“คนที่จะสร้างกราฟสวยๆ ได้ ต้องมีหัวศิลปะ ต้องใช้โปรแกรมเทพๆ ที่ไม่ใช่โปรแกรมบ้านๆ แบบ Excel”

“กราฟอะไรก็เหมือนกัน ไม่ต้องคิดมาก Excel ใช้อะไรเป็น default ก็เลือกไปตามนั้น

ความคิดข้างบนต่างกันคนละขั้ว และเราเชื่อว่ามีคนจำนวนมากเชื่อแบบนี้ แต่ Jorge Camoes ผู้เขียนหนังสือ Data at Work เชื่ออีกแบบนึง เหมือนกันตัวโปรยหน้าปกที่ว่า “Best practices for creating effective charts and information graphics in Microsoft Excel”

แล้วก็ด้วยคำโปรยนี้แหละค่ะ ที่เราตัดสินใจสั่งหนังสือเล่มนี้มาจาก Amazon โดยยังไม่ได้อ่านเนื้อข้างในเลย… ผลปรากฏว่าอ่านไปได้ไม่กี่หน้า กับเปิดผ่านๆ บางบท ก็วางทิ้งไว้ พร้อมกับคิดในใจว่าไม่น่าซื้อมาเลย…

ยอมรับกันตามตรงเลยว่าคิดผิดไปมากค่ะ พอผ่านไปหลายเดือน มีโอกาสได้หยิบขึ้นมาเปิดดูอีกรอบ  “เฮ้ย… หนังสือเล่มนี้เจ๋งหงะ ไอ้ที่คิดไว้ตอนแรกเป็นการด่วนสรุปความไปเอง…”

หนังสือเล่มนี้มีความเจ๋งยังไงบ้าง ลองมาดูรีวิวกันค่ะ

ว่ากันจากตัวชื่อหนังสือก่อน Data at Work เราคงต้องยอมรับความจริงที่ว่าทุกวันนี้เรามีข้อมูลจำนวนมาก (มาก มาก มาก) ด้วยจำนวนข้อมูลที่มากขึ้นนี้เอง ทำให้เราต้องมีวิธีการแสดงผลข้อมูลที่แตกต่างออกไป กระแสเรื่อง Data Visualization ที่มาแรง (ซักหลายปีแล้ว) ทำให้มีงาน infographic สวยๆ หรือ Chart ที่แสดงข้อมูลที่ซับซ้อนแต่ดูสวยงาม ทำให้เราอาจตีความผิดว่า Data Visualization ต้องสวยงาม ซับซ้อน จนบางครั้งเหมือนจะเกินเอื้อมสำหรับคนทำงานธรรมดาอย่างเราๆ ที่ทำงานทุกวันด้วย Excel ผู้แต่งชี้ให้เห็นว่าที่จริงแล้วเราต้องสร้าง effective charts ไม่ใช่ beautiful charts ที่สื่อความผิดหรือไร้ความหมาย และหากเรามี Chart ที่ effective ก็จะมีแนวโน้มว่า Chart นั้นจะทำให้ beautiful ได้ไม่ยาก

บทที่ 1 ถึง 3 จะเป็นการปูพื้นฐานเรื่อง Data Visualization ประวัติอย่างย่อ การรับรู้ทางสายตา กระบวนการตีความและการจดจำได้ของมนุษย์ ทฤษฎีพื้นฐาน เช่น Gestalt Law

บทที่ 4 อธิบายถึงการเตรียมข้อมูล ปัญหาที่อาจพบได้ โครงสร้างของข้อมูล ตลอดจนการ import ข้อมูลเข้าไปยัง Excel

บทที่ 5 สลับมาอธิบายเรื่อง Data Visualization อีกรอบ แต่บทนี้จะเน้นเนื้อหาที่นำไปสู่การใช้งานจริงในบทต่อๆ ไป โดยมีข้อคิดที่สำคัญ คือ Excel เหมาะกับการจัดการข้อมูลและใช้สร้างกราฟได้ดีในระดับนึง (เพียงพอกับที่องค์กรส่วนใหญ่ต้องการ) และหากเราไม่อยากให้ดูว่าเหมือนกราฟที่มาจาก Excel วิธีง่ายๆ คือ อย่าใช้ default ของโปรแกรม อย่างไรก็ตาม Excel เองก็มีข้อจำกัด ถึงแม้ว่า Excel จะสามารถจัดการข้อมูลที่เยอะและซับซ้อน รวมทั้งใช้สร้างกราฟที่มีความซับซ้อนมาก แต่เราอาจต้องสิ้นเปลืองพลังงานเป็นอย่างมากกว่าจะไปถึงจุดนั้น เพราะฉะนั้น อย่าฝืน เมื่อถึงจุดนึงเราควรเปลี่ยนไปใช้โปรแกรมอื่น ที่มีความสามารถในการจัดการข้อมูลที่ซับซ้อนได้ดีกว่า

