ตอนเด็กๆ ใครกลัวการออกไปพูดหน้าห้องบ้างคะ

ยอมรับอย่างไม่อายเลยค่ะ ว่าสมัยเป็นเด็กสิ่งที่อิงกลัวที่สุด กลัวยิ่งกว่าการสอบ ก็คือ การออกไปพูดหน้าห้องนี่แหละค่ะ ทุกครั้งที่คุณครูเรียกออกไป ใจจะเต้นรัว พูดติดๆ ขัดๆ บางทีก็ยืนแข็งไปเลย

พอเรียนจบออกมาทำงาน มีความมั่นใจมากขึ้น รับผิดชอบงานมากขึ้น... แล้ววันนั้นก็มาถึง วันที่ต้องออกไปนำเสนอต่อหน้าคนจำนวนมาก...

เอาหละ... “เราโตแล้วไม่ใช่เด็กน้อยในวันนั้น ทุกอย่างต้องเป็นไปด้วยดี” นั่นคือสิ่งที่อิงบอกกับตัวเองก่อนจะออกไปพูด

....

More...

....

แค่ไปยืนข้างๆ เวทีเตรียมตัว ใจมันก็เริ่มสั่น มือเย็น หายใจไม่ค่อยคล่อง

“สวัสดีค่ะ การประกวดครั้งนี้จัดขึ้น เพื่อหาโรงงานที่สามารถ......” “….”

อยู่ดีๆ เสียงมันก็หายไป (หายไปจริงๆ ค่ะ อ้าปากพะงาบๆ แต่ไม่มีเสียงออกมา)

ใจที่เต้นรัวอยู่แล้ว เลยยิ่งเต้นเร็วขึ้น เหงื่อซึมออกมาเต็มมือ

หลังจาก dead air อยู่ เกือบครึ่งนาที อิงถึงกลับมาพูดต่อได้

นี่คือประสบการณ์การออกไปนำเสนอครั้งแรกในการทำงานที่เริ่มต้นไม่ค่อยสวย จบไปแบบงง แต่จำได้ไม่เคยลืม (ถึงจะไม่อยากจำเท่าไร)

....

เกือบ 50% ของผู้ตอบแบบสอบถาม รู้สึก ตื่นเต้น ประหม่า มือสั่น เสียงสั่น เสียงหาย

ถ้าคุณมีอาการแบบนี้ ถือเป็นเรื่องปกติค่ะ อาการเหล่านี้มักถูกเรียกรวมว่า “การตื่นเวที”

คำถาม คือ เราจะบรรเทาและควบคุมการตื่นเวทีของเราได้อย่างไร

อิงมี 3 ขั้นตอนที่จะช่วยลดการตื่นเวทีมาแนะนำค่ะ

ขั้นตอนที่ 1 ทำความคุ้นเคยกับเนื้อหาที่จะนำเสนอ

ส่วนหนึ่งของความตื่นเต้น มาจากความไม่มั่นใจ บางครั้งเราต้องนำเสนอแทนเจ้านาย หรือคนอื่นๆ รวมทั้งใช้สไลด์ที่เราไม่ได้เป็นคนทำเอง

อย่างน้อยเราต้องทำความคุ้นเคยกับสไลด์ที่ต้องใช้ เปิดผ่านตาว่าลำดับการนำเสนอเป็นอย่างไร หากมีตรงไหนที่เราไม่เข้าใจ เราจะได้ถามคนที่รู้หรือค้นข้อมูลเพิ่มเติม

ขั้นตอนที่ 2 ซ้อม ซ้อม และซ้อม

สิ่งที่ไม่น่าเชื่อ คือ คนจำนวนมาก นำเสนอแบบสดๆ ไม่มีการซ้อมหรือเตรียมบทพูดใดๆ ทั้งนั้น หรือมีเตรียมบทพูด ซ้อมพูด แต่ซ้อมแบบข้ามๆ ไม่แม้จะเปิด PowerPoint แล้วพูด

