ย้อนกลับไปเมื่อสิบกว่าปีก่อน พอพูดถึง Powerpoint ภาพของสไลด์ที่มี bullet point เรียงกันเต็มหน้าเป็นเรื่องปกติมาก (และน่าเบื่อมากเช่นกัน) จนทำให้กูรูในหลากหลายวงการเหน็บกันว่า Death by Powerpooint บ้าง Death by Bullet Point บ้าง แต่เมื่อ Presentation Zen ของ Garr Reynold ออกวางขาย เราก็ได้เห็นว่า สไลด์ไม่จำเป็นต้องเป็นแค่ bullet point แต่สไลด์สามารถ น้อยแต่มาก เรียบแต่โก้ ได้

รู้จักผู้เขียน

Garr Reynold เคยทำงานให้กับ Apple อาศัยอยู่ในญี่ปุ่น และน่าจะหลงเสน่ห์ความเป็นญี่ปุ่นอย่างแน่นอน (คาดเดาจากสิ่งที่ Garr เขียน) Garr เขียนหนังสือทั้งหมด 3 เล่ม คือ Presentaion Zen (เล่มนี้เองที่ทำให้แกดังระเบิดในวงการการนำเสนอ) Presentation Zen Design และ Naked Presenter หากใครได้อ่านครบทั้ง 3 เล่ม จะพบว่ามีแนวคิดความเรียบง่ายอย่าง Zen ในวิถีของชาวญี่ปุ่นแทรกอยู่ตลอด

หัวใจสำคัญของ Presentation ZenPresentation Zen เป็นแนวทาง ไม่ใช่กฏเหล็กในการออกแบบ (แบบ 1 ต้องงั้น 2 ต้องงี้)

ผู้เขียนสรุปหลักการของ Presentation Zen ไว้ว่า “Restraint in preparation. Simplicity in design. Naturalness in delivery.” 

หนังสือเขียนเกี่ยวกับอะไรบ้าง

ทั้งหลักการแนวทางและตัวอย่างสไลด์จัดเต็มมาในหนังสือ presentation zen (หากใครชอบเรื่องการออกแบบแบบเน้นๆ ตามไปอ่านได้ในเล่มที่สองของ Garr – Presentation Zen Design) หากเรากำลังเริ่มต้นคิดอะไรไม่ค่อยออกก็เอาไอเดียตัวอย่างสไลด์ไปต่อยอดได้สบายๆ 

หนังสือแบ่งเป็น 5 ส่วน 11 บท ดังนี้

Introduction 

  • Chapter 1 Presenting in Today’s World – การนำเสนอที่ชินตา เต็มไปด้วย bullet point และตัวหนังสือ ถูกนำมาเล่าเป็นบทเปิด เพื่อตอกย้ำว่าการนำเสนอแบบนี้มันอยู่รอบๆ ตัวเราเต็มไปหมดจริงๆ (แม้กระทั่งขึ้นรถไฟชิงคันเซน Garr ยังอุตส่าห์เหลือบตาไปเห็นหนุ่มข้างๆ หมกมุ่นกับ slide ที่เต็มไปด้วยตัวหนังสือ) ในบทนี้ผู้เขียนอธิบายถึงแนวคิดของ Presentation Zen นอกจากนี้ยังเอาแนวคิดเรื่อง right-brain directed aptitudes ที่คัดมาจากหนังสือขายดีของ Daniel Pink เรื่อง The Whole New Mind มาขยายความในมุมมองของการนำเสนออีกด้วย (6 ข้อนี้ประกอบด้วย Design, Story, Symphony, Empathy, Play และ Meaning)

