บางครั้งเวลาไปฟังการนำเสนอ สไลด์ก็สวยงาม เนื้อหาก็ดี...

อือม....  แต่... 

ฟังจบแล้ว...

มันว่างเปล่า จนเหมือนจะสับสน

มันราวกับขาดอะไรไปบางอย่าง...

คือ... มันชืดเหมือนกินน้ำเต้าหู้ไม่ใส่น้ำตาล แถมกินไปเจอลูกเดือยที่ไม่ได้สั่งอีกต่างหาก

ว่าแต่... อะไรนะที่ขาดหายไป

More...

ลองมาดูตัวอย่างกันค่ะ...

เมื่อหลายสัปดาห์ก่อน อิงได้ไปฟังงาน Symposium ที่เชิญ Startup 2 เจ้า มา pitch ให้ฟัง 

เจ้าแรก สไลด์ไม่ผ่าน เนื้อหาพอรับได้ แต่ไม่ต่อเนื่อง ทำเรื่องยากให้ยากขึ้นไปอีก เรียบเรียงมาแบบสับสนนิดๆ เล่าด้วยเสียงตื่นเต้น แต่เนื้อหามันไม่ตื่นเต้นตาม ฟังแล้วเกือบหลับไป

เจ้าสอง สไลด์สวยงาม เนื้อหาดี พูดเรื่องไม่ง่ายให้เข้าใจง่าย แต่... พอการเล่าเรื่องมันเรื่อยๆ ไป... ถึงไม่หลับ แต่ไม่มีอะไรมาโดนใจแบบ "เฮ้ย! เจ๋งอ่ะ!" 

สลับมาอีกงานนึงค่ะ

เป็นการนำเสนอผลการศึกษาความก้าวหน้าในการปฏิบัติตามแผนระดับชาติแผนหนึ่ง เนื้อหาดี สไลด์พอไปได้ (แต่บางหน้าไม่ผ่าน) ผู้นำเสนอมีความกระตือรือร้นในการเล่า แต่เล่าไปเล่ามาเริ่มงงเอง สักพักผู้ฟังส่วนหนึ่งก็เริ่มถอดจิตออกจากร่าง พอฟังเสร็จ ไปกินข้าว... ยอมรับตามตรงค่ะ ว่าจำเนื้อหาอะไรไม่ได้เลย

พอจะจับได้มั๊ยคะว่าอะไรขาดหายไปในการนำเสนอเหล่านี้ 

สิ่งที่หายไป คือ เส้นเรื่อง (storyline) ที่เหมาะกับการนำเสนอแต่ละแบบ 

ทำไมถึงต้องมีเส้นเรื่องในการเรียบเรียงการนำเสนอ

เส้นเรื่องเปรียบเหมือนโครงที่ใช้กำกับการเล่าเรื่องของเรา โดยจับ key messages ที่เราออกแบบไว้มาร้อยเรียงเป็นเรื่องราวให้น่าจดจำมากขึ้น (ไม่ใช่แค่หยิบข้อมูลมาใส่ในสไลด์ โยนลงไปให้ครบที่จะเล่า)

นอกจากนี้ยังช่วยให้เรากำหนดเส้นทางการรับรู้ของผู้ฟังว่าจากจุดเริ่มต้นจะเดินไปแบบไหนและอย่างไร ทำให้การนำเสนอของเราไม่สับสน ไม่ใช่แบบกระโดดไปตรงนั้นทีตรงนี้ที

โมเดลเส้นเรื่อง (storyline) 4 แบบ ของ Dan Roam

มีกูรูหลายคนเสนอโมเดลของ Storyline แบบต่างๆ มีทั้งแตกแยกย่อยออกไปโดยเอาการวางพล็อตของหนังมาใช้ก็มี 

