอยากไปก็อาจถอดใจ พอเรียนไปสักพักก็อาจจะง่วง แถมยังมีสารพัดเหตุผลที่มายั่วยวนชวนให้เราเลิกเรียนแล้วไปทำอย่างอื่นแทน ดังนั้นสิ่งที่อิงคิดว่าพอจะช่วยในการสร้างวินัยให้ตัวเรา คือ จัดเวลาไปเลยค่ะ ว่าเราจะเรียนวันละกี่นาที/ชั่วโมง (หรือกี่คลิป) เรียนวันไหนบ้าง (หรือจะเป็นแบบเหมาๆ ว่าใน 1 สัปดาห์ ต้องเรียนให้ได้กี่คอร์ส หรือกี่ชั่วโมง) ช่วงเวลาไหนเช้า/เย็น/มืด จากนั้นก็มีวินัยในการทำตามตารางที่เราตั้งไว้
- จดโน๊ต: การนั่งเรียนเฉยๆ มีแนวโน้มสูงว่าพอจบคลิปก็ลืมค่ะ (เสียเวลาเปล่า) การจดโน๊ตประเด็นสำคัญจะช่วยในการจดจำแล้วยังช่วยให้เราไม่ง่วงอีกด้วยค่ะ
สุดท้าย เมื่อเรียนจบแล้วอย่าลืมนำไปใช้นะคะ ความรู้จะได้กลายเป็นความเข้าใจและอยู่กับเราไปนานๆ
คำถามชวนคิด
แล้วคุณว่า การเรียนคอร์สออนไลน์แบบไหน ที่เหมาะกับตัวคุณ?