Preparation

  • Chapter 2 Creativity, Limitations, and Constraints – อย่าให้ความเชื่อเดิมๆ ในตัวเรา ที่ว่าเราไม่มีหัวด้านงานสร้างสรรค์ (Creative) มาปิดกั้นตัวเราไว้ สำหรับข้อจำกัดต่างๆ ไม่ใช่เรื่องไม่ดีเสมอไป มันกลับช่วยให้เราสร้างสรรสิ่งต่างๆ ในมุมมองที่แตกต่าง เนื่องมาจากข้อจำกัดที่เรามี
  • Chapter 3 Planning Analog – เมื่อจะเริ่มเตรียมการนำเสนอ จงอยู่ให้ห่างจากคอมพิวเตอร์ นี่คือประโยคเปิดในบทนี้ การเริ่มต้นด้วยการเปิดโปรแกรม Powerpoint หรือ Keynote เป็นการสร้างกรอบให้กับความคิดเรา เราจะเห็นแต่สไลด์ตรงหน้า จากนั้นก็สไลด์ต่อไป สไลด์ต่อไป เป็นเส้นตรงไปเรื่อยๆ สิ่งที่เราต้องทำจริงๆ คือ ปิดคอมพิวเตอร์ ชงกาแฟแก้วโปรด หยิบกระดาษและปากกา หามุมนั่งสบายๆ จากนั้นก็เริ่มคิด คิดจากภาพใหญ่ก่อนว่า อะไรคือสิ่งที่เราต้องการจะสื่อ (Core message ของเรา) แล้วเจ้าสิ่งนั้นมันสำคัญสำหรับคนฟังของเราอย่างไร (อ่านเรื่องการเรียบเรียงความคิดเพิ่มได้ในบทความ “นำเสนออย่างไร เมื่อข้อมูลมากเกินไป” )
  • Chapter 4 Crafting the Story – ไอเดียที่กระจัดกระจายไม่ใช่การนำเสนอค่ะ การนำเสนอ คือ การนำเอาไอเดียต่างๆ เหล่านั้นมาร้อยเรียงเรื่องราว (ออกแบบโครงสร้าง หรือเส้นเรื่องของการนำเสนอนั่นเอง) เรื่องราวเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้ผู้คนจดจำและคล้อยตามการนำเสนอของคุณ (ถ้ามีแต่ข้อมูลและตัวเลข ไม่มีเรื่องราวแค่นำเสนอเสร็จคนก็ลืมแล้วค่ะ น้ำแข็งทั่วโลกละลายเพิ่มขึ้น x% ต่อปี มันไม่น่าจดจำเท่ากับว่าน้ำแข็งทั่วโลกละลายเพิ่มขึ้น x% ที่มาพร้อมภาพหมีขาวผอมโซแม่ลูกยืนอยู่ท่ามกลางก้อนน้ำแข็งที่ละลายในมหาสมุทร พร้อมเรื่องราวของหมีขาวแม่ลูกคู่นี้) ในบทนี้ผู้เขียนพูดถึงหลักการ 6 ข้อ จากหนังสือดังอีกเล่มนึง คือ Made to Stick ทำอย่างไรถึงให้เรื่องราวที่เราเล่าติดหนึบอยู่ในใจคนฟัง โดยประกอบด้วย Simplicity, Unexpectedness, Concreteness, Credibility, Emotions และ Stories ผู้เขียนแนะนำให้ใส่องค์ประกอบพื้นฐานเข้าไปในเรื่องเล่าของเรา คือ ปัญหา สาเหตุของปัญหา และวิธีการแก้ปัญหา (รวมถึงว่าทำไมเราถึงต้องแก้ปัญหาด้วย)

Design

  • Chapter 5 Simplicity: Why it Matters – การออกแบบสไลด์มักเป็นเนื้อหาที่น่าตื่นตาตื่นใจกว่าส่วนอื่นๆ เสมอ เพราะเราจะได้เห็นตัวอย่าง เห็นงานที่เป็นชิ้นเป็นอัน หากเราเคยผ่านตาเรื่องของ Zen กันมาบ้าง เราจะทราบว่า Zen เน้นในเรื่องของความเรียบง่ายและการตีความ (เช่น การจัดสวนหินแบบ Zen ที่นิยมในวัดญี่ปุ่น) บทนี้เป็นการเกริ่นถึงความสำคัญของความเรียบง่ายก่อนที่เราจะไปออกแบบสไลด์กันจริงจังในบทต่อไปค่ะ
  • Chapter 6 Presentation Design: Principles and Techniques – บทนี้ Garr พูดถึงพื้นฐานต่างๆ และหลักการในการออกแบบสไลด์ เช่น การใช้ White Space (ที่ว่างในสไลด์) การใช้สี การจัดวาง และการสร้าง Contrast ในสไตล์ Presentation Zen (ซึ่งถูกนำไปขยายความโดยละเอียดในหนังสือเล่มที่ 2 ของเขานั่นเอง) สิ่งที่อิงชอบในบทนี้ คือ เขาพูดถึง ‘Noise’ หรือสิ่งที่ดึงความสนใจเราไปจากเนื้อหาที่เราต้องการสื่อในสไลด์นั่นเอง เช่น กราฟ 3D พร้อมภาพฉากหลัง (ตัวอย่างเรื่อง Noise ใน slide และการ Makeover สามารถดูเพิ่มได้ในโพสต์ “การกำจัด Clutter ในกราฟ”) บทนี้ช่วยตอบคำถามที่เราสงสัยในการออกแบบสไลด์ พร้อมตัวอย่างสไลด์ให้เราเห็นภาพชัดเจน เช่น เราต้องมี logo ในทุกสไลด์หรือเปล่า? จะใช้กราฟแบบ 2D หรือ 3D ดี? จะทำสไลด์ 2 ภาษาอย่างไรให้สวยงาม? 
  • Chapter 7 Sample Visuals: Image & Text – ตัวอย่าง ตัวอย่าง และตัวอย่าง ทั้งสไลด์งานวิชาการ สไลด์งานธุรกิจ และอื่นๆ จัดมาหลากหลาย แค่ดูก็เพลินแล้ว ถ้าคิดตามเอาไปประยุกต์ใช้ได้อีกเยอะเลยค่ะ