โดยส่วนตัวอิงชอบโมเดลเส้นเรื่อง (storyline) 4 แบบ ของ Dam Roam ที่อยู่ในหนังสือ Show and Tell (คลิกรีวิวหนังสือได้ที่นี่) เพราะ เข้าใจง่ายและนำไปใช้ได้จริง แถมแกยังมีอารมณ์ขันเปรียบเส้นเรื่องกับเสือพูม่า (PUMA) ให้เราจำได้ง่ายอีกต่างหาก (รูป A) โดยลำดับการเรียบเรียงเริ่มจาก (1) หัว คือ ไอเดียหลัก ไป (2) เส้นเรื่องหลัก แล้วจึงใส่ (3) ขา ซึ่งก็คือไอเดียที่ใช้สนับสนุน จากนั้นตบท้ายด้วย (4) หาง ตอนท้ายที่ใช้ดึงความสนใจคนดูอีกครั้งก่อนจบ

มาดูรายละเอียดแบบย่อของแต่ละแบบกันค่ะ

#1 The Report (เสือหมอบ) - รูป B

The Report เป็นเส้นเรื่องสำหรับการให้ข้อมูล เราคาดหวังว่าเมื่อนำเสนอเสร็จแล้วผู้ฟังจะได้ข้อมูลที่เพิ่มขึ้น/เปลี่ยนไป ตัวอย่างการใช้เส้นเรื่องแบบนี้ เช่น การนำเสนอความก้าวหน้า และการนำเสนอผลการศึกษา เป็นต้น

#2 The Climbing (เสือปีนเขา) - รูป C

The Climbing เป็นเส้นเรื่องสำหรับการสอนสิ่งใหม่ๆ หรือทักษะใหม่ๆ เราคาดหวังว่าเมื่อนำเสนอเสร็จแล้วผู้ฟังจะมีความรู้หรือความสามารถเพิ่มขึ้น ตัวอย่างการใช้เส้นเรื่องแบบนี้ เช่น การสอนในห้องเรียน การสอนทักษะใหม่ และการนำเสนอบทความวิชาการ เป็นต้น

#3 The Pitch (เสือตะครุบ) - รูป D

The Pitch เป็นเส้นเรื่องสำหรับพาผู้ฟังก้าวข้ามอุปสรรค เราคาดหวังว่าเมื่อนำเสนอเสร็จแล้วผู้ฟังจะมีการกระทำเป็นไปตามที่เราต้องการ ตัวอย่างการใช้เส้นเรื่องแบบนี้ เช่น การสัมภาษณ์งาน การนำเสนอผลิตภัณฑ์/บริการใหม่ และการ Pitch งาน เป็นต้น 

#4 The Drama (เสือกระโจน) - รูป E

The Drama เป็นเส้นเรื่องสำหรับดึงอารมณ์และความรู้สึกของผู้ฟัง เราคาดหวังว่าเมื่อนำเสนอเสร็จแล้วผู้ฟังจะเปลี่ยนความเชื่อ ตัวอย่างการใช้เส้นเรื่องแบบนี้ เช่น TED Talk เป็นต้น

ใครสนใจเส้นเรื่องทั้ง 4 แบบ แนะนำให้ซื้อหนังสือ Show and Tell มาอ่านอย่างละเอียดค่ะ (เล่มนี้มีแปลเป็นภาษาไทยด้วยจ้า) รับรองว่าไม่ผิดหวังแน่นอนค่ะ

คำถามชวนคิด

การนำเสนอครั้งหน้าของเรา เป็นเรื่องอะไร และเราจะเลือกใช้เส้นเรื่องแบบไหนดี

Ing

วิศวกรสิ่งแวดล้อมที่หันมาทำงานบริหารโครงการ แต่สนใจเรื่องการนำเสนอมาก
จนอยากจะแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้มาตลอดหลายปี (ไม่กล้าบอกปี เดี๋ยวรู้อายุ) ให้กับผู้อ่านที่น่ารักทุกคน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked

{"email":"Email address invalid","url":"Website address invalid","required":"Required field missing"}

โพสต์อื่นๆ ที่คุณอาจสนใจ

รีวิวหนังสือ (น่าอ่าน): Storytelling with you
รู้ลึก vs รู้แค่ผิวๆ
5 เรื่องสำคัญ ในการออกแบบโปสเตอร์นำเสนอ