บทที่ 6 เรื่อง Data discovery, analysis, and communication ถือเป็นบทที่มองข้ามไม่ได้เลย อย่าลืมนะคะว่า Garbage in Garbage out เราไม่สามารถเสก chart สวย ให้สื่อความได้ ถ้าเราไม่มีอะไรจะสื่อออกไป หรือแย่ไปกว่านั้น คือ สื่อข้อความผิด ออกไป ดังนั้นองค์ประกอบเรื่อง ข้อมูลที่ดี การวิเคราะห์ที่ถูกต้อง (รวมทั้งการตั้งคำถามให้ถูก) และการเลือกรูปแบบ chart ที่เราจะสื่อออกไปให้เหมาะสม (เนื้อหาในบทที่ 7) จึงสำคัญมากๆ

บทที่ 7 วิธีการเลือก Chart บทนี้ผู้เขียนสอนเราเลือก Chart ตามประเภทงานที่เราใช้ รวมถึงต้องคำนึงถึงบริบทที่ chart ของเราจะไปปรากฎอยู่ และผู้ใช้/ผู้อ่าน chart ของเราด้วย

บทที่ 8 ถึง 13 อธิบายถึง chart แบบต่างๆ โดยแบ่งตาม function ของ chart ไล่ไปตั้งแต่ a sense of order, parts of a whole, scattered data, change over time, relationships และ profiling ถ้าอยากรู้ว่า chart แต่ละแบบมีการใช้งานต่างกันอย่างไร ข้อดี ข้อด้อย รูปแบบของการตอบคำถามที่เหมาะกับ chart แต่ละแบบ

บทที่ 14 Designing for effectiveness ผู้เขียนเล่าถึงองค์ประกอบเล็กๆ ต่างที่จะช่วยให้ chart ของเราสื่อความได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ตัวอักษร Grid line และคำอธิบายกราฟ เป็นต้น ในบทนี้ยังพูดถึงว่าเราจะโกหกหรือบิดเบือนข้อมูลด้วย chart ได้อย่างไรบ้าง (อันนี้ผู้เขียนไม่ได้สอนให้เราโกหก แต่บอกว่าต้องระวังอะไรบ้างไม่ให้เข้าข่ายการบิดเบือนแบบนี้)

บทที่ 15 ว่าด้วยเรื่องของการใช้สี การใช้ประโยชน์จากการเลือกสีให้เหมาะสมกับสิ่งที่เราต้องการสื่อ ซึ่งจะช่วยยกระดับ chart ของเราไปอีกขั้น

บทที่ 16 สรุป

หากอ่านจนจบ เราจะแปลกใจเรื่องนึง คือ ในคำโปรยพูดเรื่อง Excel แต่ในเนื้อหา เราแทบไม่เห็น worksheet Excel เลย…

บทสรุปส่วนตัว
หนังสือเล่มนี้น่าจะเหมาะกับคนที่อยากยกระดับตัวเองในการทำ data visualization ไปอีกขั้น แต่ไม่ใช่แบบที่นักออกแบบทำกัน แต่เป็นแบบที่คนทำงานที่ต้องทำรายงาน ทำ presentation แล้วอยากให้ chart ของตัวเอง ไม่ใช่แค่ chart แบบบ้านๆ เหมือนคนอื่น

จากประสบการณ์ส่วนตัว เราพบว่ากว่าจะอ่านจบต้องใช้ความพยายามกันพอสมควร หรืออีกวิธีนึงคือ เลือกอ่านเฉพาะบทที่สนใจก็ได้นะคะ ผู้เขียนมี companion website ที่ให้เราไป download excel file ที่ใช้สร้างกราฟในแต่ละบท มานั่งดู นั่งแกะเองได้ รวมทั้งมี reference อื่นๆ ที่น่าสนใจใน companion site ด้วย หากยังไม่ซื้อหนังสือ แต่อยากเข้าไป website ที่ว่าก็ google ชื่อหนังสือแบบติดกันหมดได้เลยค่ะ dataatwork

คำเตือน
หนังสือเล่มนี้ไม่ได้สอนวิธีการสร้าง chart ด้วย excel (แต่มีหนังสือเล่มอื่นสอน แถมสอนละเอียดด้วยค่ะ ไว้จะรีวิวกันต่อไปนะคะ)

Ing

วิศวกรสิ่งแวดล้อมที่หันมาทำงานบริหารโครงการ แต่สนใจเรื่องการนำเสนอมาก
จนอยากจะแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้มาตลอดหลายปี (ไม่กล้าบอกปี เดี๋ยวรู้อายุ) ให้กับผู้อ่านที่น่ารักทุกคน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked

{"email":"Email address invalid","url":"Website address invalid","required":"Required field missing"}

โพสต์อื่นๆ ที่คุณอาจสนใจ

รีวิวหนังสือ (น่าอ่าน): Storytelling with you
รีวิวหนังสือ (น่าอ่าน): Everyday Business Storytelling
รีวิวคอร์สออกแบบสไลด์สไตล์คนงานยุ่ง