Delivery

  • Chapter 8 The Art of Being Completely Present – มันคือการอยู่ตรงนั้นจริงๆ ทั้งร่างกายและจิตใจ อยู่ต่อหน้าผู้ฟังของเรา ในบทนี้ผู้เขียนเปรียบเปรย Steve Jobs เป็นเหมือนนักดาบ (Swordman) ได้อย่างน่าสนใจ รวมทั้งพูดถึงการนำเอาหลักการของยูโดมาใช้ (เชื่อแล้วว่าคุณ Garr ชอบญี่ปุ่นจริงๆ)
  • Chapter 9 Connecting with an Audience – หลายครั้งที่เราไปนั่งฟังการนำเสนอแล้วเหมือนผู้นำเสนอพูดกับตัวเอง หรือนั่งอ่านสไลด์ให้เราฟัง เปรียบเหมือนกับมีกำแพงที่มองไม่เห็นกั้นเรากับเขาไว้  ในบทนี้เหมือนเป็นการรวบรวมข้อไม่ควรทำและควรทำในการนำเสนอมาขยายความพร้อมยกตัวอย่าง เช่น อย่าเริ่มต้นด้วยการขอโทษ (หรือออกตัวแรง) อย่าอ่านตามบทที่เตรียมมา ใช้สายตาในการดึงดูด และการใส่พลังเข้าไปในเสียงของเรา เป็นต้น 
  • Chapter 10 The Need for Engagement – บทนี้อธิบายถึงเทคนิคต่างๆ ในการทำให้ผู้ฟังรู้สึกมีส่วนร่วม เช่น การอยู่ใกล้ผู้ฟัง (การเดินเข้าหา หรือลงจากเวที) การกระตุ้นให้ผู้ฟังอยากรู้ (อยากเห็น) รวมไปถึงเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างเช่น การใช้อุปกรณ์ในการควบคุมการนำเสนอ (Presenter หรือเรียกง่ายๆ ว่ารีโมทคลิกสไลด์ อิงรีวิวรีโมทของ Logitech ไว้ในโพสต์ Logitech R500 อ่านดูกันได้ค่ะ ราคาดี ใช้งานง่าย) ในส่วนของการนำเสนอ Garr เองมีแยกเขียนเป็นหนังสืออีกเล่มให้ละเอียดขึ้นใน Naked Presenter

Next Step

  • Chapter 11 The Journey Begins – อ่านเฉยๆ อาจได้ความรู้เพิ่มขึ้น ได้เรียนรู้ถึงเทคนิคต่างๆ แต่ประสบการณ์จริงจะเป็นตัวสอนเราให้เก่งขึ้น อ่านแล้วก็ต้องลองเอาไปใช้นะคะ

ความคิดเห็นของฉัน

ครั้งแรกที่อ่าน Presentation Zen เมื่อเกือบสิบปีที่แล้ว ต้องบอกว่ามันเป็นการเปิดไปอีกโลกนึง สไลด์ที่เน้นรูปที่แทนตัวหนังสือนับสิบ ข้อความสรุปแบบโดนใจ การจัดวางองค์ประกอบแบบเรียบง่าย

เฮ้ย! เจ๋งอ่ะ 

หากคุณคิดว่าตัวเองทำ presentation ได้เยี่ยมแล้ว แต่ยังไม่เคยอ่าน presentation zen แนะนำว่าต้องหามาอ่านค่ะ มันจะช่วยปรับมุมมองของเราให้เลือกแต่แก่นจริงๆ ทั้งเนื้อหาและการนำเสนออกมา

หากคุณเพิ่งเริ่มชีวิตการทำงานหรือเริ่มศึกษาเรื่องการนำเสนออย่างจริงจัง ก็แนะนำให้ซื้อมาอ่านค่ะ เพราะการนำเสนอที่ดีจะช่วยให้คุณไปได้ไกลกว่าที่คุณคิด

Ing

วิศวกรสิ่งแวดล้อมที่หันมาทำงานบริหารโครงการ แต่สนใจเรื่องการนำเสนอมาก
จนอยากจะแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้มาตลอดหลายปี (ไม่กล้าบอกปี เดี๋ยวรู้อายุ) ให้กับผู้อ่านที่น่ารักทุกคน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked

{"email":"Email address invalid","url":"Website address invalid","required":"Required field missing"}

โพสต์อื่นๆ ที่คุณอาจสนใจ

รีวิวหนังสือ (น่าอ่าน): Storytelling with you
รู้ลึก vs รู้แค่ผิวๆ
5 เรื่องสำคัญ ในการออกแบบโปสเตอร์นำเสนอ