คลาสสอนการนำเสนอทุกคลาส และหนังสือเกี่ยวกับการนำเสนอทุกเล่ม เน้นย้ำเหมือนกันหมดถึงความสำคัญของการซ้อม

หากมีเวลาจำกัดจริงๆ ให้ซ้อมพูดตั้งแต่ต้นจนจบอย่างน้อย 1 ครั้ง และซ้อมเฉพาะช่วงเปิด (2-3 นาทีแรก) และช่วงจบการนำเสนอ หลายๆ ครั้ง

ขั้นตอนที่ 3 เตรียมพร้อมก่อนก้าวขึ้นเวที

The Show Must Go On…

ถึงเวลานำเสนอจริงๆ ซักที ตื่นเต้นจังเลย ประหม่าไปหมด มือเริ่มเย็นแล้ว ที่ซ้อมมามันหายไปกับอากาศซะแล้ว

สิ่งที่ต้องทำอย่างแรกค่ะ คือ ยอมรับว่าความตื่นเต้นเป็นเรื่องธรรมดามาก ใครๆ ก็ตื่นเต้นกัน  จากนั้นลองใช้เทคนิคหลากหลายที่จะช่วยลดความตื่นเต้นลง เช่น

  • ไปให้ถึงงานเร็วกว่าเวลา และใช้เวลาในการทักทายผู้ฟังของเรา อันนี้ได้ผลสองทางเลยค่ะ คือ เวลานำเสนอการได้เห็นหน้าที่คุ้นเคยจะทำให้เราสบายใจขึ้น และผู้ฟังก็มีแนวโน้มจะสนใจเรามากขึ้น หากเขารู้จักเราบ้าง
  • หายใจลึกๆ ใครใช้ Apple Watch จะมี App ชื่อว่า Breath กดมาใช้เลยค่ะ หากไม่มี หายใจเข้าให้สุด หายใจออกให้สุด ทำไปจนครบ 1 นาที
  • ฟังเพลงเพื่อผ่อนคลาย หยิบหูฟังขึ้นมาและเลือกเพลงที่ใช่กันค่ะ
  • ออกกำลังกายเล็กๆ เช่น วิ่งเบาๆ ซักรอบนึง วิ่งสลับขาอยู่กับที่ ลุกนั่ง วิดพื้น (ควรทำในที่มิดชิด)
  • ทำท่า Power Pose เช่น กางแขนออกไปให้สุด ชูมือขึ้นเหนือหัว
  • วอร์มเสียงสักเล็กน้อย
  • จิบน้ำ (อันนี้แนะนำเป็นอย่างยิ่งค่ะ)

เราอาจต้องสังเกตตัวเองค่ะ ว่าเทคนิคไหนใช้แล้วเหมาะกับเรา อันไหนไม่ค่อย workเท่าไหร่

สุดท้ายขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคนที่ต้องนำเสนอนะคะ ผลจากการสำรวจ พบว่าไม่ว่าเราจะนำเสนอบ่อยแค่ไหน เราก็ยังคงตื่นเต้นได้เสมอ แต่เราสามารถเป็นนายความตื่นเต้นของเราได้ค่ะ

Keep Calm and Present Well

Ing

วิศวกรสิ่งแวดล้อมที่หันมาทำงานบริหารโครงการ แต่สนใจเรื่องการนำเสนอมาก
จนอยากจะแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้มาตลอดหลายปี (ไม่กล้าบอกปี เดี๋ยวรู้อายุ) ให้กับผู้อ่านที่น่ารักทุกคน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked

{"email":"Email address invalid","url":"Website address invalid","required":"Required field missing"}

โพสต์อื่นๆ ที่คุณอาจสนใจ

รีวิวหนังสือ (น่าอ่าน): Storytelling with you
รู้ลึก vs รู้แค่ผิวๆ
5 เรื่องสำคัญ ในการออกแบบโปสเตอร์นำเสนอ